หนุนเลือกผู้ว่าฯแบบกทม. นำร่องจว.ปริมณฑลก่อน


เพิ่มเพื่อน    

    วงเสวนาดันผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง  “จรัส” ยกงานวิจัยยุบรวมราชการส่วนภูมิภาคเป็น อปท.รูปแบบพิเศษคล้าย กทม. ระบุช่วยลดซ้ำซ้อน-งบประมาณ-พัฒนาตรงจุด "ถวิล" ชี้ผู้ว่าฯ แต่งตั้งไม่ใช่คนท้องถิ่นขาดความต่อเนื่องทำแผนพัฒนาสะดุด อาจารย์มธ.แนะถอนรากถอนโคน เริ่มนำร่องจังหวัดปริมณฑลก่อน
    ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ วันที่ 23 สิงหาคม มีการจัดโครงการสัมมนาระดมปัญญา ครั้งที่ 11 โดยศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  และมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่อง “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แนวคิด ทิศทาง และความเป็นไปได้”   
    โดยนายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาของงานวิจัยหลายชิ้น พบว่าที่ผ่านมาการเมืองระดับชาติหรือนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางการพัฒนาในอนาคตคือการยกระดับให้จังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) รูปแบบพิเศษ ตามกฎหมาย แต่ละจังหวัดมีลักษณะคล้ายกับกรุงเทพมหานคร แบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ส่วนกลางและระดับเทศบาล ซึ่งเป็นอปท.ท้องถิ่นระดับล่าง พร้อมแบ่งงบประมาณเป็น 2 ส่วน โดยจังหวัดสามารถทำข้อตกลงและเสนองบประมาณอุดหนุนแก่เทศบาลได้ 
     "ต้องมีการยุบรวมระบบราชการส่วนภูมิภาคและ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ามาในโครงสร้างจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โครงสร้างการบริหารประกอบด้วย ผู้ว่าฯ สภาจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการบริหารจังหวัดปกครองตัวเอง (ส่วนกลาง) คณะกรรมการประสานแผนพัฒนาจังหวัด สภาพลเมือง และคณะกรรมการตรวจสอบจังหวัด การจัดการดังกล่าวสามารถลดความซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเชิงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ จากการวิจัยพบว่าสามารถช่วยลดงบประมาณในการบริหารจัดการได้ ทำให้มีเอกภาพและขีดความสามารถมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องรอหน่วยงานจากรัฐบาลกลาง และเป็นการดึงศักยภาพของจังหวัดที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่ และเป็นการปลดล็อกการพัฒนาประเทศที่ติดหล่ม"
    นายจรัสกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตัวเอง พ.ศ.… ระบุภารกิจที่จังหวัดไม่ต้องทำ เรื่องการศาล ป้องกันประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อหลายจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ทันทีได้คือการปรับตัวของข้าราชการ อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ข้าราชการที่ควบคุมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งเขาเหล่านี้จะต่อต้านเนื่องจากเสียประโยชน์
    ด้านนายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา อปท.ยังรู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบ หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยึดโยงกับส่วนกลาง เนื่องจากยึดโยงกับงบประมาณ เพราะกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณก่อนลงมาสู่ท้องถิ่น ขณะที่โครงสร้างเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของเรามีถึง 3,000,000 ล้านคน เจ้าหน้าที่ อปท.มีเพียง 500,000 คน ขณะที่ประเทศที่มีการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพอย่างอังกฤษและญี่ปุ่นกลับมีจำนวนเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเพียง 500,000 คน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ อปท.ประมาณ 2,000,000 คน ซึ่งสวนทางกับประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 
    “ตราบใดที่การบริหารเป็นแบบเดิม การสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก ตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเองคงทราบ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งขาดความต่อเนื่อง อยู่อย่างมากก็ 3 ปี บางรายหากไม่ใช่คนท้องถิ่น เพียงทำความรู้จักกับประชาชนและความคุ้นเคย ก็ใช้เวลาถึง 2 ปีแล้ว จึงทำให้แผนพัฒนาจังหวัดไม่สามารถใช้ได้ แต่ถ้ามาจากการเลือกตั้ง นอกจากความร่วมมือที่จะได้รับจากภาคประชาชนอย่างดีแล้ว อายุการทำงานอย่างน้อย 4 ปี ทำให้สามารถวางแผนพัฒนาได้ และเชื่อว่าโอกาสการแก้ปัญหาของประชาชนในท้องที่อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดไม่ได้ หากมีการบริหารส่วนภูมิภาคซ้อนการทำงานของ อบต.อยู่” นายถวิลกล่าว
    ขณะที่นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงสร้างราชการของไทยนั้นหยั่งรากลึกมาเป็นร้อยปี ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้น เป็นการขุดรากถอนโคนสิ่งที่มีอยู่มาตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นการจัดการกับโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ต้องได้รับการผ่องถ่ายไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือส่วนกลาง ซึ่งต้องพบการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหมู่เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคด้วยกัน รวมถึงกรณีอื่นๆ อาทิ ด้านการศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสาธารณสุข ในแต่ละพื้นที่ 
    "ในบรรยากาศการเมืองขณะนี้ ผมไม่แน่ใจว่าการดันเรื่องดังกล่าวให้กลายเป็นที่สนใจของสังคมจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หากเราต้องการผลักดันนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง ควรมีการเริ่มโครงการนำร่อง โครงการจังหวัดจัดการตัวเอง ซึ่งควรเริ่มจากจังหวัดในเขตปริมณฑล เนื่องจากพื้นที่รอยต่อของจังหวัดเหล่านี้มีความกลมกลืนกับ กทม.อยู่แล้ว หากประสบผลสำเร็จ ค่อยขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป"
     นายศุภสวัสดิ์กล่าวว่า บนพื้นฐานการกระจายอำนาจที่มีอยู่ ทำไมเราไม่คิดถึงการถ่ายโอนภารกิจให้ลงสู่ อบจ. หรือเทศบาลให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนความเป็นประชาธิปไตยในท้องถิ่น อีกส่วนคือการป้องกันไม่ให้มีส่วนราชการใหม่เกิดขึ้นในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างล่าสุดกับสำนักงานท้องถิ่นอำเภอ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีมาตรการควบคุมหรือถ่วงดุลส่วนราชการเหล่านี้ให้ขยายตัวในระดับพื้นที่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"