ผมเห็นคลิปประกาศรับ “นักการทูตรุ่นใหม่” ของกระทรวงต่างประเทศในโซเชียลมีเดียวันก่อนแล้ว ต้องบอกว่าเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจ นี่คือความพยายามก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ควรแก่การติดตามอย่างยิ่ง
ข้อความที่ว่านี้บอกว่า
“โอกาสการเป็นนักการทูตรุ่นใหม่...ใกล้มาถึงแล้ว คุณพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศหรือยัง?
“กระทรวงต่างประเทศขึ้นชื่อว่าเป็นกระทรวงที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เนื่องจากมีสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ คณะผู้แทนถาวร และสำนักงานการค้าฯ อยู่ถึง 99 แห่งทั่วโลก วันนี้พวกเราขอนำเสนอ 15 จาก 99 แห่ง พร้อมภารกิจที่น่าสนใจเพื่อพิสูจน์ประโยคที่ว่า “เพราะพระอาทิตย์ไม่เคยตกดินที่กระทรวงต่างประเทศ”
ที่กระทรวง “บัวแก้ว” ต้องใช้โซเชียลมีเดียในการจูงใจให้คนไทยรุ่นใหม่สนใจมาทำงาน น่าจะเป็นเพราะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในวิถีชีวิต, ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมอย่างมาก
แนวโน้มการ “ปรับภาพลักษณ์” และ “วิถีแห่งวิชาชีพ” เช่นนี้ผมสังเกตว่าได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในหน่วยราชการและองค์กรรัฐที่ปรับตัวให้ทันกับสิ่งใหม่ๆ ในโลกนี้หลายแห่ง
ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในองค์กรที่เปลี่ยนภาพของตนเองให้ทันกับยุค disruption ด้วยการปรับบรรยากาศและรูปแบบการทำงานให้ทันกับค่านิยมยุคนี้
ทั้งกระทรวงต่างประเทศและแบงก์ชาติเคยเป็นสถาบันที่มีภาพของ “ความขลัง” จากอดีตที่ใครต่อใครต้องการจะเข้าไปทำงานด้วย เพราะถือเป็นหน่วยงานที่มีเกียรติ ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าใครทำงานที่นั่นต้องเป็นคนเก่งระดับต้นๆ ของประเทศ พ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานตัวเองสังกัดหน่วยงานเหล่านี้เพื่อความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัว
แต่เมื่อสังคมโลกเปลี่ยน นวัตกรรมหลายๆ ด้านบังคับให้วิธีคิดและค่านิยมต้องเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยถือว่าเป็น “ความขลัง” ด้วยกฎกติกามารยาทยุคก่อนเก่าก็ค่อยๆ สลายไปทีละชั้นสองชั้น หลายปีที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ไม่ได้มององค์กรเหล่านี้เหมือนก่อน
สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือ “ความท้าทาย” ในยุคดิจิตัล และหากองค์กรเหล่านี้ไม่สนองตอบความใฝ่ฝันเหล่านั้น “คนดีที่สุดและเก่งที่สุด” (The Best and Brightest) ก็จะหันไปสมัครงานในองค์กรอื่น
อีกด้านหนึ่ง เด็กไทยที่เรียนหนังสือเก่ง มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่องค์กรรัฐเหล่านี้เรียกหาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานกับกลไกรัฐที่มีชื่อเสียงเหล่านี้อีก เพราะในยุค “โลกป่วน” ด้วยเทคโนโลยีอย่างนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเป็น “ลูกจ้าง” ที่มีเจ้านายคิดและทำแบบเก่าอีกต่อไป
ยิ่งระบบราชการเดิมๆ ยังสร้างข้อจำกัด ไม่เอื้อต่อการ “คิดนอกกรอบ” เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในโลกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้หน่วยงานเหล่านี้ไม่อาจจะดึงดูดเด็กมีคุณภาพรุ่นใหม่เข้ามาเป็นผู้รับช่วงต่อจากคนรุ่นเดิมอีกต่อไป
คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเป็น “ผู้ประกอบการ” เอง เพราะมีความเป็นอิสระมากกว่า สามารถลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ตอบโจทย์ของชีวิตยุคดิจิตัลได้มากกว่า
ผมจึงเห็นว่าการปรับตัวของกระทรวงต่างประเทศครั้งนี้ แม้จะช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉีกตัวเองออกจากกรอบเดิมๆ ที่ยึดเรื่องอาวุโส, คนรู้จัก และคัดเลือกคนด้วยข้อสอบแบบเดิมๆ
วิถีการทูตในเวทีระหว่างประเทศกำลังถูกกระแทก หรือ disrupt อย่างหนัก เพราะการสื่อสารและวิธีทางการทูตทุกวันนี้ทำผ่าน social media อย่างกว้างขวาง ไม่มีความจำเป็นต้องเดินตามพิธีการและขั้นตอนเดิมอีกต่อไป
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวิถีทางการทูตด้วยการใช้ทวิตเตอร์แสดงความเห็น และบ่อยครั้งก็กำหนดทิศทางนโยบายของสหรัฐต่อประชาคมโลก โดยไม่สนใจว่าใครจะทักท้วงหรือตั้งคำถามถึงความเหมาะควรแต่อย่างใด
ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ Twiplomcy หรือการทูตผ่านทวิตเตอร์
ผู้นำหลายประเทศใช้ social media ส่วนตัวเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับประชาชนของตนและทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงต่างประเทศของตนด้วยซ้ำไป
เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม การทูตไทยจะต้องปรับตัวอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ทั้งในกระบวนการตัดสิน, การต่อรองเจรจา, การสื่อสารและการวิเคราะห์และประเมินอำนาจต่อรองของเราในเวทีระหว่างประเทศ
การทูตยุคใหม่ไม่ใช่เพียงแค่เกิดขึ้น ณ สถานทูตหรือหน่วยงานเกี่ยวกับกระทรวงต่างประเทศ 99 แห่งในต่างประเทศเท่านั้น แต่การทูตยุคใหม่คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประชาสังคมทุกๆ ด้านในลักษณะที่ “นักการทูตยุคก่อน” ไม่เคยเข้าใจ
เพราะพระอาทิตย์ไม่เคยตกที่กระทรวงต่างประเทศ นักการทูตไทยจากนี้ไปจึงต้องขี่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงตลอด 24 ชั่วโมง!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |