อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
ปีที่ 40 ของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) รางวัลสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์วรรณกรรมไทย แม้จะเผชิญมรสุม กระแสสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง แต่ก็ยังประกาศว่าจะเป็นเวทีที่ยืนหยัดการคัดเลือกหนังสือมีคุณค่าสู่ประชาคมวรรณกรรม กระตุ้นการอ่าน และทำให้นักเขียนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
สำหรับหนังสือประเภทนวนิยายที่คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์พิจารณาตัดสินให้ทะลุเข้ารอบตัดเชือกปีนี้มีจำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ เกาะล่องหน โดย เกริกศิษฎ์ พละมาตร์ สำนักพิมพ์นาคร,คนในนิทาน โดย กร ศิริ วัฒโณ สำนักพิมพ์บ้านกาลก่อง ,ในกับดัก และกลวงวงล้อม โดยประชาคม ลุนาชัย สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา ,บ้านในโคลน โดยกิตติศักดิ์ คเชนทร์ แมวบ้านสำนักพิมพ์, พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ โดยวีรพร นิติประภา สำนักพิมพ์มติชน,ผุดเกิดมาลาร่ำ, โดยอารยา ราษฎร์จำเริญสุข 100 ต้นสน แกลลอรี่,หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา โดยอุรุดา โควินท์ สำนักพิมพ์ มติชน และอีกไม่นานเราจะสูญหาย โดยอ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
เพื่อเผยแพร่นวนิยายทั้ง 8 เรื่อง ก่อนที่จะมีการประกาศผลการตัดสิน เพื่อให้ผู้สนใจ รับทราบถึงเนื้อหาและรูปแบบของแต่ละผลงาน ทางโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ จึงจัดงานพบปะนักเขียนซีไรต์ ที่ผ่านรอบการคัดเลือกทั้ง 8เล่ม ณ โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ โดยมีนักเขียนเจ้าของผลงาน 7 คน ที่มาร่วมงานพูดคุยพบปะกับสื่อ ขาดเพียงอารยา ราษฎร์จำเริญสุข เจ้าของผลงาน ผุดเกิดมาร่ำลา ที่ติดภารกิจไม่ได้มา
เกริกศิษฎ์ พละมาตร์ เผยแรงบันดาลใจผลิตผลงานเขียน
ภาพรวมการพูดคุย แต่ละคนต่างบอกเล่ากว่าจะได้นวนิยายสักเรื่องไม่ง่ายเลย เริ่มจากประชาคม ลุนาชัย นักเขียนชาวยโสธรที่ไม่เคยหยุดพัฒนาผลงาน เผยแรงบันดาลใจเรื่อง'ในกับดักและกลางวงล้อม' 1 ใน 8 เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายว่า ในกับดักฯ อยู่ในใจของตนมานาน ชีวิตของชาวประมงผูกพันกับเครื่องมือประมงหลายประเภท นิยายเล่มแรกที่เขียนเรื่อง'ฝั่งแสงจันทร์' สะท้อนถึงชีวิตต่อสู้ของชาวอวนดำ ส่วน'คนข้ามฝัน' เป็นแง่มุมชีวิตคนอวนลาก ส่วนเล่มนี้ก็เสนอชีวิตคนอวนล้อม เพราะคนส่วนมากของสังคมเหมือนติดกับดักและติดอยู่ในวงล้อมจนไม่มีทางออก เช่นเดียวกับคนหาปลานอกจากวางอวนล้อม พวกเขายังโดยชะตาชีวิตล้อมไว้ด้วย เหตุการณ์ที่เขียนถึงมาจากเรื่องจริง ตั้งแต่ไต๋ตาข้างเดียวจนถึงลูกเรือนิ้วกุด มีขาข้างเดียวก็ต่อสู้เพื่อเงินและความฝัน คนเราจะยืนหยัดในสังคมได้อย่างสง่างาม อาศัยขาสองข้างไม่พอ ต้องเรียนรู้ รวมถึงสู้กับกิเลสในใจ ผู้นำประเทศก็เช่นกัน ถ้าไม่เป็นสัปปะรด จะพาประเทศไปผิดทิศทาง
ประชาคม ลุนาชัย เปิดใจผลงานเขียนเข้ารอบซีไรต์
" คนเร่ร่อน คนพเนจร พวกเขามักจะถูกถามจะไปไหน เพราะไม่มีที่อยู่ ไม่มีต้นทุนชีวิต ไร้จุดหมายปลายทาง พวกเขาตอบไม่ได้ แต่เรื่องนี้ทิ้งให้คิดว่า ถ้าทุกคนต่อสู้ฝ่าฟัน แม้จะไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จในชีวิต แต่จะออกจากวงล้อม เป็นอิสระจากพันธนาการที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งบอกได้ว่าจะไปไหน ถ้าจะถามว่าเรื่องต่อไปจะมีทะเลอีกมั้ย มีหรือมีก็ไม่จำเป็น ประสบการณ์เหมือนวัตถุดิบ เหมือนเนื้อที่ยังไม่ได้ปรุงรส ทะเลก็เช่นกัน เนื้อเรื่องมีอยู่แล้ว แต่จะเขียนอย่างไรให้สนุกเท่านั้น " ประชาคม กล่าว
ขณะที่ วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ ปี 2558 จากนิยายเรื่องแรก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
ส่วนนิยายชื่อยาว พุทธศักราชอัสดงฯ เล่มนี้ เป็นงานลำดับต่อมา วีรพร กล่าวว่า เป็นเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยครอบครัวหนึ่งผ่านการเล่าของสมาชิกครอบครัวรุ่นหลัง ตนเรียงร้อยประวัติศาสตร์ตัวละครและครอบครัวที่สร้างขึ้น เข้ากับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยและเชื่อมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจีน สิงคโปร์ ไม่ใช่แค่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ยังมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มากมายที่ปิดบังไว้ หรือกลุ่มชาวจีนอีกมากที่ไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กระแสหลัก การไหลบ่าของชาวจีนหลังปิดประเทศ
" บันทึกประวัติศาสตร์กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก ที่บอกต่อกัน เห็นว่า นิยายอิงประวัติศาสตร์ก้เป็นบทบันทึกต่อประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม และการเมืองไทยในอดีต คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านนิยาย " นักเขียนหญิง กล่าวถึงผลงานล่าสุด ซึ่งงานเขียนหนังสือ งานกำกับศิลป์ ยังเป็นอาชีพรองที่เธอหลงไหล
วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ปี 58
กวีซีไรต์ปี 2559 เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ผู้สร้างผลงานเขียน เกาะล่องหน กล่าวว่า ผลงานเขียนของตนมีทั้ง 3 ประเภท ทั้งบทกวี เรื่องสั้น และนวนิยาย ซึ่งเรื่องนี้อยากนำเสนอแนวนามธรรม แต่ข้อจำกัดวรรณกรรมเป็นตัวอักษร ก็เป็นนิยายเหนือจริง เกาะล่องหนจึงเกิดขึ้น เพื่ออธิบายการปรากฎ คงอยู่ และดับสูยไป ตนบอกเล่าถึงผู้คนบนเกาะ ซึ่งต่างคนต่างมีเรื่องเล่าของตนเอง เหมือนคนในเกาะภูเก็ตที่มาจากหลากหลาย นิยายนี้มีการหยิบยืมประวัติศาสตร์เรื่องจริงมาผสมกับเรื่องแต่ง พอใจกับผลงานเขียนเล่มนี้ที่ผมเขียนการเกิดและดับให้ดูได้ แต่เป็นนิยายที่เขียนไม่เสร็จ แล้วก็หยุดไป มันเขียนได้แค่นี้ มันเป็นการทำงานศิลปะ ก็ต้องฝึกฝนการเขียนต่อไป ปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มวรรณกรรมภูเก็จ ซึ่งเป็นรวมตัวของคนอยากทำงานสร้างสรรค์ในภาคใต้
ซีไรต์ปีนี้มีนักเขียนหญิงหน้าใหม่เข้ารอบ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ทายาทอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ โดยเธอเปิดใจถึงนิยายเรื่อง อีกไม่นานเราจะสูญหาย ว่า นิยายมาจากความสนใจความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ รวมถึงความลี้ลับนอกโลก สิ่งเหนือธรรมชาติ ในเรื่องเสนอผลกระทบจากระบบทุนนิยมผ่านความวิกลจริตของตัวละคร ผูกเรื่องด้วยอาการทางจิตเภทของตัวละครหลัก แต่ละช่วงชีวิตพบเหตุการณ์บีบคั้นทางอารมณ์ ขณะเดียวกันตัวละครรอบข้างก็มีปมที่กดทับไว้ ต่างก็เผยสิ่งที่ซุกซ่อนออกมา เล่มนี้ทุ่มเทเต็มสร้างสรรค์กลั่นจากประสบการณ์และอารมณ์
" ความยากของนิยายจะต้องดึงอารมณ์ต่อเนื่อง คนอ่านไม่รู้สึกล้าไปก่อน ควบคู่ไปกับความลี้ลับและอิงวิทยาศาสตร์ รวมถึงมีไทม์ไลน์ให้ดูสมจริง ส่วนเรื่องการกัดจิกระบบทุนนิยม การโกงกิน และอยากมีตัวตนในสังคมที่เขียนไว้ คือ การพูดถึงสังคมยุคปัจจุบันมีส่วนสำคัญหล่อหลอมให้คนเปลี่ยนไป อยากได้ อยากมี อยากเป็น ตัสละครในนิยายมีทั้งรู้สึกไร้ค่า ว่างเปล่า ไม่มีตัวตน หรือมีมากเกินไปจนล้น แต่สุดท้ายทุกชีวิตต้องลาจาก เรื่องนี้เปิดให้ตีความ จะหายไปจริงหรือแค่อุปมาอุปไมย ดีใจผลงานที่ตั้งใจกลั่นออกมาเข้ามาถึงขั้นนี้ เพราะซีไรต์เป็นรางวัลทรงเกียรติ มีมาตรฐาน เปิดกว้างและมีความเป็นมืออาชีพ รางวัลนี้อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน " อ้อมแก้ว เผยและฝากให้นักเขียนรุ่นใหม่เดินตามความตั้งใจ
ขณะที่ อุรุดา โควินท์ ผู้เขียน หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา บอกว่า เป็นนิยายรักจากประสบการณ์จริงและเรื่องแต่งเพื่อให้เรื่องเข้มข้น เป็นการเขียนแบบผู้หญิงที่เปิดโอกาสให้ตัวละครผู้หญิงมีเสียงผ่านตัวอักษร แทนเสียงของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้หญิง ปกติในสังคมถ้าผู้หญิงจะเล่าเรื่องความรัก ทุกคนจะยิ้มอ่อน ถ้ามีอีโรติกด้วยจะมองบน เป็นเสียงที่น่ารำคาญ ไม่มีใครอยากฟัง
" ความท้าทายของตน คือ เขียนให้ทุกคนอยากฟัง แต่ละฉากก็เลือก เช่น ฝนตกตลอดวัน ไม่มีอินเตอร์เน็ท ผู้คนไม่พูดคุยกัน แต่ตัวละครไม่เคยเหงา เพราะรู้ความหมายในชีวิต ไม่ยอมสูญเสียความเป็นตัวเอง หรือจำนนต่อความรัก เรื่องรักเหมือนกระเป๋า ซึ่งมีสิ่งต่างๆ มากมายให้คนอ่านค้นหา เล่มนี้ไม่ใช่แค่ความทรงจำของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เขียนให้คนอื่นครุ่นคิด " นักเขียนหญิง เผย
นวนิยายอีกเล่มที่น่าจับตา บ้านในโคลน โดยกิตติศักดิ์ คเชนทร์ นักเขียนชาวนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนรอดตายจากน้ำท่วม โคลนถล่มที่พิปูน บ้านจมไปในโคลน มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน ภัยพิบัติครั้งนั้นเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีบันทึกไว้และเป็นความรู้สึกซ่อนในใจตั้งแต่นั้นมา เมื่อเริ่มสนใจทำงานเขียนปี 2556 จึงนำเรื่องราวในหุบเขา อ.พิปูน บ้านเกิด ที่ยังไม่เคยถูกเล่าสู่โลกภายนอกมาเสนอผ่านงานนิยายเล่มนี้ ทั้งเรื่องสังคม วิถีชุมชน
กิตติศักดิ์ คเชนทร์
" ผมหลับตานึกถึงชีวิตวัยเด็ก ในความทรงจำเป็นภาพชายต่อโครงหลังคาสร้างบ้านใหม่ จนเป็นที่มาประโยคแรกของเรื่อง อีกภาพที่ซ้อนทับกัน พ่อแบกผมข้ามทะเลโคลน เนื้อหาเสนอการที่มนุษย์ต่อสู้ภัยพิบัติและความสูญเสีย เสนอประวัติศาสตร์ในรูปแบบเรื่องเล่า ความฝันของพ่ออยากสร้างบ้านให้ลูก วันหนึ่งธรรมชาติมาเอาไป แต่ความหวังยังมี สู้ต่อไป ในหุบเขามีหลายเรื่องอยากให้เปิดอ่านกัน " กิตติศักดิ์ บอกถึงนิยายที่สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม
นวนิยายเข้ารอบทั้ง 8 เรื่องน่าอ่านทุกเล่ม นักเขียนแต่ละคนคิดและสร้างงานเขียนจากประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมา สะท้อนชีวิตและสังคมอย่างเฉียบแหลม ชี้ให้เห็นนักเขียนนิยายไทยยังทรงพลัง ก่อนประกาศผลซีไรต์ใครอยากพบนักเขียนผ่านเข้ารอบซีไรต์ พบกันวันอังคารที่ 28 ส.ค. ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 13.00 – 17.00 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |