23 ส.ค.61- ที่กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย ในฐานะรองโฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกันแถลงข่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูล สมุนไพรอังกาบหนู ที่มีข้อมูลจากสื่อออนไลน์อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งได้
นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า สมุนไพรอักกาบหนูมีรสเย็น โดยมีสรรพคุณเพื่อลดการอักเสบ และมีรสเมาเบื่อน้อยๆ ซึ่งตามตำราสมุนไพรไทยโบราณ ระบุว่าสมุนไพรที่มีรสเบื่อเมา จะมีพิษในตัวเรื่องความคล้ายกับฤทธิ์ของเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในตำรับยามะเร็งหลายตำรับมีการใช้สมุนไพรที่มีรสเบื่อเมามาเป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการวิจัยสมุนไพรรักษามะเร็งอยู่หลายตำรับ เช่น ตำรับวัดคำประมง ที่มีข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู จากการศึกษาพบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ก็ฆ่าเซลล์ร่างกายที่ดีๆ เช่นกัน ดังนั้นถึงต้องเอามาทำเป็นตำรับที่มีสมุนไพรกว่า 25 ตัว ก็พบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดี ฆ่าเซลล์ร่างกายน้อยลง ตรงนี้เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ฤทธิ์ของสมุนไพรตัวหนึ่งไปแก้พิษของสมุนไพรอีกตัวหนึ่ง
นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า โดยสรุปของสมุนไพรอังกาบหนูสรุปเป็น 2 ข้อ คือ1 .สมุนไพรมีประโยชน์ ใช้ดื่มได้ แต่ต้องให้ถูกวิธี 2. ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ารักษามะเร็งได้ ซึ่งการที่มีผู้ป่วย 5-13 คนที่มีข่าวว่าใช้สมุนไพรดังกล่าวแล้วมะเร็งหายขาดได้นั้น คำว่ามะเร็งเป็นคำที่กว้างมาก ต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งที่อวัยวะใด ชนิด ระยะลุกลามแค่ไหน โดยต้องมีข้อมูลจากโรงพยาบาลยืนยันเพราะหลายครั้งคนไข้ก็เข้าใจผิดว่าป่วยเป็นมะเร็ง และคำว่าหายตามตะวันตกคือ ฆ่าเซลล์มะเร็งให้หายไปได้ หากกินแล้วพบว่าแค่มีอาการดีขึ้น รับประทานได้ นอนได้ เช่นนี้ไม่เรียกว่าหาย ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปที่ จ.สุโขทัย เพื่อตรวจสอบหากมีข้อชี้บ่งว่าหายจริง ก็จะได้มีการพิจารณานำสมุนไพรอังกาบหนูมาทำการศึกษาต่อไป
"ทั้งนี้ในหลักของการใช้สมุนไพร ทุกครั้งที่เริ่มใช้ต้องใช้ทีละน้อย เพื่อดูปฏิกิริยาของร่างกายว่ามีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง โดยมีคำศัพท์ทางแพทย์แผนไทย คือ ลางเนื้อ ชอบลางยา หมายความว่าแต่ละคนการตอบสนองต่อสมุนไพรไม่เหมือนกัน บางคนใช้และดี บางคนใช้แล้วมีปฏิกิริยาควรงดเว้นทันที และหากใช้แล้วดีแต่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับชัดเจนไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยอาจจะใช้ต่อเนื่อง 7-10 วัน แล้วพัก 3 วัน ค่อยกินใหม่ เพื่อให้ร่างกายสามารถขับพิษได้ทัน ไม่สะสมเรื้อรังในร่างกาย"นพ.ขวัญชัยกล่าว
ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวอีกว่า ในการนำสมุนไพรแต่ละชนิดมาศึกษาทดลองนั้น ใช้ระยะเวลานาน 5- 10 ปี โดยการทดลองในผู้ป่วยหลายร้อยราย เพื่อพิสูจน์ว่ารักษาได้จริง การบอกว่าคนจำนวนน้อย 5-10 คนหายขาดข้อมูลไม่เพียงพอ และที่สำคัญใช้งบประมาณจำนวนมาก ประมาณ 10 ล้านบาท ดังนั้นในการคัดเลือกมาทำการวิจัย ก็จะต้องเลือกสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพ โดยการวิจัยนั้นมี 2 แนวทาง คือ 1.ตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตก มุ่งหาสารออกฤทธิ์สำคัญในการออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง ส่วน2.ตามหลักการองค์ความรู้แพทย์แผนไทย คือการตรวจสอบตำราไทยโบราณว่ามีสรรพคุณรักษาโรคที่สื่อถึงมะเร็ง เช่น น้ำเหลืองเสียหรือฝี หากมีสรรพคุณก็จะเลือกนำมาใช้ โดยในการรวบรวมของเจ้าหน้าที่นั้น ขณะนี้กำลังคิดว่าต้องการเชิญหมอพื้นบ้านที่มีการใช้จริง เพราะต้องศึกษาทั้งในสัตว์ ในคน ต้องมีการเก็บข้อมูลจริงจากผู้ป่วย มาร่วมเสวนาระดมความคิดเห็นว่าสมุนไพรมีการใช้อย่างไร ใช้กับอาการไหน ต้องนำมาใช้ในงานวิจัยอย่างไร หากสมมติมี 10 คน 9 ใน 10 บอกว่ามีการใช้ก็จะเดินหน้าต่อในการวิจัย แต่หากบอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้การพิจารณานำมาวิจัยก็จะเก็บไว้ท้ายๆ
ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลความเป็นพิษของอังกาบหนูนั้นซึ่งเคยศึกษาทั้งในสารสกัดน้ำมัน และในน้ำ และทดลองในหนูไม่พบความผิดปกติดังนั้นขอให้สบายใจได้ หรืออีกกรณีมีการศึกษาพบว่ารากของต้นอังกาบหนู หากกินมากมีผลทำให้สเปิร์มลดลง เอาจะทำให้เป็นหมัน อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรต่างๆ ต้องมีความรู้ และใช้ให้ถูก อย่างอังกาบหนูนั้นมีความสามารถในการแก้อักเสบ รักษาแผลเปื่อยต่างๆ เช่น ถ้าต้มกินก็ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงริดสีดวง เป็นต้น หรือต้มดื่มเป็นชาแก้หวัด ไอ เจ็บคอโดยใช้อังกาบหนูประมาณ 30 กรัมต้มหม้อเล็กดื่มวันละ 3 แก้ว แต่ไม่ควรดื่มติดต่อกันระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามทางรพ.อภัยภูเบศรเล็งศึกษาเป็นเจลรักษาแผลที่เกิดจากโรคมือ เท้า ปาก แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |