"เพชรบุรี" ลุ้นระทึก! "โฆษก กห." เผยพายุเข้าอีกระลอก เตือน ปชช.ท้ายน้ำเก็บข้าวของ พร้อมเร่งระบายน้ำเต็มที่ "บิ๊กป้อม" สั่ง ปภ.-ทหารเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย "รมช.เกษตรฯ" ลงเกาะติดบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรี เสริมกระสอบทรายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" แจ้ง 14 จว.เผชิญฝนตกหนัก
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่เขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยทหาร ได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรีไว้แล้ว ซึ่งปีนี้ปริมาณน้ำมาก แต่ทราบว่าน้ำเริ่มลดลงแล้ว
"มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ และผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ต ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เตรียมมาตรการการช่วยเหลือฟื้นฟูไว้แล้วเช่นกัน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานทางภาคอีสานและเหนือน้ำลดลงแล้ว อยู่ในระหว่างร่วมสำรวจฟื้นฟูปรับสภาพเส้นทางคมนาคม ปรับให้ประชาชนใช้งานได้ตามปกติ ในส่วนของจังหวัดเพชรบุรี ต้องเตรียมการเฝ้าระวังหลังทราบข่าวจะมีพายุเข้าอีกระลอก ได้แจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำให้เก็บข้าวของ เตรียมกั้นน้ำไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ มีการนำเรือระบายน้ำ รถขุดเจาะทำทางระบายน้ำให้ได้มากที่สุด ช่วยเหลือ อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งได้มอบหมายให้กำลังพลในพื้นที่ประสาน ปภ.จังหวัดติดตามให้ความช่วยเหลือ
"พล.อ.ประวิตรกำชับให้ทุกเหล่าทัพให้ความช่วยเหลือ โดยนำยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าช่วยเหลือติดตามเฝ้าระวัง โดยส่วนกลางเตรียมกำลังทหารไว้สนับสนุนงาน ยืนยันกองทัพไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการร้องขอมาเป็นกรณีพิเศษ“ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
วันเดียวกัน นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.เกษตรและสหกรณ์) เดินทางลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำเพชรบุรี เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนเพชร บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี
นายลักษณ์กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน จำนวน 773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 109 ของความจุอ่างฯ ส่งผลให้บริเวณ อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายาง มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริเวณหน้าเขื่อนเพชร กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทาน และคลองระบายน้ำ D9 รวมกันประมาณ 120 ลบ.ม./วินาที เร่งระบายน้ำไปออกทะเล ส่วนที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตราประมาณ 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไหลผ่าน อ.ท่ายาง และ อ.บ้านลาด ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่ง
"พื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ได้รับผลกระทบมีน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง อาทิ บริเวณสนามฟุตบอลวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี โรงน้ำแข็งธนสิทธิ์ สะพานลำไย และสะพานใหญ่ เป็นต้น โดยทางจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยการเสริมกระสอบทรายในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง" นายลักษณ์กล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต่างๆ อีกทั้งให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อม โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ หากเกิดน้ำท่วมขังในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตร รวมทั้งการเตรียมพร้อมเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ และเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำ 773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.37 ม. ลดลงจากเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 7 ซม. คิดเป็นปริมาณน้ำไหลเข้า 19.41 ล้าน ลบ.ม. ลดจากเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 6.2 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณการระบายน้ำยังคงสูง แต่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 22.75 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เมื่อเวลา 05.00 น. บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่งที่สถานีวัดกรมชลประทาน 3 ซม. แนวโน้มลดลง
นายสำเริงกล่าวว่า ที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่งที่สถานีวัดกรมชลประทาน 39 ซม. แต่ยังไม่ล้นคันกั้นน้ำชั่วคราวและถาวรของเทศบาลที่ได้เสริมจากระดับตลิ่งเดิม ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 40-60 ซม. เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่ชุมชนเมืองและเขตเศรษฐกิจ
"เนื่องจากระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทุกหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำเอ่อล้นในชุมชนหรือพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำท่วมขัง รถสูบส่งน้ำระยะไกล เรือยนต์ผลักดันน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกขนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงเรือพาย เรือท้องแบน เพื่อการสัญจรทางน้ำสนับสนุนในพื้นที่อย่างเต็มที่ด้วย" นายสำเริงกล่าว
ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติกล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.น่าน 82.0 มม., เพชรบูรณ์ 76.6 มม., แม่ฮ่องสอน 63.2 มม., พิจิตร 41.8 มม., อุตรดิตถ์ 38.8 มม., พิษณุโลก 37.0 มม. ภาคกลาง นครสวรรค์ 57.4 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร 57.4 มม. ภาคตะวันออก ตราด 53.0 มม. และ ภาคใต้ พังงา 56.5 มม.
"จากสถานการณ์ฝนที่ยังตกหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ทางศูนย์ฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง นอกจากเขื่อนแก่งกระจาน โดยเน้นย้ำตามข้อสั่งการของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน" ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติกล่าว นายสำเริงกล่าวว่า ได้ประสานจังหวัดและพื้นที่เตรียมการป้องกันและช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำให้มากที่สุด ทั้งเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103%, เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 8,025 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91%, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87%, เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 335 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีแผนระบายน้ำลงแม่น้ำปราณบุรีเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10.40 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะสูงขึ้นอีกไม่เกิน 20 ซม.
ที่ จ.เพชรบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ทั้งในตัวตลาดเมืองเพชร ถนนหน้าห้างสหไทย ถนนพงษ์สุริยา ถนน 18 เมตร และถนนคนเดิน ข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้ำเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นผิวจราจรแล้ว โดยน้ำดันขึ้นทางฝาท่อระบายน้ำและน้ำที่ล้นตลิ่ง แต่ละจุดน้ำมีความสูงประมาณ 10-13 เซนติเมตร และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีรายงานว่าจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่มาถึงพื้นที่เมืองเพชร ทำให้ชาวบ้านได้เร่งเก็บข้าวของขึ้นที่สูง และมีการนำถุงทรายก่อกั้นเป็นกำแพง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |