ม.44ไพรมารีโหวต บิ๊กตู่ใช้คลายปมเลือกตั้ง/ยิ่งลักษณ์โผล่เย้ยพ่อปู


เพิ่มเพื่อน    

    “บิ๊กตู่” แบะท่าใช้ ม.44 แก้ปม "ไพรมารีโหวต" ให้เกิดการเลือกตั้งอย่างที่ทุกคนต้องการ ย้ำเลือกตั้ง ก.พ.62 เหมาะสมสุด ยันจะยืดให้น้อยที่สุด จับตากลุ่มโซเชียลฯ สร้างขัดแย้ง "วิษณุ" เผยเตรียมชงคำสั่งให้ คสช.แล้วเร่งให้เสร็จก่อนคลายล็อก ก.ย.นี้ กกต.คุมเข้มหาเสียงผ่านโซเชียลฯ เตือนใส่ร้ายให้ข้อมูลเท็จเจอโทษอาญาชดใช้ค่าเสียหายเลือกตั้งด้วย "เพื่อแม้ว" ปูด คสช.-ผู้สมัครพลังประชารัฐสุมหัวแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จ้องเอาเปรียบ หวั่นวุ่นวายแน่
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาหารือ แต่หน้าที่ของเราคือสร้างความสงบเรียบร้อยให้ประเทศเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ส่วน ไม่ใช่อีกคนหนึ่งพยายามทำให้สงบ แต่อีกคนหนึ่งไม่ให้เกิดความสงบ ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ก็ติดตามดูทุกกลุ่มว่าอย่าทำให้บ้านเมืองสับสนอลหม่าน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดูการเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องจับตาดูทุกวัน บางทีก็ขยายความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นโซเชียลฯ ควรจะมีการสร้างบทบาทความรับรู้มากกว่าที่จะสร้างให้คนแบ่งเป็น 2 พวก ดังนั้นการที่จะไปสู่ประชาธิปไตยในวันหน้าจะต้องแก้ไขกันใหม่แล้วว่าการสร้างความรับรู้ประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าจะยังไม่ชอบ แต่เราต้องยอมรับกติกาในการเลือกตั้ง เพราะการได้รัฐบาลมาเป็นการยอมรับเสียงส่วนมากและเสียงส่วนน้อย แต่รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่เพื่อคนทั้งคนเสียงส่วนมากและเสียงส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นของพรรคใดก็ตาม จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็มีหน้าที่ดูแลทั้งสองฝ่าย 
    "ติดตามในโซเชียลฯ ตลอด ซึ่งมีเสียงในนั้นก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคม และต้องประณามคนเหล่านั้นด้วยว่าไม่ใช่ทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งคุณก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นคนกลุ่มไหน ไม่ต้องกังวล"
     ผู้สื่อข่าวถามถึงการหารือระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หารือในแนวทางการทำงานมาโดยตลอด สิ่งสำคัญต้องสอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาลและ คสช.ด้วย ในเรื่องของการปลดล็อกและการทำตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเราก็บอกไปแล้วว่ามีกำหนดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งหากเลยระยะเวลาตามที่ตนกำหนดไว้ จะทำอย่างไร ตนก็ได้บอกไว้ว่าถ้าเป็นไปได้ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นเดือน ก.พ.62 
    “ส่วนการทำไพรมารีโหวตนั้น ก็ต้องทำให้ได้ เพราะเขียนไว้แล้วในกฎหมาย ซึ่งในปีแรกจะมีปัญหาหรือไม่  จะต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ก็ต้องทำให้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางกฎหมาย วันหน้าก็ควรจะทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าวันนี้มาทำอะไรบ้างก็จะเลือกตั้งได้ไม่ตามเวลา ก็กลายเป็นทำไม่ได้ ก็จะกลับมาที่ผมอีก ผมต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแมป ซึ่งเดือน ก.พ.62 ผมถือว่าเหมาะสมแล้ว จริงๆ เวลายังยืดไปอีก แต่ผมก็ลดให้น้อยที่สุด”
    เมื่อถามว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า “ก็นี่ไงที่กำลังจะแก้โดยใช้อำนาจผมไม่ใช่หรือ แล้วจะมาถามผมอีกทำไม อะไรที่มีปัญหาผมจะแก้ให้หมด นั่นแหละคือสิ่งที่ผมจะใช้อำนาจตรงนี้ แก้ให้สามารถทำงานได้ อย่างน้อยถ้าไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะเอาแค่ไหนล่ะ 50, 60 หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของกฎหมาย นั่นแหละคือประโยชน์ของตรงนี้ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างที่ทุกคนต้องการ ให้เกิดความสงบสุข ซึ่งกฎหมายเขียนมาอย่างนี้ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร อย่าเอารัฐบาล คสช.ไปตรงนี้ ไม่อย่างนั้นจะมีคนที่อยู่ตรงกลางได้อย่างไร การเมืองยังไม่ได้เริ่ม แต่ปี่กลองก็เริ่มประโคมกันแล้ว ยังไม่ถึงยก 3 เลย
    เมื่อถามย้ำว่า ตกลงจะใช้มาตรา 44 เมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขายื่นมาเมื่อไหร่ ผมก็เซ็นให้
"วิษุณ"ชง คสช.ใช้ ม.44
     ด้านนายวิษณุ เครืองาม เปิดเผยว่า เตรียมเสนอทางออกเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขไพรมารีโหวตให้ คสช.พิจารณา ซึ่งต้องรอให้ คสช.เป็นผู้กำหนดวันนัดประชุมอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการคลายล็อกทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ โดยการแก้ไขไพรมารีโหวตนี้จะนำไปสู่การแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งแนวทางที่จะเสนอให้ คสช.พิจารณา มีทั้งข้อเสนอเดิมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก่อนที่ สนช.จะเปลี่ยนมาเป็นไพรมารีโหวต รวมถึงการทำไพรมารีฯ ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับเขต และไม่ทำไพรมารีโหวต ซึ่งการไม่ทำคงไม่เกิดขึ้น เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45
    นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ว่า คสช.จะเลือกแนวทางใดจะใช้เวลาไม่นาน อาจใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ในการดำเนินการแก้ไข เพราะได้เตรียมการทุกอย่างไว้หมดแล้ว ส่วนการคลายล็อกทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 90 วันที่สอง คือในช่วงที่กฎหมายประกาศแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือในระหว่างเดือน ก.ย.ถึงเดือน ธ.ค. จะเป็นการคลายล็อกบางประการ เช่น การให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ได้ สามารถหาสมาชิกพรรคได้ สามารถออกความเห็นเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และสามารถไปทำไพรมารีโหวตได้ แต่ส่วนอื่นๆ ยังคงล็อกไว้ รอปลดล็อกโดยสิ้นเชิง ซึ่งต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง
    "คำพูดของนายกฯ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่จะไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 24 ก.พ.62 มีความชัดเจนแล้ว ไม่ต้องตีความใดๆ ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าสุดคือวันที่ 5 พ.ค.62" นายวิษณุกล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วสุดคือวันที่ 24 ก.พ.62 ว่าตนเคยบอกไว้หลายทีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาบอกว่าต้องเป็น ก.พ.ปี 62  ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเร็วที่สุดแล้ว ไม่เช่นนั้นจะล่าช้าไปอีก และเชื่อมั่นว่ามีเวลาทันเหลือเฟือในการให้แต่ละพรรคการเมืองจัดทำไพรมารีโหวต 
    นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ และ กกต. พูดถึงการเลือกตั้งช่วงเดือน ก.พ.62 ว่าทุกฝ่ายก็คาดการณ์ไว้ในช่วงระยะเวลานั้น ทั้ง คสช. รัฐบาล กกต. และ สนช. รวมถึงพรรคการเมือง ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองได้ผ่าน สนช.ไปแล้วในเรื่องของการทำไพรมารีโหวต แต่ขณะนี้มีปัญหาว่าจะทำไพรมารีโหวตทันหรือไม่ จึงเป็นปัญหาของผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงจะต้องไปคิดหาทางออก โดยต้องทำให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่หากทำไม่ได้จริงๆ ค่อยมาหาทางออกว่าปัญหานี้จะหาทางออกอย่างไร ซึ่งเชื่อว่ามีหลายทางออก
    เมื่อถามว่า ต้องทำอย่างไรหากทำไพรมารีโหวตไม่ทันตามกรอบระยะเวลา นายสุรชัยกล่าวว่า ทำอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ทิ้งหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำไพรมารีโหวตแบบไหน เป็นรายละเอียดที่ต้องนำมาศึกษากัน ถ้าจะให้เร็ว ให้ใช้มาตรา 44 เสนอเป็นร่างกฎหมายมายัง สนช. เราก็ยินดีที่จะพิจารณาให้ เพียงแต่ว่าต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบโรดแมปที่กำหนดไว้ หากต้องแก้ไขตามกระบวนการกฎหมายกังวลว่าคงต้องใช้เวลามากพอสมควร เพราะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรา 77 แต่ถ้าแก้ไขไม่มาก สนช.ก็ผลักดันสนับสนุนให้รวดเร็วได้ ด้วยการเสนอขอให้พิจารณา 3 วาระ โดยใช้กรรมาธิการเต็มสภา ซึ่งเรื่องนี้รีบทำให้เร็วก็จะดีที่สุด
คุมหาเสียงผ่านโซเชียลฯ
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.ไม่เคยเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำไพรมารีโหวต เพราะในขณะนี้ได้เตรียมการสำหรับการดำเนินการไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว เป็นแนวทางเดียวที่ กกต.ดำเนินการมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้ขอให้มีการคลายล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้ 100 คน เพื่อทำกระบวนไพรมารี และแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนวิธีทำไพรมารีโหวตไม่ใช่ข้อเสนอของ กกต. 
    ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ตัวแทนจาก กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด รวมทั้งการคิดค่าใช้จ่ายด้วย โดยในช่วงต้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย
    ภายหลังการประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง เลขาธิการ กกต.กล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมกรณีการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียโดยนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เว้นแต่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต.ได้ จากนั้น กกต.จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบภายใน 1 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.ก็จะลบข้อความเอง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลบข้อความไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าความผิดจะหายไปด้วย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ต้องรับผิดทางอาญา และหากมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งต้องเสียไป ก็ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ นายอิทธิพรซึ่งได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ได้ให้นโยบายโดยแสดงความเป็นห่วงว่า ในอนาคตการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้น จึงหวังให้คณะกรรมการชุดนี้ดูแลอย่างเต็มที่
    นอกจากนี้ ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ก็จะมีการตั้งวอร์รูมพิเศษซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลฯ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนมาคอยมอนิเตอร์เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่แม้ยังไม่มีการตั้งวอร์รูมข้อมูลที่ส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะถูกบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วย และสามารถค้นหาต้นตอผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคิดคำนวณ โดยกกต.ได้มอบให้นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ไปพิจารณารูปแบบต่อไป
    พล.ท.ธนากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยสถานการณ์การเมืองในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้เรามีความชัดเจนในหลายๆด้าน มั่นใจว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้มีความสงบและเรียบร้อย ไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติงาน ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในอดีต เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงนั้น เขาก็ให้ความร่วมมือดี และไม่มีการปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเสียหายอยู่ในกรอบกติกา 
    เมื่อถามว่า ความได้เปรียบทางด้านการเมืองภายหลังกลุ่มสามมิตรอ้างชื่อแม่ทัพภาคที่ 2 ไฟเขียวให้เคลื่อนไหวทางการเมือง พล.ท.ธนากรกล่าวว่า ไม่มีไฟเขียว เขาก็ดำเนินการในส่วนของเขา ถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลในการไปมาหาสู่การพบตามปกติ ทำกันอยู่แล้ว โอกาสพบปะพูดคุยมีหลายช่องทาง เพียงแต่ว่ามีการติดตามหรือใช้การประชาสัมพันธ์ทำให้เป็นที่สนใจของประชาชน ยืนยันว่าหากกลุ่มสามมิตรทำผิดก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ต้องดูที่เจตนาในการปฏิบัติ เรามีเจ้าหน้าที่ติดตามกลุ่มการเมืองอยู่ ส่วนที่ตนถูกอ้างชื่อได้แจ้งหน่วยที่รับผิดชอบในพื้นที่ไปแล้ว ทั้งนี้ หลายๆกิจการ เขามาเยี่ยมผู้ประสบภัยก็สามารถทำได้ ไม่ใช่มาดูด ส.ส. เป็นสิ่งคิดกันไป ดูเจตนาเป็นหลัก เราก็ยังคงเข้มงวดเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คนจนกว่า คสช.จะปลดล็อกการเมือง
ปูด คสช.สุมหัวแบ่งเขต
    นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดูดอดีต ส.ส.เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกครั้งในภาคอีสานนั้น ว่าที่ผู้สมัครที่ได้ไปส่วนใหญ่เป็นพวกแถว 2-3 ไม่เคยเป็นส.ส. ส่วนอดีต ส.ส.ที่เข้าร่วม แม้จะเคยเป็นพวกแถวหนึ่ง แต่ขณะนี้ถือเป็นยาหมดอายุที่ใช้การไม่ได้แล้ว ที่คุยว่าจะชนะเลือกตั้งเท่านั้นเท่านี้ เป็นเพียงราคาคุยเพื่อหวังปั่นหุ้น ขณะนี้กลุ่มการเมืองที่ออกตัวสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ มีการส่งซิกไปยังผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดเขตเลือกตั้ง เพื่อให้เขาได้ประโยชน์ จนการแบ่งเขตบิดเบี้ยวไปหมด จากที่ควรแบ่งเขตเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ ก็แบ่งเขตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่หัวเขตท้ายเขตห่างกันถึง 100 กม. อีกทั้งยังพยายามสร้างความขัดแย้งให้เกิดกับพรรคเพื่อไทย เช่น บางจังหวัดที่เรามีอดีต ส.ส.หลายเขต ก็นำเขตมารวมกันให้ต้องเลือกว่าใครจะได้ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สร้างปัญหาให้เราต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่เราสามารถบริหารจัดการภายในพรรคได้ ไม่ส่งผลกระทบกับการจัดตัวผู้สมัคร
     แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่หลายจังหวัดในส่วนของภาคอีสานได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารในพื้นที่และว่าที่ผู้สมัครที่คาดว่าจะลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ ได้มีการประชุมหารือกัน เพื่อที่จะกำหนดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลังจากที่นายกฯ ได้ไฟเขียวให้ กกต.จะมีการประชุมเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หากสามารถกำหนดเขตเลือกตั้งเองได้ ก็จะเป็นการตัดคะแนนของอดีต ส.ส.เดิมในพื้นที่ โดยเฉพาะของพรรคเพื่อไทยได้อีกทางหนึ่ง และจะเป็นการเพิ่มคะแนนให้ว่าที่ผู้สมัครคนนั้นๆ เกิดความได้เปรียบ เพราะสามารถแบ่งเขตใหม่ไปในส่วนที่ตัวเองมีฐานเสียงอยู่แล้ว ทำให้อดีต ส.ส.อีสานของพรรคเพื่อไทยหลายคนเกิดความกังวลในเรื่องดังกล่าว
    นอกจากนี้ ยังสอดรับกับที่ สนช.จะมีการขอแก้ไขกฎหมายเรื่องของผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัด จะเห็นได้ว่ามีการทำเป็นขั้นเป็นตอน มีการวางแผนทุกอย่างไว้หมดแล้ว และยังมีเรื่องของกฎหมายใหม่ที่กำหนดมาให้เขตแต่ละเขตคนละเบอร์ก็สร้างความยุ่งยากอยู่แล้ว หากมีการแบ่งเขตใหม่เพื่อให้ผู้สมัครคนนั้นได้เปรียบอีก จะทำให้อดีต ส.ส.ต้องเหนื่อยเป็นสองเท่า และสร้างความวุ่นวายสับสนให้กับประชาชนในพื้นที่อีก
    ยังมีความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางโซเชียลฯ อย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุดได้โพสต์รูปสะพายกระเป๋ารูปปู ยี่ห้อทอมบราวน์ พร้อมข้อความลงบนอินสตาแกรมหรือไอจีส่วนตัวว่า "ปูของแท้ค่ะ" โดยมีกองเชียร์เข้าไปแสดงความคิดเห็นชื่นชมจำนวนมาก
    เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในช่วงนี้ค่อนข้างถี่มาก และอยู่ในกระแสการเมืองที่กำลังร้อนแรงพอดี โดยเฉพาะการออกมาตอบโต้ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พาดพิงเรื่องชื่อ "ยิ่งลักษณ์" ว่ายังจำชื่อนี้ได้หรือไม่ และเรื่องอย่าเดินตาม "แม่ปู" เพราะเดินไม่ตรงทาง
    ขณะที่นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ตอบโต้กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุให้ประชาชนเดินตามพ่อปู อย่าเดินตามแม่ปู เพราะเดินเลี้ยวไปเลี้ยวมาว่า อย่าลืมว่าแม่ปูมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พ่อปูมาจากการยึดอำนาจของประชาชน ดังนั้นประชาชนควรเชื่อใครมากกว่ากัน ที่สำคัญที่พ่อปูบอกจะเลือกตั้ง สุดท้ายก็เลื่อนเลือกตั้งไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แบบนี้พ่อปูเดินเลี้ยวไปเลี้ยวมา อาการหนักกว่าหรือไม่
     ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ตรวจสอบว่าพิจารณาสั่งการให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 และคืนทรัพย์สินให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยระบุว่าการกล่าวอ้างตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวและนำมาคิดค่าเสียหาย 35,717,273,028.23 บาท น่าจะเลื่อนลอย ไร้พยานเอกสารหลักฐาน เพราะไม่ปรากฏตัวเลขความเสียหายที่อ้างถึง และคำสั่งกระทรวงหารคลังเมื่อเทียบกับคำพิพากษาแล้วไม่ถูกต้อง 
    ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว เขาไม่รายงานในรายงานการเงินแผ่นดิน แต่รายงานไว้ในการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว นายเรืองไกรก็ยังทำไขสือ เหมือนไม่รู้เรื่อง และที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ได้ใช้สิทธิ์ผ่านศาลปกครองในการขอให้ยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์ดังกล่าว กระบวนการต่อสู้ก็เป็นไปตามขั้นตอนของศาลปกครอง สุดท้ายอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาล การที่นายเรืองไกรทำเช่นนี้ ไม่ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาก็ออกมาชัดเจนเรื่องตัวเลขขาดทุน กรมบัญชีกลางก็แจงชัดว่าการดูว่าโครงการต่างๆ ขาดทุนหรือไม่ ให้ดูที่การปิดบัญชี รวมทั้งที่จะยื่นขอยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์ก็อยู่ที่ศาลปกครองแล้ว แสดงว่านายเรืองไกรพยายามตีรวนแบบแกล้งไม่เข้าใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"