ในหนังสือ จีน 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่และแผนการใหญ่ AI ของอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดรที่เพิ่งวางตลาดนั้นมี บทส่งท้าย ที่น่าสนใจมาก
เพราะบททิ้งท้ายนั้นตั้งประเด็นว่าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ใครจะเป็นผู้ครองอนาคต?
เป็นหัวข้อที่ผมสนใจและพยายามหาข้อมูลและบทวิเคราะห์หลายๆ สำนักมาอ่าน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็น ระเบียบโลกใหม่ ที่เกิดจากบทบาทของสีจิ้นผิงในเวทีโลกประกอบกับการขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์
อาจารย์ไม่ได้ฟันธงว่าอนาคตโลกจะอยู่ในมือของมหาอำนาจใด แต่ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าฟังว่า
“เราต้องไม่หลงยอยกพญามังกรหรือพญาอินทรีเกินจริง แม้ว่าจีนจะรุกคืบขยายอิทธิพล แต่สหรัฐฯ ยังถือไพ่เด็ดหลายใบที่จีนไม่มี ในขณะเดียวกัน ภายในสหรัฐฯ เองก็มีความเปราะบางทางการเมืองและเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการขยายอิทธิพลของจีน...”
อาจารย์อาร์มบอกว่าสหรัฐฯ ยังมี สี่ไพ่เด็ด เหนือจีนตามแนววิเคราะห์ของโจเซฟ นาย (Joseph Nye) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เขียนลงใน Financial Times นั่นคือ
1.ที่ตั้งของสหรัฐฯ เข้าถึงมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง และมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ต่างกับจีนที่มีอาณาเขตติดกับ 14 ประเทศ มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับเขตแดนกับหลายประเทศ เช่น อินเดีย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, ปัญหาไต้หวันและปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
2.ความมั่นคงทางพลังงาน เพราะอเมริกาใช้เทคโนโลยีสำรวจและขุดเจาะเจอน้ำมันดิบในชั้นหิน (shale oil) ปริมาณมหาศาล ทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน แต่จีนยังต้องอาศัยน้ำมันจากตะวันออกกลาง
3.จีนพึ่งพิงสหรัฐฯ มากกว่าสหรัฐฯ พึ่งพิงจีนในเรื่องการค้า มีการประเมินกันว่าถ้าสงครามเกิดในเอเชียจนการค้าหยุดชะงัก สหรัฐฯ จะเสียหายด้านเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 5% ของจีดีพี แต่จีนจะเสียหายสูงถึง 25% ของจีดีพี
4.ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก เพราะทุนสำรองของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีเพียง 1.1% ที่เป็นสกุลเงินหยวน อีก 64% เป็นสกุลดอลลาร์
แต่จีนก็มี "ไพ่เด็ด" ของตัวเองเหมือนกัน อาจารย์ยกเอาแนววิเคราะห์ของเอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์การต่างประเทศชื่อดังที่เขียนบทความให้นิตยสารไทม์พาดหัวว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะครองโลก
เขาอ้างว่าจีนมีไพ่เด็ด 4 ใบเหมือนกัน
1.เงินทุนใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐ
2.ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
3.จีนกุมเทคโนโลยีแห่งอนาคต
4.อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
อาจารย์อาร์มมองว่าเหตุผลเชียร์สหรัฐฯ เรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศนั้นไม่อาจจะประมาทจีนได้ เพราะปักกิ่งก็พยายามจะส่งเสริมให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในระบบนานาชาติ รวมทั้งทุ่มเงินวิจัยมหาศาลในเรื่องพลังงานสะอาด
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่ามหาอำนาจโลกอาจเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เช่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ค่อยมีใครเห็นว่าสหรัฐฯ จะมาเป็นผู้นำโลกได้
แต่ด้านเชียร์จีนนั้น อาจารย์อาร์มก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลก ที่มองว่าจีนซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยจะสามารถรักษาเสถียรภาพสังคมได้ดีกว่าสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลจีนสามารถแทรกแซงเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานหรือคุ้มครองธุรกิจไม่ให้ล้มจนกลายเป็นวิกฤติได้ ต่างจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ เมื่อปี 2007-2008 อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นในสังคมอเมริกัน
เมื่อต่างฝ่ายต่างมี ไพ่เด็ด ของตัวเอง การประเมินว่ามหาอำนาจใดจะครองโลกในวันข้างหน้าจึงเป็นเรื่องท้าทาย
อาจารย์อาร์มบอกว่าอาจถึงเวลาที่เราต้องปรับโลกทัศน์สำหรับโลกใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร
จีนก้าวกระโดดไปหลายด้านจนทำให้หลายคนตามไม่ทันหรือมองจีนในกรอบเก่า
จีนอาจอ่อนแอในระบบการเมืองและเศรษฐกิจอำนาจนิยม แต่ก็มีความแข็งแกร่งและอิทธิพลในรูปแบบต่างๆ ทั่วโลก
อเมริกาอาจมีเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่า แต่ก็ต้องเจอกับความท้าทายมากมายหลายด้าน ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอีกหลายทางที่จีนเจาะไม่เข้าในวันนี้เช่นกัน
ผมยังอยากได้แนววิเคราะห์จากนักคิดนักวิเคราะห์ของเอเชียโดยเฉพาะจากจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้และอาเซียนในหัวข้อนี้ก่อนที่จะหาข้อสรุปให้ชัดเจนได้
แน่นอนว่าปัจจัยที่เรากำลังวิเคราะห์กันอยู่วันนี้อาจจะแปรเปลี่ยนไปได้อย่างคาดไม่ถึงหากสถานการณ์พลิกผันไปอีกด้านหนึ่ง
หัวข้อนี้จึงน่าติดตามน่าถกแถลงอย่างต่อเนื่องยิ่งนัก
ใครสนใจเรื่องจีนไม่ว่าในประเด็นใด ติดตามหาอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้นะครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |