น้องๆ เยี่ยมชมพื้นที่ส่วนจัดแสดงสัตว์ป่าของกลางที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จ.พังงา สถานที่ศึกษา วิจัย เพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์สัตว์หายาก อย่าง เลียงผา ถือเป็นสถานีเพาะเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากเลียงผา ยังมีสัตว์ป่าหลายพันชีวิตอยู่ในความรับผิดชอบดูแล ทั้งเก้ง กระจงหนู หมีคน หมีควาย ลิง ค่าง ชะนี รวมถึงสัตว์ปีกไก่ฟ้าชนิดต่างๆ นกหลายสายพันธุ์ และจระเข้ เต่า แม้สัตว์ป่าเหล่านี้จะอยู่ในกรง รอเวลาที่เหมาะสมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ได้จุดประกายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ 67 คน ที่เข้าร่วมค่าย"เยาวชนกล้ายิ้ม โลกน่าอยู่ เรียนรู้สัตว์ป่า" ภายใต้โครงการ"คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" จัดโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงปัญหาลักลอบล่าสัตว์ป่าและการบุกรุกทำลายป่า รวมถึงปฏิญาณตนจะเป็นพลังร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจนถึงที่สุด
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งฯ กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ ดำเนินโครงการ"คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน"โดยใช้ป่าชุมชนส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กิจกรรมหลักมีจัดประกวดป่าชุมชนมอบรางวัลระดับประเทศเพื่อยกย่องป่าชุมชนที่สมบูรณ์ มีการบริหารจัดการเข้มแข็ง และขยายผลไปสู่ป่าชุมชนอื่นได้ นอกจากนี้ มีกิจกรรมสร้างเครือข่ายผ่านการสัมมนาผู้นำป่าชุมชนและจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม สำหรับค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ประจำปี 2561 ถือเป็นปีแรกที่ปลูกฝังคุณค่าเรื่องสัตว์ป่า มองว่า ป่า สัตว์ป่า มนุษย์ เป็นระบบห่วงโซ่อาหาร ช่วยสร้างความสมดุลระบบนิเวศ ขณะเดียวกันก็มีข่าวการล่าสัตว์ป่า สัตว์ป่าถูกรถชน สัตว์ป่าออกมากินพืชไร่ของเกษตรกร เพราะป่าไม่สมบูรณ์ ในอัตราที่เพิ่มขึ้น
" การพาน้องๆ ออกจากห้องเรียนมาเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา มีกิจกรรม RC ศึกษาชีวิตสัตว์ป่า ฟังบรรยายกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และมีโอกาสเยี่ยมชมพื้นที่ส่วนจัดแสดงสัตว์ป่าของกลาง และกรงคอกพ่อพันธุ์เลียงผาที่เพาะเลี้ยงไว้ปล่อยสู่ป่า จะเกิดจิตสำนึกรักษาป่าและสัตว์ป่า ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายส่วนหนึ่งเป็นน้องๆ ที่อาศัยอยู่รอบป่าชุมชน ป่า สัตว์ป่า คน ต้องพึ่งพากัน ไม่ใช่ไล่ล่า จับกินเป็นอาหาร หรือนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง จากการประเมินผลค่ายกล้ายิ้มที่ผ่านมา น้องๆ ไปสร้างกลุ่มรักษ์ป่า และหลายคนเติบโตมาเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน กลายเป็นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ " นางบุญทิวา กล่าว
นกเงือกหัวหงอก สัตว์ของกลางดูแลในกรง
นายสมโชค สุขอินทร์ สัตว์บาลประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ผู้รับหน้าที่นำน้องๆ กล้ายิ้มเรียนรู้ชีวิตสัตว์และบอกเล่าวิธีการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิดภายในสถานี กล่าวว่า สถานีเพาะเลี้ยงแห่งนี้มีภารกิจสำคัญเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนดูแลสัตว์ป่าของกลาง จากการจับกุมผู้กระทำความผิดของ จนท.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ และหน่วยปราบปราม รวมถึงดูแลสัตว์ป่าพลัดหลง สัตว์ป่าที่ประชาชนมอบคืนให้ราชการ โดยมีเขตรับผิดชอบภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และนครศรีธรรมราช
" สัตว์ของกลาง อย่าง ลิง ชะนี ถูกล่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว จับชะนีมาเร่ถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว พบฆ่าแม่เพื่อเอาลูกชะนีก็มาก ของกลางแม้สภาพภายนอกดูสมบูรณ์ แต่จากการตรวจพบโรคที่ไม่แสดงอาการ ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้ เพราะไม่ผ่านและขาดทักษะใช้ชีวิตตามธรรมชาติ จนท.ต้องดูแลสัตว์ป่าเหล่านี้ไปตลอดชีวิต ล่าสุดมีเสือของกลาง 2 ตัว อายุราว 1 ปี จับได้ระหว่างลอบขนเข้า กทม. อีกงานที่เยาวชนสนใจมากชมการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์เลียงผา ได้เรียนรู้สัตว์ป่าสงวนชนิดนี้ ซึ่งสถานีปล่อยสู่ป่าแล้ว 8 ตัว วันแม่ปีนี้ปล่อยอีก 4 ตัว ถือเป็นงานพัฒนาและอนุรักษ์ที่ก้าวหน้าของสถานีฯ " สัตว์บาลประจำสถานี กล่าว
เยาวชนจากป่าชุมชนในภาคใต้สนใจเรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ป่า
67 เยาวชนจากป่าชุมชนในภาคใต้ แต่ละคนสนใจการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า น้องกิ๊ฟ - นางสาวนิชยา บัวศรี นร.ชั้น ม.3 รร.วัดร่มเมือง จ.พัทลุง เผยว่า เคยเห็นแต่ข่าวล่าสัตว์ป่า เมื่อมาเห็นสัตว์ป่าของกลางจำนวนมากในกรงที่สถานีดูแล ทั้งนกเงือก ชะนี ไก่ฟ้าสีทอง จระเข้น้ำจืด รู้สึกสงสาร สัตว์ป่าก็มีชีวิตเหมือนคน ยังโชคดีที่ จนท. ช่วยชีวิตไว้ได้และดูแลอย่างดี ความรู้จากค่ายจะไปเขียนเรียงความเรื่องธรรมชาติกับสัตว์ป่า และจะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนดูแลป่าชุมชนโหล๊ะเคียนให้สมบูรณ์มากขึ้น
น้องกิ๊ฟ-นิชยา บัวศรี เยาวชนจากพัทลุง
ส่วน น้องลิค- นายอนุชิต ปัญญาไว นร.ชั้น ม.3 รร.นิคมสร้างตนเอง 2 จ.พังงา บอกว่า สัตว์ป่ามีความสำคัญ ถ้าขาดชนิดใดไปธรรมชาติจะเสียสมดุล การได้มาสถานีฯ ซึ่งมีความสำคัญในการดูแลและต่อชีวิตสัตว์ป่า ทำให้เข้าใจว่าสถานการณ์สัตว์ป่า รวมถึงความพยายาม จนท. จะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก ทั้งเลียงผา กระจงหนู ที่ผ่านมา โรงเรียนจัดกิจกรรมปลูกป่า ส่วนชุมชนก็ช่วยกันดูแลป่าคลองงา อ.ท้ายเหมือง ทำให้ยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ตนจะช่วยรักษาป่าไว้ ไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์
สำหรับค่ายเยาวชนกล้ายิ้มได้บ่มเพาะสร้างนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ทั่วประเทศให้มีจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง รวมแล้ว 23 รุ่น เยาวชนผ่านค่ายจำนวน 1,810 คน จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพต่อไป