จังหวัดน่าน/ ย้ายทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านห้วยขาบ 60 ครอบครัว 250 ชีวิต หนีภัยดินโคลนถล่มย้ายเข้าอยู่บ้านพักชั่วคราวแล้ว หลังจากที่ดินถล่มหมู่บ้านเสียชีวิต 8 ราย ด้าน ผวจ.น่านเตรียมประสานกรมป่าไม้ขอใช้พื้นที่ 200 ไร่สร้างหมู่บ้านใหม่ถาวร ขณะที่นักวิชาการชี้หมู่บ้านเดิมเสี่ยงภัยดินถล่มซ้ำอีกเพราะอยู่ในแนวเลื่อนของเปลือกโลก เตือน 54 จังหวัด 5,000 หมู่บ้านทั่วประเทศอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมเสนอกฎหมายรับมือภัยดินถล่ม
กรณีเหตุการณ์ดินจากภูเขาถล่มลงมาทับบ้านเรือนราษฎรบ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีบ้านเรือนเสียหายจำนวน 4 หลัง และเสียหายบางส่วนจำนวน 2 หลัง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย (ชาย 2 คน หญิง 6 คน/เสียชีวิตทั้งครอบครัว 1 ครัวเรือน) ต่อมาจังหวัดน่านได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติ และมีคำสั่งอพยพชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน จำนวน 60 ครัวเรือน ประมาณ 250 คน ให้มาพักอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ อบต.บ่อเกลือเหนือ วัดสว้าเหนือ และโบสถ์คริสต์ เพื่อรอย้ายเข้าอยู่ในที่พักชั่วคราวที่กำลังก่อสร้างนั้น
ล่าสุดวันนี้ (21 สิงหาคม) หลังจากที่การก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวจำนวน 60 ห้องที่บริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญา อ.บ่อเกลือแล้วเสร็จจึงได้มีการย้ายชาวบ้านห้วยขาบที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆ ให้เข้ามาพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราวแห่งนี้ โดยมีนายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นประธานในพิธี มีนายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.น่าน นายอำเภอบ่อเกลือ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ และประชาชนประมาณ 500 คนเข้าร่วมในงานดังกล่าว และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 60 ครอบครัว รวมเป็นเงิน 454,000 บาท
นายไพศาล วิมลรัตน์ ผวจ.น่าน กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดินถล่มที่บ้านห้วยขาบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ต่างพระราชทานความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต่างก็ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งมีจิตอาสามาช่วยกันสร้างบ้านพักชั่วคราวให้แก่ชาวบ้านห้วยขาบ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้แสดงความห่วงใย กำชับให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน
“ส่วนเรื่องที่พักอาศัยถาวรนั้น ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ คทช.จังหวัดน่าน (คณะกรรมการจัดการที่ดินจังหวัดน่าน) จัดหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักถาวรและเป็นที่ดินทำกิน โดยในเบื้องต้นจะใช้ที่ดินป่าสงวนฯ บริเวณหลุมนาบ้านสว้าเหนือ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 240 ไร่ โดยทางจังหวัดน่านจะประสานงานกับกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่สร้างบ้านพักถาวรให้กับประชาชน ส่วนบ้านห้วยขาบเดิมทางจังหวัดน่านได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเนื่องจากไม่มีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ดินถล่มได้อีก แต่ชาวบ้านสามารถขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาสร้างบ้านใหม่ได้” ผู้ว่าฯ จ.น่านกล่าว และขยายความว่า หากกรมป่าไม้อนุญาตเมื่อใดก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที
นายภานุวิชญ์ จันธี ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือ ในฐานะผู้ประสบภัยบ้านห้วยขาบ กล่าวว่า ทั้งแม้ว่าชาวบ้านจะเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งต้องย้ายบ้านเรือนออกจากหมู่บ้านเดิมที่อยู่อาศัยมานานไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี บางครอบครัวอยู่อาศัยมานานกว่านั้น แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ชาวบ้านจึงต้องยอมย้ายออกมา แต่ทางราชการยังให้เข้าไปทำกินและเก็บพืชผลที่ปลูกเอาไว้ได้ ส่วนการสร้างบ้านพักถาวรหรือสร้างหมู่บ้านใหม่นั้น จะต้องรอประชุมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
พอช.หนุนสร้างหมู่บ้านใหม่-พัฒนาครบวงจร
ทั้งนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์ดินจากภูเขาถล่มลงใส่หมู่บ้านห้วยขาบ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น พมจ.น่าน สภาองค์กรชุมชนจังหวัดน่าน กลุ่มฮักเมืองน่าน ลงเยี่ยมเยียนประชาชนและสำรวจข้อมูลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม สำนักงานภาคเหนือ พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดสร้างที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัย ทั้งหมด 60 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 18,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,080,000 บาทการสร้างบ้านพักชั่วคราวใช้พื้นที่สนามกีฬา อบต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ เป็นสถานที่พักชั่วคราว ออกแบบที่พักชั่วคราว โดยวิทยาลัยการอาชีพปัว จำนวน 6 คูหา (คูหาละ 10 ห้อง) รวม 60 ห้อง/ครัวเรือน ขนาดห้องละ 3.6 X 4 ตารางเมตร งบประมาณดำเนินงานทั้งหมดเป็นค่าวัสดุ จำนวน 1,400,000 บาท เป็นงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จำนวน 1,080,000 บาท ส่วนงบประมาณที่เหลือจำนวน 320,000 บาท เป็นเงินบริจาคจากภาคเอกชน
ส่วนแรงงานก่อสร้างมาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต.บ่อเกลือเหนือ วิทยาลัยการอาชีพปัว วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา วิทยาลัยเทคนิคน่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เจ้าหน้าที่ ตชด.32 ช่างชุมชนจากโครงการบ้านมั่นคง พอช. ส่วนห้องสุขา 10 ห้อง และห้องอาบน้ำ 10 ห้อง มณฑลทหารบก 38 เป็นผู้ก่อสร้าง ได้รับการสนับสนุนค่าวัสดุ จำนวน 150,000 บาทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยบ้านห้วยขาบ กล่าวถึงแผนงานที่จะสนับสนุนชาวบ้านห้วยขาบทั้งในเรื่องการสร้างบ้านพักถาวรและการสร้างอาชีพต่อไปว่า ในระยะแรกชาวบ้านห้วยขาบจะอาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราวแห่งนี้ก่อนอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักและที่ดินทำกินแล้ว จึงจะดำเนินการได้ โดยในเบื้องต้นคณะกรรมการจัดการที่ดินจังหวัดจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและรังวัดแนวเขตที่ดินเพื่อขอใช้ประโยชน์จากกรมป่า โดยจะใช้พื้นที่บริเวณหลุมนาบ้านสว้าเหนือ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 240 ไร่ โดยจะจัดสรรเป็นที่ดินสร้างบ้านจำนวน 60ครอบครัว ได้ครอบครัวละ 2 งาน และที่ดินทำกิน 2 ไร่
ส่วน พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างบ้านพักและสาธารณูปโภคตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท ครัวเรือนละ 72,000 บาท (สร้างบ้าน 40,000 บาท, สาธารณูปโภค 24,800 บาท และงบสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน 7,200 บาท) รวม 60 ครัวเรือน งบประมาณทั้งหมด 4,320,000 (ยังไม่รวมงบช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี คาดว่าภายในช่วงปลายปี 2562 ชาวบ้านห้วยขาบจึงจะย้ายเข้าอยู่ในบ้านพักถาวรได้
“ส่วนการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น หลังจากที่ประชาชนย้ายเข้าอยู่อาศัยในบ้านถาวรแล้ว พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พมจ.น่าน สำนักงานเกษตรจังหวัด วิทยาลัยอาชีพ สภาองค์กรชุมชน กลุ่มฮักเมืองน่าน ฯลฯ จะส่งเสริมด้านอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืน สวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะมีการหารือร่วมกับประชาชนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายสยามกล่าว
นักวิชาการชี้อาจเกิดดินถล่มได้อีกในหลายจังหวัด
ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้แถลงข่าวเรื่อง "ดินถล่มและระบบเตือนภัยในประเทศไทย” ที่ห้องประชุม สกว. โดย รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน่วยวิจัยดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2545 พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดดินถล่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายเร่งการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดดินถล่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยหาองค์ความรู้นำมาสู่มาตรการป้องกัน นอกจากนี้พิบัติภัยดินถล่มจากธรรมชาติจะมีช่วงการอุบัติซ้ำทุก 5-6 ปี
ส่วนสาเหตุที่ดินถล่มมี 2 ประเภท คือ จากน้ำมือมนุษย์ เช่น การตัดตีนเขา ตัดถนนโดยไม่มีการป้องกัน การสร้างบ้านเรือนขวางร่องน้ำ ส่วนดินถล่มตามธรรมชาติอาจเกิดจากฝนตกหนัก ทำให้น้ำใต้ดินไหลไปตามแนวลาดเขา ทำให้เกิดดินสไลด์บริเวณตื้นๆ ซึ่งในกรณีบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกต่อเนื่องตลอด 20 วัน ทำให้น้ำซึมลึกลงใต้ดิน ส่งผลให้น้ำใต้ดินด้านล่างยกตัวสูงขึ้น เฉพาะบ้านห้วยขาบเป็นหุบที่น้ำไหลลงมา มีความลาดชัน 25 องศา ทั้งฝนและดินจึงไหลลงมา และมีแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกวิ่งตัดผ่านจุดเกิดเหตุ จากหินที่พบในที่เกิดเหตุแสดงว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มเดิม
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการในการเตือนภัยดินถล่มเป็นเรื่องที่ชุมชนสามารถเฝ้าระวังได้ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝนที่ชุมชนสามารถอ่านค่าน้ำฝนได้เอง เพราะน้ำฝนเป็นตัวก่อเหตุดินถล่ม จากนั้นเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องสร้างความเข้มแข็ง กระตุ้นการเฝ้าระวังในชุมชน เพราะไม่มีหน่วยงานใดอยู่กับชุมชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีกล่องเตือนภัยดินถล่ม ซึ่งจะส่งสัญญาณจากภูเขามายังหมู่บ้าน และล่าสุดพัฒนาแอปพลิเคชั่น LandslideWarning.Thai เมื่อกรอกข้อมูลแล้วจะสามารถระบุสถานะในปัจจุบัน สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ 3-4 วัน
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินถล่มกล่าวเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยว่า นอกจากจังหวัดน่านแล้วยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มอีกหลายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน ดอยปุย จ.เชียงใหม่ และดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ ประมาณ 6,000 คน เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่มีความละเอียดสูง พบว่าหมู่บ้านมีอัตราการขยับตัวลงไปที่ตีนดอยปีละ 50 เซนติเมตร ตรวจพบว่ามีรอยแยกบนถนนและกำแพงบ้าน ตำแหน่งบ้านมีการเคลื่อนตัวประมาณ 7 เมตรใน 10 ปี ซึ่งหมู่บ้านนี้อยู่ในกองดินถล่มเดิม
นายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มรายภาคและรายจังหวัด โดยคำนวณจากลักษณะทางธรณีวิทยาของหินว่ามีความทนต่อการผุกร่อนเพียงใด รวมถึงที่ตั้งชุมชน ที่ดิน ความลาดชันของพื้นที่ตั้งแต่ 30 องศาเป็นต้นไป โดยมีปริมาณน้ำฝนเป็นตัวตัดสิน โดยพื้นที่สีแดงมีปริมาณน้ำฝน 100 มิลลิเมตรต่อวันก็ทำให้ดินถล่มได้ พื้นที่สีเหลืองปริมาณน้ำฝน 200 มิลลิเมตร และพื้นที่สีเขียว 300 มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยในประเทศไทยมี 54 จังหวัด ประมาณ 5,000 หมู่บ้าน
“พื้นที่บ้านห้วยขาบ อำเภอบ่อเกลือ ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ควรหาพื้นที่อยู่ใหม่ และควรจัดระบบเฝ้าระวังเตือนภัยของหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเตรียมรับมือเหตุการณ์ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อมีฝนตกติดต่อกัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 เราได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยรายภาค ตัวแทนรายลุ่มน้ำ 30 ลุ่มน้ำ เพื่อกระจายองค์ความรู้แก่เครือข่ายรอบนอก ขณะนี้จัดตั้งสำเร็จแล้ว 7 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำทางตะวันออกที่ระยอง ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำตาปี และที่นครศรีธรรมราช” นายนิวัติกล่าว
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง กำลังร่างกฎหมายเกี่ยวกับดินถล่มเพื่อบังคับใช้ในอนาคต โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน เช่น มีมาตรการกำหนดการก่อสร้าง ลักษณะอาคารต้องห่างจากบริเวณดินถล่ม การสร้างกำแพงคันดิน กำหนดความลาดชันที่เหมาะสม บริเวณที่ห้ามก่อสร้าง ข้อบังคับมาตรการการป้องกันการพังทลายของสิ่งปลูกสร้าง มาตรการการพังทลายของดิน การขุดดิน ถมดินที่ถูกต้อง ไม่กีดขวางทางน้ำ ฯลฯ ทั้งนี้กรมโยธาธิการฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เขตหลักสี่ เวลา 08.00-13.00 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |