'แพน เรืองนนท์'สาวไทยที่เกือบได้เป็นราชินีกัมพูชา


เพิ่มเพื่อน    

แพน เรืองนนท์

เคยมีสตรีชาวไทยนางหนึ่งเกือบได้เป็นพระราชินีของประเทศกัมพูชา สตรีผู้นั้นคือ "แพน เรืองนนท์" เกิดในครอบครัวนักแสดงละครชาตรีเมื่อปี พ.ศ.2457 ที่บ้านหลานหลวง กรุงเทพพระมหานคร  ปัจจุบันอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  

นางละครชาวไทยมีชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดงละครชาตรีในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และโด่งดังจากการเข้ารับราชการเป็นเจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ พระสนมในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ 

มีข่าวลือว่าเธอเป็น "ว่าที่พระราชินีกัมพูชา" จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ซินเดอเรลลาสยาม" แต่ท้ายที่สุดเธอก็ถูกส่งกลับประเทศไทยและมิได้รับราชการฝ่ายในของกัมพูชาอีกเลย

"แพน เรืองนนท์" เป็นบุตรสาวของพูน กับแป้น เรืองนนท์ เธอมีพี่น้องร่วมและต่างมารดาทั้งหมด  17 คน หนึ่งในนั้นคือ ทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครชาตรี)

ครอบครัวของเธอดำเนินกิจการแสดงละครชาตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีบรรพบุรุษชื่อ พระศรีชุมพล (ฉิม) ชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยรับราชการในราชสำนักนครศรีธรรมราช  จนรับสมญาว่า "ละครเรือเร่" หรือ "ละครเรือลอย" ที่ถ่ายทอดการแสดงละครชาตรีสู่ผู้สืบสันดาน 

ด้วยเหตุนี้แพนบุตรสาวของพูนผู้มีหน้าตาสะสวยจึงซึมซับการเล่นละครชาตรีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อจำเริญวัยเธอก็ได้รับบทเป็นนางเอก 

พูน เรืองนนท์ ผู้พ่อรับเล่นละครกับคุณหญิงลิ้นจี่ ครั้นไปเปิดวิกที่อื่นก็ทำให้การแสดงคณะของพูนจึงขาดช่วงไป กอปรกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจนคนไม่อยากจ่ายเงินมาดูละคร พูนจึงเสนอให้คุณหญิงลิ้นจี่เลือกตัวละครที่ชอบไปแสดง 

คุณหญิงลิ้นจี่จึงเลือกแพนและชื้น สมญา "ชื้นตาหวาน" นำคณะไปเล่นละครแถบอรัญประเทศ และเข้าไปยังแถบเมืองพระตะบอง  

ชื่อเสียงของคณะละครดังไปถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ มีพระราชบัญชาให้เชิญไปเล่นละครในพนมเปญ ชื้นตาหวานผู้เป็นตัวพระเอกไม่กล้ารับ แต่แพนตัวนางเอกรับปากและเข้าไปยังราชสำนักเขมร 

พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์จึงให้แพนร่วมแสดงกับเหล่าพระสนมเฉพาะพระพักตร์ โดยแพนรับบทเป็น "บุษบา" ตอนไหว้พระ ผลก็คือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่ง และทรงรับนางสาวแพนเข้าเป็นเจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นหลวงแก่นายพูนผู้บิดา

พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ 
 

เรื่องราวดั่งนิยายของเธอได้รับการเปิดเผยครั้งแรก จากการสืบเสาะของนักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ที่ชื่อว่า "ประสุต" ที่บังเอิญได้ยินบทสนทนาจากกลุ่มสตรีที่ลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ที่กำลังสนทนาว่าด้วยเรื่องมารดาของแพนเล่าให้ฟังระหว่างโดยสารรถไฟกลับมาจากแดนกัมพูชา โดยอ้างว่าบุตรสาวของนางจะได้รับการแต่งตั้งเป็นราชินีแห่งกัมพูชา ซึ่งตอนนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมแล้ว 

หลังสัมภาษณ์นางแป้น ประสุตได้รายงานต่อแอนดริว เอ. ฟรีแมน (Andrew A. Freeman) ผู้เป็นบรรณาธิการ นายฟรีแมนจึงตัดสินใจพาดหัวข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ว่า "SIAMESE  DANCER MAY BE CAMBODIA'S QUEEN" (นางละครชาวสยามอาจได้เป็นราชินีแห่งกัมพูชา) ทำให้เรื่องส่วนตัวของแพนโด่งดังมากในปี พ.ศ.2470

หลังข่าวแพร่สะพัด ชีวิตรักของหญิงสามัญกับกษัตริย์กัมพูชาก็เป็นที่โจษขานในสังคมพระนคร  นายฟรีแมนระบุไว้ว่า     

"บ้านของบิดามารดานางสาวแพนกลายเป็นศาลเจ้าสำหรับคนที่เชื่อในความมหัศจรรย์ พวกเขาถูกถ่ายรูป ถูกสัมภาษณ์ และได้รับการว่าจ้างให้ไปปรากฏตัวในงานแสดงต่างๆ"

บันทึกของฟรีแมนระบุว่า หลังผ่านการถวายตัวได้ 3 วัน กษัตริย์กัมพูชาประกาศว่าจะสถาปนานางละครชาวสยามเป็นเจ้าจอม และมีพระราชดำริจะสถาปนายศเพิ่มให้เป็นพระราชินี หรือพระมเหสีลำดับที่  1 จากจำนวนพระชายา 5 องค์ที่มีอยู่แล้ว หลังการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระราชบิดาที่สวรรคตเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้า

นางแป้นผู้มารดาได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่า "ก่อนฉันเดินทางกลับมาจากกัมพูชา ทั้งสองคนกำลังมีความสุขมาก แพนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นภรรยาที่ดีได้เท่าๆ กับเป็นนางรำ" 

พระองค์โปรดปรานเจ้าจอมแพนมากถึงขั้นมอบหมายให้เธอถือกุญแจหีบทรัพย์สินส่วนพระองค์  ดูแลเครื่องทรงเครื่องเสวย ทั้งยังดูแลกิจการฝ่ายใน และการที่เจ้าจอมแพนสามารถขัดพระราชหฤทัยพระเจ้าอยู่หัวโดยการไว้ผมยาวจนกว่าจะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดา ซึ่งตามธรรมเนียมกัมพูชาต้องโกนผมไว้ทุกข์

ตามข่าวที่สถานกงสุลฝรั่งเศสได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในกรุงพนมเปญ ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการสมรสของพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชากับนางละครชาวสยามนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง 

จริงๆ แล้วนางละครคนนี้ได้รับการว่าจ้างให้อยู่ในคณะนาฏศิลป์หลวงที่กรุงพนมเปญ และมีสถานภาพเช่นเดียวกับนางละครคนอื่นๆ ที่เป็นชาวกัมพูชา กรุงเทพเดลิเมล์เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้

ขณะที่เรื่องราวของแพน เรืองนนท์กำลังเป็นที่พูดถึงนั้น มงซิเออร์ ชาล็องต์ (Monsieur Chalant)  กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงสยามได้โทรศัพท์ไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และชี้แจงนายฟรีแมนว่า "เรื่องที่คุณลงตีพิมพ์เกี่ยวกับกษัตริย์มุนีวงศ์มันผิดทั้งหมด" และ "ผมกำลังจะส่งแถลงการณ์ที่เราร่างไปให้คุณ และมงซิเออร์เรโย (Monsieur Réau) ต้องการให้คุณตีพิมพ์แถลงการณ์นี้ตามที่เราเขียน นับจากนี้เราต้องขอร้องให้คุณหยุดเขียนเรื่องพระองค์กับเด็กสาวคนนี้" 

พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ 
 

เมื่อบรรณาธิการถามถึงเหตุผล กงสุลก็ตอบว่า "เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องไร้สาระ" 

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ดังกล่าว แต่ตัดถ้อยคำที่ว่า "เรา (กรุงเทพเดลิเมล์) เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้" ออก และยังส่งนักข่าวคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบิดาเจ้าจอมแพน

แต่สถานกงสุลฝรั่งเศสในพระนครก็ไม่สิ้นความลดละ โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง ความว่า     "กษัตริย์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระราชหฤทัยและทรงปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดานางสาวแพน จึงมีพระราชบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพฯ โดยทันที" 

ซึ่งกัมพูชาได้บอกกับพูนและแพนว่า "หากอยู่ต่อไปจะเกิดอันตรายได้"

แต่เมื่อแพนกลับถึงพระนครในวันรุ่งขึ้น เธอปฏิเสธเรื่องที่ว่ากษัตริย์กัมพูชาส่งเธอกลับ โดยอ้างว่าเธอเพียงมาเยี่ยมน้องชายที่ป่วยเท่านั้น "พระองค์ไม่ต้องการให้ฉันออกมา พระองค์ทรงยินยอมก็ต่อเมื่อฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วันและจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่" ซึ่งกรุงเทพเดลิเมล์ได้นำคำพูดดังกล่าวมาเป็นพาดหัว

ทางกงสุลฝรั่งเศสก็ทำการโต้ตอบหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ทันที ด้วยการส่งแถลงการณ์ไปยังหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษอีกสองฉบับคือ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ (Siam Observer) และเดอะบางกอกไทมส์ (The Bangkok Times) แต่ไม่ส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์ 

โดยเนื้อหาที่ตีพิมพ์ระบุว่า "เราได้รับแจ้งจากสถานกงสุลฝรั่งเศสว่านางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก"

ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเหตุผลกลใดฝรั่งเศสจึงเดือดร้อนนักที่เจ้านายกัมพูชาจะมีนางสนมเพิ่มขึ้น  ทั้งๆ ที่นางสาวแพนก็เป็นเพียงหญิงสามัญนางหนึ่ง และไม่มีบทบาททางการเมืองอย่างใด 

นอกจากนี้ สถานกงสุลฝรั่งเศสได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลสยามให้ช่วยปิดข่าวอีกด้วย ก่อนข่าวนางสาวแพนจะจางหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มีประชาชนกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายไปยังบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์ แสดงความขุ่นเคืองฝรั่งเศสว่าควรขอโทษนางสาวแพน ที่กล่าวหาว่าเธอ  "ไม่เป็นที่พึงประสงค์" ของราชสำนักกัมพูชา

ซึ่งบันทึกของฟรีแมนบอกด้วยว่าเขาส่งประสุต นักข่าวของ Bangkok Daily Mail ผู้เปิดเรื่องนี้โดยการสัมภาษณ์มารดาของนางสาวแพนเป็นคนแรก ไปเกลี้ยกล่อมให้นางสาวแพนรับข้อเสนอต่างๆ แต่ไม่เป็นผล เพราะนางสาวแพนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรกัมพูชานั้นไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา แต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รัฐบาลฝรั่งเศสส่งมาประจำที่กรุงพนมเปญ

นับแต่นั้นแพนก็เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านของบิดา แม้นมีวิกต่างๆ มาเสนอค่าตัวสูงถึง 300 บาทให้เธอไปปรากฏตัว ซึ่งขณะนั้น 300 บาทถือว่าเทียบเท่ารายได้ต่อปีของเธอ หรือแม้แต่คณะละครต่างชาติที่จัดแสดงอยู่ในมะนิลาได้ชี้ชวนให้เธอไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา แต่เธอก็ปฏิเสธไปทั้งหมด 

เธอให้เหตุผลว่า "ฉันไม่ใช่นางละครอีกต่อไปแล้ว ฉันเป็นชายาพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา" และเธอมิอาจเข้าใจได้เลยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์นั้นมิได้กุมอำนาจสูงสุดในกัมพูชา หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระดับสูงที่ทางการส่งมาประจำที่พนมเปญ

ถึงอย่างไรสุดท้ายเธอก็กลับไปเป็นนางละครในคณะของมารดาตามเดิม 

หลังจากนั้นอีกสองปีเธอก็สมรสใหม่กับชายคนหนึ่ง มีบุตรสาวชื่อ กัญญา ทิพโยสถ ซึ่งเป็นนางละครเช่นเดียวกับมารดา แพน เรืองนนท์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2522 สิริอายุได้ 65 ปี

สำหรับ กัญญา ทิพโยสถ วัย 72 ปี ปัจจุบันอาศัยในชุมชนวัดสุนทรธรรม หรือวัดแค ติดกับตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เคยเป็นนางเอกละครชาตรีพื้นบ้านเช่นกัน. 


cr:สุภัตรา ภูมิ ประภาศ ศิปวัฒนธรรม  ฉบับสิงหาคม 2552,มติชน วันที่ 24 กุมภาพันธ์  2556 สำนักข่าวชายขอบ,วิกิพีเดีย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"