ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองและสื่อของสหรัฐ ที่หนังสือพิมพ์กว่า 300 ฉบับ ต้องประกาศร่วมมือกันตีพิมพ์บทบรรณาธิการพร้อมเพรียงกันเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีของตนที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะผู้นำคนนี้เหวี่ยงแหประกาศว่า
สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์เขาคือ Fake News หรือ “ข่าวปลอม”
และโวยวายด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อว่า
“สื่อเป็นศัตรูของประชาชน” (Enemy of the People)
หนังสือพิมพ์ Boston Globe เป็นหัวหอกในการรณรงค์ใหญ่ครั้งนี้ด้วยการระบุในบทนำของตนว่า
“การโหมโจมตีสื่อเสรีอย่างต่อเนื่องย่อมมีผลพวงที่เป็นอันตราย เราได้ขอให้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กให้มาร่วมกับเราในการต่อต้านการคุกคามขั้นพื้นฐานด้วยภาษาและเนื้อหาของตัวเอง...”
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เรียกแนวโน้มการเมืองภายใต้การนำของทรัมป์ว่าเป็น “สงครามสกปรกต่อสื่อเสรี” (Dirty war against the free press)
สื่อบางฉบับเขียนว่า การรณรงค์ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการต่อต้านวาระของรัฐบาลทรัมป์ หากแต่เป็นการแสดงปฏิกิริยาต่อท่าทีของรัฐบาลเพื่อให้เราสามารถมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันในที่สาธารณะและปกป้องสิทธิการแสดงออกขั้นพื้นฐานตาม First Amendment
สิ่งที่เรียกว่า First Amendment ในอเมริกานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถือได้ว่าเป็นหัวใจแห่งสังคมเสรีที่เคารพในสิทธิของประชาชนทุกหมู่เหล่าในอันที่จะแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กลไกของรัฐได้อย่างเปิดเผยและอย่างเป็นอิสระ
เพราะ First Amendment คือบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
“สภาฯ จะต้องไม่ผ่านกฎหมายใดๆ ที่จะลดทอนเสรีภาพในการพูดและการพิมพ์ และต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะชุมนุมอย่างสันติ และร้องเรียนรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน...”
หรือข้อความคำต่อคำของบทบัญญัตินี้คือ
Congress shall make no law … prohibiting the free exercise thereof; or abridging the freedom of speech, or of the press; or the right of the people peaceably to assemble, and to petition the Government for a redress of grievances.
ความจริงแล้ว อเมริกาไม่ได้เกิดมาพร้อมเสรีภาพ ร่างแรกของรัฐธรรมนูญไม่มีการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำไป
ตอนแรกๆ รัฐธรรมนูญสหรัฐ มีข้อความที่อาจจะตีความได้ว่าการพูดและการเขียนอาจนำไปสู่การถูกจับกุม พิพากษาปรับ จำคุก หรือแม้กระทั่งแขวนคอ
เสรีภาพในการพูดและการพิมพ์เพิ่งถูกรับรองครั้งแรกในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ซึ่งบังคับใช้เมื่อ ค.ศ.1791 หลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษถึง 15 ปี และกว่าจะมีการตีความประยุกต์ใช้เนื้อความในกฎหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ.1931
ทรัมป์ไม่ปิดบังอำพรางความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อสื่อที่วิพากษ์ตัวเอง และไม่เป็นที่สงสัยแก่ใครเลยว่าเขาไม่ชอบ CNN อย่างรุนแรง แต่ถือว่า Fox News เป็นมิตรของตน
สัปดาห์ก่อนหน้านั้น โฆษกทำเนียบขาวห้ามนักข่าวซีเอ็นเอ็นเข้าทำข่าวจนนักข่าว “รังนกกระจอก” (ใช้ศัพท์แสดงของนักข่าวทำเนียบรัฐบาลไทยเรา) รวมตัวกันแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำเช่นนั้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การตัดสินใจตีพิมพ์บทบรรณาธิการพร้อมกันของหนังสือพิมพ์กว่า 300 ฉบับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับวัฒนธรรมสื่อของสหรัฐ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมามีความเชื่อว่าสื่อล้วนเป็นอิสระต่อกัน ไม่หว่านล้อมหรือกดดันให้คนอื่นหรือสื่อกันเองให้ทำอะไรตามที่ตนต้องการ
แต่กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของวงการสื่อที่เห็นชัดเจนว่ากำลังถูกคุกคามจากทรัมป์และทีมงานของเขาด้วยวิธีการต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดแม้จะทำ
ทรัมป์ใช้ทวิตเตอร์ตอบโต้สื่อเป็นประจำ อีกทั้งบ่อยครั้งยังใช้ทวิตเตอร์ระบุว่าสื่อทีวีหรือหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงชื่อนักข่าวหรือคอลัมนิสต์ที่ตนไม่ชอบด้วยถ้อยคำที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการใช้ตำแหน่งประธานาธิบดีแสดงความโกรธเกรี้ยวแบบนักเลงโตกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายและการกระทำของเขา
นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า การที่หนังสือพิมพ์รวมตัวกันทำอย่างนี้อาจจะเข้าทางทรัมป์ เพราะจะทำให้ฐานเสียงที่สนับสนุนเขาจะยิ่งเชื่อคำของทรัมป์ว่าบรรดาสื่อทั้งหลายจงใจจะรุมซ้ำเติมทรัมป์อย่างไม่ยุติธรรม
แต่สื่ออเมริกันอดทนมาระยะหนึ่งแล้วที่เห็นผู้นำประเทศทำตัวเหมือนผู้นำเผด็จการโลกที่สามที่ไม่เคารพในสิทธิการแสดงออกของคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา ด้วยการตอบโต้ด้วยถ้อยคำภาษาที่ผู้นำประเทศที่อ้างตนเป็นประชาธิปไตยตัวอย่างสำหรับคนทั้งโลกไม่ถึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับไปไม่นานก่อนหน้านี้ วงการหนังสือพิมพ์ในไทยเคยร่วมกันตีพิมพ์ “บทบรรณาธิการร่วม” เพื่อต่อต้านความพยายามของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายคุกคามเสรีภาพสื่อ
ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้เรื่องอย่างนี้เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาได้!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |