โวจีดีพีโต4.6% ปรับเป้าส่งออก ฐานรากลำบาก


เพิ่มเพื่อน    

    สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 2/61 โต 4.6% ย้ำทั้งปีโต 4.2-4.7% หลังได้รับอานิสงส์การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว พร้อมปรับเป้าส่งออกขยายตัว 10% "สศค." รับเศรษฐกิจยังไม่ขยายตัว ทุกภาคส่วนฐานรากยังลำบาก ส.อ.ท.ระบุดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.ค.61 แตะระดับ  93.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี  
    เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/ 2561 ขยายตัว 4.6% จากเดิมคาดเติบโต 4.4% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวที่ 4.8% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวเร่งขึ้น รวมทั้งการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์สูง การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิต ภาคเกษตร ขายส่งขายปลีกขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้น
    นายทศพรกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ถึง 4.8% แต่การขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 61 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และสถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลผลิตภาคเกษตรในไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 61 ยังคงขยายตัวอยู่ในช่วง 4.2-4.7% 
    "สภาพัฒน์ยังประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% หรือเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่  4.5% เท่ากับการประเมินในครั้งก่อน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และน่าจะเติบโตได้มากกว่าเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 4.1%" นายทศพรกล่าว
    นอกจากนี้ สศช.ได้ปรับประมาณการส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% สูงกว่าการประมาณการเดิมที่คาดไว้ที่ 8.9% เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ สศช.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 4.5%
    นายทศพรกล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 ได้แก่  1.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดี 2. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้น 3. การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4.การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ
    อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การผลิตในภาคเกษตรที่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย, ฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 60, อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ, มาตรการกีดกันทางการค้าเริ่มทวีความรุนแรงและมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงของระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง ในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง
    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2561 ที่สภาพัฒน์ประกาศว่าขยายตัวได้ 4.6% สอดคล้องกับที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2561 ใหม่อีกครั้ง จากที่คาดการณ์ล่าสุดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ในปี 2561 
    "การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ไทยก็ไม่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสวนทางได้ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง" นายวิรไทกล่าว  
      นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายตัวทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากยังลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทำมาตรการช่วยให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงอย่างยั่งยืน มีแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเกษตรกรยังชอบปลูกพืชตามกัน เช่นการปลูกปาล์มน้ำมันจนราคาตก ตอนนี้ก็แห่ปลูกทุเรียนกันจำนวนมาก อีกไม่นานก็จะมีปัญหาราคาตกอีกเช่นกัน ตอนนี้จากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดในต่างประเทศ สร้างความเสียหายทางการเกษตรและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤติที่ส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรไทย ทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นและราคาสูงขึ้น
      ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือน ก.ค.61 ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ  93.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือน มิ.ย.และยังเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 62 เดือน (5 ปี 2  เดือน) นับตั้งแต่ มิ.ย.56 โดยปัจจัยหลักเกิดจากผู้ประกอบการเห็นว่ากำลังซื้อในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร    
    "ดัชนีที่สูงขึ้นสะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ขณะเดียวกันยังพบว่ามีความต้องการสินค้าไทยของประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้นผ่านการค้าชายแดน รวมถึงการเติบโตของการส่งออกที่เพิ่มขึ้นซึ่งมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า" นายสุพันธุ์กล่าว
      สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ  102.7 ในเดือน ส.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณขยายตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการ และภาวะน้ำท่วมที่อาจกระทบระบบคมนาคมขนส่ง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"