“หัวใจสำคัญของการแก่อย่างมีคุณภาพ ชราอย่างมีสุข เราต้องมีเสถียรภาพทางการเงินที่มั่นคง ถึงแม้เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต้ถ้าคุณไม่มีเงินคุณก็จะมีทุกข์” ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของคนทำงานที่มีอายุครบ 60 ปี และเตรียมตัวที่จะปลดภาระความรับผิดชอบหลังจากที่ทำงานประจำมาเป็นระยะเวลานาน หากไม่ได้เตรียมดูแลร่างกายอย่างดีอาจพบเจอกับปัญหาด้านสุขภาพบ้าง ประกอบกับกิจกรรมในแต่ละวันที่ลดลง อาจส่งผลให้เกิดความเสื่อมของร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย
ศ.ดร.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล แนะนำว่า เราควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน โดยเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ยามชรา วางแผนการออมตั้งแต่เริ่มทำงาน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้น้อยลง นำเงินออมไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเหมาะสม เตรียมความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และถูกสุขลักษณะ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกโปรตีนจากเนื้อปลา ไข่ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ถั่วต่างๆ ผักผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ อาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด และอาหารที่มีสารปนเปื้อนต่างๆ รวมไปถึงกรรมวิธีในการประกอบอาหารควรใช้วิธีการต้มหรือนึ่ง แทนการทอด ปิ้ง ย่าง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความแข็งแรงของหัวใจ กล้ามเนื้อ กระดูก ดูแลสุขภาพจิตและจัดการกับความเครียดในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม ควรพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น การนั่งสมาธิ จะช่วยให้สุขภาพกายและจิตใจแจ่มใสขึ้น ควรรับการตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก ตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น งดหรือหลีกเลี่ยงสารเสพติด เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
ศ.ดร.พรชัยได้แนะนำแนวทางสร้างความสุขสำหรับคนเกษียณว่า ควรอยู่ได้ด้วยตนเอง และพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด อย่าหยุดทำงาน ตื่นขึ้นมาทุกวันจะรู้ได้ว่าเราจะไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ชีวิตจะมีคุณค่า ถ้าไม่มีงานทำเลย ให้ทำงานเพื่อสังคม ช่วยเหลือคนอื่น ร่วมกิจกรรมจิตอาสา หรือกิจกรรมแสวงหาความรู้ เพื่อให้ชีวิตแต่ละวันมีความหมาย พึงตระหนักในสัจธรรมข้อ “อุเบกขา” ชีวิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลง อย่ายึดติด และจงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ศึกษาธรรมะ และหลักคำสอนของศาสนา เพื่อจิตใจที่สุขสงบ
“การเตรียมสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ และประมาณการรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัย จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ จากการพลัดตก หกล้ม นอกจากนี้ สัมพันธภาพของคนในครอบครัวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ควรให้ความสนใจกับผู้เกษียณอายุ หาเวลาเพื่อพบปะ ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือโทรศัพท์ถามทุกข์สุข ก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและลดการเกิดภาวะซึมเศร้าได้” ศ.ดร.พรชัยกล่าวทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |