เพื่อไทยเพิ่งเข้าใจ ทุจริตเชิงนโยบายคืออะไร ไล่บี้ "อนุพงษ์" เผย 5 ข้อพิรุธโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โยงกรณีย้ายผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ลั่นแค่สงสัยยังไม่ได้บอกว่าใครทุจริต แต่ถ้าเป็นการเมืองปกติถูกซักฟอกไปแล้ว เตรียมคุ้ยตารางนัดหมายลูกชาย มท.1 กับ ผวจ.ภูเก็ต มาเผยกับสาธารณะ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้พาน้องเกี่ยวก้อยลงพื้นที่ร่วมงานไทยนิยมยั่งยืน เพื่อชุมชนอยู่ดีมีสุข ในเขต กทม. ที่ พล.ม.2 รอ. โดยได้ร่วมสร้างความเข้าใจใน “สัญญาประชาคม” กับประชาชน เพื่อให้สามารถนำสัญญาประชาคมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
รวมถึงยังได้ร่วมรับฟังปัญหาที่รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เช่น ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหายาเสพติด ปัญหาขยะ เพื่อให้เกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหากรณีโครงการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรเพื่อแปรรูปผลิตพลังงาน หรือโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) จำนวนทั้งสิ้น 7,852 แห่ง โดยมีงบประมาณกว่า 178,000 ล้านบาท ที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีข้อสงสัยหรือข้อพิรุธว่าอาจจะมีการทุจริตเชิงนโยบาย คือ
1.ครม.มีมติให้การบริหารจัดการขยะ ซึ่งแต่เดิมมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่น ได้ปรับเปลี่ยนมาให้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลจังหวัดและ อปท.ในการจัดทำแผนการบริหารจัดการและแผนปฏิบัติการเพื่อขอตั้งงบประมาณรายปีในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย
2.มีการจัดตั้งองค์กรเป็นการภายในที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. เพื่อพิจารณาโครงการศูนย์กำจัดขยะฯ ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
สงสัยลูกชาย มท.1
3.มีข้อสังเกตว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 งดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และยกเว้นกฎหมายผังเมือง ทั้งๆ ที่การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาชน ซึ่งหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ผู้ใช้มาตรา 44 จะรับผิดชอบอย่างไร
4.มีข้อสังเกตว่า สื่อมวลชนออสเตรเลีย ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ ได้เสนอข้อมูลเชิงลึกถึงเหตุผลในการย้ายนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร จาก ผวจ.เชียงราย ไปเป็น ผวจ.พะเยา เพราะปกป้องงบประมาณของทางราชการด้วยการไม่เห็นชอบโครงการที่ไม่ถูกต้องหลายโครงการ และหนึ่งในหลายโครงการ มีโครงการกำจัดขยะของจังหวัดเชียงรายรวมอยู่ด้วย โดยมีโครงการศูนย์บริหารจัดการขยะและเตาเผาขยะ มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้มีการฟังความเห็นของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งอาจจะใช้งานไม่ได้อีกด้วย เพราะตั้งแต่สร้างมาไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด
5.มีสื่อบางฉบับมีข้อสงสัยว่า กรณี มท.1 ปฏิเสธว่า ลูกชาย มท.1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะของ มท. แต่เหตุใดลูกชาย มท.1 จึงมีนัดหมายพบ ผวจ.ภูเก็ต ในเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 3 พ.ค.61 ที่ผ่านมา แม้ มท.1 จะออกมาปฏิเสธแทนลูกชายว่าไม่ได้พบกับ ผวจ.ภูเก็ต แต่นัดหมายดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ได้กระจายไปทั่วแล้ว แม้ ผวจ.ภูเก็ตจะตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าลบนัดหมายไปแล้ว และจำภาพคนมาพบไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นข้อน่าสงสัยมากยิ่งขึ้น เพราะการนัดหมาย ผวจ.ในแต่ละวันมีข้อราชการสำคัญ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากเลขานุการ และได้รับความเห็นชอบจาก ผวจ.จึงจะลงนัดหมายได้ ยิ่งเป็นการนัดหมายจากลูกชาย มท.1 แล้ว จะลงนัดหมายหลวมๆ โดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้อง ไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ สื่อฉบับที่เผยแพร่การนัดหมายดังกล่าว คงมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการได้มาซึ่งตารางนัดหมายของลูกชาย มท.1 กับ ผวจ.ภูเก็ต เพื่อให้สังคมคลายข้อสงสัยต่อไป
ทั้งนี้ ทั้ง 5 ข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ในชั้นนี้ยังเป็นเพียงข้อสงสัยหรือข้อพิรุธ ยังมิได้กล่าวหาว่า มท.1 หรือผู้ใดทุจริตในโครงการกำจัดขยะ
อยากซักฟอก
อนึ่ง จากข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าเป็นช่วงการเมืองปกติ มท.1 ก็คงถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว เพื่อเป็นการขอตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา โดยมีเหตุผลสำคัญเพื่อรักษางบประมาณแผ่นดินของชาติให้ใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ประการสำคัญ สังคมคงอยากเห็นนายกรัฐมนตรีซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายการปราบปรามการทุจริต ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการโครงการกำจัดขยะของ มท. ว่ามีการดำเนินการที่ส่อว่ามีการทุจริตในขั้นตอนใดหรือไม่ โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าลูกชาย มท.1 อาศัยอำนาจและบารมีของบิดาเข้าไปทำธุรกิจโครงการกำจัดขยะจริงหรือไม่
นอกจากนี้ สังคมคงอยากเห็น ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำงานเชิงรุก ด้วยการลงไปตรวจสอบและให้คำแนะนำโครงการใหญ่ทั้งระบบที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. และลงไปตรวจโครงการย่อยที่จังหวัดเชียงราย ว่าโครงการก่อสร้างเสร็จแล้วใช้งานไม่ได้จริงหรือไม่ ป.ป.ช.ก็จะได้ชื่อว่าเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริต ไม่สองมาตรฐาน ความเชื่อมั่นด้านการปราบปรามการทุจริตก็จะฟื้นกลับคืนมา
ด้าน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโครงการนี้ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนในการแก้ไขปัญหาขยะและลดมลพิษ แต่กลับแปรผันกลายเป็นว่า ปัจจุบันชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากบ่อขยะที่ส่งกลิ่นเหม็น น้ำที่เน่าเสีย ทำให้เกิดมลภาวะและมลพิษ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางเกษตร และบั่นทอนสุขภาพของชาวบ้าน เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดการร้องเรียนต่อหน่วยงานในหลายจังหวัด แต่ภาครัฐยังไม่มีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจพิเศษตาม ม.44 งดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เพราะเรื่องโรงงานขยะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชุมชน เพราะฉะนั้นประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ และควรจะดำเนินการจัดทำ EIA ให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล
ยังไม่ได้กล่าวหา
ส่วนกรณีที่มีการตั้งประเด็นข้อสงสัยกรณีลูกชาย พล.อ.อนุพงษ์ ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงงานขยะของ มท.หรือไม่นั้น และเหตุใดลูกชาย มท.1 ถึงได้มีการนัดหมายกับนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตนั้น ร.ต.อ.วัฒนรักษ์กล่าวว่า เป็นเพียงข้อสงสัยของประชาชนเท่านั้น ยังมิได้เป็นการกล่าวหา มท.1 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่แต่อย่างใด ซึ่งประเด็นนี้ทางพรรคเพื่อไทยขอให้สื่อต่างๆ ช่วยติดตามเรื่องนี้กันต่อไป และอยากวอนขอให้ภาคประชาชนช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยกันตรวจสอบโรงงานขยะของ มท. ในส่วนที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ว่าทำถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และควรจะมีหน่วยงานมาช่วยในการตรวจสอบว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร และหากพบข้อสงสัยควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบ
นายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือโรงพักทดแทน 396 แห่งว่า เรื่องนี้เวลาผ่านมากว่า 7 ปี และได้ทิ้งเศษซากการทุจริตไว้เป็นหลักฐานอยู่ทั่วประเทศ ตามสถานีตำรวจต่างๆ ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จและไม่ได้ก่อสร้างต่อ ตนเชื่อว่าเรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่าใครถูก ใครผิด เพียงแต่ถูกประวิงเวลาและดึงเวลาให้ล่วงเลย แต่วันนี้ ป.ป.ช.ได้มีการตั้งข้อกล่าวหานายสุเทพ ซึ่งเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลตำรวจในขณะนั้นกับพวก จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถึงแม้เวลาผ่านมานาน แต่ในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะนำคนดีที่ทำผิดมาลงโทษ
ส่วนที่นายสุเทพออกมาระบุว่ามีขบวนการในการตั้งข้อกล่าวหา ทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง ข้าราชการ สตช. ดีเอสไอ จนมาถึงขั้นตอนของ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.มีอคตินั้น อยากให้นายสุเทพ ลองย้อนกลับไปว่า ในอดีตที่ผ่านนายสุเทพเคยสนับสนุนการทำงานของ ป.ป.ช.มาโดยตลอด ว่าตรงไปตรงมาในการปราบปรามทุจริต โดยเฉพาะคดีของพวกตนและพรรคเพื่อไทยและคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามนายสุเทพ แต่พอวันนี้โดนตั้งข้อกล่าวหาทุจริตบ้าง กลับออกมาฟาดงวงฟาดงาบอกว่า ป.ป.ช.ทำงานอย่างมีอคติ มีธง เรียกร้องให้ประชาชนมาตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.
แม่น้ำสายไหน?
"ป.ป.ช.ชุดนี้ก็รู้ดีอยู่แล้วว่ามาจากแม่น้ำสายไหน สายเดียวกับที่นายสุเทพเป็นคนขุดให้ไหลมาหรือไม่ นายสุเทพเรียกร้องให้ทุกคนเคารพการตรวจสอบ ก็ต้องบอกตัวเองด้วย อยากเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ใครผิดว่าไปตามผิด ใครถูกว่าไปตามถูก ไม่อยากให้เป็นเพียงกระแสข่าวแล้วก็หายไป อย่าให้เป็นมวยล้มต้มคนดู หรือเป็นเพียงการฟอกตัวให้กับใคร" นายก่อแก้วกล่าว
. ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. กล่าวว่า การที่นายสุเทพโต้ ป.ป.ช.ในกรณีดังกล่าว บ่งบอกให้เห็นว่านายสุเทพผิดหวังที่ถูกขุดเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่เห็นคุณงามความดีกันหรืออย่างไร นายสุเทพแคร์กับเรื่องนี้มาก เป็นสาเหตุที่นายสุเทพจำเป็นต้องล้มรัฐบาลก่อนหน้านี้หรือเปล่า
เธอกล่าวว่า นายสุเทพมองเห็นว่าการถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตโรงพัก คดีแฟลตตำรวจ หรือคดีสลายการชุมนุมปี 53 เป็นเรื่องใหญ่โต ซึ่งจะปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่คดีสลายการชุมนุมปี 53 นายสุเทพก็หลุดแล้ว โดย ป.ป.ช.ไม่สั่งฟ้อง ตอนนั้นก็ชื่นชมและขอบคุณ ป.ป.ช.ว่าให้ความเป็นธรรม
ประธานที่ปรึกษา นปช.ระบุว่า เรื่องนี้มันมีประจักษ์พยานทางวัตถุถึงความเสียหายอันเกิดจากการยกเลิกสัญญาเก่า 9 สัญญา แล้วมารวมเป็นสัญญาเดียว เด็กเล็กๆ ก็อ่านออกว่าเพราะอะไร มีผลประโยชน์หรือเปล่าไม่รู้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความล้มเหลวกว่า 5 พันล้าน ยังไม่นับความล้มเหลวที่ตำรวจต้องไปนั่งทำงานในห้องน้ำ เอาผู้ต้องขังไปอยู่ในห้องน้ำห้องส้วมก็มี หรือตำรวจต้องไปนั่งทำงานในตู้คอนเทนเนอร์ก็มี หรืออาศัยใต้ถุนวัดต่างๆ ก็มี ความเสียหายเช่นนี้ไม่นับเป็นเงิน และสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องไปหามากว่า 7 พันล้านเพื่อดำเนินการใหม่
"คุณสุเทพมีความกังวลเรื่องคดีความเยอะ แต่ถ้ากังวลคดีความแล้วต้องสร้างม็อบ ต้องชัตดาวน์กรุงเทพฯ และทำร้ายประเทศถึงขนาดนี้ เพราะต้องการแก้ปัญหาคดีความ มันไม่เห็นแก่ตัวมากเกินไปหรือเปล่า" นายธิดากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |