วิกฤติกำลังจะเกิด เลือกตั้งก็ไม่จบ


เพิ่มเพื่อน    

 ถ้าไม่แก้ก่อนตาย หลังเลือกตั้ง วิกฤติก็ไม่จบ

หลังพ้นโทษออกมาจากเรือนจำเมื่อ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่าบทบาทการให้ความเห็นทางการเมืองของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ดูจะเยือกเย็นขึ้นผิดจากก่อนหน้านี้ โดยประเด็นหนึ่งที่ ตู่-จตุพร ย้ำมากก็คือ การเสนอให้แต่ละฝ่ายควรต้องหาโอกาสร่วมวงพูดคุยกันทางการเมือง เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เป็นการ แก้ก่อนตาย เพราะมองว่าวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ต้องมีฝ่ายประชาชนเสียชีวิตก่อนถึงค่อยมาแก้ปัญหา ซึ่งจตุพรประเมินสถานการณ์ว่าวิกฤติการเมืองจะยังคงมีต่อไป แม้มีการเลือกตั้งปัญหาทางการเมืองก็ไม่จบ ไม่ว่าสุดท้ายหลังเลือกตั้งจะได้นายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือนายกฯ คนใน นายกฯ คนนอก ก็อาจต้องเจอปัญหาจนอาจนำไปสู่วิกฤติการเมืองรอบใหม่  ซ้ำรอยกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองก่อนหน้านี้หากไม่มีการพูดคุยหาข้อยุติไว้ก่อน

“วันนี้เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า หนทางข้างหน้าที่ความขัดแย้งมันสะสมกัน มันไม่จบด้วยผลการเลือกตั้ง”

...ถ้าผลการเลือกตั้งทำให้มันจบ ผมก็มองว่าบ้านเมืองก็จะสงบไปอีกแบบ แต่ผมเชื่อว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้ทำให้มันจบ เพราะใครก็คาดเดาประชาชนได้ยาก ผมเชื่อว่าลึกๆ ทุกคนก็วิตก ในทางกระดานการเมืองผมเองก็พอคาดเดาได้ว่า ผลการเลือกตั้งมันจะเป็นการเริ่มต้นวิกฤติใหม่ หากไม่ตั้งต้นที่จะยอมรับกัน หากได้นายกฯ คนในก็รอนายกฯ คนนอกหรือรอการเปลี่ยนแปลงแบบเดิม แต่หากได้นายกฯ คนนอกก็รอวิกฤติอีกแบบ คือซ้ายก็มีปัญหา ขวาก็มีปัญหา นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง หากเราจะอธิบายแบบโลกสวยก็อธิบายได้ แต่เราเห็นปัญหาข้างหน้ากันอยู่แล้ว จึงชวนให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันคิด  แต่หากทุกฝ่ายบอกว่าไม่มีปัญหาแน่นอน ก็เป็นเรื่องน่ายินดีเพราะประชาชนก็ไม่ต้องไปตายกันอีก

-เหตุใดการแสดงความเห็นทางการเมืองช่วงนี้จึงลดโทนลง?

เป็นเพราะประเมินสถานการณ์วันข้างหน้า ในฐานะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภา ปี 2535 และอยู่ในแทบทุกเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่นการชุมนุมช่วง เม.ย.-พ.ค. ปี 2553 (การชุมนุมเสื้อแดง)  รวมถึงช่วงเปลี่ยนผ่านวิกฤตการณ์การเมือง ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาก็อยู่แทบทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม

...ผมประเมินข้างหน้าความร้อนรออยู่ จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะสร้างความร้อนเพื่อไปหาความร้อน เพราะว่าข้างหน้าคือวิกฤติการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องยอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญออกแบบให้มีโอกาสเกิดวิกฤติ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อใด ทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมา  รธน.ออกแบบให้ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นเบี้ยหัวแตก ถ้าเราได้นายกฯ คนนอก เราก็จะเกิดวิกฤติแบบพฤษภาปี 35 เพราะต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา อารมณ์ของคนก็เหมือนกับไปดับสวิตช์ของคนที่ผลการเลือกตั้งเสร็จ สถานการณ์จะไม่เหมือนปัจจุบัน เพราะต่อให้ได้นายกฯ คนนอกฝ่าด่านแรกมาได้ แต่เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติที่จะมีการประชุมสภา การดำรงอยู่ของนายกฯ คนนอกก็จะอยู่ที่สภาเป็นส่วนใหญ่ คนที่เคยมีไม้เท้าวิเศษ เคยมีเสื้อเกราะ เสื้อกายสิทธิ์ที่ใครก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย รวมถึงใช้ชี้และสั่งอะไรก็ได้ แต่เมื่อเข้าไปนั่งเป็นนายกฯ คนนอก ในสภาที่ไม่มีไม้เท้ากายสิทธิ์  ไม่มีเสื้อเกราะ ปัญหาก็คือว่าท่านจะทนได้หรือไม่

...ในอดีตเช่นสมัยยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นคนใจเย็น พูดจาไพเราะ มีความเป็นสุภาพบุรุษ  แต่ทันทีเมื่อตั้งพรรคสหประชาไทย แล้วผลการเลือกตั้งออกมา สุดท้ายจอมพลถนอมต้องปฏิวัติตัวเองเพราะไม่พอใจสมาชิกพรรคสหประชาไทยของตัวเอง จากเดิมที่สมัยเป็นทหารเคยสั่งซ้ายหันขวาหันได้  แต่กับนักการเมืองไปสั่งให้เดินไปซ้ายก็เดินไปขวา สั่งให้ไปขวาก็เดินไปหน้า สั่งให้ไปข้างหน้าก็ไปข้างหลัง นี่คือโลกความเป็นจริง ท้ายสุดจอมพลถนอมก็ทนไมได้

เพราะฉะนั้นด่านแรกแบบตอน พ.ค.ปี 35 แล้วไปด่านที่สองที่วิวัฒนาการจะเหมือนกับตอนช่วงก่อน 14 ต.ค.16 นี่คือกรณีนายกฯ คนนอก

จตุพร วิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งว่า แม้หากได้นายกฯ คนในก็จะอยู่ได้แค่สั้นๆ  หากจะได้นายกฯ คนในก็เป็นการเพื่อรอให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก รูปแบบคือนายกฯ คนนอกจะไม่เข้ามาจังหวะแรก แต่ไปรอเข้ามาตอนรอบสอง คือให้มีนายกฯ คนในก่อน จนสุดท้ายก็บริหารงานไม่ได้  เช่นในวุฒิสภาที่จะมี ส.ว.โดยตำแหน่งที่มาจากกองทัพ ฝ่ายความมั่นคง จำนวนไม่เกิน 6 คน หากมีแม่ทัพนายกองคนใดคนหนึ่งหรือ 6 คนพูดอะไรขึ้นมา นายกฯ คนในเก้าอี้ก็ไม่มั่นคงแล้ว เป็นลักษณะ  ส.ว. 250 คนเท่ากับเสียงเดียว สองร้อยห้าสิบเท่ากับหนึ่งที่จะชี้ซ้ายชี้ขวา โดยยังไม่นับรวมองค์กรอิสระ ที่ไปตั้งไว้ให้ครบทั้งหมด

พูดง่ายๆ เดินไปได้แค่ 3 เดือน 6 เดือนก็เก่งแล้ว ไม่มีทางที่จะเดินไปได้มากกว่านี้ เพราะว่า เป็นการมีนายกฯ คนในเพื่อรอให้เกิดนายกฯ คนนอก หรือว่าเป็นการรอการกลับมาเพื่อให้เป็นเหมือนแบบปัจจุบันนี้

            จตุพร-แกนนำเสื้อแดง ย้ำว่าทุกอย่างถูกออกแบบไว้เพื่อรอให้มีวิกฤติ อันนี้เรายังไม่นับวิกฤติในช่วงการเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้ง การรับรองการเลือกตั้งที่ดูแล้วจะวุ่นวายไปหมด ผมก็มองเห็นสถานการณ์บ้านเมืองในวันข้างหน้าว่ามีความร้อนรออยู่ทั้งสิ้น ผมไม่มีหน้าที่อะไรต้องเอาความร้อนไปใส่ในความร้อน ก็เลยตั้งหลักด้วยความเย็น

เตือนกันไว้ว่าวิกฤติมันกำลังจะเกิด เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า ในช่วงปลายของรัฐบาลรัฐประหารเกือบทุกชุดที่ผ่านมา ก็จะมีสภาพเหมือนกับช่วงปลายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทุกชุดเช่นกัน นั่นคือการเกิดสภาวะวิกฤติศรัทธาที่จะเกิดขึ้นซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติศรัทธาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรื่องราวต่างๆ ที่มันจะถาโถม คนที่เป็นนายกฯ ไม่ว่าจะมาจากปลายกระบอกปืนหรือจะมาจากการเลือกตั้ง จะเหมือนกับนาฬิกาทราย วันที่มาทรายจะเต็มหมด แต่ผ่านไปมันก็จะร่วงหล่นลงเรื่อยๆ น้อยคนนักที่ทรายมันจะไหลย้อนขึ้นไป ซึ่งเป็นไปได้ยาก ต่างรอวันหมดด้วยกันทั้งสิ้น

...เพียงแต่ว่าน้อยคนที่จะรู้ตัวว่าเวลาได้ผ่านไป เวลาที่ดีที่สุดของคนที่เป็นนายกฯ ของประเทศไทย ในโอกาสที่จะไป ที่เรียกว่านาทีทอง ทุกคนมักจะมองไม่เห็น จนกระทั่งมาถึงช่วงจะไปก็ไม่ได้ จะถอยก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ได้ แล้วท้ายที่สุดก็จบลงด้วยสภาพที่ย่อยยับไปตามๆ กัน นี่คือประวัติศาสตร์ที่นับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา มักจะเป็นเช่นนี้

ผมเองก็ประเมินสถานการณ์ว่าในซีกของผู้มีอำนาจ ภาวะวิกฤติศรัทธาที่ถาโถมซึ่งก็เป็นไปตามวิบากเช่นนี้ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นก็ตาม ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์หรือใครก็ตามก็หนีวิบากนี้ไปไม่พ้น 

...ส่วนในซีกการเมือง ปกติการเมืองจะเต็มไปด้วยความหวัง แต่การเมืองก็เล่นกันจนกระทั่งเรียกว่ากำลังจะมีวิกฤติศรัทธาอีกครั้ง กับปรากฏการณ์วิถีทางของนักเลือกตั้งที่ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องการปฏิรูปการเมืองก็พบว่าพูดกันมาตั้งแต่ปี 2540 จนมาถึงก่อนการยึดอำนาจของ คสช.ก็มีการพูดเรื่องการปฏิรูปการเมือง แล้วลองมองดูปัจจุบันพบว่ามันหนักกว่าก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ที่เดินกันอยู่ตอนนี้แม้ดูเหมือนว่าไม่มีอะไร แต่วันใดก็ตามที่จะมีการหยิบฉวยมาใช้ ก็จะชี้กันว่านักเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้คือสิ่งที่เรามองว่าซ้ายก็วิกฤติศรัทธา ขวาก็วิกฤติศรัทธา บ้านเมืองมันหาทางไปได้ยากมาก

            เราให้วิเคราะห์ว่าวิกฤติการเมืองที่ประเมินจะเกิดช่วงใด ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง จตุพร ตอบว่ามันจะสะสมกันไป จนถึงจุดหนึ่งก็จะหนักขึ้นๆ จนคนเกิดความรู้สึกว่ามันถึงที่สุดกันแล้ว ซึ่งผมไม่ต้องการให้บ้านเมืองไปถึงจุดนั้น ผมไม่ได้มองแบบเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มองจากทั้งสองปรากฏการณ์ ฝ่ายผู้มีอำนาจก็ต้องรู้โลกของความเป็นจริง อย่าไปเชื่อผลโพลที่ตัวเองก็รู้ความเป็นมา สภาพการณ์วันนี้ต้องวิเคราะห์ในสิ่งที่เป็นจริง ผมเคยบอกพรรคพวกที่อยู่ในรัฐบาลแต่ละชุดว่าอย่าไปเชื่อรายงาน ไม่ว่าจะเป็นการข่าวของหน่วยงานใด เพราะคนพอมีอำนาจจะมีโรคอยู่อย่างหนึ่ง คืออยากจะฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากฟัง อยากฟังแต่ข่าวดี ทั้งที่มีแต่ความร้าย ทำให้การประเมินการตัดสินใจก็จะผิดพลาด ปรากฏการณ์ ณ วันนี้ผมก็พยายามจะบอกกับซีกของการเมืองว่าเราต้องไม่ไปเพิ่มวิกฤติศรัทธา การแข่งขันไม่ได้สร้างวิกฤติศรัทธา แต่การขับเคลื่อนรูปแบบต่างๆ มันควรที่จะต้องจุดประกายความหวังให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งมันก็จะเป็นธรรมชาติ คือในช่วงปลายของรัฐบาลรัฐประหาร ฝ่ายการเมืองก็จะมีความหวัง  แต่ครั้งนี้มันกลายเป็นกำลังจะไปสร้างจุดที่จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน คือซ้ายประชาชนก็ไม่มีที่พึ่ง  ขวาประชาชนก็ไม่มีที่พึ่ง ลักษณะแบบนี้ผมไม่ต้องการให้เกิด แต่ทุกฝ่ายก็หันกันได้หมดเพื่อร่วมกันหาทางออก

ความจริงถ้าเราดูปรากฏการณ์ข้างหน้า ถ้าไม่มีการคุยกัน ไม่ตกลงกัน มันไปไม่ได้จริงๆ  ผมถึงได้ตั้งปุจฉาก่อนหน้านี้ว่าเราจะแก้ก่อนตาย หรือจะตายก่อนแก้ สังคมไทยเราต้องให้ตายก่อนแล้วถึงจะมานั่งคุยกันมาแก้ปัญหากัน แต่ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะมาแก้ก่อนที่จะตายกัน  เพราะมันมองเห็นไพ่กันหมดว่ากระดานข้างหน้ามันคืออะไร

ในความเห็นของผม ปลายๆ ของเส้นทางนี้แต่ละฝ่ายก็ต้องระวังและยอมรับในพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ว่าอะไรไปได้อะไรไปไม่ได้ ที่เป็นเรื่องยากมากสำหรับข้อเสนอนี้เพื่อหาทางออก ที่หากจะแก้กันได้ก็คงมีการแก้กันมานานแล้ว แต่ที่ไม่สำเร็จทั้งหมดในอดีตก็เพราะไม่มีใครคิดจะตั้งต้นทำกัน

จตุพร ขยายความท่อนวลีที่ว่า จะแก้ก่อนตายหรือให้ตายแล้วค่อยแก้ โดยยกเหตุการณ์การเมืองบางเหตุการณ์มาอธิบาย โดยกล่าวว่าหลายเหตุการณ์เช่น 14 ตุลาคม 2516 มีการตายกันก่อน ต่อมาผู้บริหารประเทศเวลานั้นถึงถูกอัปเปหิออกไปนอกประเทศ ต่อมาช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 ก็เช่นกัน  หรือช่วงการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็ไม่ได้แตกต่างกัน คือมีการตายก่อนแล้วถึงค่อยไปดำเนินการ เช่นมีการเลือกตั้งหรือทำอะไรกันก็ตาม แต่มันต้องผ่านความสูญเสีย

ของผมที่เกี่ยวข้องทั้งปี 2535 และ 2553 ก็เกือบสองร้อยชีวิต บาดเจ็บหลายพัน เราก็เห็นคาตา และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วต้องไปงานศพต่างๆ มันก็ทำให้เรามีความรู้สึกว่าไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ความจริงการเป็นผู้นำมวลชนต้องคุยต้องทำให้มันดุดันกันเข้าไว้ แต่ความเห็นของผมมองว่า ณ  ขณะนี้เราเดินมาไกล แล้วก็ไม่ต้องการให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความตาย ไม่ต้องการเห็นวีรชนเกิดขึ้นมาอีกแล้ว เพราะวีรชนต้องตายก่อนถึงจะเป็นวีรชน ก็เลยชวนกันมาว่า เราแก้กันก่อนตายได้ไหม หากไม่คิดเราก็จะเหมือนเดิม คือตายก่อนแก้ อย่างไรก็ตามหลังมีการตายก็จะมีความสงบตามมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม แล้วก็รอเวลาที่จะก่อเหตุขึ้นมาใหม่ เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ในปี 2516 ต่อมาก็มีเหตุการณ์เดือนตุลาคมปี 2519 นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง มันก็ทำให้ความตายเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เป็นความตายของฝ่ายเดียวอยู่ แล้วที่สำคัญประเทศมันไม่ไปถึงไหนเลย

-เกรงว่ากงล้อประวัติศาสตร์จะกลับมาอีก?

ถามคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ หลายคนอาจผ่านเหตุการณ์มามากกว่าผม ใครลองตอบได้ไหมว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วจะไม่มีเรื่อง ก็เห็นกระดานกันหมด

มันสะสมตั้งแต่ตอนเลือกแล้ว แล้วก็จะนำพาไปสู่ความไม่พอใจ ไม่ว่าจะเลือกหนทางใดก็ตาม  ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีมันเห็นกระดานกันหมด มันก็น่าเสียดายที่ในช่วงที่ผ่านมาเรายังไม่ได้แก้ปัญหาเพื่อสร้างความปรองดองอย่างจริงจัง ทั้งที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ไม่มีฝ่ายไหนไม่ให้ความร่วมมือ  แต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่สำเร็จ มันไม่ใช่เพราะคู่ขัดแย้งที่ไม่สำเร็จ แต่ปัญหาคือไม่ได้ต้องการให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง

ถามย้ำว่าเหตุใดถึงมองว่าหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรความขัดแย้งก็ยังจะมีต่อไปและอาจมากขึ้น ประธาน นปช. ระบุว่าเพราะมีการสั่งสมกันมา ถามว่าปัจจุบันมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง วันนี้อาจไม่มีสงครามระหว่างสีกันแล้ว แต่บริบทการเมืองที่ขับเคลื่อนกันปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง อันเป็นข้อด้อยของฝ่ายการเมืองทุกครั้ง และขณะเดียวกันตอนปลายของรัฐประหารก็ไม่ได้อยู่ในสภาพเหมือนตอนที่เข้ามา เพราะฉะนั้นซ้ายก็เสื่อมขวาก็เสื่อม แล้วจะเอากันอย่างไร

-ฝ่ายเพื่อไทยที่นายทักษิณบอกว่าพรรคจะชนะการเลือกตั้งแบบหิมะถล่ม และหากสุดท้ายเพื่อไทยรวมเสียง ส.ส.ในสภาได้เกิน 250 ที่นั่งและตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ยังเชื่ออยู่มั้ยว่าจะยังมีปัญหา?

แล้วหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมาก็จัดตั้งรัฐบาลได้ทุกครั้ง ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาเรื่องชนะการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือรักษาอำนาจไว้ไม่ได้ เรื่องที่ต้องคิดไม่ใช่เรื่องจะชนะเลือกตั้ง แต่คือเรื่องจะรักษาชัยชนะของประชาชนไว้ได้อย่างไร ที่ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่เคยรักษาเอาไว้ได้ แต่ในบริบทเรื่องการเลือกตั้ง ทุกคนบนกระดานก็ยอมรับผลกันหมดอยู่แล้วว่าไม่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามด้วยการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว การจะได้รับผลการเลือกตั้งแบบเดิมมันคงจะยาก เพราะเมื่อได้ ส.ส.เขตมาก  ปาร์ตี้ลิสต์ก็จะได้น้อย

การเลือกตั้งจะเร็วหรือช้า หลักใหญ่คือเลือกแล้วมันต้องจบ ประเทศจะได้เดินหน้าไปได้ แต่สิ่งที่ออกแบบไว้และสิ่งที่มีการขับเคลื่อนกันตอนนี้มองว่ายังไงเลือกตั้งก็ไม่จบ

เราให้ขยายความแนวทางให้มีการคุยกันเพื่อแก้ก่อนตาย ต้องทำอย่างไร จตุพร-ประธาน นปช. กล่าวว่าก็ให้มาคุยและตกลงกัน โดยเราต้องยอมรับบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงว่าเราจะเอากันอย่างไร  บนหลักการใหญ่คือต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ถ้าประชาชนตัดสินใจอย่างไร ต้องให้ประเทศไทยเดินตามนั้น ถ้าไม่รับปากกับประชาชนเอาไว้ ต่อให้ผลการเลือกตั้งออกมามีการชนะถล่มทลายมา มันก็ไปไม่ได้ ต่อให้ได้เสียงมากเท่าไหร่มันก็อยู่ไม่ได้

 ผมก็เห็นว่าในซีกฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคใดก็ตาม ก็ต้องมีการปฏิรูปตัวเอง รวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่มีการขับเคลื่อน ไปอุดรูอุดช่องว่างต่างๆ ที่เป็นข้อด้อยของฝ่ายการเมือง หากไม่ทำกันพอเลือกตั้งมามันก็เป็นการเริ่มต้นของวิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

-รูปแบบคือให้มีทั้งพรรคการเมืองและทหารมานั่งคุยกัน ตั้งโต๊ะแล้วประกาศฉันทามติออกมา?

จะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ เพราะหากไม่ทำไม่ตกลงกัน ใครบอกผมได้ไหมว่ามันจะไม่เกิดเรื่อง เพราะการเคลื่อนทางการเมืองเราก็เห็นกระดานกันหมดอยู่แล้ว เพียงแต่จะพูดหรือไม่พูด บางทีเพราะเราไม่มีการเลือกตั้งมานาน เลยอยากเลือกตั้งกันจนลืมไปว่าเลือกตั้งแล้วอะไรมันจะเกิดขึ้น ทุกคนอยากเลือกตั้งเพราะความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องเป็นการเลือกตั้งที่มีสติกันว่าเลือกเพื่อจะแก้ไขปัญหา  ไม่ใช่เลือกตั้งเพื่อมาสร้างวิกฤติขึ้นมาใหม่

เรื่องนี้ยังมีเวลา ประเทศนี้ไม่เสียเวลาเลย ทำกันวันเดียวก็ได้ แต่ปัญหาคือเราจะทำกันหรือไม่ ผมไม่ได้วิตกจริตว่าไปคิดล่วงหน้าก่อน แต่ผมอยู่ในเหตุการณ์ ในยุคสมัยของผมทุกเหตุการณ์ ทุกครั้งเวลาผมวิเคราะห์ทางการเมืองมักจะไม่ค่อยผิดพลาด เพราะไม่ได้เอาผลประโยชน์เป็นตัววิเคราะห์ แต่เอาสถานการณ์ความเป็นจริงมาวิเคราะห์ น้อยครั้งมากที่ผมวิเคราะห์ผิดทางการเมือง

ผมเพียงแต่ตั้งโจทย์กว้างๆ เอาไว้ว่าแต่ละคนต้องศึกษาเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์ตอนพฤษภา 35 ที่เลือกตั้งมันเกิดขึ้นหลังจากนั้น แล้วทำไมเกิดปัญหา แล้วนำสถานการณ์ปัจจุบันมาดูว่าหากเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีนายกฯ คนนอกอะไรจะเกิดขึ้น หรือหากมีนายกฯ คนในจะต้องเจอกับอะไร โดยคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มาคุยกันว่าเมื่อผลลัพธ์ออกมา ประชาชนตัดสินแล้ว จบหรือไม่ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ หากไม่มีการคุยกันมันไม่มีวันจบเลย แล้วก็อย่างที่บอกมันจะนำพาไปสู่ความขัดแย้ง แล้วความขัดแย้งนำไปสู่ความตาย แล้วเมื่อมีการตายถึงค่อยนำไปสู่การแก้ปัญหา ทั้งที่เรามีโอกาสที่จะแก้ก่อน หากไม่ทำก็จะเป็นเรื่องที่เสียโอกาสไป

 จตุพร กล่าวถึงกรณีหากไม่มีการขานรับข้อเสนอข้างต้น สถานการณ์วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นว่า  สถานการณ์จะเป็นตัวอธิบาย อย่างที่ผมบอกนายกฯ คนนอกก็มีโอกาสจะมาเช่นจังหวะสอง เพราะหลังการเลือกตั้งเสร็จกระแสคนจะตื่นตัวมาก แล้วหากการจัดตั้งรัฐบาลออกมาโดยผลตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประชาชนเลือกกันมา สถานการณ์วันนั้นอารมณ์คนจะคนละเรื่องเลย ถึงตอนนั้นอารมณ์คนมันจะถูกพัฒนา ถูกบิลด์ตรงนั้น มันจะเป็นเส้นบางๆ ที่อาจจะเกิดเรื่อง ขนาดปี 2535 พรรคสามัคคีธรรมได้เสียง ส.ส.มาอันดับหนึ่ง มีสิทธิอันชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล แต่พอเปลี่ยนจากนายณรงค์ วงศ์วรรณ มาเป็นพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่เดิมประกาศไม่รับตำแหน่ง ชนวนมันเกิดขึ้นตอนนั้น โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเสียงในสภา

...อยากให้ตกลงกันได้ไหม คืออะไรก็ได้ที่มันจะไม่เกิดเรื่อง คือหากได้คุยกันแล้วทุกคนได้คิดแล้วยอมรับกันว่าจะเลือกในแนวทางอย่างนี้ ผมเองก็อยากเห็นประเทศมันเดินหน้าไปได้ ประเทศไทยไม่ควรที่จะย่ำรอยประวัติศาสตร์อย่างที่เราเคยผ่านมา ทุกเรื่องเราเคยผ่านกันมาหมดแล้ว

ในระหว่างทางตอนนี้หากได้คุยกันก็จะได้สร้างความมั่นใจระหว่างกัน แล้วต่างคนต่างทำหน้าที่ ก็อยากให้คุยกันเสียแล้วกำหนดทิศทางของประเทศไทย เท่าที่เราจะคุยกันได้ แล้วการเลือกตั้งจะเป็นการหาทางออกได้อย่างแท้จริง

-ท่าทีจุดยืนของ นปช.เสื้อแดงทั้งหมด พร้อมเจรจาหาทางออกด้วยหรือไม่?

ท้ายที่สุดพอเกิดเรื่องประชาชนตาย การที่ผมโยนปุจฉาเพื่อให้สังคมวิสัชนากันว่าเราจะเดินไปถึงจุดนั้น ขณะที่พรรคการเมืองก็เตรียมการจะไปสู่การเลือกตั้ง โดยฝ่ายผู้มีอำนาจ แม่น้ำห้าสายก็มีเรื่องราวอะไรกัน แล้วก็มีสารพัดวิธี โดยที่ก็ยังไม่มีใครคิดกันเลยตอนนี้ว่าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นมันคืออะไร เราเพียงแค่นำเสนอว่าสิ่งที่มันจะเกิด อยากให้ช่วยกันคิดด้วย

ผมออกจากเรือนจำมายังไม่ได้หารือกับใครอย่างเป็นทางการ แต่ว่าหลักคิดที่ผมได้มีโอกาสคุยกับแต่ละฝ่าย จากที่ผมได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำที่แต่ละฝ่ายก็ไม่ได้หัวโขน มันก็คุยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันหมด ผมก็เห็นว่าเรื่องราวต่างๆ ทุกฝ่ายก็ยังทำหน้าที่กันอยู่ เพียงแต่ว่าก็ควรที่จะหาหนทาง ที่เมื่อผลลัพธ์มันจบลงตรงไหน เราก็ต้องยอมรับกันตรงนั้น เพื่ออย่างน้อยที่สุดมันจะได้เริ่มต้นคลี่คลายประเด็นอื่นต่อไป

ตั้งคำถามว่าข้อเสนอนี้มวลชนเสื้อแดงทั้งหมดจะเข้าใจด้วยหรือไม่ ประธาน นปช. กล่าวว่า ผมก็อยู่ในสถานการณ์ที่ถ้าเป็นมวยก็โดนถล่ม ต่างกรรมต่างวาระ รับชะตากรรมทุกรูปแบบ ก็เชื่อว่าประชาชนมวลชนเข้าใจว่าผมคิดอะไร ที่จะหาทางออกให้ชาติบ้านเมือง ซึ่งท้ายที่สุดผมก็ต้องไปรับผิดชอบอยู่ข้างหน้า โดยไม่อยากให้คนที่อยู่ข้างหลังต้องมาบาดเจ็บล้มตายกันอีก

-ในหลายประเทศโมเดลการแก้ปัญหาความขัดแย้งจะมีการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ เราต้องมีหรือไม่?

สังคมไทยถ้านำเรื่องนี้มาตั้งโจทย์มันคุยเรื่องอื่นต่อไปไม่ได้ เรื่องนี้ต้องไม่หยิบยกขึ้นมาคุยในขณะนี้  แต่ให้เรื่องของบ้านเมืองมันผ่านไปจนจบสิ้นกระแสความ แต่หากนำเรื่องนี้มาเป็นตัวตั้งแค่สตาร์ตมันก็ล้มแล้ว

จตุพร ยังกล่าวถึงเรื่องการสร้างความปรองดองของรัฐบาล คสช.ที่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาว่า หน้าที่ของฝ่ายประชาชน ประชาชนทุกฝ่ายเขาให้ความร่วมมือกันจนหมดแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของคนที่ต้องรับผิดชอบ ก็ต้องตั้งคำถามว่าแล้วทำไมไม่สำเร็จ

สถานการณ์ตอนนี้โจทย์มันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว คู่ขัดแย้งมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่คู่ขัดแย้งที่ผูกขาดความขัดแย้งกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ สถานการณ์ของการเมืองไทยคู่ขัดแย้งมันเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของเวลา ยกเว้นเรื่องของคดีความที่ค้างคาที่ก็ต้องแยกออกไป

ถามข้อเสนอที่ให้มีการคุยกัน แต่ก็มีข่าวคนของฝ่าย คสช.ไปสนับสนุนการทำพรรคพลังประชารัฐ  เมื่อเป็นเช่นนี้การจะมาคุยกันก็อาจมองถึงเรื่องผลประโยชน์การเมืองของฝ่ายผู้มีอำนาจอยู่ด้วย จตุพร-แกนนำเสื้อแดง มองว่า อย่างที่บอกมันจะสร้างความเสื่อมวิกฤติศรัทธาให้เกิด เพราะในการเลือกตั้ง ฝ่ายไหนใช้อำนาจจะถูกแรงต้าน ลองไปดูรัฐบาลรักษาการตอนเลือกตั้ง หากใช้อำนาจมากแพ้เป็นส่วนใหญ่ การเลือกตั้งหากฉลาดต้องไม่ใช้อำนาจ เพราะธรรมชาติของคนไทยจะต่อต้าน คือโดยบุคลิกของคนไทยมักจะไม่เปิดเผยแล้วไปวัดกันตอนเลือกตั้ง ดังนั้นใครยิ่งใช้อำนาจตอนเลือกตั้งคู่แข่งยิ่งสบายตัว  เพราะคนไทยไม่ชอบการกดขี่

ต้องยอมรับความจริงว่า คสช.บริหารบ้านเมือง อะไรตึงเขาก็ดึงกลับ ไม่กล้าที่จะตึงมาก เพราะคนไทยใครที่ตึงมาก ใช้อำนาจมาก ก็จะถูกแรงต้านมาก ในสนามเลือกตั้งฝ่ายที่ใช้อำนาจมากแพ้ทั้งนั้น  และเป็นการแพ้โดยที่ฝ่ายตัวเองก็คาดไม่ถึง อย่างจังหวัดนี้คิดว่าทั้งผู้ว่าฯ ผู้บังคับการ นายอำเภอ มีการเข้าไปจัดการละเอียดยิบ แต่แบบนี้แหละชาวบ้านจัดการได้สะดวกที่สุด และไม่มีใครสงสัยด้วย ในสนามเลือกตั้ง ไม่เชื่อลองไปดู

บิ๊กแดงขึ้นเป็น ผบ.ทบ.-นปช.คิดยังไง?

                เราซักถามท่าทีของจตุพร-แกนนำ นปช.ต่อกรณีบทบาทของทหารในช่วงต่อจากนี้ โดยเฉพาะตอนเลือกตั้งที่มีข่าวพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือบิ๊กแดง จะขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเคยมีปัญหากับกลุ่มเสื้อแดงมาตลอด โดยเฉพาะตอนช่วงชุมนุมใหญ่ปี 53 ซึ่ง จตุพร ย้ำว่า ไม่ได้วิตก เพราะอย่างที่บอกหากใครใช้อำนาจไปในทางที่สวนทางกับประชาชน ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้ามอยู่แล้ว ผมก็เชื่อว่าคนที่มาเป็น ผบ.ทบ.ก็ต้องเข้าใจและฉลาดในการขับเคลื่อน และสิ่งสำคัญคือความชอบธรรม ผมไม่ได้วิตก เพียงแต่เตือนว่าสถานการณ์ในวันข้างหน้า หลากหลายเรื่องราวหากเราไม่จัดการกันดีๆ ก็จะกลายเป็นวิกฤติชนิดที่เราไม่คาดคิดเหมือนกัน

-จะเกิดเหตุแบบในอดีตที่ต้องไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารหรือไม่?

ก็อย่างที่ผมบอกให้คุยกันก่อนหรือไม่ หาทางออกกันก่อนหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้หมด ไม่มีใครบอกได้ว่าจะไม่เกิด เพียงแต่ว่าเกิดแล้วมันจะเกิดอะไร การเมืองเวลาที่คิดฝ่ายเดียวมันดูดีหมด คนยังไม่คิดสวนทางกันทันที แต่พออีกฝ่ายคิดสวน มันหนังคนละม้วน สถานการณ์เป็นอีกอย่าง.

.....................................

พท.ระวังซ้ำรอย สะดุดก้อนหิน ย้ำเสื้อแดงไม่ใช่ของตาย

            จตุพร-ประธาน นปช. ที่เป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย-อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย ยุคนายทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค พูดถึงทิศทางของ นปช.และคนเสื้อแดงต่อจากนี้ รวมถึงสายสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดง-นปช.กับพรรคเพื่อไทย โดยเน้นว่าพรรคเพื่อไทยและ นปช.จะต้องมีการปฏิรูป และเตือนพรรคเพื่อไทยว่าระวังอย่าเดินสะดุดก้อนหินก้อนเดิมเป็นครั้งที่สาม

                -ถึงตอนนี้มวลชนคนเสื้อแดงยังเหนียวแน่นกับเพื่อไทยอยู่หรือไม่?

ผมว่าเอาหลักการประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งดีกว่า พรรคการเมืองวันหนึ่งถ้าเขาเปลี่ยนจุดยืน แล้วประชาชนที่ยืนอยู่ด้วยจุดยืน มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็ต้องแสดงจุดยืนที่มั่นคง  หรือแม้กระทั่งใครก็ตามที่จะมานำเสนอจุดยืนประชาธิปไตยที่มั่นคง ก็ให้เป็นทางเลือก แต่ว่าเราไม่ได้คบกันในฐานะที่ว่าจะต้องเป็นของตายซึ่งกันและกัน

ถามว่ามองเพื่อไทยวันนี้อย่างไร ต้องเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างไร จตุพร ให้ความเห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องคิดตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต และอะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อน ต้องปฏิรูป และความจริงพรรคการเมืองทุกพรรคต้องปฏิรูป เพราะถ้าคิดแบบเดิมก็จบแบบเดิม คือตอนนี้ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะตัวผมก็ไม่ได้มีสิทธิ์ทางการเมือง แต่มองในฐานะว่าก็ควรที่จะยกเครื่อง อย่างที่ผมบอกว่าถ้าเริ่มต้นแบบไหนก็จะจบลงแบบนั้น ปัญหาก็คือว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือสิ่งที่แก้ไขไม่ได้  อะไรคือสู้ได้ อะไรคือสู้ไม่ได้ มีหลายเรื่องต้องนำไปคิด แต่ผมคงไม่นำเสนอ แต่หากไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ปฏิรูปเลยก็จะจบลงแบบเดิม

ถามถึงกรณีณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ย้ำว่าเพื่อไทยยังไงก็ต้องมีทักษิณ เห็นด้วยหรือไม่ จตุพร ตอบว่า ในมุมมองของผมต้องการให้การเมืองอยู่บนหลักการมากกว่าตัวบุคคล การเมืองถ้าผูกติดกับอุดมคติแนวทางอุดมการณ์มันจะยั่งยืน ส่วนตัวบุคคลสามารถถูกทำลายได้ มีขึ้นมีลง มีบวกมีลบ นี่คือโลกแห่งความจริงหนีไม่พ้น จึงควรต้องยึดแนวทางอุดมการณ์เป็นหลัก คือควรต้องนำบุคคลออกไป การตัดสินแนวทางอุดมการณ์ต้องเอาหน้าคนออกไป เช่นเดียวกับความยุติธรรมไม่ต้องดูหน้า อุดมการณ์ดูหน้าไม่ได้  แต่ต้องดูที่แกนและเนื้อหาว่าความจริงคืออะไร

-หากยังเป็นแบบเดิมคือมีคนในตระกูลชินวัตรขึ้นมาเป็นหัวหน้า นำพาพรรคเพื่อไทยต่อ ก็อาจเกิดปัญหาแบบเดิม?

เขาต้องคิดเอง เราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่เขาก็ควรจะคิด คือถ้าเป็นภาษาสื่อมวลชนก็คือ เราไม่ควรจะสะดุดหินก้อนเดิมถึงสองครั้งติดต่อกัน สะดุดครั้งแรกก็โอเคเพื่อให้รู้ว่ามันมีก้อนหิน แต่สะดุดครั้งที่สองมันคนละอย่าง ไม่ควรสะดุดหินก้อนเดิมถึงสองครั้ง แต่ที่ผ่านมาก็เกินสองแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องคิด และต้องคิดให้มาก คือต้องข้าม อย่าไปห่วงเรื่องการเลือกตั้ง

คนบางทีไปคิดแค่การเลือกตั้ง การหาตัวบุคคล การจัดการเรื่องเกมแห่งการเลือกตั้ง ซึ่งควรที่จะคิดให้มากกว่านั้นเพราะมันอาจทำให้เดินอย่างยั่งยืนได้ เพียงแต่ว่าพร้อมจะเปลี่ยนจะปฏิรูปหรือไม่  เพราะว่าหลายเรื่องหากมีการปฏิรูปก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างให้ฝ่ายการเมือง ซึ่งผมก็เห็นว่าทุกพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งฝ่าย นปช. กลุ่มการเมืองก็ต้องมีการปฏิรูปตัวเองที่ต้องมีการหารือกัน ยุค 4.0 มันไปไกลมากแล้ว หากเราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีทางเดินได้ทันกับโลกปัจจุบัน

จตุพร กล่าวถึงเรื่องทิศทาง นปช.ที่บอกต้องปฏิรูปนั้นยังไม่ได้หารือกัน แต่ยุคปัจจุบันมันเป็นแบบเดิมไม่ได้ ในเรื่องการขับเคลื่อน เราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง ช่วงยึดอำนาจ คสช.ผมก็คุกสองรอบแล้ว ก่อนหน้านี้ก็สองรอบ ก็รวมเป็นสี่รอบ มันไม่ใช่เรื่องการติดคุกหรือไม่ติดคุก แต่เป็นเรื่องยุคสมัยที่เราต้องเท่าทัน ถ้าเราไม่ปรับไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีวันเดินตามทัน เราต้องตามประชาชนให้ทัน ไม่ใช่ให้ประชาชนนำหน้าแล้วองค์กรประชาธิปไตยตามหลัง เราต้องตามและเดินคู่ขนานกับเขาไปให้ได้

ถามถึงกลุ่มสามมิตรที่เดินสายดึงแกนนำเสื้อแดง แนวร่วม นปช.ในต่างจังหวัดไปอยู่ด้วยจำนวนมาก จนถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์สลายเสื้อแดง จตุพร-ประธาน นปช. มองเรื่องนี้ว่าหลังเลือกตั้งปี  2554 สุเทพ เทือกสุบรรณ เคยวิเคราะห์ไว้ว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้แพ้พรรคเพื่อไทย แต่เขาแพ้กระบวนการคนเสื้อแดง เมื่อเสื้อแดงมีทีวีเสื้อแดง ต่อมาก็มีการทำทีวีเสื้อฟ้า เมื่อ นปช.มีโรงเรียนการเมือง เขาก็ทำโรงเรียนการเมือง แล้วต่อมาก็เกิดเป็น กปปส. คือเป็นวงล้อ ที่เขาเห็นว่าในสนามเลือกตั้งเขาเจอกับวงล้อประชาชนอีกฝ่าย

ตอนนี้ผมก็ประเมินสถานการณ์ว่าหนทางเลือกตั้งยังอีกยาวไกล ในสังคมไทยใครคุยกับใคร ใครเจอกับใคร อย่าเพิ่งคิดว่าเขาตกลงปลงใจกับใคร เราต้องให้โอกาส เช่นคนที่มีบทบาทสำคัญอาจมีคนมาคุยกับเขา มีมา 20 พรรค ผมก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เสียหายอะไร แต่คนที่ไปแน่ๆ ก็เป็นเรื่องของปัจเจก คือกระบวนการของ นปช.เป็นเรื่องของจิตวิญญาณประชาธิปไตย

 อย่างผมตั้งแต่ปี 2535 จนมา 2553 แล้วก็มาถึงปัจจุบัน ผมก็ยังพูดคุยของผมเหมือนเดิม ผมไม่เคยเปลี่ยน แต่ท้ายที่สุดทั้งหมดจะมาวัดกันตอนยกสุดท้าย แต่ตอนนี้ยังประเมินอะไรได้ยาก และสิ่งสำคัญการตัดสินใจทางการเมืองของประเทศไทยเอาแน่ไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าความรู้สึกของประชาชนในช่วงนั้นๆ เขาคิดอะไร ในทางการเมืองมันไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง ต้องคิดมากกว่านั้น การจะมีการพูดคุยอะไรกัน เราเป็นองค์กรประชาธิปไตย เราไม่ควรปิดกั้นใคร แต่การตัดสินใจต่างๆ ก็ว่ากันต่อไป แต่ตอนนี้ยังมีหนทางอีกยาวไกล ส่วนพรรคพวกที่ตัดสินใจแล้วก็เป็นสิทธิ์กันไป

-ไม่ได้มองว่าเป็นยุทธวิธีสลายเสื้อแดง?

ความจริงมันไม่ได้อยู่ที่สีเสื้อ สีเสื้อเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น ความจริงมันเป็นจิตวิญญาณประชาธิปไตย สีเสื้อมันเหมือนเครื่องแบบในการชุมนุม กระบวนการประชาชนที่อยู่มาได้ยืนยาว หากเราไม่มีจุดแข็งเรื่องประชาธิปไตย เราคงไม่มาไกลได้ขนาดนี้ ที่ผมมักพูดเสมอว่าเราต้องเข้าใจกันก็คือ เราไม่ได้ทำถูกทั้งหมด มีหลายเรื่องเราก็ทำผิด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำอะไรผิดทั้งหมด มีเรื่องจำนวนมากเราก็ทำถูกเหมือนกัน แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ลองนำเทปปราศรัยของแต่ละฝ่ายมาเปิดฟังกันตอนที่มันไม่ใช่ มันไม่น่าฟังกันทั้งนั้น เพราะสถานการณ์นั้นกับสถานการณ์นี้มันคนละเรื่อง ผมยังเข้าใจว่าสถานการณ์ข้างหน้าท้ายที่สุดประชาชนเขาจะจัดการกันเอง แต่ควรที่จะเปิดประตู  ใครนำเสนออะไรก็ต้องกล้าที่จะฟัง เราเป็นนักประชาธิปไตยต้องกล้าฟังความแตกต่างให้ได้

จตุพร กล่าวตอบเมื่อถามว่าช่วงอยู่ในเรือนจำ ได้พบเจอพูดคุยเรื่องการสร้างความปรองดองกับบุคคลที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำ เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล หรืออดีตพระพุทธะอิสระหรือไม่ โดยบอกว่าพื้นที่คุกถ้าใครพกความคับแค้นเข้าไป จะกลายเป็นคนที่ทุกข์มากที่สุด คุกจึงเป็นพื้นที่แห่งการอภัยให้กัน อโหสิกรรมให้กัน แต่ละฝ่ายที่เราก็ไม่ได้มีหัวโขนเข้าไป เพราะคุกทำให้เราคิดถึงแต่ปัจจุบันว่าเราเป็นเพียงนักโทษเท่านั้น อย่าไปคิดถึงอดีต และอย่าไปคิดถึงอนาคตว่าออกไปแล้วจะเป็นอะไร เพราะยิ่งคิดก็จะยิ่งเจ็บปวด และจะอยู่ในสภาพของการทรมานตน

เมื่อไม่มีหัวโขนก็นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยน และท้ายที่สุดก็เป็นความเข้าใจของคนที่ไปอยู่ในสุสานคนเป็นด้วยกัน ผมเองก็เห็นว่าทุกคนต่างก็คิดถึงเรื่องชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ที่ผ่านมาเราก็ยืนกันคนละที่คนละมุม มีความเชื่อกันคนละอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุดการแลกเปลี่ยน ทุกคนก็พูดถึงการหาทางออกให้ชาติบ้านเมืองในสิ่งที่ควรจะเป็นในวันข้างหน้า ทุกคนก็เห็นอยู่แล้วว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราต้องอยู่ในสภาพไหน ก็มีความเข้าใจกัน อะไรที่เป็นผลประโยชน์ชาติ ผมก็ยังเชื่อว่าการนั่งคุยกันก็ยังสามารถคุยกันได้อยู่ แต่การคุยกันด้วยบรรยากาศแบบในคุก หากคนข้างนอกได้มีโอกาสคุยกัน ผมก็เชื่อว่ามันจะช่วยคิดให้หาทางออกได้ หากแต่ละฝ่ายตึงกันหมดก็นำพาไปสู่จุดเดิม ที่ก็เห็นว่าลงท้ายคืออะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ.

                                    โดย วิจักรพันธุ์ หาญลำยวง

                                        วรพล กิตติรัตวรางกูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"