ปั่นไปด้วยกันที่เมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง
ผ่านเทศกาลสงกรานต์ไปได้ 1 สัปดาห์ ผมก็ตีตั๋วเครื่องบินไป – กลับ กรุงเทพฯ –ปีนัง ได้สำเร็จ หลังจากพยายามอยู่สี่ห้าวัน เว็บไซต์ของสายการบินไม่สามารถดำเนินการได้เมื่อถึงขั้นตอนชำระเงิน อาจจะมาจากคอมพิวเตอร์ของผม โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรบางอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ แต่ก็ได้ทำให้คืนก่อนบินผมต้องมีนัด 2นัด นัดแรกตอนค่ำกับชาวฝรั่งเศสและพรรคพวกชาวไทย ส่วนนัดที่ 2 กับเพื่อนชาวอิตาเลียน นัดนี้เลิกดึกชนิดข้ามวันใหม่ไปหลายชั่วโมง ทำให้ไม่กล้านอนเพราะกลัวจะตื่นสาย ตัดสินใจเก็บกระเป๋าแล้วออกไปสนามบินตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างเพื่อรอโดยสารเครื่องบินเวลาเกือบ 11 โมง โดยที่ไม่สามารถข่มตาหลับลงได้แม้แต่นาทีเดียวทั้งที่สนามบินและบนเครื่อง ลองคิดดูเถิดครับว่าจะง่วงและเพลียขนาดไหน
เวลาของมาเลเซียเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง เครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติปีนังเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ผ่านการตรวจคนเข้าเมืองอย่างง่ายดาย ผมจำรายละเอียดอะไรไม่ได้มากเพราะง่วงเต็มที จากนั้นออกจากสนามบินไปรอรถเมล์เข้าเมืองสาย 401E นานพอสมควรกว่าจะเข้ามาเทียบจอด บนรถเมล์ผมก็ยังไม่ได้หลับเพราะไม่มีที่ให้นั่ง รถวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง กว่าจะถึงชุมทางรถโดยสารที่อาคาร Komtar เมืองจอร์จทาวน์ จากนั้นเดินตามแผนที่กูเกิลในโทรศัพท์มือถือซึ่งได้ซื้อซิมการ์ดพร้อมสัญญาณอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่อาคารผู้โดยสารขาเข้าของสนามบินแล้ว
ถึง Weluv Travel Guesthouse เวลาบ่าย 3 โมงกว่าๆ ผมโทรมาจองไว้เมื่อ 2 วันก่อน เพราะราคาถูกกว่าจองจากเว็บไซต์เอเจนซี่ทั่วไป ราคาห้องนอนเดี่ยวแบบห้องน้ำรวม 45 ริงกิต คิดเป็นเงินไทยโดยเอา 8 คูณ ก็ประมาณ 360 บาท เช็กอินแล้วผมก็หลับยาวจนถึง 1 ทุ่ม
หน้าตา “ช็อปเฮาส์” ตึกแถวโบราณของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน
อาบน้ำอาบท่าก่อนจะออกไปหามื้อค่ำก็พบว่าฝนได้เทลงมาสักพักแล้ว คนของเกสต์เฮาส์ที่อาจเป็นเครือญาติเจ้าของมีน้ำใจหยิบร่มยื่นให้ ผมเดินออกจากเกสต์เฮาส์ในซอย Kampong Malabar ออกไปยังถนน Chulia (จูเลีย) ถนนสายสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง ชื่อนี้เพี้ยนมาจาก Chulierซึ่งหมายถึงชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในรัฐทมิฬนาดู สมัยราชวงศ์โจฬะ (Chola) ปกครอง เมื่อครั้งแรกเริ่มอพยพมายังเกาะปีนัง
เดิมทีถนนชื่อ “มาลาบาร์” ในตอนที่อังกฤษเข้ามายึดครอง ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “จูเลีย” เมื่อพวกผู้ดีทราบว่าคนที่อาศัยอยู่บนถนนเส้นนี้ส่วนใหญ่มาจากทมิฬนาดูของอินเดียตอนใต้
ถนนจูเลีย (Lebuh Chulia) มีชื่อทางด้านร้านอาหารทั้งแบบภัตตาคารขนาดย่อมและประเภทหาบเร่แผงลอย ผับบาร์ และที่ตั้งของเกสต์เฮาส์ โฮสเทล ราคาประหยัด ทุกวันยามค่ำคืนระหว่างอยู่ในเกาะปีนัง ผมยังเห็นสตรีเชื้อสายอินเดียขายบริการยืนอยู่เป็นจุดๆ พวกเธอไม่เสนอขายพร่ำเพรื่อกับนักท่องเที่ยวทั่วไป หากแต่เจาะจงกับกลุ่มชาติพันธุ์อินเดียด้วยกันและอาจจะมีชาวตะวันตกด้วย ส่วนหน้าไทยแท้อย่างผมไม่ใช่สเป็กของพวกเธอ
เนื่องจากฝนยังหยุดไม่สนิททำให้ถนนเฉอะแฉ ผมรู้สึกไม่สะดวกที่จะกินตามร้านแผงลอยริมถนน จึงเดินเข้าไปในซอยหนึ่ง มีร้านอาหารจีนตั้งอยู่ติดกัน 2ร้าน ร้านหนึ่งคนเต็มจนแน่น อีกร้านแทบไม่มีลูกค้า ผมเลือกร้านหลังอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะหิวและไม่อยากเสี่ยงโรคกระเพาะ
ภาพเหล็กดัดล้อเลียนบริเวณปากซอย Kampong Malabar ระบุว่าบริเวณนี้ชาวญี่ปุ่นในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่แล้วนิยมเปิดร้านขายกล้องถ่ายรูปบังหน้า ที่แท้เป็นพวกนักสืบราชการลับ
สั่งผัดหมี่ปลากะพง และปลาทอด 3 ตัว โดยชี้ไปที่เมนู ปรากฏว่าปลาทอดที่มาเสิร์ฟคือปลาทู ตอนดูในเมนูผมดูไม่ออก มีน้ำพริกกะปิมาวางไว้ข้างๆ ผมก็เอามือเขี่ยออกไปอยู่ที่ขอบโต๊ะ ผัดหมี่แม้ว่าจะออกจืดๆ แต่กินไปเรื่อยๆ ก็อร่อยดี ส่วนปลาทูทอดก็คือปลาทูทอด ยังดีที่เป็นปลาทูสด ไม่เค็ม ราคาอาหารพอๆ กับเมืองไทย หากจะแพงกว่าก็ไม่มาก
เพื่อนอิตาเลียนผู้ทำให้ผมไม่ได้นอนเมื่อคืนวาน ส่งข้อความมาแนะนำบรรดาร้านอาหารและร้านจำหน่ายสุราที่เขาชื่นชอบเพราะมีประสบการณ์เดินทางมาปีนังหลายครั้ง เขาว่าหากจะดื่มต้องย่าน Love Lane ซึ่งเป็นซอยหนึ่งบนถนนจูเลีย ถ้าต้องการร้านราคาถูกให้เดินตรงไปแล้วเลี้ยวขวาเข้าซอย Stewart เดินไปเรื่อยๆ ก็จะเจอร้าน Antarabangsa Enterprise อยู่ทางขวามือ
ผมเดินตามคำแนะนำของผู้รู้ไปจนถึงช่วงที่ซอย Stewart ตีออกเป็นโค้ง พบว่าร้าน Antarabangsa Enterprise เป็นร้านขายเหล้าเบียร์แบบส่งและปลีกในร้านเดียวกัน แถมยังตั้งโต๊ะเก้าอี้ไว้หลายชุดให้ลูกค้าซื้อออกไปนั่งดื่ม ตรงข้ามร้านมีรถตู้จอดทอดไก่ขาย พิจารณาแล้วไม่ค่อยน่านั่งเพราะทึมๆ หม่นๆ ไม่มีความคึกคัก หรือภาษาอังกฤษเรียก “เอเนอร์จี” ที่ไม่มีเอเนอร์จีนี่ก็เพราะไม่มีคนเป็นลำดับแรก ลำดับที่สองคือหากมีคนก็ต้องดูว่าเป็นคนแบบไหน และสื่อสารสัมพันธ์กันอย่างไร
ในที่สุดก็ถอยออกมา เดินกลับไปยังช่วงต้นของซอย Love Lane เจ้าของบาร์และพนักงานส่วนใหญ่เป็นแขกอินเดีย แม้แต่ลูกค้าเองก็เป็นแขกอินเดียเสียเกินครึ่ง ทั้งอินเดียที่เดินทางมาท่องเที่ยวและอินเดียที่ตั้งรกรากอยู่ในปีนัง สังเกตเห็นว่าแก้วเบียร์สำหรับลูกค้าที่มากันเป็นหมู่ อาจจะสั่งขวดใหญ่หรือแบบทาวเวอร์ก็จะได้แก้วใบเล็กๆ ขนาดโตกว่าแก้วช็อตไม่มาก เล็กกว่าแก้วเบียร์เกาหลีเสียอีก ก็ให้รู้สึกแปลกใจว่าทำไมไม่ใช้แก้วที่มีหูจับหรือแก้วชนิดก้นลีบปากกว้าง
หนึ่งในชุดภาพแมว มีลิงและหนูขอแจมด้วย
ผมแวะดูฟุตบอลอังกฤษที่ร้านชื่อ Wooden Tipsy สั่งเบียร์สด Carlsberg มา 1 แก้วขนาดประมาณ 330 มิลลิลิตรเพื่อเสริมความลื่นไหลของเกม ราคาแก้วละ 11 ริงกิต หรือประมาณ 90 บาท ดื่มหมดแก้วพนักงานก็ยกมาให้อีก บอกว่า “ชั่วโมงสุขสันต์ ซื้อ 1 แถม 1” จนสุดท้ายกรรมการเป่านกหวีดหมดเวลาเกือบพร้อมๆ กับที่เบียร์หมดแก้วที่สอง ผมเดินกลับที่พักแล้วออกมาใหม่ นั่งใกล้ๆ ร้านเดิมเพื่อดูฟุตบอลอีกคู่
คราวนี้ต้องทำให้ฟื้นด้วยเตกีลา 1 ช็อต ก่อนจะผ่อนคลายด้วยเบียร์ Skol เบียร์ที่มีคาร์ลสเบิร์กเป็นบริษัทแม่ ถูกขายสิทธิบัตรการผลิตไปในหลายประเทศ โด่งดังในประเทศบราซิล โดยที่ดั้งเดิมนั้นเป็นของสก็อตแลนด์ มาจากคำว่า Skal (สโกล) ในภาษาตระกูลนอร์ดิค ใช้กันในนอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน แปลว่าCheers หรือ ไชโย (ส่วนฟินแลนด์นั้นใช้คำว่า Kippis (คิปปิส) เนื่องจากมีบรรพบุรุษต่างเหล่ากอกัน) บ้านเราไม่เคยเห็นเบียร์ยี่ห้อนี้ ที่มีจำหน่ายในมาเลเซียน่าจะมาจากเหตุที่สหราชอาณาจักรเคยเป็นผู้ปกครองและนำเข้ามาในช่วงแรกๆ จนเกิดความเคยชินในตลาดนักดื่ม
ทั้งนี้เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศมุสลิม การดื่มของมึนเมาเป็นของต้องห้าม เมืองที่อนุญาตและดื่มกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันนอกจากปีนังแล้วก็คือเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อจุดประสงค์บริการนักท่องเที่ยวต่างศาสนาในราคาที่ค่อนข้างแพง
แมวส้มยักษ์ อยู่ตรงข้ามที่แล้ว
วันต่อมาผมถูกปลุกให้ตื่นตั้งแต่เช้าโดยเสียงคนย่ำเท้าจากห้องชั้นบน เพราะอาคารในย่านนี้เป็นสไตล์จีนที่เรียกว่า “Shophouse” ปูกระดานไม้ คนที่จะอยู่บนบ้านไม้สองชั้นขึ้นไปได้ นอกจากคนจีนเปอรานากันแล้วก็น่าจะมีคนไทยในต่างจังหวัดและอาจต้องพ่วงด้วยคำว่า “สมัยก่อน” เข้าไปด้วย ตอนเด็กๆ ผมเคยได้ยินคนแก่ๆ ดุสาวแรกแย้มประจำเรือนว่า “เดินตีนหนักอย่างนี้ระวังจะหาผัวไม่ได้” อยู่บ่อยๆ
คนอยากนอนนั้นแม้เอาสเต๊กมาป้อนก็ขอผ่าน เกิดความคิดที่จะขึ้นไปอัญเชิญคำคนแก่มอบให้กับผู้พักข้างบน แต่ด้วยความเพลียเพราะเมื่อวานนอนน้อยก็พยายามนอนต่อและหลับลงไปได้ จนตื่นอีกครั้งเวลาเกือบเที่ยงเพราะเสียงย่ำเท้าจากชั้นบนเหมือนเดิม ผมเดินขึ้นไปดูก็พบว่าเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน 2 คน เห็นว่าพวกเขาเก็บของกำลังจะเช็กเอาต์จึงไม่ได้พูดอะไร เมื่อพวกเขาออกไปแล้วผมก็นอนต่อจนถึงบ่ายโมงเพราะเมื่อวานตอนเช็กอินได้จ่ายเงินสำหรับ 2 วันไปแล้ว จึงนอนโดยไม่ต้องพะวงเวลาเช็กเอาต์
พี่เจ้าของเกสต์เฮาส์แนะนำร้านอาหารจีนฝั่งตรงข้ามชื่อ Hon Kei ลูกค้าแน่นร้าน แกว่า “เวรี่กู้ด” ผมข้ามไปชี้ตามรูปในเมนู ได้ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งใส่ไข่ลวก เส้นคล้ายขนมจีน อร่อยสมคำชม และไม่สงสัยแล้วที่คนเยอะ
เสร็จมื้อเช้าในเวลาบ่ายสองผมก็ออกเดินไปหาภาพเขียนบนกำแพง (Mural) ของเมืองจอร์จทาวน์ หรือสตรีทอาร์ต ที่มีอยู่ทั่วเขตเมืองเก่า กระจุกอยู่มากเป็นพิเศษในเขตที่เรียกว่า Core Zone ของพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2008 ขนาด 109 เฮกตาร์ หรือเกือบ 700 ไร่ (ส่วนที่เป็นโซนกันชนมีอีก 150 เฮกตาร์) ซึ่งหากมองจากแผนที่ก็คือสามเหลี่ยมส่วนปลายสุดของเกาะปีนังด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
ในสังคมที่มีทั้งชาวพุทธ มุสลิม ฮินดู และคริสเตียน แมวคือสัตว์ที่มีความเป็นกลางที่สุด
ภาพเขียนบนกำแพงนี้เริ่มขึ้นจากเทศกาล George Town Festival ในปี ค.ศ. 2012 เออร์เนสต์ ซาชาเรวิช ศิลปินชาวลิธัวเนียนได้สร้างสรรค์ขึ้นจำนวน 6ภาพ สื่อถึงวัฒนธรรม ผู้คน และวิถีชีวิตของจอร์จทาวน์ จากนั้นก็มีศิลปินท้องถิ่นวาดเพิ่มขึ้นอีกหลายภาพ โดยเฉพาะภาพแมวในอิริยาบถต่างๆ
นอกจากภาพเขียนบนกำแพงแล้ว ยังมีศิลปะภาพและตัวหนังสือเหล็กดัดที่ออกไปในทางล้อเลียนอีกจำนวน 52 ชิ้นกระจายอยู่ทั่วเขตเมืองเก่าจอร์จทาวน์อีกด้วย ทำให้ปีนังมีชีวิตชีวาขึ้นเป็นอย่างมาก ก่อนจะตามมาด้วยนักท่องเที่ยว และเงินของนักท่องเที่ยวที่มากยิ่งกว่า
ผมเดินไปตั้งหลักเสียไกลที่ถนนเส้นเลียบทะเลฝั่งตะวันออก (แต่มองไม่เห็นทะเล) ตรงข้ามกับรัฐปีนังแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียก “เซเบอรังเปอไร” จากนั้นตัดเข้าถนนเส้นในชื่อ Lebuh Victoria อาศัยชายคาตึกแถวสองชั้นโบราณเป็นที่หลบแดดร้อน หาภาพเขียนกำแพงได้สองสามรูปก็ปวดท้องต้องเข้าห้องน้ำ
มีร้านกาแฟโบราณอยู่บริเวณสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนน Lebuh Pantai และถนน Lebuh Armenian ผมเข้าไปสั่งกาแฟใส่นม ไม่ใส่น้ำตาล แล้วทำทีไปนั่งโต๊ะหน้าร้าน วางหมวกแก๊ปและแผนที่ไว้ เดินไปขอเข้าห้องน้ำ เฮียเจ้าของร้านบอกว่ากาแฟเสร็จพอดีขอวางไว้บนเคาน์เตอร์ก่อน เข้าห้องน้ำเสร็จแล้วค่อยมารับ
เด็กน้อยแห่งถนน Jalan Masjid Kapitan Keling
ในห้องน้ำที่น่าจะใช้เป็นห้องเก็บของด้วย มีห้องส้วมแยกออกไปที่มุมห้อง ผมหาสวิตช์ไฟไม่เจอ และเหตุการณ์กระชั้นชิดมากจนต้องประกอบกิจนั่งยองๆ แบบมืดๆ แล้วค่อยนึกขึ้นได้ว่ามีไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ
กาแฟที่ไม่ร้อนแล้วกลับเป็นผลดีเพราะไม่งั้นคงร้อนแข่งกับอากาศร้อน ผมสั่งน้ำแอปเปิลปั่นไม่ใส่น้ำแข็งมาดื่มเสริมวิตามีซีหลังกาแฟ ซึ่งอาจไม่ช่วยอะไร เพราะเคยอ่านพบว่ากาแฟต้องกินห่างจากวิตามีต่างๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง วิตามินจึงจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายโดยที่กาแฟไม่มาขัดขวาง
กาแฟโบราณราคาแค่ 2.5 ริงกิต หรือประมาณ 20 บาท ส่วนน้ำแอปเปิลราคา 5 ริงกิต หรือแค่ 40 บาท ถือว่าถูกกว่าที่คิด ตอนที่ซื้อของแล้วคิดเป็นเงินไทยนั้นจะรู้สึกดีก็ต่อเมื่อค่าเงินสกุลต่างชาติไม่สูง อย่างมาเลเซียนริงกิตนี้ตกจากสิบบาทกว่าๆ ลงมาเหลือประมาณ 8 บาทอยู่ได้ราวสามปีแล้ว แต่หากเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร หรือฟรังก์สวิสแล้ว อาจจะรู้สึกแย่ขึ้นมาทันที
ตรงข้ามร้านกาแฟที่ผมเพิ่งจ่ายเงินออกมามีภาพเขียนเด็กสองพี่น้องบนจักรยาน นักท่องเที่ยวทั้งหัวดำหัวแดงเข้าคิวถ่ายรูปกันอยู่หลายคน ถือเป็นภาพยอดนิยมภาพหนึ่ง
ผมเดินเจออีกสามสี่ภาพบนถนนอาร์มีเนียน บางภาพอยู่ในซอยแคบๆ เหมือนต้องการเล่นซ่อนหากับนักท่องเที่ยว คนที่หาเจอก็ดีใจนิดๆ ทั้งที่ทุกภาพมีไกด์ไว้แล้วในแผนที่ แต่มีอยู่ภาพหนึ่งซึ่งหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ จะขออธิบายในฉบับถัดไป
บนถนนอาร์มีเนียนมีร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่หลายร้าน ผมเลือกจากแผงค้าที่ตั้งบนทางเท้า เห็นรูปแมวในแผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็น เป็นภาพที่ไม่ได้อยู่ในเอกสารแผนที่ เจ๊คนขายบอกว่าอยู่ตรงข้ามกับภาพเด็กยืนเขย่งขาบนเก้าอี้ พอเดินไปตามลายแทงก็เจอชายวัยกลางคนกำลังถ่ายรูปหญิงสาวหน้าตาดี เธออยู่กับภาพเขียนแมวที่โผล่หน้ามาจากหน้าต่าง
แมวนี้มีมนต์ วันนี้วันที่ 19 พอดิบพอดี
ผู้ชายหันมาพูดภาษาไทยกับผมว่า “ดูรูปให้หน่อยสิครับว่าโฟกัสไหม” แกมั่นใจมากว่าผมเป็นคนไทย
หญิงสาวเดินมาดูรูปแล้วพูดว่า “พ่อตาไม่ดีค่ะ บางทีเล็งอยู่สามสี่นาที อ๋อโฟกัสแล้วนี่คะ”
แล้วสองพ่อลูกก็เดินจากไปโดยที่ผมไม่ทันได้พูดอะไรสักคำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |