พลิกวิกฤติถ้ำหลวง สู่โอกาสจัดการถ้ำไทย


เพิ่มเพื่อน    


เหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คนติดในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก กว่าที่จะกอบกู้ช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตได้อย่างปลอดภัยนั้น ต้องอาศัยหลักวิชาทางธรณีวิทยา อุทกวิทยา และความเชี่ยวชาญชำนาญการจากหลากหลายอาชีพ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการอำนวยการประสานงานทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ของศูนย์อำนวยการร่วมฯ ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้นักวิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวถ้ำ ได้หันมาสนใจเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของถ้ำมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 


 ว่าไปแล้ว ความยากลำบากในการกู้ชีพทีมหมูป่า สาเหตุหลักๆ มาจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับสภาพธรณีวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่มีความยาวและสลับซับซ้อนมาก ตลอดจนสภาพของถ้ำที่มีน้ำท่วมจรดเพดานถ้ำในบางจุดในช่วงหน้าฝน จึงทำให้การกู้ภัยทำได้ยาก ต้องมีการดำน้ำเพื่อเข้าสู่ด้านใน ซึ่งทั้งหมดนี้จึงทำให้การกู้ภัยช่วยชีวิตทีมหมูป่ากลายเป็นความเสี่ยงติดระดับโลก  


 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการจัดงานเสวนา “พลิกวิกฤติถ้ำหลวง สู่โอกาสการจัดการถ้ำไทย” ขึ้น เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เด็กติดถ้ำ โดยมีนักวิชาการหลากหลายสาขามาร่วมถกประเด็นเรื่องถ้ำในมุมมองต่างๆ 

จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 
 


จงคล้าย วรพงศธร อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า เหตุการณ์ถ้ำหลวงที่ผ่านมา ตนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กๆ เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังขาดความรู้เกี่ยวกับถ้ำในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านธรณีวิทยา ด้านกายภาพต่างๆ รวมถึงด้านอุทกวิทยา แม้กระทั่งเรื่องของระยะทางภายในถ้ำยังไม่มีใครทราบเป็นตัวเลขที่แน่ชัด จึงเกิดการคาดการณ์ตัวเลขระยะทางทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างน้ำท่วมถ้ำ เรายังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเป็นน้ำที่ไหลมาจากไหน แท้จริงแล้วไหลท่วมเข้ามาทางใดได้บ้าง เพราะฉะนั้นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม จึงใช้วิธีการง่ายๆ คือสูบน้ำออกจากถ้ำ ด้วยการเดินสายสูบ และทำอย่างไรก็ได้ให้เอาน้ำในถ้ำออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่เสียเวลาในการเดินเข้า-ออกถ้ำ อีกวิธีหนึ่งที่ทำก็คือ เดินหาลุ่มน้ำที่อยู่ใกล้ถ้ำ เพื่อหาดูว่าแหล่งน้ำตรงนั้นมีความเชื่อมโยงไหลเข้าถ้ำหรือไม่ ก็ใช้เวลาเดินหาหลายชั่วโมง พอพบแล้วก็หาวิธีเบี่ยงทางน้ำไม่ให้น้ำเข้าถ้ำ เพื่อให้หน่วยซีลทำงานได้ง่ายขึ้น โดยทั้งหมดที่ทำกันล้วนมาจากการตั้งข้อสันนิษฐาน ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าลุ่มน้ำอยู่ตรงไหน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ก็คาดเดากันทั้งสิ้น ตนมองว่าความจำเป็นที่จะศึกษาเรื่องถ้ำควรเริ่มเอาจริงเอาจังได้แล้ว  หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย 


อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ถ้ำหลวงถูกสั่งปิดไปแล้ว เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศถ้ำ เพราะตอนที่ทำงานมีการไปเหยียบย่ำและทำลายระบบนิเวศรอบถ้ำไปมาก เลยทำให้สภาพถ้ำไม่สวยงามเท่าใด ทั้งนี้ ในอุทยานแห่งชาติมีถ้ำจำนวนมาก เป็นร้อยๆ ถ้ำ ถ้ารวมกับถ้ำในสถานที่อื่นๆ น่าจะมากกว่าพันถ้ำ เบื้องต้นตอนนี้ถ้ำในอุทยานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจแล้ว หากถ้ำไหนมีความผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม และอันตรายอื่นๆ ก็จะมีมาตรการเร่งด่วนสั่งปิดทันที เพื่อไม่ให้คนเข้าไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าถ้ำไหนจะเกิดอันตราย จึงให้เจ้าหน้าที่ได้ดูแลถ้ำในความรับผิดชอบก่อน 


ด้าน ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการลุ่มน้ำ กล่าวว่า สมัยก่อนเราไม่เคยมองเห็นเรื่องถ้ำเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่ในบทเรียนยังไม่ได้มีการกล่าวถึง ในเรื่องอุทกวิทยา ตนก็ไม่เคยเรียน หรือศึกษาเรื่องน้ำท่วมถ้ำโดยตรง แต่ครั้งหนึ่งเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับถ้ำ มีผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำในประเทศอินโดนีเซียกล่าวไว้ว่า 'ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพยากรณ์น้ำในถ้ำว่าจะมาเมื่อไหร่ ท่วมตอนไหน หรือฝนตกแล้วน้ำจะท่วมเลยหรือไม่ และจะมีน้ำปริมาณเท่าใด' ซึ่งการคาดการณ์น้ำในถ้ำไม่ได้ง่ายเหมือนกับการพยากรณ์ภายนอก ว่าฝนจะตกตอนไหน มากน้อยเพียงใด หรือปริมาณน้ำในแหล่งน้ำจะสูงหรือลดอย่างไร เพราะเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าน้ำที่เข้ามาท่วมในถ้ำนั้นมาจากอะไรได้บ้าง หลักๆ รู้เพียงว่าฝนตกมากน้ำก็เข้าไปท่วมได้ แต่ยังมีอีกข้อน่าคิดคือ น้ำสามารถเข้ามาได้จากการซึมของใต้ดิน หรือไม่ก็มาจากร่องรูตามซอกของหินงอก หินย้อย ซึ่งซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด 


“ผมเองยังไม่เคยได้ศึกษาเรื่องน้ำท่วมถ้ำอย่างจริงจัง มาสนใจศึกษาก็ตอนนี้ วิธีที่เราจะเอาตัวรอดจากการเสี่ยงภัยในถ้ำแบบเดิมๆ คือ สื่อสารกับคนที่อยู่ปากถ้ำ ให้ส่งสัญญาณเตือน แต่ตอนนี้มันชัดเจนแล้วว่าวิธีดังกล่าวมันไม่ได้ผล ถ้าน้ำจะมา ไม่ได้หลากมาจากปากถ้ำเสมอไป จึงจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาวิจัย หาทางแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่ในความเป็นจริงงบประมาณที่จะดูแลเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย และถ้าจะทำระบบเตือนต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตราย ทุกคนต้องมีความรู้เรื่องอุทกวิทยามาพอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านนี้ แม้กระทั่งตนก็ยังต้องมาเริ่มศึกษา ทั้งเรื่องของน้ำไหล น้ำซับ น้ำซึม การคายน้ำต่างๆ” ศ.ดร.นิพนธ์กล่าว


ขณะที่พัลลภ กฤตยานวัช ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ ได้เสนอว่า การสำรวจและศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศถ้ำในต่างประเทศมีมานานกว่าร้อยปีแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่เรียกว่าถ้ำวิทยา เพื่อเป็นฐานความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับการศึกษาและการบริหารจัดการถ้ำเพื่ออนุรักษ์สมบัติธรรมชาติที่ล้ำค่า ตนมองว่า ไทยควรเน้นศึกษาเรื่องถ้ำวิทยาด้วย ควรศึกษาทุกแง่มุมเกี่ยวกับถ้ำและระบบถ้ำ ตั้งแต่ลักษณะของถ้ำ โดยเฉพาะกระบวนการทางเคมีในการละลายหินปูนและการก่อเกิดประติมากรรมหินรูปทรงแปลกๆ เช่น หินงอก หินย้อย ไข่มุกถ้ำ รอยริ้วน้ำไหล ที่เป็นผลมาจากอิทธิพลของน้ำใต้ดิน และการไหลหยดของน้ำจากผิวดิน แล้วเรื่องถ้ำวิทยาจะไปสอดคล้องกับศาสตร์ด้านอื่นๆ ที่จำเป็นอีก เช่น ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานวิทยา แร่วิทยา ธรณีเคมี ชีววิทยา อุทกวิทยา ภูมิศาสตร์ วนศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น 


นอกจากเรื่องความรู้ถ้ำวิทยาที่จำเป็นต่อการจัดการถ้ำในอนาคตแล้ว เดชา บุญค้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรม ยังได้เสนออีกว่า อนาคตถ้ำไทยควรจะมีความสวยงามตาและปลอดภัย ตั้งแต่ภายนอกถ้ำไปจนถึงในถ้ำ ก่อนอื่นจะต้องมีการสำรวจอีกมาก ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม ต้องมีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ตำแหน่งอ้างอิงพิกัดทิศทางแดดลม ความชื้น อุณหภูมิ ระดับความชัน ความสูงภูมิประเทศ ธรณีวิทยาหิน ดิน ทราย น้ำใต้ดิน ทางน้ำธรรมชาติ แล้วก็สำรวจสิ่งก่อสร้างเดิม ภูมิทัศน์ธรรมชาติเดิม พืชพันธุ์เดิม หรือว่าจะเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรม ความเชื่อประวัติศาสตร์โบราณคดี ของแต่ละแห่ง และที่สำคัญที่ต้องสำรวจคือ กระบวนการตามธรรมชาติ น้ำหยด หินงอก หินย้อยต่างๆ ความกว้างความสูง ทางน้ำ และสัตว์ที่อยู่ข้างในนั้นมีอะไรบ้าง แล้วก็อากาศแสงสว่างตามธรรมชาติ การเข้าถึงหน้าฝน หน้าแล้ง และอันตรายอื่นๆ 


เดชาเสนอต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ตนอยากให้จัดการอีกคือการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ภายนอกถ้ำ ให้เหมาะสมกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและน่าเชื่อถือ ตนเคยไปดูงานต่างประเทศ บางประเทศเขามีการทำเป็นอาคารศูนย์กลางเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวด้วยการก่อสร้างอาคารที่กลมกลืนกับธรรมชาติของถ้ำ ส่วนภายในมีการจัดไฟ แสงสี ให้ดูสวยงาม แต่ยังคงให้บรรยากาศของถ้ำ น่านำมาเป็นแบบอย่างในไทย 
ด้านนายจงคล้ายได้กล่าวเสริมว่า  แนวทางการพัฒนาถ้ำในอนาคต ตอนนี้ทางอุทยานมีการวางแผนแม่บทคร่าวๆ หลายข้อ และเหมาะสมจะนำเอาไปใช้หลายๆ ที่ โดยที่คิดได้คือ ระยะแรกๆ อยากให้มีเรื่องของการคุ้มครองทรัพยากรและการพัฒนาการท่องเที่ยว การดูแลเรื่องความปลอดภัย งานวิจัย การเพิ่มประสิทธิภาพ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการจัดการภายใน-ภายนอกถ้ำ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การจัดการขยะต่างๆ ฯลฯ ก็อยู่ในแผนด้วย หลายฝ่ายเสนออยากให้มีศูนย์เรียนรู้เป็นพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะถ้ำหลวง อันนี้คิดในแผน แต่การจะดำเนินการจริงๆ นั้นยาก เพราะขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงานที่ต้องมานั่งพูดคุยกัน การพัฒนาถ้ำไทยตอนนี้พอคิดหาแนวทางจัดการดูแลแล้ว ก็ต้องมานั่งคุยกันอีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็อยากจะทำให้รักษาระบบนิเวศ ภูมิทัศน์เดิม อาจจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาก เพราะสิ่งสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของการเข้าถ้ำมากกว่า 


"สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ทุกคนจำเป็นต้องมาเรียนรู้เรื่องถ้ำใหม่ ตั้งแต่การสำรวจกายภาพของถ้ำวิทยา ว่ามีลักษณะอย่างไร ระยะทางเป็นยังไง ตรงนี้ต้องใช้เวลาอีกเยอะ เพราะแค่มานั่งเรียนรู้แค่วันเดียวยังไงก็ไม่พอ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลก็มีน้อย" นายจงคล้ายกล่าว


    อย่างไรก็ตาม ในเวทีเสวนายังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้ข้อสรุปว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนควรจะต้องศึกษาเรื่องถ้ำ และเพิ่มการศึกษาด้านถ้ำวิทยา ธรณีวิทยา อุทกวิทยา และเนื้อหาอื่นๆ เกี่ยวกับถ้ำ ในการศึกษาไทยด้วย เพราะผู้ที่รู้ด้านนี้ยังมีน้อย เพื่อจะพัฒนาให้ถ้ำกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีและปลอดภัยในอนาคต.

 

ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการลุ่มน้ำ
 


ถ้ำพระนาง จ.กระบี่ 

สภาพน้ำท่วมภายในถ้ำ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"