ได้ลองของใหม่.....
ที่ผ่านมาประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มักจะมาจากสายศาล กับสายตำรวจ
มาถึง กกต.ชุดที่ ๕ เป็นครั้งแรกที่ประธานเป็นนักการทูต
ไปดูกันก่อนว่า กกต.ชุดใหม่ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคมที่ผ่านมานั้น มีใครบ้าง
๑.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
๒.ศาสตราจารย์ ดร.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
๓.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
๔.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
และ ๕.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
อีก ๒ คนอยู่ระหว่างการคัดเลือก
ดูตามเส้นทางราชการ เดิมทีคาดกันว่า ไม่ฝ่ายปกครอง ก็ศาล จะถูกรับเลือกเป็นประธาน กกต. เพราะการจะสู้รบตบมือกับนักการเมือง ประธาน กกต.ต้องมีมาดเข้มพอควร
ต้องเคี่ยวพอที่จะตามนักการเมืองทัน
ก็แปลกดี กกต.ในยุครัฐบาลที่ถูกเรียกว่าเผด็จการทหาร กลับใช้บริการนักการทูต
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.คนใหม่ ประวัติไม่ธรรมดาทีเดียว
เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๙
จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๒๒ นิติศาสตรมหาบัณฑิต Tulane สหรัฐอเมริกา ปี ๒๕๒๗
รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาตลอด เคยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รองตัวแทนของประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุธิธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๕๓
คณะกรรมการในคณะกรรมการองค์กรร่วมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๕
เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ในปี ๒๕๕๕
เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์สหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ในปี พ.ศ.๒๕๕๕
ประธานกลุ่ม ๗๗ และจีนประจำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ในปี ๒๕๕๗
เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี ปี ๒๕๕๘
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทยในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนเข้ารับการเลือกตั้งของไทย ในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปี ๒๕๕๙
ได้รับการคัดเลือกจาก สนช.ด้วยคะแนนเสียง ๑๘๖ คะแนน
มากที่สุดในบรรดา กกต.ทั้ง ๕ คน
ครับ...เรามี กกต.มาแล้ว ๔ ชุด
ชุดนี้เป็นชุดที่ ๕
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับการเลือกตั้งของไทยบ้าง?
มีการสร้างวาทกรรมการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย
แต่ความจริง...การเลือกตั้งถูกทำให้เป็นเพียงเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง อ้างประชาธิปไตยให้ดูสวยหรู เพราะแท้จริงแล้วไม่เคยมีประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง
มีเพียงเผด็จการรัฐสภา!
ใช้อำนาจกันตามอำเภอใจ
กกต.จึงเป็นเพียงหน่วยงานปลุกเสกอำนาจให้นักการเมืองไปโดยปริยาย
แม้ กกต.เกือบทุกชุดที่ผ่านมาไม่ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นก็ตาม
ยกเว้น กกต.ที่มีประธานสายตำรวจ สามหนาห้าห่วง...เจอคุก เพราะรับใช้นักการเมืองโดยไม่สนใจกฎหมาย
ฉะนั้นการได้ประธาน กกต.เป็นนักการทูต จึงน่าสนใจไม่น้อย
นักการทูตต่างจาก ศาล ตำรวจ ทหาร อย่างไร?
นายอิทธิพร บุญประคอง เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งประธาน กกต. ด้วยการให้สัมภาษณ์ที่แตกต่างออกไป
"....การจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม ให้ต่างประเทศยอมรับ ซึ่ง กกต.ทุกคนก็พร้อมให้ความเชื่อมั่น ชี้แจงกับประชาคมระหว่างประเทศที่สนใจติดตามการเลือกตั้งของไทย ว่าจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แม้ว่าพวกผมจะไม่ได้มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาก่อน แต่จะมุ่งมั่นแรงใจทุกอย่างที่มีเรียนรู้อย่างรวดเร็วถึงอำนาจหน้าที่เพื่อทำงานตามความรับผิดชอบ โดยแต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จะมีการเตรียมตัวกันแล้วพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อให้สังคมมั่นใจว่าในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งสามารถทำงานได้....
...ขอใช้คลังสมองของอดีต กกต. เพราะที่อื่นก็มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง จึงขอใช้ระบบนี้เช่นกัน โดยจะใช้องค์ความรู้ของอดีต กกต.ทั้ง ๔ คน ทำประโยชน์กับการทำงานให้ได้มากที่สุด และจะเคารพสิ่งที่ กกต.ชุดเดิมทำ และจะทำต่อไป..."
สิ่งที่เปลี่ยนไปใครจะไปนึกถึง....
ในการเลือกตั้งจากนี้ไปต้องคอยชี้แจงต่อประชาคมโลกด้วย
เมื่อก่อนไม่เห็นใครจะสนใจ
การอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ก็เป็นอีกหนึ่งในความต่าง เพราะที่ผ่านมาเราเคยมี กกต.ที่ไม่ฟังใคร
พวกเกรียนก็มีให้เห็น
ฉะนั้นความถนัดที่ต่างกัน แนวทางการทำงานที่ต่างออกไป ย่อมทำให้ผลของงานต่างออกไปเช่นกัน
แต่...เดี๋ยวก่อน เท่านี้ยังวัดการทำงานอะไรไม่ได้ เพราะในความจริง กกต.ชุดใหม่ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย
เพียงแต่พื้นฐานการทำงานที่ต่างกัน การมีประธาน กกต.นักการทูตน่าจะถูกที่ถูกเวลา
นี่ว่ากันเฉพาะ กกต.
แต่การเลือกตั้งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งได้หรือไม่ จะทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรือเปล่า ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอื่นๆ อีกมากมายก่ายกอง
เช่นตัวนักการเมืองเอง
ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
กฎหมายเลือกตั้ง
สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญ
หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า รัฐธรรมนูญ มีผลอย่างมากที่ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปจากฝ่ามือเป็นหลังเท้า
หรือพลิกจากหลังเท้าเป็นฝ่ามือก็ยังได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือฉบับปฏิรูปการเมืองประกาศใช้ ด้วยความคาดหวังว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนโฉม
เพราะกลัวทหารจะแทรกแซงการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้พรรคการเมือง และฝ่ายบริหาร
รัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง กลับไม่อาจสร้างประชาธิปไตยตามที่คาดหวังได้เลย
มองย้อนกลับไปเห็นข้อเสียอยู่หลายจุด และข้อเสียดังกล่าวซึ่งควรจะเป็นข้อดี กลับเป็นเพียงเครื่องมือการเข้าสู่อำนาจ และใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งของนักการเมือง
การสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง กลับกลายเป็นการทำลายประชาธิปไตยลงอย่างย่อยยับ
ที่คิดว่าเมื่อการเมืองเข้มแข็งแล้ว ทหารจะไม่เข้า กลับเป็นตัวเร่งให้กองทัพมีโอกาสยึดอำนาจ ด้วยเหตุผลนักการเมืองใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อการคอร์รัปชัน
และที่สำคัญสุด รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ทำให้มีการเมืองเพียง ๒ ขั้ว
ส่งเสริมให้มีพรรคใหญ่เพียง ๒ พรรค ซึ่งเลียนแบบจากประเทศในตะวันตก อเมริกา ที่คิดว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยได้ กลับสร้างปัญหาชนิดคนเขียนรัฐธรรมนูญเองก็คาดไม่ถึง เพราะนักการเมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะทำเพื่อประชาชน
มันไม่ถูกจริตกับประเทศไทย
การส่งเสริมให้มีการเมือง ๒ ขั้ว สร้างความวิบัติมาจนถึงทุกวันนี้
ก่อนปี ๒๕๔๐ การเมืองไทยไม่ได้แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย เลือกตั้งทีไรจบด้วยการตั้งรัฐบาลผสม
ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป
แม้การเป็นรัฐบาลผสมจะมีข้อเสียมากมาย
แต่ข้อดีหนึ่งในนั้นคือ...ไม่เคยทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองแบบ ๒ ขั้ว
ในอดีตมีเพียงประชาชนต่อสู้กับเผด็จการทหาร
สู้แล้วจบ จบแล้วสู้ใหม่
แต่ประชาชนเป็นหนึ่งเดียว
เราสู้ครั้งสุดท้ายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
แต่หลังจากนั้น การเมือง ๒ ขั้ว ได้แยกประชาชนออกเป็น ๒ ซีก
ความขัดแย้งลงรากลึก จนยากที่จะประสานกันได้
บางคนอาจบอกว่า การเมือง ๒ ขั้วมีมานานแล้ว เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับอำมาตย์
แต่ในความเป็นจริง การต่อสู้ระหว่างขวากับซ้ายนั้น....ประชาชนไม่หันมาฆ่ากันเอง
ไม่สร้างความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานเท่าการเมือง ๒ ขั้ว
อาจเป็นโชคดีที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สลายความเป็นการเมือง ๒ ขั้วลง
โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเหมือนในอดีตนั้น เป็นไปได้ยาก
รัฐบาลหน้าจะเป็นรัฐบาลผสมย้อนกลับไปเช่นก่อนปี ๒๕๔๐
แม้ความเป็นรัฐบาลผสมมีข้อเสียอยู่หลายประการ แต่หากข้อดีคือมีการละลายพฤติกรรมลดความขัดแย้งลง
ก็นับว่าคุ้ม.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |