ธรรมนัสติดโผพันบิตคอยน์


เพิ่มเพื่อน    

  กองปราบฯ ออกหมายเรียก 8 ผู้เกี่ยวข้องพันบิตคอยน์ชี้แจง “ธรรมนัส” ติดโผกับเขาด้วย  เหตุรับโอนหุ้นจากพี่ชายบูม “ผู้กองตุ๋ย” ลั่นเป็นการทำธุรกรรมปกติ หวังให้คดีดังจึงมีชื่อมาเอี่ยว แต่สุดท้ายเชื่อเรื่องโอละพ่อ พร้อมไปตามหมายเรียก ส่วน “ปริญญา” แจงข้ามประเทศ ไม่ได้หนี พร้อมกลับไทยสู้คดีแน่

เมื่อวันศุกร์ ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รอง ผบก.ป. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีโกงเงินบิตคอยน์มูลค่า 797 ล้านบาท ว่าพนักงานสอบสวนจะนำหมายเรียกไปส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานชัดเจนและพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ ประกอบด้วย 1.นายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือบูม ดารานักแสดงหนุ่ม 2.นายปริญญา จารวิจิต พี่ชายบูม ที่ตำรวจแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินไปแล้วก่อนหน้านี้ 3.นายธนสิทธิ์ จารวิจิต น้องนายปริญญา 
4.นายชาคริส อาห์มัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอ็กเปย์ จำกัด และ 5.นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เจ้าพ่อตลาดหุ้นเมืองไทย ที่อ้างกับนายเออาร์นี โมตาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ ผู้เสียหายว่าจะขายหุ้นบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ให้ผู้เสียหาย 500 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ แต่กลับหาหุ้นมาให้ได้เพียง 345 ล้านหุ้นเท่านั้น และเป็นคนที่ไปเจรจานอกรอบกับผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายไม่ยอมความ โดยให้ทั้ง 5 คนเข้ามาพบพนักงานสอบสวนวันที่ 28-29 ส.ค.นี้ ส่วนกรณีนายปริญญาที่ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องออกหมายเรียกไปตามขั้นตอน หากไม่มาพบก็จะออกหมายจับทันที
“อีกกลุ่มหนึ่งต้องเรียกมาสอบปากคำก่อน คือ นางเลิศฉัตรกมล และนายสุวิทย์ จารวิจิต พ่อแม่ของนายบูม ที่รับโอนเงินเข้าบัญชี 90 ล้านบาท ให้เข้ามาให้ปากคำในวันที่ 27 ส.ค.นี้ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือผู้กองตุ๋ย อดีตทหารที่รับโอนหุ้นจากพี่ชายบูม ซึ่งจะเรียกเข้ามาสอบปากคำในวันที่ 28 ส.ค. ถึงที่มาทรัพย์สินและหุ้นว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่สามารถชี้แจงได้ ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินเช่นกัน” พ.ต.อ.ชาคริตกล่าว
    ร.อ.ธรรมนัสกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างนายปริญญากับนายเออาร์นี  ขณะที่นายประสิทธิ์ ซึ่งทำธุรกิจร่วมกับตนเอง ได้พานายเออาร์นีมาหาเพื่อไปเอาเงินคืนจากนายปริญญา โดยมีการจดจำนำหุ้นไว้ส่วนที่หนึ่งจำนวน 340 ล้านหุ้น ซึ่งได้รับการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่สองประมาณ  500 ล้านหุ้น ยังไม่ได้มีการจ่ายเงิน แต่เป็นลักษณะของการจดจำนองหุ้นไว้ แต่นายปริญญาไม่โอนเงินคืน ทางนายประสิทธิ์ก็พาฝรั่งมาหา บอกว่าจะโอนหุ้นลอยมาให้ ถ้านายปริญญาจ่ายเงินก็ต้องคืนหุ้นเขา เป็นลักษณะของการทำธุรกิจ ซึ่งได้จดแจ้งกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าเป็นการโอนลอย ยังไม่มีการซื้อขาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย  
    "เรื่องไม่มีอะไรเลย เป็นการทำธุรกิจ ไม่ได้ไปรับจ้างทวงหนี้ อย่าเอาผมไปเกี่ยวข้อง คนที่เอาผมไปโยงต้องการให้คดีดังหรืออย่างไร ข่าวที่ออกมาทำให้ผมเสียชื่อเสียง ตอนนี้ผมกำลังทำงานเรื่องส่วนรวม ทำอย่างนี้ผมเสียหาย แต่ก็จะไปตามหมายเรียก ตำรวจคงกันผมไว้เป็นพยาน ว่าเรื่องเกิดอะไรขึ้น ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร แล้วมันเป็นเรื่องโอละพ่อ  คนที่กล่าวหาผมให้เกิดเสียหายก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว  และว่า ยังไม่ได้รับหมายเรียก แต่พร้อมชี้แจง ทั้งนี้ วันที่ 18 ส.ค.นี้เป็นวันเกิดรอบ 53 ปีของตนเอง จะเดินทางกลับไปทำบุญที่บ้านเกิด จ.พะเยา 
    ด้าน พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัวนายปริญญาว่า ได้รับการประสานจากนายธนสิทธิ์ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ ว่าจะรีบเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาโดยเร็วที่สุด แต่ขอเตรียมเอกสารรวบรวมพยานหลักฐาน และเกลี้ยกล่อมให้นายปริญญาพี่ชายคนโต ที่ถูกออกหมายให้เข้ามอบตัวพร้อมกัน เพราะคดีนี้ทำให้พ่อแม่รู้สึกเครียดและไม่สบายใจอย่างหนักจนล้มป่วย
ขณะเดียวกัน นายปริญญาเปิดใจผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ว่าไม่ได้หลบหนี เพราะก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเอกสารทางคดี ซึ่งตำรวจก็รับทราบแล้ว และยืนยันว่าจะกลับมาสู้คดีแน่นอน เพราะคดีนี้มีเพียงตนเองและนายธนสิทธิ์เท่านั้นที่รู้เรื่อง ส่วนพ่อแม่ บูม และ น.ส.สุพิชฌาย์ จารวิจิต ไม่รู้เรื่องด้วย 
“คำให้การของนายเออาร์นีที่บอกว่าผมเชิญชวนไปลงทุนซื้อหุ้นด้วยเงินสกุลบิตคอยน์นั้น ไม่จริง แต่เป็นตัวนายเออาร์นีเองที่ขอแลกเงินบิตคอยน์กับเงินสดของผม เนื่องจากไม่อยากแลกกับตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล เพราะหากแลกไปจำนวนมากจะทำให้เพดานการซื้อขายผันผวนมากเกินไป และอาจทำให้เงินบิตคอยน์ราคาตกต่ำลง จึงได้มาขอให้ผมยอมแลกเป็นเงินสด และเสนอจะให้ค่าตอบแทนเพิ่ม 25% ผมก็ยอมแลกไป” นายปริญญากล่าว
        นายปริญญาชี้แจงอีกว่า ที่นายเออาร์นีแจ้งว่าได้ฉ้อโกงนั้น น่าจะเกิดจากช่วงที่ทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายหุ้นบริษัท Xpay ที่ลงทุนอยู่ โดยนายเออาร์นีกำลังพยายามออกเหรียญเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง และอยากได้บริษัทนี้มาใช้ออกเหรียญดังกล่าว จึงได้ติดต่อกับเพื่อนอีกคนเพื่อขอซื้อหุ้นของตนเองในบริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้ทำสัญญาถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสัญญาที่ทำกับเพื่อนของตนเองนั้น นายเออาร์นีได้ทำสัญญาไปนั้น มีระบุเรื่องการแลกเปลี่ยนหุ้นกับเงินบิตคอยน์ 
“ปกติแล้วราคาบิตคอยน์จะแปรผันตลอดเวลา คนที่ทำสัญญาต้องรับความเสี่ยงเอง ซึ่งนายเออาร์นีก็พยายามบ่ายเบี่ยงการโอนเงินสกุลบิตคอยน์หลังจากราคาขึ้น ขณะเดียวกันพอราคาลงก็จะรีบโอนเงินบิตคอยน์แลกหุ้นทันที ด้วยความที่ราคาแปรผันตลอดเวลาตามข้างต้น ยืนยันว่านายเออาร์นีได้รับหุ้นและมีการซื้อขายกันอย่างถูกต้องตามสัญญา นอกจากนี้นายเออาร์นียังเคยฟ้องในศาลแขวงดุสิตในคดีฉ้อโกงเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังคงสู้คดีกันอยู่ในชั้นศาล” นายปริญญาชี้แจง
    นายปริญญายังให้สัมภาษณ์ถึงการกระจายเงินให้ครอบครัวว่า เรื่องนี้นายธนสิทธิ์เป็นคนดำเนินการทั้งหมด ซึ่งนายเออาร์นีเป็นคนเปิดกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ และจ้างน้องชายเป็นคนดำเนินการรับแลกเปลี่ยนบิตคอยน์เป็นเงินสด ซึ่งก็มาทราบภายหลังว่าน้องชายใช้บัญชีเพื่อนและครอบครัวในการแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดออกมา โดยครอบครัวไม่ทราบ รวมทั้งรู้สึกเป็นห่วงครอบครัวมากหลังจากเห็นข่าว โดยเฉพาะบูม และอยากให้ทุกคนให้กำลังใจนายบูม และยืนยืนว่าน้องชายไม่มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น และจะรีบกลับมาสู้คดีภายในเดือนหน้าแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"