วิกฤติสงครามการค้าตุรกี-มะกัน กระเพื่อมถึงบ้านเรา


เพิ่มเพื่อน    

    การเผชิญหน้าระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ ทำท่าจะบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ

                อาการแรกที่หนักสำหรับตุรกีคือ ค่าเงิน "ลีรา" ร่วงลงอย่างรุนแรงหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสำหรับอะลูมิเนียมและเหล็กที่นำเข้าจากตุรกีเป็นสองเท่า

                ภาษีศุลกากรกระโดดไปที่ 20% สำหรับรายการแรกและ 50% สำหรับอย่างหลัง

                ถือว่าทรัมป์โยนหมัดใส่ตุรกีเข้าโครมใหญ่

                ประธานาธิบดีตุรกีคนกร้าวอย่าง เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน มีหรือจะยอมนั่งเฉยๆ

                แกประกาศตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอเมริกา 140% ยาสูบ 60% และรถเก๋ง 120%

                นอกจากนี้ยังขึ้นภาษีสำหรับเครื่องสำอาง, ข้าวและถ่านหินจากอเมริกาอีกด้วย

                แน่นอนว่าเจ็บทั้งคู่ ใครแกร่งกว่าก็เจ็บน้อยหน่อย ใครอ่อนกว่าก็ต้องดูว่าจะมีภูมิต้านทานมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

                ทรัมป์อ้างว่าที่ต้องลงโทษตุรกีอย่างไม่ไว้หน้า เพราะรัฐบาลตุรกีไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวงชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ แอนดริว บรุนสัน ที่ถูกควบคุมตัวในตุรกีมาเกือบสองปีแล้ว โดยข้อหาว่าด้วยการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

                ทางการตุรกีกล่าวหาว่าเขามีส่วนโยงใยกับพรรคคนงานเคอร์ดิสถาน ซึ่งรัฐบาลบอกว่าเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย

                อีกทั้งยังตั้งข้อหาว่าบาทหลวงท่านนี้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวกูเลน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคนต่อต้านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เคยพยายามก่อรัฐประหารเมื่อสองปีก่อนแต่ถูกสกัดกั้นไว้เสียก่อน

                มะกันไม่เคยทำอะไรกับกลุ่มกูเลน อีกทั้งวอชิงตันก็ไม่เคยออกมากล่าวประณามการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

                หัวหน้าของกลุ่มกูเลนคือ นายเฟตุลลาห์ กูเลน ซึ่งหลบหนีจากตุรกีมาปักหลักที่รัฐเพนซิลเวเนีย มีผู้ร่วมขบวนการมากพอสมควร

                สำหรับประธานาธิบดีแอร์โดอันแล้ว นายกูเลนคือศัตรูหมายเลขหนึ่งที่ต้องกำจัด

                แต่สหรัฐฯ ไม่ยอมส่งตัวกูเลนกลับไปให้รัฐบาลตุรกีแต่อย่างใด

                กลายเป็นเรื่องระหองระแหงที่คาใจระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกีมาตลอด

                อีกประเด็นหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้คือ อเมริกาถือหางข้างกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดในการสู้รบกับกลุ่ม IS ทางเหนือของซีเรีย

                แต่รัฐบาลตุรกีรบกับชาวเคิร์ดในบ้านของตัวเองมาตลอด

                สหรัฐฯ กับตุรกีจึงยืนอยู่คนละข้างมาตลอด...แม้จะเป็นสมาชิกนาโตเหมือนกัน

                ไม่แต่เท่านั้น ช่วงหลังนี้ประธานาธิบดีแอร์โดอันหันมาตีสนิทกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียเพราะผลประโยชน์ตรงกันหลายกรณีในตะวันออกกลาง

                ตุรกีเป็นสมาชิกของ NATO หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งควรจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ แต่กลับไปอี๋อ๋อกับรัสเซียซึ่งนาโตถือว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง

                และต้องไม่ลืมว่านาโตใช้ฐานทัพอากาศอินเคอร์ลิกของตุรกีเป็นฐานที่มั่นในการสู้รบกับกลุ่ม IS  ด้วย

                จึงเป็นความสัมพันธ์สลับซับซ้อนที่ซ่อนเงื่อนไว้หลายชั้น

                ยิ่งเมื่อมีการฟาดฟันกันด้วยการขึ้นภาษีของสินค้าที่ซื้อขายระหว่างกันแล้ว ก็ยิ่งทำให้ความบาดหมางนั้นร้อนฉ่าขึ้น

                ตุรกีเจอทรัมป์เล่นงานอย่างนี้ก็ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะเป็นทั้งวิกฤติค่าเงินที่พ่วงมากับหนี้ต่างประเทศที่พุ่งพรวดพราดขึ้นอย่างฉับพลัน

                พอทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากตุรกีอย่างดุเดือด ตลาดหุ้นตุรกีก็ร่วงระนาวกว่า 17% ค่าเงินลีราตกฮวบไปถึง 40% ในบางช่วง

                เกิดความหวั่นหวาดขึ้นมาทันทีว่า ถ้าลูกหนี้อย่างตุรกีมีอันต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เจ้าหนี้ที่ส่วนใหญ่อยู่ในยูโรโซนจะพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยหรือเปล่า

                ตุรกีสร้างหนี้ไว้เยอะเพราะมีการยืมเงินกันมากในช่วงอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรง

                หากต้องจ่ายคืนเป็นดอลลาร์หรือยูโร ก็ต้องเจอกับภาระหนักอึ้ง

                ผู้นำตุรกีประกาศเสียงแข็งว่าจะไม่ยอมต่อแรงกดดันของทรัมป์ ขอให้ประชาชนเอาเงินดอลลาร์และทองออกมาขายเพื่อพยุงค่าเงินลีรา

                สุขภาพทางเศรษฐกิจของตุรกีอ่อนแออยู่แล้ว เพราะขาดดุลการค้าระหว่างประเทศสูง เงินเฟ้อกว่า 15% อีกทั้งหนี้ต่างประเทศก็กองพะเนินเทินทึก

                หลายประเทศในตะวันออกกลางที่ไม่ถูกกับสหรัฐฯ เสนอตัวช่วยตุรกี เช่นกาตาร์ประกาศจะลงทุนในตุรกี 15,000 ล้านเหรียญ

                บางข่าวบอกว่าวิกฤติครั้งนี้เกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างทรัมป์กับแอร์โดอัน ตอนที่เจอกันสองต่อสองเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระหว่างการประชุมสุดยอดนาโต

                ตุรกีขอให้อเมริกาช่วยพูดกับอิสราเอลให้ปล่อยตัวนักโทษคนหนึ่งออกมา สหรัฐฯ ก็ทำตามในวันรุ่งขึ้น

                ทรัมป์ขอให้ผู้นำตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงที่ติดคุกอยู่ในตุรกี ซึ่งก็ได้รับคำบอกกล่าวว่าจะพิจารณาให้  ต่อมาก็ย้ายบาทหลวงจากคุกไปกักบริเวณ ไม่ปล่อยตัวให้กลับบ้านอย่างที่อเมริกาขอ ทำให้ทรัมป์โกรธ และเปิดศึกการค้ากับแอร์โดอันทันที

                นักวิเคราะห์มองว่าไทยคงหนีไม่พ้นโดนหางเลขด้วย อย่างน้อยตลาดหุ้นก็ร่วงลงต้อนรับข่าวร้ายไปแล้ว

                กระทรวงพาณิชย์ไทยบอกว่าตุรกีเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 33 มูลค่าส่งออกครึ่งปีแรกอยู่ที่ 644.3 ล้านดอลลาร์ เท่ากับ 0.51% ของการส่งออกไทยทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัว 4.13%

                สินค้าไทยส่งออกไปตุรกีมีตั้งแต่รถยนต์และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติกและตู้เย็น เป็นต้น

                จะบอกว่ากรณีวิกฤติค่าเงินตุรกีและการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศนี้ไม่มีผลทางลบต่อไทยเห็นจะไม่ได้ เพราะอย่างน้อยก็มีผลทางอ้อม เพราะสิ่งที่เกิดทันทีคือความเชื่อมั่นต่อตลาดเกิดใหม่  (รวมถึงไทย) หดตัวลงทันที

                สัญญาณทางลบที่เกิดทันทีคือ นักลงทุนเทขายหุ้นและตราสารหนี้เพื่อลดความเสี่ยง

                หากสงครามการค้าผสมการเมืองและการทูตระหว่างสองประเทศนี้ยืดเยื้อออกไป โลกก็อยู่อย่างสงบไม่ได้!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"