อายัดทรัพย์อดีตปลัดพม.108ล.


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" แจงเขี่ย "ป้อม" พ้นที่ปรึกษา ปธ.ปราบโกง แค่แบ่งเบางาน ปัดเกี่ยวปมนาฬิกาหรู ดัชนีคอร์รัปชันไทยดีขึ้น อานิสงส์ปราบทุจริตเงินทอนวัด-งาบงบคนจน จ่ายเงินใต้โต๊ะลดลง ปปง.ยึดทรัพย์อดีตปลัดพม.-สาวคนสนิทและพวก 108 ล้านบาท

    เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีออกคําสั่ง คสช. ที่ 3/2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีการปรับรายชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานกรรมการฯ ว่า ไม่มีอะไร แค่แบ่งงาน พล.อ.ประวิตรออกมาบ้างเท่านั้นเอง ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น อย่าไปคิดให้เป็นอย่างอื่น 
    เมื่อถามว่า เหตุผลที่ปรับชื่อ พล.อ.ประวิตรออก ไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่องนาฬิกาหรูหรือการเมืองใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่เกี่ยว ผมไม่สนใจ เรื่องไหนใครตรวจสอบก็รับไปสิ เขาตรวจสอบว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ผมไปเกี่ยวอะไรเล่า ไม่เกี่ยว แล้วทำไมเธอไม่ถามล่ะ  คุณต่อตระกูล ทำไมยังอยู่ ผมเอาออกหรือเปล่า ก็ว่าโน่นว่านี่อยู่บ่อยๆ ก็ยังอยู่เหมือนเดิมในคณะ ผมไม่ได้ตั้งแบบนี้"
    เมื่อถามย้ำถึงเหตุผลของการปรับโครงสร้างใน คตช.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการปรับให้พล.อ.ฉัตรชัยมารับผิดชอบ เพราะคณะต่างๆ ต้องแบ่งงานของ พล.อ.ประวิตรออกมาบ้าง ซึ่งมีตั้ง 50 คณะ คตช.จะได้ประชุมบ่อยครั้งขึ้น ไม่เช่นนั้น พล.อ.ประวิตร จะติดประชุมเยอะหลายคณะ 
    อย่างไรก็ตาม พอผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่ปรับนั้นเพื่อภาพลักษณ์รัฐบาลด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถาม ก่อนเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันทีพร้อมส่ายหัวเล็กน้อย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายต่อตระกูล ยมนาค หนึ่งในคณะกรรมการ คตช. เคยออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการที่ล่าช้าในการตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร และเคยทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน คตช. โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว แสดงความกังวลต่อบทบาทของ พล.อ.ประวิตร ที่กำลังถูกตรวจสอบเรื่องที่มาของนาฬิกาหรู
    วันเดียวกัน นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ที่สำรวจเดือน มิ.ย.61 จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม รวม 2,400 ตัวอย่าง ทั้งประชาชน, ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐว่า ค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยอยู่ที่ 55 ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือน ธ.ค.60 ที่อยู่ระดับ 52 ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 54 เพิ่มขึ้นจาก 51 ในการสำรวจครั้งก่อน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทย อยู่ที่ 57 เพิ่มขึ้นจาก 53
    ขณะที่ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 48 แม้ว่าจะดีขึ้นจากครั้งก่อนที่อยู่ 42 แต่ยังต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าประชาชนยังคงมีความกังวลอยู่ แต่หวังว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลายลงในปีหน้า ส่วนดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 54 เพิ่มขึ้นจาก 53 สำหรับดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 55 เท่ากับการสำรวจครั้งก่อน และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 64 ดีขึ้น 4 ปีติดต่อกัน และยังเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ทำการสำรวจในปี 53 
    ”สาเหตุของการคอร์รัปชัน ส่วนใหญ่เกิดจากความล่าช้า/ความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินงานของราชการ กฎหมายเปิดช่องเอื้อต่อการทุจริต และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย โดยรูปแบบที่พบในการทุจริตส่วนใหญ่เป็นการให้สินบน การทุจริตเชิงนโยบาย และการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก” นางเสาวณีย์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าการทุจริตเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับตัวเองโดยตรง ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 99% ตอบไม่เห็นด้วย ขณะที่เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลทุจริตแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 99% ตอบไม่เห็นด้วย นอกจากนี้เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าการให้สินน้ำใจ (เงินพิเศษ) เล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย ผู้ตอบ 98% ตอบไม่เห็นด้วย    
    ส่วนความสามารถที่คนไทยจะทานทนต่อการทุจริต การสำรวจครั้งนี้ได้ 1.87 คะแนน จากเต็ม 10 หมายความว่าคนไทยเกลียดการทุจริต และแทบจะรับไม่ได้ ซึ่งคะแนนเข้าใกล้ 0 (เกลียดการทุจริต และ 10 คะแนน ทนต่อการทุจริตได้) จากครั้งก่อนที่ได้ 2.03 คะแนน และคนไทยยินดีมีส่วนร่วมป้องกันปัญหา และต่อต้านการทุจริตมากขึ้น
    ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์การจ่ายสินบนใต้โต๊ะในโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ที่มีการจ่ายในระดับ 25-35% ของวงเงินงบประมาณ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่เก็บได้ พบว่า ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ่ายสินบนใต้โต๊ะอยู่ที่ 20-25% ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาการทุจริตของประเทศไทย
    นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวมีความสอดคล้องกับมุมมองของ ACT โดยจะพบว่าสถิติการร้องเรียนของประชาชนต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เข้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่คดีเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันจะเฉลี่ยเข้ามาปีละประมาณ 2,000 คดี แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา สถิติเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 5,000 คดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัว และกล้าที่จะออกมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน 
    "ค่าดัชนีที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากภาพการปราบปรามทุจริตเงินทอนวัด กองทุนพัฒนาเสมาชีวิต โครงการเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เงินอาหารกลางวันเด็ก หลังจากนี้ หากมีการทุจริตเกิดขึ้นอีก แล้วรัฐบาลไม่เร่งแก้ไข อาจทำให้ภาพลักษณ์และดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยลดลงได้" นายมานะระบุ
    ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ 96/2561 ลงวันที่ 28 มิ.ย.2561 เรื่องอายัดทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราว กรณีทุจริตยักยอก ฉ้อโกง งบประมาณอุดหนุนเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งของกรมพัฒนาและสวัสดิการ ที่มีนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ และขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ พม. และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการ พม. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งสิ้น 41 รายการ พร้อมดอกผล รวมมูลค่า 88,542,058.74 บาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน
        สำหรับทรัพย์สินที่ถูกอายัด ประกอบด้วย บัญชีเงินฝากธนาคาร นายพุฒิพัฒน์ 1,322,179.69 บาท และบัญชีเงินฝากธนาคารในชื่อบุคคลอื่นอีก 8 บัญชี รวมทั้งสิ้น 1,112,809.52 บาท, กองทุนเปิด 4 รายการ รวม 693,529.88 บาท, ที่ดินในจ.พิษณุโลก, ปทุมธานี สงขลา และภูเก็ต รวม 6 รายการ, ห้องชุด ในชื่อ น.ส.วาสนา ตะเภาพงษ์ 5 รายการ มูลค่ากว่า 23.5 ล้านบาท, ห้องชุดในชื่อบุคคลอื่น 1 รายการ มูลค่า 370,000 บาท, รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ ในชื่อนายพุฒิพัฒน์ มูลค่า 4,190,000 บาท, รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์และพอร์ช รวม 5 คัน ในชื่อของ น.ส.วาสนา ตะเภาพงษ์ มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท และรถยนต์อีก 11 คัน ในชื่อบุคคลอื่น รวมทั้งสิ้น 36,858,000 บาท
       นอกจากนี้ คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ 95/2561 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2561 อายัดทรัพย์สินราย น.ส.วาสนา ตะเภาพงษ์ ได้แก่ บัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย สาขาบิ๊กซี รัชดาภิเษก 2 บัญชี ยอดเงิน 20,142,330.12 บาท โดยบัญชีแรก มูลค่า 12,042,330.12 บาท และบัญชีที่สอง จำนวน 8,100,000 บาท รวมอายัดทรัพย์สินบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ครั้ง 43 รายการ รวม 108,684,388.86 บาท
    ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกยึดและอายัดทรัพย์ตามคำสั่งนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวต้องการขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัด ให้ยื่นคำขอพร้อมหลักฐานที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด ภายใน 30 วัน ต่อเลขาธิการฯ ปปง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"