ปชป.ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ประกาศสำนักนายกฯ แต่งตั้ง ตร.ขัด รธน.หมกเม็ด เหมือนฟ้าผ่ากลางกบาล ตร. เป็นรอง ผบช.ปีเดียวก็อาวุโสเท่ากับคนที่ครองตำแหน่งเดียวกัน 7 ปี ลั่นปฏิรูป ตร.ไม่เสร็จอย่าหวังปฏิรูปด้านอื่น สตช.ยันทำตาม รธน. แต่ยังยึดหลักอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ 4 องค์กร ปชช.ยื่น "มีชัย" ให้ผู้ว่าฯ สั่งตำรวจในจังหวัดได้-อัยการคุมสอบสวนตั้งแต่เกิดเหตุ "คำนูณ" เผยนำเข้า ครม.อย่างช้าก.ย.นี้
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 16 สิงหาคม นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคปชป. เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ฉบับลงวันที่ 25 ก.ค.61 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 และมาตรา 260 หรือไม่
โดยนายวิทยากล่าวว่า รัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราดังกล่าวได้บัญญัติกระบวนการของการปฏิรูปตำรวจว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ถ้าไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเป็นการไปตามหลักอาวุโส ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดและประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อครบเวลา 1 ปี พบว่าการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ นอนฝันว่าตนเองจะได้เลื่อนขั้น แต่แล้วก็ฟ้าผ่าเมื่อรัฐบาลมีการออกประกาศดังกล่าว โดยวางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมการพิจารณาความอาวุโสไว้เพียงว่า หากใครดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ก็ถือว่ามีอาวุโสที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
“ประกาศสำนักนายกฯ ฉบับนี้เหมือนฟ้าผ่ากลางกบาลตำรวจ เป็นรองผู้บัญชาการปีเดียวก็อาวุโสเท่ากับคนที่ครองตำแหน่งเดียวกันมาแล้ว 7 ปี เห็นว่าเรื่องนี้มีการหมกเม็ดเข้า ครม. โดยที่นายกฯ อาจไม่รู้ แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินติงไป ท่านนายกฯ ก็จะได้ทราบว่าใครเป็นแอบหมกเม็ดเข้าไป วันนี้การปฏิรูปตำรวจเริ่มต้นช้ามา แทบไม่เห็นผลเลย หากรัฐบาลที่มีอำนาจเข้มแข็งอย่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สามารถทำได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนร้อยพ่อพันแม่จะทำได้อย่างไร คงหยุดการปฏิรูปตำรวจแน่ แล้วนี่ปฏิรูปมา 1 ปียังไม่เสร็จ ก็ไม่ต้องไปหวังการปฏิรูปด้านอื่นๆ ถือว่า 5 ปีที่อยู่มาเป็นการทำลายโอกาสของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นการลูบหน้าอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญและเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจด้วย” นายวิทยากล่าว
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. แถลงชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า การระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญเป็นการพูดให้เข้าใจผิด ยืนยันว่าการออกประกาศดังกล่าว ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และการออกประกาศ เป็นไปตามหลักอาวุโสที่รัฐธรรมนูญกำหนดทุกประการ และแตกต่างจากกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ผ่านมาหลายประเด็น ละเอียด และป้องกันการวิ่งเต้นโยกย้ายได้ดีขึ้น เปิดโอกาสให้ตำรวจร้องเรียนได้ ทั้งนี้ การพูดให้เสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังพิจารณาดำเนินคดีกับนายวิทยาแล้ว
ด้าน พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล กล่าวว่า การออกประกาศเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกร่างเสนอ ครม.และก่อน ครม.จะเห็นชอบประกาศนี้ ก็ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ยืนยันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กำหนดหลักอาวุโส และการแต่งตั้งตำรวจต้องใช้หลักพิจารณาตามอาวุโสร้อยละ 33 อย่างชัดเจน ในทุกระดับตำแหน่ง ถือว่ากำหนดชัดเจนกว่ากฎเกณฑ์แต่งตั้งที่ผ่านมา และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ทุกคนต้องอยู่ในหลักและกฎเกณฑ์นี้
"ภายในสัปดาห์นี้จะเสนอ ผบ.ตร.ออกประกาศสำดับอาวุโสในการแต่งตั้ง ส่วนการแต่งตั้งระดับชั้นนายพลตำแหน่งผู้บังคับการ (ผบก.) ถึงรอง ผบ.ตร.นั้นต้องรอให้กระบวนการการแต่งตั้งกลุ่มที่ปรึกษาพิเศษ ตร.ที่แต่งตั้งไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยเสียก่อน หากไม่ทันตามกรอบเวลาที่ต้องแต่งตั้งชั้นนายพลเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม ก็เตรียมขออนุมัติ ก.ตร.เพื่อขอขยายเวลาการแต่งตั้งไว้แล้ว โดยการแต่งตั้งระดับนายพลจะทำพร้อมกันคราวเดียว ตั้งแต่ ผบก.-รอง ผบ.ตร." พล.ต.ต.สรไกรกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับรัฐธรรมนูญ ม.260 สรุปว่า ให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
บ่ายวันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.)police watch, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) นำโดยนางสมศรี หาญอนันทสุข และนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ยื่นหนังสือถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ผ่านเจ้าหน้าที่สารบรรณ ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เพื่อปฏิรูปตำรวจให้สอดคล้องกับหลักสากลสร้างหลักประกันความยุติธรรมต่อประชาชน
โดยหนังสือระบุว่า ในมาตรา 151 ยังไม่ได้กำหนดให้มีการโอนตำรวจอีก 8 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวงกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ และมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ทั้งไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการแต่อย่างใด จึงขอให้บัญญัติเพิ่มเติมในมาตรา 6 วรรคท้าย ว่าให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการตามวรรคสามให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสามปี ส่วนการโอนงานจราจรควรกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาสามปี
การกำหนดให้มี “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” ควรกำหนดให้โอนสำนักงานจเรตำรวจไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแทน ส่วนการกำหนดให้ตำรวจเป็นราชการส่วนภูมิภาค ขอให้บัญญัติเพิ่มเติมว่า “กองบังคับการตำรวจจังหวัด และสถานีตำรวจทุกแห่งในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร ถือเป็นราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดได้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ในมาตรา 15 ควรแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุการกระทำผิดที่มีโทษจำคุกห้าปีขึ้นไป ให้แจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอทราบเพื่อร่วมตรวจที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานทันที หากพนักงานอัยการสั่งเป็นหนังสืออย่างใด ก็ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาและการเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตรวจสอบว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้หรือไม่ คดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าการสอบสวนไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ได้รับความยุติธรรม ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนและสั่งการเป็นหนังสือไว้ทุกคดี
ส่วนมาตรา 22 การกำหนดให้คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งให้ผู้บังคับการสอบสวนจังหวัดตรวจสอบนั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยังผิดหลักการบริหารที่อัยการจังหวัดผู้มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการหนึ่งในจังหวัด ต้องส่งสำนวนให้บุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการตรวจสอบ จึงควรแก้ไข “ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด” เช่นเดิม
นอกจากนี้ ให้เพิ่มเติมความหรือมาตราใหม่ ว่า "การสอบปากคำผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และบุคคลที่เป็นประจักษ์พยาน ต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดขึ้นเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้พนักงานอัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจจะทำได้อย่างแท้จริง ก็ให้บันทึกเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้ง"
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว คณะกรรมการฯ จะนำความเห็นต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขสองร่างกฎหมายดังกล่าวตามความเหมาะสม แบบรายมาตรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเอาทุกความเห็นมาแก้ไข เพราะบางเรื่องบางประเด็นมีความเห็นขัดกันเอง ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน แต่สุดท้ายหากคณะกรรมการฯ ตัดสินใจและแก้ไขไปในทิศทางใด ยืนยันว่าจะมีคำอธิบายและชี้แจงให้สังคมได้ด้วยเหตุผล คาดว่าเมื่อคณะกรรมการฯ แก้ไขกฎหมายเสร็จ น่าจะนำเสนอ ครม.ภายในเดือน ส.ค.นี้ แต่อย่างช้าสุดก็ภายในเดือน ก.ย.นี้ และหาก ครม.เห็นชอบจะเสนอ สนช.ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |