อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ ผู้อำนวยการและคอนดักเตอร์ การแสดงซิมโฟนีของTYO ในประเทศสเปน
นับเป็นประวัติศาสตร์ในวงการดนตรีคลาสสิกของไทยก็ว่าได้ เมื่อวงดุริยางค์เยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ" Thai Youth Orchestra :TYO " ได้ออกไปแสดงความสามารถนอกประเทศ ณ ประเทศสเปน หนึ่งในดินแดนยุโรป ต้นตำรับดนตรีคลาสสิก
ปรากฎการณ์ดนตรีครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองอาลิคันเต ( Alicante) จังหวัดหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ ของแคว้นวาเลนเซีย ประเทศสเปน โดยการเชื้อเชิญจากรัฐบาลสเปน ให้วงเยาวชนของไทยไปแสดง ในงานเทศกาลดนตรีสากลของเยาวชนออเคสตราปีที่ 6หรือ หรืองาน International Alicante of Youth Orchertra :FIJO ที่มีทั้งหมด6รอบ และในจำนวนนี้มี 3 รอบที่เป็นการแสดงเดี่ยวของวงTYO ส่วนอีก 3รอบที่เหลือเป็นการแสดงร่วมกันระหว่างวงดนตรีเยาวชนนานาชาติ ที่มาจากประเทศ เวเนซูเอลา โปแลนด์ สเปนและไทย
เด็กไทยช่วงบรรเลงกับวงนานาชา่ติ
อาจจะแปลกใจว่า ทำไมการแสดงถึงไม่มีขึ้นที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน สืบเนื่องมาจาก วงดนตรีคลาสสิกเยาวชนไทยได้ครองแชมป์โลกร่วมกับวงดนตรีคลาสสิกเยาวชนของอาลิคันเต ในเวทีการแข่งขัน เทศกาลดนตรีเยาวชนนานาชาติครั้งที่ 11 หรือ 11th Summacum laude International Youth Music Festival Vienna2017 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อปีที่แล้ว ทำให้การแสดงจึงมีขึ้นที่อาลิคันเต
ระยะหลังๆมานี้ รัฐบาลสเปน ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมาก โดยเฉพาะการแสดงดนตรีคลาสสิก ถึงกับจัดสรรงบประมาณก้อนโต ให้มีการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ตามเขตต่างๆของเมือง อย่างจังหวัดอาลิคันเต มีหอศิลปวัฒนธรรมตั้งอยู่ 3แห่งด้วยกันสองแห่งอยู่นอกตัวเมืองออกไป คือ ที่ Audiotorio Intrenational de Torrevieja และ Teulada Moraia Auditorium และอีกแห่งคือ Auditoriums of Alicante Music Hall ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอาลิคันเต หอศิลป์แต่ละแห่ง นอกจากโดดเด่นในแง่สถาปัตยกรรมแล้ว ยังกว้างขวางพร้อมสรรพไปด้วยเครื่องไม้ เครื่องมือ รองรับการแสดงทุกรูปแบบอีกด้วย
วันที่ 1สิงหาคม ป็นการแสดงเดี่ยวรอบแรกของTYO มีขึ้น ณ Audiotorio Intrenational de Torrevieja ที่ค่อนข้างไกลจากตัวเมืองอาลิคันเต ต้องนั่งรถไม่ต่ำกว่า2ชั่วโมง เยาวชนนักดนตรีกว่า 60ชีวิต แม้จะอิดโรยจากการเดินทางข้ามทวีป และต้องมาสถานที่จัดแสดงแต่เนิ่นๆเพื่อซ้อมก่อนแสดงจริง แต่ทุกคนมีความกระตือรือร้นพร้อมจะปลดปล่อยพลังทางดนตรีออกมา
การแสดงเดี่ยวของTYO
2ทุ่มเป๊ะ การแสดงก็เริ่ม ทั้งชุดมีทั้งหมด 4เพลง เปิดตัวด้วยเพลง โรมิโอแอนด์ จูเลียต ของไชคอฟสกี้ คีตกวีโลกชาวรัสเซีย เพลงนี้ถือว่า เป็นการโชว์ความสามารถของน้องๆวงTYO ว่าสามารถเล่นเพลงคลาสสิกระดับโลกได้อย่างดี ตามมาด้วยเพลง "ราตรีประดับดาว" พระราชนิพนธ์ในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งศ.ดร.ณรงค์วิทย์ ธรรมบุตร อาจารย์ภาควิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปินศิลปาธร ได้นำมาเรียบเรียงใหม่ให้กลายเป็นดนตรีคลาสสิก ที่มีความหวาน เร้าใจในสไตล์ซิมโฟนี พาผู้ฟังล่องลอยดื่มด่ำ ไปกับค่ำคืนอันงดงามของแสงดาว
การเดี่ยวระนาด เพลงพม่ารำขวาน ไฮไลท์โชว์วัฒนธรรมไทย
เหมือนเป็นการเปลี่ยนอารมณ์คนดู เพลงต่อมาคือ”พม่ารำขวาน “ นับว่าเป็นทีเด็ด เพราะมีการใช้ระนาดเอกเป็นดนตรีนำ ผสมผสานกับดนตรีคลาสสิก แจมด้วยเสียงฉิ่งฉับ ฉาบ ผลที่ได้คือความลงตัว เป็นความน่ารัก สนุกสนาน คึกคัก ที่เรียกเสียงปรบมือจากคนดูได้สนั่น พร้อมๆกับการตบมือเข้ากับจังหวะระนาด ถือว่าเป็นการปลุกผู้ชมจากความเนิบนุ่มในท่วงทำนองดนตรีคลาสสิก ให้มาสนุกสนานมีชีวิตชีวากับดนตรีไทย รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ จึงเต็มฮอลล์ เป็นไฮไลต์ที่นำเสนอความเป็นไทยได้อย่างน่าประทับใจ
ช่วงของการบรรเลงเพลง"เฉลิมชัยมหาราชาคีตกวี "พระราชนิพนธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 8
ครึ่งหลังเป็นการบรรเลงเพลง Fantasia on the themes of his late Majesta king Bhumibol Adulyadej หรือในชื่อ “เฉลิมชัยมหาราชาคีตกวี” เป็นการรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาบรรเลง จำนวน 4 ท่อน ประกอบด้วยเพลง สายฝน ( Falling Rain )แสงเดือน ( Magic Beams) ค่ำแล้ว( Lullaby )ชะตาชีวิต(H.M. Blues )ที่ผู้ฟังจะสัมผัสได้ถึงความชุ่มฉ่ำ เหมือนได้ยินเสียงฝนตกพรำๆ เพลงหวานน่ารักอย่างเพลง"ค่ำแล้ว "ที่ในหลวงร.9 ทรงแต่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมัยที่ยังทรงพระเยาว์ และลีลาที่แปลกใหม่ไม่คุ้นหูชาวสเปน อย่าง"เพลงชะตาชีวิต" ที่ขึ้นต้นด้วยเครื่องเป่า เสียงที่ได้ มีความเท่ แต่แฝงไว้ด้วยความหม่นหมองรันทดในที เป็นความไพเราะที่แม้แต่คนที่ไม่เคยฟังดนตรีคลาสสิกมาก่อนยังสัมผัสได้ถึงความอัศจรรย์
ว่ากันตามจริง คอนเสิร์ตรอบแรกคนอาจจะบางตาไปบ้าง แต่เหมือนจะเป็นผลจากการบอกเล่า "ปากต่อปาก "จากคนที่ได้มาดูรอบแรก ทำให้การแสดงรอบที่สองซึ่งเล่นที่เมืองเทอูลาดา มีคนดูหนาตาน่าจะแตะระดับพันคน บ่งบอกความสำเร็จ เพราะการมาดูการแสดงที่นี่ ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องขับรถมาเองเท่านั้นถึงจะดูได้ เนื่องจาก สถานที่แสดงค่อนช้างห่างไกลจากชุมชน สะท้อนให้เห็นความตั้งใจมากๆ ของชาวสเปน ที่ต้องการมาดูการแสดงของเยาวชนไทย
คนดูคอนเสิร์ตขอถ่ายรูปวง TYO หลังแสดงเสร็จ
ส่วนรอบที่สาม เล่นที่มิวสิคฮอล์กลางเมืองอาลิคันเต้ ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว เพราะช่วงก่อนเปิดการแสดง ก็เห็นชาวสเปนคลาคล่ำ ยืนตากแดด ออกันหน้าประตูมิวสิคฮอล์ แบบไม่ย่อท้อต่อแสงแดดเวลาหนึ่งทุ่มที่ร้อนพอๆกับช่วงกลางวัน เป็นความขยันขันแข็งของพระอาทิตย์ ที่มอบให้ชาวยุโรปในช่วงหน้าร้อน พวกเราคนไทยไปถึงทีหลัง ถึงกับอึ้งไปพักนึง เมื่อเห็นคนมารอดูเยอะมากๆ แบบนี้ การแสดงรอบนี้จบลงอย่างสวยงามเช่นเคย เสียงปรบมือลั่นฮอลล์ยาวนาน
Francisco Maestre คอนดักเตอร์หนุ่มชาวสเปนกำลังควบคุมการบรรเลงของการรวมวงเยาวชนานาชาติ
มาถึงการแสดงผสมผสานวงนานาชาติที่เหลืออีก 3รอบ ที่แสดงวนตามหอศิลป์ทั้งสามแห่ง นับว่าเป็นรอบแสดงที่เยาวขนทุกชาติล้วนระทึกใจก็ว่าได้ โดยเด็ก ๆ TYO ต้องร่วมบรรเลงเพลง "Mahler" ร่วมกับนักดนตรีชาติอื่นๆแบบหายใจรดต้นคอ เพราะมีการจัดที่นั่งแบบสลับไปมากับชาติต่างๆ เพลงนี้ว่ากันว่าเล่นยากมาก อีกทั้ง เด็กๆยังต้องทำงานภายใต้การกำกับ Francisco Maestre คอนดักเตอร์ชาวสเปนอีกด้วย นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ โดยมีสองรอบที่เด็กไทยได้รับเกียรติให้เป็นหัวหน้าเครื่องสายของวง
คนดูนอกมิวสิคฮอลล์ รอบกาลา ที่แน่นมาก (ขอบคุณภาพจาก http://vimeo.com และ AFLORDEPIEFOTO.COM)
ทุกรอบของการแสดงรวมวงนานาชาติเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ได้รับเสียงปรบมือกึกก้องจากผู้ชมที่ลุกขึ้นยืน ส่งเสียงบราโว่ ๆๆๆ ดังไปทั่วฮอลล์ ส่วนนักดนตรีเยาวชนทุกชาติ ก็พากันกระทืบเท้ารัวๆ อันเป็นประเพณีแสดงออกถึงการให้เกียรติคอนดักเตอร์ และเป็นการเรียกให้คอนดักเตอร์ออกมาหน้าเวที อีกครั้ง.... และอีกครั้ง.....
คนดูที่แน่นมาก
ขณะที่ Francisco คอนดักเตอร์หนุ่มชาวสเปนเองก็จะชี้นิ้วไปยังนักดนตรีคนโน้น คนนี้ ที่เห็นว่า เล่นได้ดีเยี่ยม ให้ลุกขึ้นยืน เพื่อรับเสียงชื่นชมปรบมือจากผู้ชม ซึ่งทุกรอบจะมีเด็กไทยหลายคนถูกชี้ ให้ลุกขึ้นยืนเพื่อรับเกียรตินี้ด้วยเช่นกัน แต่เด็กไทยอาจจะพิเศษหน่อย ตรงที่คอนดักเตอร์หนุ่มหล่อชาวสเปนผู้นี้ นอกจากจะชมเชยในฝีมือแล้ว ยังยกมือไหว้ขอบคุณอีกด้วย ในลีลาที่อ่อนช้อย ไม่แข็งทื่อ ได้ใจทั้งคนไทยและคนสเปนไปอย่างท่วมท้น
ในการแสดงรอบกาลา ที่ถือว่าเป็นรอบสุดท้าย ปิดเทศกาล มีขึ้น ณ มิวสิคฮอลล์กลางเมืองอาลิกันเต้ ตัวฮอลล์จุคนได้ประมาณพันกว่า แต่ในวันนั้น ผู้ชมแน่นขนัด ฮอลล์ดูเล็กลงไปถนัดตา คนมาดูแต่งกายในชุดดูคอนเสิร์ตเต็มยศ ทุกเก้าอี้เต็มหมด ทั้งชั้นล่าง ชั้นบน และชั้นลอย บางคนที่มาช้า ถึงกับต้องผิดหวัง เพราะหาที่นั่งไม่ได้
พี่เป้ ขึ้นเวที ร่วมกับคอนดักเตอร์ชาติอื่นๆ เพื่อรับดอกไม้ พร้อมเสียงปรบมือจากคนดู (ขอบคุณภาพจาก http://vimeo.com และ AFLORDEPIEFOTO.COM )
เนื้อหาการแสดงยังคงแน่นเหมือนเดิม รอบนี้ เด็กไทย"น้องซัน"โชติ บัวสุวรรณ ได้รับเกียรติให้เป็นหัวหน้าวงและเครื่องสาย จากรอบแรกของการรวมวงนานาชาติ ที่"น้องซี" สาวน้อยไวโอลินมือหนึ่ง "สุวิลาศ สว่างทวีวงศ์" ได้รับเกียรติให้เป็นหัวหน้าวงและเครื่องสาย ในการแสดงรวมวงนานาชาติรอบแรก เท่านั้นไม่พอ ในรอบกาลาฯ ทางสเปนยังแสดงออกถึงการยกย่องให้เกียรติกับวงTYO อย่างมาก "พี่เป้"อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ ผู้อำนวยการวงTYO และคอนดักเตอร์ของวง ถูกเชิญให้ขึ้นไปบนเวที เพื่อรับเสียงปรบมือจากผู้ชม พร้อมกับคอนดักเตอร์อีก 2ชาติ แต่พูดแบบไม่ลำเอียง คนที่อยู่ในฮอลล์จะสัมผัสได้เลยว่าสเปน ให้เกียรติและให้ความสำคัญกับไทยค่อนข้างมากอย่างเห็นได้ชัด
Francisco Maestre คอนดักเตอร์วงเยาวชนอาลิคันเต้ ผู้อำนวยการเพลง พูดถึงการทำงานร่วมกับวงดนตรีเยาวชน TYO ว่า ประทับใจในความสามารถของเด็กไทยอย่างมาก ตั้งแต่ครั้งที่ไปแข่งขันที่กรุงเวียนนาเมื่อปีที่แล้ว จุดเด่นของเด็กไทยก็คือ ความอดทนและความมีวินัย ต้องยกย่องให้กับการฝึกสอนที่ดีและข้อประทับใจเหล่านี้ เห็นได้ทั้งจากการซ้อม และการแสดงจริง จึงขอชื่นชมเด็กไทย และอีก 2ปีข้างหน้าอยากจะเชิญTYO มาเล่นที่สเปนอีกครั้ง ในเทศกาลดนตรีนานาชาติ FIJO 2020
.Francisco Maestre มอบช่อดอกไม้ให้"น้องซี" ที่ได้รับเกียรติให้เป็นหัวหน้าวงในการแสดง รวมวงนานาชาติรอบแรก พร้อมกับไหว้ขอบคุณวงซิมโฟนีไทย อ่อนช้อยมากได้ใจคนไทยและชาวสเปน (ขอบคุณภาพจาก http://vimeo.com และ AFLORDEPIEFOTO.COM )
ส่วน"พี่เป้" ของน้องๆ TYO ที่หน้าตาเบิกบาน เผยความรู้สึกปลื้มปริ่มว่า เราได้มีโอกาสพาเยาวชนไทยมาแสดงที่สเปน ซึ่งมีคนดูหนาแน่นมาก ได้มีโอกาสแสดงความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย ปฎิกริยาของคนดู ทำให้เราสัมผัสได้ว่าชาวสเปนอเมซซิ่ง วงออเคสตราของไทยมาก ว่าสามารถเล่นได้ในระดับดี ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดหวัง ว่าจะให้สิ่งที่ดีที่สุดในการแสดง เสียงปรบมือที่เขาให้เราเป็นความจริงใจ แม้เบื้องต้นเขาจะไม่รู้จักคนไทยหรือวัฒนธรรมไทยเท่าไหร่ แต่ก็คงคาดหวังว่าคอนเสิร์ตของเราจะดี แต่ไม่คิดว่าจะดีได้ขนาดนี้ แม้การแสดงจะผ่านไปแล้ว และแม้ว่าเขาจะจำเพลงที่เราเล่นไม่ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าการสดงของเราจะเป็นความทรงจำที่อยู่กับเขาไปตลอด
" เด็กๆกว่า 60 ชีวิตที่มาในครั้งนี้ ถือว่ามาในฐานะตัวแทนคนไทย เอาธงชาติไทยติดหน้าอก เอาบทเพลงไทยๆ วัฒนธรรมไทย มาเผยแพร่ผ่านดนตรีคลาสสิค เป็นการแสดงความเป็นไทย ผ่านความสามารถ ทำให้ชาวสเปนเข้าถึงวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะเพลง พม่ารำขวาน มีระนาดเอกเป็นตัวนำ สร้างความประทับใจให้คนดูอย่างมาก ส่วนคอนเสิร์ตที่แสดงร่วมกับวงเยาวชนนานาชาติ ซึ่งน้องๆจากTYO ก็ได้รับให้เป็นหัวหน้าวงและเครื่องสาย เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอย่างที่สุดด้วยเช่นกัน และเยาวชนไทยจะมาเฉิดฉายบนเวทีนี้ไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผมขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ "เป้กล่าว
ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล รองประธานมูลนิธิส่งเสริมดนตรีสากลเยาวชน หัวคณะพานักดนตรีเยาวชนวงTYOมาแสดงที่สเปน กล่าวว่า การที่เด็กๆมาแสดงที่ประเทศสเปน ถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักดนตรีเยาวชนไทย เพราะโอกาสที่เราหรือชาติเอเชียอื่นๆ จะมาแสดงดนตรีคลาสสิกที่ยุโรปที่ถือว่าเป็นต้นตำรับเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ซึ่งจริงๆแล้วการที่เรามาที่นี่ ไม่ได้หวังแสดงความสามารถที่เป็นเลิศของเรา แต่แสดงให้ชาวยุโรปเห็นว่า คนของเรามีความสนใจทางด้านดนตรีคลาสสิกมาก
"การได้มาที่สเปน จะทำให้เด็กของเรา เกิดความมั่นใจ ว่าไม่ใช่ไม่เก่งสู้คนอื่นไม่ได้ และการเล่นครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเด็กของเราโดดเด่นหลายคน สู้กับยุโรปได้ เด็กพวกนี้จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง กลับไปเขาจะเปลี่ยนเลย มองโลกดนตรีคลาสสิกอีกแบบ งานของเขาจะพัฒนาขึ้น และจากงานนี้จะเป็นประตู ทำให้วงดนตรีคลาสสิกของเราออกไปสู่ต่างประเทศมากๆยิ่งขึ้นอีก"
ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ขึ้นมอบช่อดอกไม้กับ Francisco Maestre คอนดักเตอร์ชาวสเปน (ขอบคุณภาพจาก http://vimeo.com ภายใต้การผลิตของ AFLORDEPIEFOTO.COM )
เทศกาลดนตรีเยาวชนสเปนหรือ JIFO ครั้งที่ 6 จบลงอย่างสวยงาม เด็กๆพากันถ่ายรูปกับเพื่อนๆทั้งขอวงตัวเองและเพื่อนนักดนตรีชาติอื่นๆ เป็นความอบอวลของรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ แฝงไว้ด้วยความภาคภูมิใจในความสำเร็จของการแสดง สุดท้ายคือการร่ำลา อวยพรซึ่งกันและกัน
บทสรุปที่ได้ ไม่อยากใช้คำว่า "คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก" เพราะเหมือนคนไทยมีปม แต่อยากจะบอกว่าประสบการณ์ที่สเปนครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เด็กๆ จะจดจำไปตลอดชีวิต เป็นความภาคภูมิใจ ที่พวกเขาไม่มีวันลืม และจะเป็นตัวจุดพลังให้พวกเขาก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เพราะพวกเขาได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นกลุ่มเยาวชนคนไทยตัวเล็กๆที่ "ได้ทำ" ในสิ่งที่"ยังไม่เคยมีคนไทยทำมาก่อน" .
นัดดนตรีไทยและเพื่อนจากชาติอื่นๆ แสดงท่าเกรียน หลังการแสงรอบกาล่าเสร็จสิ้น (ขอบคุณภาพจาก เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์)
เด็กไทยอิดโรยเต็มที่ เบื้องหลังเวทีแสดง บันทีกภาพที่ได้อารมณ์นี้โดย http://vimeo.com ภายใต้การผลิตของ AFLORDEPIEFOTO.COM
ปิดฉาก FIJO ครั้งที่ 6 อย่างสวยงาม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |