16 ส.ค.61 - ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการสร้างเขื่อนท่าแซะกว่า 150 คน นำโดย นางวัชรี จันทร์ช่วง และนายวิโรจน์ ชูกลาง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ได้เดินทางมายื่นคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ หลังจากเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาได้เดินทางมายื่นหนังสือดังกล่าวแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่พบผู้ว่าฯเนื่องจากติดราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และไม่ยอมยื่นหนังสือให้กับผู้แทนหรือหน่วยงานอื่นที่มารับแทนแต่อย่างใด
แกนนำอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า หยุดเขื่อนท่าแซะหยุดอ้างการพัฒนาของนักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ ที่ไม่เห็นหัวชาวบ้านผู้เดือดร้อนละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และละเมิด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.51 ที่ให้ชะลอโครงการดังกล่าว แต่หอการค้า สภาอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมเอกชนสามสถาบัน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะผลักดันโครงการเขื่อนท่าแซะขนาดใหญ่มูลค่า 3,800 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมกว่าหมื่นไร่ ภายใต้การดำเนินการโดยกรมชลประทาน โดยจะยื่นเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 20- 21 ส.ค.61 ที่จังหวัดชุมพร
พวกเรากลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ขอให้หยุดผลักดันการสร้างเขื่อนท่าแซะ หยุดใช้ข้ออ้างบังหน้าเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมเพื่อปิดบังเหตุผลที่แท้จริงของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจและนักสร้างเขื่อน ที่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมละการตัดสินใจบนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงทางวิชาการ ขอให้หยุดข่มขู่ คุกคาม ชาวบ้านและที่สำคัญขอให้หยุดละเมิดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 ม.ค.51 ที่ได้กำหนดไว้ระหว่างการทบทวนรายงานการศึกษาว่าห้ามมิให้กรมชลประทานดำเนินการใดๆ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของอำนาจรัฐและอำนาจทุน รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นที่ผลักดันโครงการเขื่อนท่าแซะมาตลอด และที่สำคัญเขื่อนนี้จะส่งผลกระทบหลายด้านต่อทรัพยากรและชาวบ้านเป็นจำนวนมาก คือ 1. ชาวบ้านกว่า 500 ครอบครัวจะถูกอพยพย้ายถิ่นฐานของตนเองจากการสร้างเขื่อนท่าแซะ 2. สูญเสียพื้นที่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้านทิศเหนือ จำนวน 3,570 ไร่ และน้ำจะท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมากกว่า 5,000 ไร่
3.โครงการสร้างเขื่อนท่าแซะ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ โดยแนวสันเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก (แนวแผ่นดินไหว) ที่ยังมีพลัง รอยเลื่อนระนอง จะกลายเป็นเขื่อนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดของประเทศไทย 4. กระบวนการมีส่วนร่วม การตัดสินใจของประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีเลย อีกทั้งยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ถูกข่มขู่ คุกคาม อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการเขื่อนท่าแซะ ขอยืนยันที่จะคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะอย่างถึงที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ หยุดการใช้คนจนเป็นเหยื่อการพัฒนาจากการสร้างเขื่อนและให้พิจารณาทางเลือกการจัดการน้ำที่เหมาะสมด้วยความสมานฉันฑ์
นางสาวบุญเลือง สุขัง อายุ 63 ปี หรือ “ยายนอบ” หนึ่งในชาวบ้านบอกว่าปัจจุบันตนไม่มีครอบครัวอยู่ตัวคนเดียวได้มาร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนเข้าไปอ้างใช้กฎหมายบังคับข่มขู่ยึดที่ดินที่อยู่อาศัยของตนซึ่งมีเอกสาร นส.3ก. จำนวน 10 ไร่ เป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ อยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลหินแก้ว อ.ท่าแซะ ได้ใช้อำนาจข่มขู่โดยที่ตนไม่ยินยอมเข้าไปสำรวจปักหลักยึดที่ดินของตนไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้ามาก่อน อ้างว่าที่ดินตนถูกเวนคืนจะนำไปทำประตูระบายน้ำ จากนั้นได้มีการไปปล่อยข่าวว่าตนรับเงินค่าเวนคืนแล้ว 10 ล้านบาท จนเกิดความไม่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพและโจรผู้ร้าย ทุกวันนี้ต้องหนีไปขออาศัยหลับนอนอยู่บ้านเพื่อนบ้านและญาติๆ ไม่กล้าอยู่ในที่ดินผืนดังกล่าวเพราะกลัวถูกปล้นฆ่าเอาทรัพย์สินตามที่มีการปล่อยข่าว
ต่อมานายวิบูลย์ รัตยาภรณ์วงศ์ ผวจ.ชุมพร พล.ต.ต.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ ผบก.ภ.จ.ชุมพร ได้ลงมาพบกับกลุ่มผู้เดือดร้อนและรับหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนจากแกนนำ ซึ่งจังหวะนั้นนางสาวบุญเลือง สุขัง หรือ “ยายนอบ” เดินเข้าไปก้มกราบเท้าของนายวิบูลย์และขอให้ช่วยเหลือตนเองด้วยจากกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าทีรัฐเข้าไปยึดเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นแผ่นดินผืนสุดท้ายที่ตนอยู่อาศัยทำกิน จนเจ้าหน้าที่และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรีบจับตัวยายนอบพยุงขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับบอกว่าอย่าทำแบบนี้ไม่ดีเลย และได้มอบอบหมายให้ นายดุสิต ศักรกานต์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.ชุมพร ดำเนินการตรวจสอบให้ความเป็นธรรมแก่ยายนอบต่อไป
นายวิบูลย์ รัตยาภรณ์วงศ์ ผวจ.ชุมพร กล่าวกับแกนนำและชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบว่า ตนได้ถอนเรื่องกรณีให้ทบทวนการสร้างเขื่อนท่าแซะออกจากที่ประชุม ครม.สัญจร ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) แล้ว เนื่องจากเห็นว่ายังเกิดปัญหาความขัดแย้งอยู่ เพราะการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ชุมพร จะมีการเสนอและพิจารณาโครงการงบประมาณพัฒนาจังหวัดและภาคใต้หลายเรื่องมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมและโครงการอื่นๆ จึงไม่นำเรื่องสร้างเขื่อนท่าแซะเข้าที่ประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้อย่างแน่นอน และเสนอให้ นางวัชรี จันทร์ช่วง แกนนำเข้าร่วมรับฟังการประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้ด้วยเพื่อยืนยันความจริงดังกล่าว
ทั้งนี้สร้างความพอใจของชาวบ้านทุกคนและแกนนำได้นัดหมายให้ชาวบ้านทุกไปให้กำลังใจและต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค.ที่ จ.ชุมพรนี้ด้วย หากรัฐมนตรีคนใดหยิบยกเรื่องสร้างเขื่อนขึ้นมาพิจารณาก็จะรวมตัวประท้วง ณ ที่ประชุม ครม.สัญจรทันที ก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |