'5เขื่อนใหญ่'น้ำเกินเกณฑ์!


เพิ่มเพื่อน    

    "สนทช." เฝ้าระวังพิเศษ 3 เขื่อนใหญ่  "แก่งกระจาน-น้ำอูน-วชิราลงกรณ" หลังระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม จับตา "เขื่อนรัชชประภา-เขื่อนขุนด่านปราการชล" น้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สั่งเร่งพร่องน้ำทันที "บิ๊กฉัตร" การันตีอ่างเก็บน้ำทั่ว ปท.แข็งแรง "กอปภ.ก." กำชับ 57 จว.พร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน  น้ำป่าไหลหลาก
    เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)  ได้สรุปสถานการณ์น้ำของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติว่า จากพายุโซนร้อนเบบินคา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยตั้งแต่วันที่ 15-19 ส.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มได้โดยเฉพาะ 28 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง ภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี,  ภาคกลาง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา
    นายสมเกียรติกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ลำน้ำ ปัจจุบันมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสงคราม จังหวัดบึงกาฬ แม่น้ำชี จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำอูน และลำน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร แม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี คลองอิปัน แม่น้ำตาปี ท้ายเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนแม่น้ำโขง บริเวณที่ติดกับประเทศไทยมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง แต่ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำที่ไหลจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น และจากการคาดการณ์ฝนในช่วงวันที่ 15-16 ส.ค. มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศ สปป.ลาว และบริเวณจังหวัดชายแดนของประเทศไทย ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำสงครามลงแม่น้ำโขง
    สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 3 แห่ง ดังนี้ 1.เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ปริมาณน้ำ 726 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102% มีน้ำไหลเข้าวันละ 14.80 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบายออกวันละ 13.80 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำสูง 36 ซม. อาจมีฝนตกมากขึ้น ส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป ปัจจุบันอำเภอเมืองเพชรบุรีมีระดับน้ำลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 1.05 ม.
    2.เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร มีน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. หรือ 103% มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งบริเวณบ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม บ้านพอกใหญ่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และ 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำ 7,669 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 100.01 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 71.93) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 42.05 ล้าน ลบ.ม.
เร่งพร่องน้ำ 5 เขื่อนใหญ่
    เลขาฯ สทนช.กล่าวว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมี 2 แห่ง คือ เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณน้ำ 4,889 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 31.75 มีน้ำไหลออกวันละ 11.24 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนทยอยระบายน้ำเพิ่มขึ้นจนถึงวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีปริมาณน้ำ 183 ล้าน ลบ.ม. หรือ 82% น้ำไหลเข้าวันละ 12.05 น้ำไหลออกวันละ 3.11 ล้าน ลบ.ม.
    "ขอเตือนอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า 80% เร่งพร่องน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณ, เขื่อนน้ำอูน,  เขื่อนขุนด่านปราการชล, เขื่อนคิรีธาร และเขื่อนแก่งกระจาน อาจจะส่งผลกระทบให้น้ำไหลข้ามทางระบายน้ำล้นของเขื่อน และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ให้เฝ้าระวัง และให้ 9 หน่วยงานติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง" เลขาฯ สทนช.กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.นครนายก เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง และตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล พร้อมพบปะประชาชน 
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งในจังหวัดจันทบุรี ตามที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วคืออ่างเก็บน้ำคลองประแกด สามารถรองรับน้ำได้ความจุในระดับกักเก็บ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างไปแล้ว 23% และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ มีความก้าวหน้า 23% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ 
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า อีก 1 อ่าง คืออ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี
    "หากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้ลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และผลักดันน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ หรือมหานครแห่งผลไม้ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ สามารถผันน้ำส่วนเกินที่ส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่อีอีซีได้อีกถึงปีละประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
    รองนายกฯ ยืนยันว่า อ่างเก็บน้ำในประเทศไทยทั้งหมดมีความแข็งแรง ด้วยระบบการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานทางด้านวิศวกรรมของกรมชลประทาน ที่ทำงานมาเป็น 100 ปี ด้านหลักวิชาการ การตรวจสอบสอบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้
      ถามถึงสถานการณ์น้ำจากเทือกเขาใหญ่ที่ไหลลงมาหน้าเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก รองนายกฯ กล่าวว่า หากปล่อยไปจะเป็นปัญหา ฉะนั้นต้องจัดจราจรการระบายน้ำอย่างละเอียด เร่งระบายน้ำจากเขื่อนขุนด่านฯ ให้มากขึ้น เพื่อรองรับฝนในช่วงเดือนต่อไป หากฝนมาน้ำจะได้ไม่ล้นเขื่อน 
57 จว.ระวังน้ำท่วม-ดินถล่ม
    "วันนี้เราต้องบริหารจัดการแบบนี้ในทุกๆ เขื่อน ด้วยการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แต่ถ้าระบายน้ำมากไปก็จะเกิดปัญหาภัยแล้ง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำต้องดูรายละเอียดของเขื่อนด้วย โดยต้องเชิญท้องถิ่นทั้งหมดมาร่วมบริหาร ซึ่งเราต้องคิดล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ปีนี้ประเมินสถานการณ์น้ำตอนกลางของประเทศ แถว จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ อาจจะประสบปัญหาภัยแล้ง จึงต้องเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ แต่การพยากรณ์ที่แม่นยำต้องรอให้ถึงระยะใกล้ แต่ขณะนี้ได้นำเอาข้อมูลระยะ 3-6 เดือนมาวางไว้ก่อน แล้วค่อยปรับแผนตามสถานการณ์" รองนายกฯ กล่าว
    วันเดียวกัน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า กอปภ.ก.ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ดินเริ่มชุ่มน้ำ อาจก่อให้เกิดดินโคลนถล่ม กอปรกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าพายุโซนร้อนเบบินคา บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาว ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 15-18 ส.ค.2561 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ คลื่นลมทะเลสูง 2-4 เมตร 
    นายชยพลกล่าวว่า กอปภ.ก.ได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ระนอง และพังงา พื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่ม 54 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 
    "กำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง ตลอดจนหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที" ผอ.กอปภ.ก.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"