แฟชั่นโชว์ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยคณะมัณฑนศิลป์
การจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกำลังจะเกิดขึ้น โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) ร่วมกับสำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ (Quacquarelli Symonds หรือ QS) แถลงถึงความพร้อมของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบ QS Totally Arts Summit (Art and Design) 2018 ภายใต้แนวคิดหลัก การเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบในศตวรรษที่ 21 ฟูมฟักแรงบันดาลใจอย่างมีจุดหมาย
ปรีชา เถาทอง กับผลงานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติที่ร่วมแสดงนิทรรศการ
งานประชุมสุดยอดครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายทางวิชาการผ่านนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบ รวมถึงศิลปินระดับโลกกว่า 100 คน พร้อมแสดงนิทรรศการผลงานสะสมทรงคุณค่าของ มศก. และผลงานรางวัลระดับชาติจากนักออกแบบไทยสู่ระดับสากล ระหว่างวันที่ 24-26 ต.ค.2561 ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนศิลปะและการออกแบบ ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านวางรากฐานสู่ระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 75 จนมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและเอเชีย ซึ่ง มศก.มีศักยภาพและความพร้อมพัฒนาสู่ระดับโลก ซึ่งในปี 2559 QS ประกาศให้ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะและออกแบบอันดับหนึ่งของประเทศไทย การได้รับเลือกเป็นมหาวิทยาลัยแรกในเอเชียจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านศิลปะฯ เป็นโอกาสที่ดียกระดับการบริหารการศึกษาด้านศิลปะและออกแบบ และขยายการรับรู้การนำศิลปะและการออกแบบรับใช้ไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างการเติบโตของประเทศ นอกจากนี้ มีการแชร์ประสบการณ์ของอาจารย์ด้านศิลปะสถาบันการศึกษาชั้นนำอิตาลี อังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ศิลปะสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง
ตื่นตาตื่นใจกับแฟชั่นเครื่องประดับ นักศึกษา มศก. ออกแบบ
แมนดี มอค ซีอีโอหญิงจาก QS Asia กล่าวว่า ความร่วมมือของ QS และ มศก. เกิดขึ้นจากศักยภาพของมหาวิทยาลัยในแง่การเรียนการสอนศิลปะและออกแบบอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ งานครั้งนี้เหมือนมีไฟสปอตไลท์ฉายลงมาที่ศิลปากร หลายประเทศจะเห็นถึงงานศิลปะที่พัฒนาและศิลปินที่สร้างชื่อเสียงระดับโลก ผ่านผลงานวิชาการมากมายและนิทรรศการผลงานรางวัลในการประชุมนี้
อาจารย์ ดร.สุภาพ เกิดแสง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา มศก. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในโลก แต่มองศิลปะและการออกแบบเป็นจุดแข็งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หากได้รับการเผยแพร่ส่งเสริมศิลปินและนักออกแบบสู่ภูมิภาค ไทยจะแข่งขันในระดับโลกได้ ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการประชุมเป็นผุ้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ด้านศิลปะ ผู้มีบทบาทชี้นำศิลปะและการออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะคีย์โน็ตสำคัญเป็นการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ให้ตอบโจทย์สังคม
ศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง ธนาทร เจียรกุล และอริญชย์ รุ่งแจ้ง
ศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มศก. และศิลปินชั้นเยี่ยมของไทย กล่าวว่า ตลอด 75 ปี มศก. วางเมล็ดพันธุ์ที่งดงามและมีจิตวิญญาณให้แก่นักศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปประกอบวิชาชีพหรือเป็นศิลปิน จึงเป็นส่วนหนึ่งพัฒนาวงการศิลปกรรมร่วมสมัย ในเอเชียประเทศไทยจัดงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติมายาวนาน จนปัจจุบันเป็นครั้งที่ 64 แล้ว มีศิลปินศิษย์เก่าระดับแนวหน้าออกไปสร้างชื่อระดับนานาชาติ เช่น มณเฑียร บุญมา ชะลุด นิ่มเสมอ สุรสีห์ กุศลวงศ์ สาครินทร์ เครืออ่อน และอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งแรกที่ยังพัฒนาด้านศิลปะตลอดเวลาและเติบโตในเวทีนานาชาติ มีนิทรรศการศิลปกรรมระดับนานาชาติ จากการจัดนิทรรศการภาพพิมพ์ระดับนานาชาติ มีศิลปินต่างประเทศสนใจส่งงานกว่า 3 พันชิ้น
การแสดงดนตรีแจ๊สโดยวง Sunny Trio & Natt Bandita
ตลอดสามวันของการจัดประชุม จะมีไฮไลท์การปาฐกถาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญศิลปะ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานศิลปะ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญจะสร้างแรงบันดาลใจว่า ประเทศไทยมีความสมบูรณ์ทั้งมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่ ศิลปะเชิงช่างที่ประณีตงดงาม อีกด้านมีการพัฒนาศิลปกรรมร่วมสมัย คนรุ่นใหม่ นักออกแบบ นักศึกษา จะนำต้นทุนเหล่านี้มาใช้อย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ ในการทำงานศิลปะของตนผสมผสานความละเอียดอ่อนเชิงช่างกับแนวคิดร่วมสมัยที่เป็นผลจากการเป็นคนไทยและการเรียนการสอนศิลปะที่ศิลปากร ภาคภูมิใจที่ผลงานเป็นที่ยอมรับระดับโลก อยากเชิญชวนให้มาร่วมงานและชมนิทรรศการในการประชุมครั้งใหญ่นี้