ครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ บรรเลงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ


เพิ่มเพื่อน    

       

     

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” ผู้มีพระอัจฉริยภาพในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านดนตรีไทย ทรงคุ้นเคยมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และทรงมีดนตรีในหัวใจมาโดยตลอด มีพระปรีชาสามารถด้านการขับร้อง บรรเลงดนตรี และการประพันธ์เนื้อร้องที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั่วไป อีกทั้งทรงให้ความสนพระทัยงานด้านวัฒนธรรมแทบทุกด้าน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงได้เชิญชวนประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ ชื่นชมพระอัจฉริยภาพ “วิศิษฏศิลปิน” ใน “การแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 63 พรรษา ในวันที่ 16 ส.ค.นี้

 

      ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า การแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย และ “วิศิษฏศิลปิน” เนื่องในโอกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นศิลปินผู้มีพระอัจฉริยภาพหลายสาขา เป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศิลปะ โดยเฉพาะด้านดนตรีไทย อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ วธ.ได้เตรียมการแสดงพิเศษมามากมายทั้งดนตรีไทยและนาฏศิลป์ เพื่อถ่ายทอดให้คนในรุ่นปัจจุบันได้ชื่นชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย และนับเป็นมหากรุณาธิคุณที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งร่วมการแสดงสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ร่วมกับลูกศิษย์ของพระองค์ทุกท่าน

      ขณะที่หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัด วธ. กล่าวว่า ตลอดช่วงชีวิตตนให้ความสนใจกับดนตรีไทยมาตลอด ได้รับฟังดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก ในวังบ้านปลายเนิน เมื่อครั้งสมเด็จปู่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จนสิ้นพระชนม์ ในขณะนั้นตนอายุได้เพียง 2 ขวบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรง ให้มีการบรรเลงดนตรีไทยทุกๆ 7 วัน ด้วยความซนก็วิ่งเล่นอยู่รอบๆ วงดนตรีที่มาบรรเลง และขอเข้าไปนั่งกลางวงเพื่อฟังดนตรีอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้จักกับนักดนตรีหลายท่าน จนกระทั่งเติบโตก็อยู่กับดนตรีไทย ทำงานกับ วธ.ได้ส่งเสริมเรื่องดนตรีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ให้คงอยู่ ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ก็ทรงมีความสนพระทัยดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ มีอยู่วันหนึ่ง พระองค์ท่านเสด็จฯ มาที่วังบ้านปลายเนิน ตอนนั้น ครูมนตรี ตราโมท เป็นครูสอนดนตรีอยู่ มีผู้สนใจมาเรียนดนตรีจำนวนมาก รวมถึงตนด้วย พระองค์ท่านเสด็จฯ มาและรับสั่งบางอย่างที่ทำให้พวกเราทุกคนตกใจ

 

    

     “พระองค์รับสั่งกับครูมนตรีว่า อยากจะเรียนดนตรีไทย จะสอนไหม อยากเล่นระนาดมานานแล้ว แต่ไม่มีใครยอมสอน พวกผมตกใจมากที่พระองค์รับสั่งเช่นนั้น เพราะว่าสมัยนั้นในขนบธรรมเนียมประเพณีของเราคือห้ามสตรีเล่นดนตรีประเภทเครื่องตี จะเล่นได้เฉพาะเครื่องสาย แต่ครูมนตรีตอบตกลงที่จะสอนพระองค์ และก็เสด็จฯ มาทรงเรียนดนตรีทุกเช้าวันอาทิตย์ หากไม่มีพระราชกรณียกิจ พวกผมที่อยู่ที่วังก็ได้ถวายงานด้านดนตรีให้พระองค์ด้วย จนถึงวันนี้คนที่เรียนดนตรีที่บ้านปลายเนินก็ถือเป็นลูกหลานของพระองค์” หม่อมราชวงศ์จักรรถกล่าว

      อดีตปลัด วธ.ยังกล่าวอีกว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาผู้สนใจดนตรีไทย ทรงให้ผู้สนใจจากสถาบันอื่นๆ มีโอกาสได้ถวายงานด้านดนตรีเสมอมา จนกระทั่งก่อเกิดเป็นชมรมวันอาทิตย์ ซึ่งวันที่ 16 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ผู้ชมจะได้รับฟังดนตรีจากวงดนตรีบ้านปลายเนิน และจะได้เห็นกลุ่มชมรมวันอาทิตย์มาร่วมรับชมด้วย เพราะไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปที่ใด กลุ่มชมรมก็จะตามไปให้กำลังใจพระองค์ด้วย เพราะรักที่จะรับฟังดนตรีที่พระองค์ทรงเล่น แล้วก็อยากฝากถึงทุกคนด้วยว่า อยากให้ซึมซับดนตรีไทยให้ลูกหลานตั้งแต่ยังเด็ก เพราะอาจจะทำให้เขาชอบและหลงรักที่จะเล่นดนตรีไทยก็เป็นได้ แล้วดนตรีไทยเราจะไม่สูญหาย อย่างน้อยก็น่าจะมีเด็กที่เล่นดนตรีไทยเพิ่มขึ้น

      สำหรับรายละเอียดการแสดงที่จะถึงนี้ นางอรวรรณ บรรจงศิลป์ ผู้แทนครูดนตรีไทยอาวุโส กล่าวว่า ในปีนี้ การแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ได้รับเกียรติจากครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ทั้งชายหญิงรวม 38 ท่าน รวมถึงลูกศิษย์และลูกหลานครูอาวุโสอีกจำนวน 15 คน ร่วมขับร้องและบรรเลงบทเพลงไทยอันไพเราะกันอย่างสุดฝีมือ ประกอบด้วย 7 รายการแสดง คือ รำถวายพระพร การบรรเลงดนตรีไทย วงดนตรีไทยพิเศษ เพลงทองย่อน และเพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า ทั้งนี้ยังมีการบรรเลงวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย เพลงโหมโรงมหาราช นอกจากนี้ก็มีการบรรเลงดนตรีไทย วงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงสุดสงวน (เถา) โดยครูนาฏศิลป์อาวุโสหญิงและชาย ต่อด้วยการบรรเลงดนตรี วงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงไกรลาศสำเริง โดยวงลูกศิษย์ครูอาวุโส และการบรรเลงดนตรีไทย วงเครื่องสายผสม เพลงรำวงมาตรฐาน โดยครูอาวุโสหญิงและชาย และปิดท้ายด้วยการแสดงชุดพิเศษที่นับว่ายิ่งใหญ่มาก โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงระนาดเอก และทรงขับร้องเพลงนางครวญ (เถา) ร่วมกับวงดนตรีบ้านปลายเนิน

      “ อยากให้ทุกท่านได้มาร่วมรับชม เพราะนับเป็นโอกาสดีและไม่ได้มีบ่อยครั้งที่จะได้รับชมการแสดงดนตรีไทย และรับชมพระองค์ท่านทรงร่วมขับร้องบรรเลงให้ฟัง ขณะนี้มีการจองที่นั่งเกือบจะเต็มแล้ว เพราะคนให้ความสนใจค่อนข้างมาก จึงอยากจะเชิญชวนให้มาชมกันเยอะๆ ” นางอรวรรณกล่าว

      อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถร่วมเฝ้าฯ ถวายพระพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์ดนตรีไทยในการแสดงดนตรีทยโดยครูอาวุโส ในวันที่ 16 ส.ค. เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) สำรองที่นั่งได้ที่ 0-2247-0028 ต่อ 4117 หรือ 4119

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"