ยุคดิจิทัลสะเทือนแบงก์ 'SCB'ยุบสาขาเหลือ400


เพิ่มเพื่อน    

SCB ตั้งเป้าปี 63 ลดสาขาเหลือ 400 จากปัจจุบัน 1,153 สาขา พร้อมลดพนักงานเหลือ 1.5 หมื่นคน จาก 2.7 หมื่น หลังปริมาณธุรกรรมและลูกค้าใช้บริการลดลงหันไปใช้เทคโนโลยีแทน ขณะที่  KTB แจงงบ 60 เอ็นพีแอลพุ่งต่อ 11,892 ล้านบาท ดันยอดรวมแตะ 103,020 ล้านบาท เหตุสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ฉุด เร่งตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่ม 44,833 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิลดลงเกือบหมื่นล้าน
    เมื่อวันจันทร์ นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าภายในปี 2563 จะลดสาขาลงเหลือ 400 สาขา จากปัจจุบันมี 1,153 สาขา เนื่องจากปริมาณธุรกรรมและการใช้บริการของลูกค้าลดลง  ทั้งนี้จะปรับเปลี่ยนและโยกย้ายพนักงานที่ทำงานในสาขาที่ปิดมาอยู่ศูนย์อบรม (SCB Academy) รวมถึงลดพนักงานเหลือ 15,000 คน จากปัจจุบันมี 27,000 คน ซึ่งปีที่ผ่านมาพนักงานลาออกเฉลี่ยที่ 2,000-3000 คน โดยธนาคารไม่มีนโยบายปลดพนักงานออก 
    นายอาทิตย์กล่าวว่า การปรับตัวของธนาคารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนด้านไอที 40,000 ล้านบาท โดยเป็นการทยอยลงทุน 5 ปี (2559-2563) ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2563 มองว่าจะกระทบมากขึ้น ทั้งนี้หากธนาคารไม่ปรับตัวในตอนนี้และยังทำธุรกิจในแบบเดิม คาดว่าจะส่งผลเสียต่อธนาคารได้ในอนาคต
    "การโยกคนไปทำงานประเภทอื่น เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนทักษะของพนักงาน ซึ่งธนาคารยังรับคนเพิ่มอยู่ โดยจะเน้นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ทั้งนี้วันนี้การที่ออกมาพูดหากทำให้ราคาหุ้นขึ้น 30% แต่ก็ไม่ได้ดีใจ หรือหากราคาหุ้นลง 20% ก็ต้องอดทนและรับผล ในปีนี้ถ้าทำแผนไม่ได้ตามเป้าหมายก็ยินดีที่จะลาออกด้วยตัวเอง นอกจากนี้พอร์ตสินเชื่อ SCB ที่เป็นอันดับ 1 ในระบบ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องขนาดของพอร์ต แต่จะหันมาเน้นเรื่องการแข่งขันและปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง  และทำให้ Bottom Line มีผลกระทบน้อยที่สุด" นายอาทิตย์กล่าว
      สำหรับรายได้หลักของธนาคาร ปัจจุบันมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ 70% และรายได้ค่าธรรมเนียม  30% โดยต่อจากนี้ธนาคารจะหาสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงและการแข่งขันมีอยู่น้อย อย่างสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เครดิตการ์ด เอสเอ็มอีขนาดเล็ก ส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายใหญ่มีการแข่งขันที่สูง และมีการแข่งขันทางด้านราคาที่สูง ส่งผลให้รายได้ที่ธนาคารเคยได้รับลดลงจากที่ผ่านมา
    "ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และการไหลบ่าเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มระดับโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้การบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ โครงสร้างรายได้ของธนาคารเริ่มเปลี่ยนไป  แต่จากนี้ไปรายได้จากค่าธรรมเนียมจะค่อยๆ ลดลง จากค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเคยได้จากการให้บริการโดยการใช้คน ปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่การบริการอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ต้นทุนในการให้บริการลูกค้าลดลงอย่างมาก" นายอาทิตย์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ของปี 2560 (สิ้น ธ.ค.) ปรับลดลงจำนวนรวม 230 สาขา เหลืออยู่ที่ 6,786 สาขา จากสิ้นปี 2559 ที่มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 7,016 สาขา ทั้งนี้ ธนาคารที่มีสาขาลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงไทยลดลง 93 สาขา เหลือ 1,121 สาขา, ธนาคารกสิกรไทยลดลง 82 สาขา เหลือ 1,028  สาขา และธนาคารธนชาต ลดลง 69 สาขา เหลือ 524 สาขา ขณะเดียวกันธนาคารที่มีการเพิ่มสาขา  เช่น ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ปรับเพิ่ม 44 สาขา มาอยู่ที่ 132 สาขา จากสิ้นปี 2559 ที่มี 88  สาขา และธนาคารกรุงเทพ เพิ่ม 11 สาขา ทำให้จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,168 สาขา
     ขณะที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.) ว่างบการเงินปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 103,020  ล้านบาท เพิ่มสุทธิ 11,892 ล้านบาทจากสิ้นปี 2559 โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่ง  รวมทั้งตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า 44,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,404  ล้านบาท จากปี 2559 เพื่อรองรับสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น และรักษาระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเตรียมความพร้อมรับผลกระทบมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 ที่บังคับใช้ในอนาคต
    ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพติดตามดูแลและแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างใกล้ชิด รวมถึงการรักษาระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนีสงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยปี 2559 ธนาคารได้ตัดหนี้สูญอยู่ที่  1,509 ล้านบาท และปี 2560 อยู่ที่ 23,739 ล้านบาท
    ขณะที่กำไรสุทธิปี 2560 ของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 24,116 ล้านบาท ลดลง 9,450 ล้านบาท  โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 22,446 ล้านบาท ลดลง 9,859 ล้านบาท เนื่องจากการสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าเพิ่มขึ้น โดยมีเงินให้สินเชื่อลูกหนี้อยู่ที่ 1.93  ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,993 ล้านบาทจากสิ้นปี 2559 ส่วนเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 98,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากจ่ายคืนเมื่อทวงถาม 
    นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2561 ธนาคารมีเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ 6-7% ตามการคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโต  4.1% เป็นการเติบโตทั้งสินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อรายย่อย  รวมทั้งสินเชื่อภาครัฐ และมีเป้าหมายในการวางรากฐานความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทั้งคุณภาพสินทรัพย์  โดยตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง
    นอกจากนี้ยังเพิ่มความเข้มข้นในการบริหารความเสี่ยง และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยรวม พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อโครงการภาครัฐ โครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และโครงการเนชันแนล อี-เพย์เมนต์  และเตรียมความพร้อมและขยายการให้บริการด้านดิจิทัล แบงกิง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"