คสช.กระเตงสามมิตร อ้างไม่ใช่พรรคเดินสายได้ 'แก๊งนปช.'ย้อนขอทำบ้าง!


เพิ่มเพื่อน    

    “ประวิตร” เผยทักษิณไม่ฟังใครแล้ว ชี้ที่เคลื่อนไหวหนักช่วงนี้ก็รู้ๆ กันว่าเพราะเหตุใด “บิ๊กตู่” ประกาศย้ำกันยายนประกาศจุดยืนแน่ว่าเอาอย่างไรต่อ  “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ประสานเสียงตีมึนบอกไม่รู้จักกลุ่มสามมิตร ซัด “อนาคตใหม่” ก็ลงพื้นที่พบประชาชน ลั่น คสช.ส่องอยู่ไม่ให้ทำเกินเลย “นปช.” ได้ทีบอกทำบ้างได้หรือไม่ นายกฯ ชี้แก้กฎหมาย กกต.ยังไม่สะเด็ดน้ำ เตือนอย่าตีข่าวใหญ่โต วิป สนช.แบะท่าถอย หวั่นมีเลียนแบบในอนาคต
    เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวปลุกระดมนักการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นครั้งแรกว่า เรื่องนี้สื่อมวลชนรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีความผิดตามกฎหมายอะไรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เคยเตือนไปแล้วไม่ใช่หรือ ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณากันต่อไป ส่วนการสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ ของคนนอก เรื่องนี้ต้องไปดูกฎหมายอีกครั้ง ไม่ใช่พอถึงเวลา พอมีการบังคับใช้กฎหมายก็กลายเป็นว่าไม่มีความเป็นธรรมกันขึ้นมาอีก 
“เรื่องนี้มีปัญหากันมาโดยตลอด สื่อมวลชนต้องช่วยกันทำความเข้าใจด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีกฎหมายเป็นของตัวเอง แตกต่างกันคนละอย่างสองอย่าง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการอะไรได้มากนัก ทั้งนี้ เราก็ต้องทำทุกอย่างให้ครบตามขั้นตอนและกระบวนการ อย่างครั้งที่แล้วก็ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ก็กลายเป็นว่ารัฐบาลไปไล่ล่า ถ้าทุกคนอยู่กันแบบสงบเงียบเรียบร้อย ก็ไม่มีปัญหาที่ต้องไปทำอะไรกันต่อ เพราะต่างก็มีคดีกันอยู่ทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในประเด็นนี้ว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เราจับมากี่ปีแล้ว ส่วนที่เคยให้สัมภาษณ์เตือนนายทักษิณไปนั้น ก็จะไปทำอย่างไรได้ สื่อช่วยเตือนหน่อย 
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรุ่นพี่เตรียมทหารจะเตือนอย่างไร พล.อ.ประวิตรระบุว่า ตอนนี้ท่านไม่ฟังแล้วรุ่นพี่รุ่นน้อง สื่อช่วยบอกเขาหน่อยสิ ส่วนการเคลื่อนไหวเพราะใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งหรือไม่ ไม่อยากพูด รู้ๆ กันอยู่
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการเรียกประชุม คสช.เป็นการเร่งด่วนในช่วงเช้าวันอังคารว่า ได้หารือหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัย และดูในเรื่องของการทำงาน เพราะช่วงนี้จำเป็นต้องกำกับดูแลให้ทุกส่วนราชการทำงานภายใต้กรอบของ คสช. ซึ่งทุกคนต้องทำงานอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้มาตรา 44 ก็ใช้กับเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำงานกันอย่างไรในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้ง เพื่อที่ให้ทุกอย่างเดินไปได้ด้วยดี 
    “รัฐบาลต้องการให้ทุกอย่างมีการปฏิรูป ฉะนั้นการแต่งตั้งคนขึ้นมาก็ต้องทำงานตามนโยบายให้ได้ คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มีอย่างอื่น ไม่มีสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่ตั้งเพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้ต่อไป หรือมีผลต่อการเลือกตั้ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างนั้น อย่าไปคิดแบบนั้น เพราะคนเลือกตั้งคือใคร คือประชาชน ไม่ใช่ คสช.ลงไปเลือกตั้งด้วย จะได้บังคับคนได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้มีหลายคนหลายกลุ่มออกมาพูดว่าจะให้รัฐบาลทำโน่นทำนี่ วันหน้าจะเป็นรัฐบาลไหนยังไม่รู้เลย จะอยู่พรรคไหนก็ยังไม่รู้ พรรคก็ยังไม่ตั้งขึ้นมาชัดเจน สื่อเขียนข่าวทุกวันต้องดูตรงนี้ 
ลั่น ก.ย.ประกาศท่าที
เมื่อถามว่า จำได้หรือไม่ว่านายกฯ เคยพูดไว้ว่าเดือน ก.ย.จะประกาศท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์สวนว่า “ก็โอเค ทำไมล่ะ นี่ถึงกันยา.หรือยัง ถ้ายังไม่ถึงก็ยังไม่ต้องถามตอนนี้ ถ้าถึงก็รู้เองนะ ไม่เคยลืมพูดอะไร
    ซักต่อว่า วางกรอบและทิศทางไว้หรือยัง นายกฯ กล่าวว่า บอกแล้วยังไม่รู้ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ จะอยู่อย่างไรต้องไปดูกฎหมาย ดูรัฐธรรมนูญ การจะอยู่ต้องดูว่าอยู่เพื่ออะไร ทำอะไร จำเป็นหรือไม่ แล้วจะไปอยู่พรรคไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วจะไปอยู่ได้อย่างไร ข้อสำคัญจะไปอยู่พรรคไหนก็ตาม ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคนั้นแล้วจะมาได้อย่างไร ใช่หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่รู้พรรคไหน จะเอาคำตอบให้ได้หรือ
    ถามอีกว่า ประชาชนอยากรู้ท่าทีของนายกฯ มาก พล.อ.ประยุทธ์สวนว่า “ประชาชนเขาชอบผมหรือไง” ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลาลงพื้นที่ทีไรมีเสียงเชียร์ให้เป็นนายกฯ ต่อตลอด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “อ้าว เดี๋ยวสื่อก็บอกฟุ้ง โอ่ ปลื้ม ผมบอกไปทุกครั้งเวลาเห็นชาวบ้านดีใจ นั่นเป็นการสะท้อนบอกผมว่าทำไมเขาต้องคาดหวังที่ผม ทำไมไม่คาดหวังกับคนอื่น ทำไม ไปถามเขาสิ ถามประชาชนเขาแบบนั้น แต่การตัดสินใจผมก็มีหลักเกณฑ์ สื่อไม่ต้องมาถามวันนี้ เดือนกันยา.ผมพูดเอง ทุกอย่างมันต้องปลดล็อกอะไรต่างๆ อยู่แล้วไม่ใช่หรือ” 
เมื่อถามว่า ถึงวันที่ 1 ก.ย.นี้จะถามทันที นายกฯ กล่าวว่า “วันไหนก็ไม่รู้เดือนกันยา.นั่นแหละ ตอนนี้เอาเรื่องแก้ปัญหาบ้านเมืองก่อน การเมืองตอบแค่นี้บ๊ายบาย"
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเดินสายของกลุ่มสามมิตรว่า จะสามมิตร สี่มิตร ห้ามิตร ไม่รู้ เขาอยู่กลุ่มไหนพรรคไหนก็ยังไม่รู้เหมือนกัน และพรรคอื่นที่มีการเดินสายอะไรอยู่ จะกลายเป็นว่าทำไมพรรคนี้พูด พรรคนั้นไม่ได้พูด ซึ่งทุกคนก็พูด พรรคอะไรใหม่ๆ ชื่ออะไรใหม่ๆ ก็ลงไปพูดไปเยี่ยมประชาชน เดินสายอะไรต่างๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลไปปิดกั้นอะไรทั้งหมด วันนี้รัฐบาลพยายาม อะไรที่พอจะให้เขาสามารถมีทางออกบ้าง ก็ปล่อยเขาพูดไป และวันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน พวกที่ออกมาพูดอยู่พรรคไหน ขณะที่บางพรรคที่มีชื่อพรรคอยู่แล้วก็ออกไปพูดได้ ฉะนั้น เรื่องนี้อย่ากังวล เป็นเรื่องที่ คสช.ดูอยู่ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกินเลย เขาก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์อะไรให้ใคร
    นายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่มีการมองว่าการปล่อยให้กลุ่มสามมิตรเคลื่อนไหวในช่วงที่ยังไม่ปลดล็อกจะทำให้หลายพรรคการเมืองมองว่าตัวเองถูกมัดมือชกหรือไม่นั้น เห็นว่าทุกพรรคก็พูดกันหมด ในสื่อในโซเชียลฯ ก็พูดกันทุกวัน ด่ากันไปด่ากันมา มันก็ไม่พ้นเดิมๆ มันจะไปแก้ไขกันได้อย่างไร แต่เราทุกคนต้องช่วยกันว่าความมุ่งหมายของการปฏิรูปออกมาเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อจะสืบทอดอำนาจ แต่เพื่อไม่ให้เรื่องเดิมๆ เกิดขึ้นมาอีก วันนี้นักการเมืองหน้าใหม่ต้องคอยดูว่าแต่ละพรรคจะส่งใครมาลงเลือกตั้ง และเป็นเรื่องประชาชนที่จะพิจารณากันเอง 
    “ผมคิดว่าหลายพรรคการเมืองคงต้องมีคนใหม่มาด้วย คนเก่ามาบ้าง อะไรทำนองนี้ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งยังนิยมชมชอบนักการเมืองเดิมๆ อยู่ นี่คือปัญหาของเราที่ต้องสร้างความเข้าใจกัน การที่เราจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลต้องเป็นอย่างไร ฉะนั้น ใครก็ตามที่เข้าสู่การเมืองในระยะหน้า ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ถ้าใครที่ไม่ได้มีข้อห้ามทางกฎหมาย เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้ หากเขาจะไปลงเลือกตั้งที่ไหนก็ตาม ทั้งนี้ ความสำคัญขึ้นอยู่กับประชาชนจะเป็นผู้เลือก เราก็ไปดูแลเรื่องการทุจริตต่างๆ ในการเลือกตั้งจะดีกว่า เรื่องความโปร่งใส เราต้องช่วยกัน” นายกฯ กล่าว
ป้อมปัดไม่รู้จักสามมิตร
    เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการออก ม.44 เพื่อปลดล็อกให้ กกต.ชุดปัจจุบันสามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ต้องรอ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่าง 90 วัน กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.-ส.ว.ไปหมดแล้ว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาเมื่อไหร่ก็ตาม ก็จะมีการพิจารณา เรื่องคลายล็อกบางเรื่อง และทำเรื่องอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามที่ได้เคยกล่าวไว้แล้ว อย่ากังวล
    ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวในเรื่องนี้ว่า กลุ่มสามมิตรเป็นใคร เขาเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ เขาไปในเรื่องส่วนตัวเขา ส่วนจะขออนุญาตแม่ทัพภาคที่ 2 หรือไม่นั้น ไม่รู้ เพราะไม่ได้คุยกัน แต่เขาไม่ได้เป็นพรรคการเมือง หากไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่นี่เขาไม่มีพรรค และไม่ทราบว่าเขาเคลื่อนไหวแบบใด คสช.ไม่ได้วางกรอบอะไร แต่ยึดตามกฎหมาย 
เมื่อถามย้ำว่า ต่อไปหากมีกลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่สามารถเดินสายได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า สื่อก็เอาสิ ไปทำสิ ไปตั้งเป็นกลุ่ม 8 มิตรหรืออะไร
    ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตรกล่าวว่า การเดินสายไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัดประสบความสำเร็จมาก เพราะมีพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และอดีตนักการเมืองได้ติดต่อประสานงานมาให้ไปลงพื้นที่รับฟังปัญหาในหลายจังหวัด ซึ่งกลุ่มสามมิตรไม่ได้เอาเปรียบใคร เพราะไปลงพื้นที่รับฟังปัญหาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง หากการไปช่วยเหลือพี่น้องคนยากคนจนเป็นการเอาเปรียบกลุ่มอื่น ก็คงไม่มีใครกล้าอาสาเข้าไปช่วยชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน 
    “การลงพื้นที่ต่างๆ นั้น พี่น้องประชาชนก็เป็นคนเรียกร้องมา ที่สำคัญคือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยเสนอผ่านมายังกลุ่มสามมิตรนั้นได้รับการตอบรับจากรัฐบาลในหลายเรื่องหลายโครงการแล้ว”
    ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า คำสั่ง คสช.เรื่องห้ามประชาชนรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองเกิน 5 คนไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว แต่พอฝ่ายผู้มีอำนาจบอกว่ากลุ่มสามมิตรเป็นกลุ่มบุคคล ไม่ใช่พรรคการเมืองจึงทำได้ ก็ทำให้ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ชัดขึ้นว่ามีการใช้คำสั่งที่ไม่ชอบธรรม และใช้อย่างไม่ยุติธรรมด้วย ถือเป็นความอัปลักษณ์ยกกำลังสอง เพราะหากประชาชนต้องการสะท้อนปัญหาความทุกข์ยากกับ นปช.หรือกลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง จะเดินสายพบปะแล้วแถลงข่าวเสนอแนวทางแก้ไขให้รัฐบาล แบบเดียวกับกลุ่มสามมิตรได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้คำอธิบายคืออะไร
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่าบ้านเมืองเราเดินมาถึงจุดนี้ พรรคการเมืองในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่สามารถขยับเขยื้อนอะไรได้เลย แต่กลุ่มการเมืองที่ยังไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมือง กลับอาศัยช่องว่างของกฎหมายลงพื้นที่พบปะประชาชน พบผู้นำท้องถิ่น อ้างว่าจะนำข้อมูลไปให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ประชุมแต่ละที่มีหลายร้อยคน บางแห่งเกือบทะลุหลักพันคนทำได้ แต่ พท.แถลงผลงาน 4 ปี รัฐบาล คสช. 3 คน โดนแจ้งความเอาผิด 
“ประธาน กกต.ก็บอกแล้วว่าการเดินสายของกลุ่มสามมิตรอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรืออาจขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่รัฐบาลและ คสช.จะยังคงนิ่งเฉยต่อไปได้อย่างไร จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างไร ในเมื่อกลุ่มที่เดินสายเขาบอกว่ามาช่วยรัฐบาลทำงาน และประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต้องตั้งคำถามกับผู้ถืออำนาจรัฐในปัจจุบันว่า ท่านจะปล่อยให้บ้านเมืองเดินไปในสภาพ 2 มาตรฐานแบบนี้อีกนานเท่าใด แล้วจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้มีการเอาเปรียบกันตั้งแต่ต้น” นายอนุสรณ์ระบุ
    ย้ำไม่มีเลื่อนโรดแมป
    สำหรับความเคลื่อนไหวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวบรวมรายชื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ในประเด็นการคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดสั้นๆ ว่า “เธอเสนอแก้หรือไงล่ะ”
    ต่อมาหลังประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเรื่องนี้อีกครั้งว่า ยังไม่ออกมาจะไปแก้อะไรกัน เสนอขึ้นไปแล้ว เมื่อพิจารณาโปรดเกล้าฯ ลงมาก็ต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรให้สามารถทำงานได้ ทั้ง กกต.เก่า กกต.ใหม่ อะไรที่จะร่วมมือกันได้ เช่น การเลือกตั้งคณะกรรมการจังหวัด โดยให้ กกต.ใหม่ได้มีส่วนรวมพิจารณาไปอีกชั้นหนึ่งด้วยแค่นั้นว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ก็ต้องเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกทั้งหมด หรือแก้ไขอะไรไปกันใหญ่โต เพื่อไปสู่การดึงการเลือกตั้งให้เลื่อนออกไป ไม่เคยอยากจะเลื่อนอะไรซักอย่าง แต่เป็นเรื่องของกฎหมาย ท่านเข้าใจคำว่ากฎหมายไหม
    “ลองดูวันนี้สถานการณ์สงบขึ้นมาด้วยอะไร จากการทำงานไม่ใช่หรือ คดีความก็ลดลง การทุจริตก็ถูกลงโทษ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทำมา ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดมาใหม่ ถ้ามีหลักฐานก็ดำเนินคดี ขอให้เสนอข่าวแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะยุ่งไปหมด แล้วมาบอกว่าไม่ปฏิรูป แต่นี่คือการปฏิรูปการเมืองส่วนหนึ่ง ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เข้าใจกระบวนการทำงานรัฐบาล ไม่เช่นนั้นก็พูดกันเรื่อยเปื่อย สังคมก็ตื่นตระหนก แล้วเลือกตั้งจะไปกันอย่างไร วันหน้าก็ด่ากันไปด่ากันมา สาดเสียเทเสีย พูดถูกบ้างผิดบ้าง มันก็จะเสียหายทั้งหมด สรุปไม่มีใครดีสักคน โอเค เข้าใจตรงกันนะ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.กล่าวถึงกรณีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์ของ สนช. ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาชิก สนช. 36 คน เข้าชื่อเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ว่าเป็นกระบวนการที่กฎหมายบังคับให้ทำเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ก็มีเสียงอีกทางที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเสียงจัดตั้ง โดยให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของสภาตรวจสอบ ซึ่งนอกจากจะนำความเห็นทางเว็บไซต์มาประกอบแล้ว เชื่อว่าสมาชิกจะนำข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มาคิดวิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกและลบ รวมทั้งข้อมูลประวัติของบุคคลที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งเบื้องต้นกว่า 600 คนว่ามีความเสียหาย ความไม่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบเหตุผลด้วย 
    เมื่อถามว่า สนช.พยายามทำทุกวิถีทางในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ นายสุรชัยกล่าวว่า อย่ามองแบบนั้น เพราะไม่ใช่เรื่องการแก้ไข แต่เป็นความพยายามทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ต้องรอวันที่ 18 ส.ค.นี้ ที่จะครบ 15 วันของกระบวนการรับฟังความเห็น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ต้องถอย แต่ถ้าเสียงสนับสนุนมากกว่าก็เดินตามกระบวนการ และถ้าเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของวิป สนช. ก็จะชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือไม่ แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน
    นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.อีกราย กล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิ์ของสมาชิกที่จะเสนอกฎหมาย ส่วนที่ประชุม สนช.จะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการเข้าชื่อเสนอนั้น เพราะสมาชิก สนช.ต้องการให้การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งน่าจะบรรจุอยู่ในหลักการของ พ.ร.บ. ไม่ใช่ให้ กกต.กำหนดเพื่อความเหมาะสม ซึ่งเวลานี้เป็นเพียงการเสนอความคิด ยังไม่ได้มีการนำเข้าวิป สนช.หรือเข้าสภา จึงยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ซึ่งอาจจะมีการถอนก็ได้ เพราะยังต้องมีกระบวนการรับฟังอีก หรืออาจจะชะลอก็ได้ 
    “เป็นสิทธิที่คนเสนอจะทำได้ รวมถึงหากรัฐบาลมีประเด็นที่จะแก้ไขดีกว่านี้ สาระหลักตอบโจทย์ได้ สมาชิก สนช.ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้”นายพีระศักดิ์กล่าว
    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าว เพราะต้องให้สมาชิกเสนอร่างแก้ไขมายังวิป สนช.ก่อนจึงจะหยิบมาหารือได้ ซึ่งต้องรอให้ถึงวันที่ 18 ส.ค.นี้ เนื่องจากจะครบกำหนดการรับฟังความคิดตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีข่าวว่าทางวิป สนช.ประสานกับผู้ยื่นเพื่อให้ถอนร่างออกไปนั้น ยืนยันว่าไม่มีใครดำเนินการเรื่องนี้ หากมีผู้ใดไปประสานก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล
หวั่นอนาคตเลียนแบบ
     นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. กล่าวเหมือนกันว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ซึ่งถ้ารับฟังความเห็นครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว จะพิจารณาอีกครั้งว่าขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการอย่างไร เพราะถ้าแก้ไขโดยง่าย วันหน้าก็อาจจะแก้ไข พ.ร.บ.สำคัญหลายเรื่อง และอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น กฎหมาย ป.ป.ช. สมมติว่ามีคดีความอยู่ แล้วมีนักการเมืองไม่ดีติดคดีทุจริต จะแก้ไขกฎหมายป.ป.ช.อาศัยเสียงข้างมากอย่างเดียวแล้วคดีหลุดไปจะทำอย่างไร หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ แก้ให้ศาลรัฐธรรมนูญหมดอำนาจจะทำอย่างไร หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองเป็นจำเลยหลายคดีเกี่ยวกับทุจริตไปแก้ให้หมดอำนาจจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องรอบคอบ 
“ที่ผ่านมาก็มีการเลียนแบบและมีบทเรียนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดสภาผัวเมีย หรือการเลือกตั้งเปลี่ยนรูปแบบไป หรือแก้ พ.ร.บ.กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เกิดวิกฤติขัดแย้ง เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ธรรมดาหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องฟังเสียงทุกส่วน การเมืองยุคหน้าต้องมีวุฒิภาวะ การแก้อะไรถ้าเกิดปัญหาก็คงไม่ทำ ถ้าทำสังคมไม่ยอมรับก็กลับสู่วิกฤติดังเดิมอีก” นายสมชายกล่าว และว่า หากมีการแก้ไขจริง ก็ไม่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปแน่นอน และ สนช.จะไม่ทำแบบนั้น
     นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของ สนช. ไปห้ามไม่ได้ ว่ากันตามเหตุผล ถ้ากฎหมายออกมาแล้วมีอุปสรรคก็แก้ได้ เพียงแต่ต้องดูคิดรอบคอบหรือยัง หรือสถานการณ์เปลี่ยน ตอนนั้นคิดผิด ก็ต้องทำใหม่ แต่จะควรหรือไม่ควรเป็นอีกเรื่อง แก้แล้วจะดีหรือไม่ก็ต้องกลับไปคิดมา ส่วนโรดแมปนั้น อาจไม่กระทบก็ได้ การแก้ไขทำไป การเลือกตั้งก็เลือกไป ไม่ต้องรอ ตอนนี้ผู้ตรวจการเลือกตั้งแค่ขึ้นบัญชีไว้ กกต.ใหม่เข้ามาก็ทบทวนได้ เพราะยังไม่ได้ประกาศแต่งตั้ง 
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 61 ที่มีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านทางกระทรวงกลาโหมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้บอกว่าจะให้ใครเรียนหรือไม่ให้ใครเรียน มันไม่ใช่ ที่เคยพูดเรื่องนักการเมืองนั้น หมายความว่าให้มันน้อยลง ซึ่งกรณีนี้เป็นการพิจารณาของสภากลาโหมขึ้นมา ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรกับตรงนี้
    พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สมาชิกพรรคการเมืองก็เข้าเรียนกัน และนายอนุทินเขาเข้ามาในนามบริษัท ไม่ได้มาในนามพรรคการเมือง ที่จริงแล้วมันมีสัดส่วนของพรรคการเมืองอยู่ ตรงนี้คงไม่เป็นไร ถ้าอายุเขาได้ ผ่านหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ได้
    ส่วนกรณีนายเสกสรรค์ สุขพิมาย หรือเสกโลโซ นักร้องชื่อดัง ไลฟ์สดและโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีนายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร อย่างรุนแรงนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากฎหมายนายพานทองแท้ กล่าวว่า นายพานทองแท้ยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินการทางข้อกฎหมาย เข้าใจว่าคุณโอ๊คคงมองเป็นเรื่องตลกมากกว่า คงไม่ได้ถือสาอะไรเท่าไหร่ แต่การที่สื่อบางสำนักนำสิ่งที่นายเสกพูดไปขยายต่อ ที่อาจทำให้นายพานทองแท้ เสื่อมเสียชื่อเสียง
    มีรายงานว่า หลังเสก โลโซ ไลฟ์เรื่องดังกล่าว พบว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงบนสังคมออนไลน์อย่างมาก โดยเฉพาะการเรียกร้องและรณรงค์แบนสินค้าของเสกตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"