เข็นต่อลำบากเสียงข้างมาก รื้อกฎหมาย 'กกต.'


เพิ่มเพื่อน    

        แม้การออกมาเปิดเผยของ มหรรณพ เดชวิทักษ์ แกนนำ สนช. ในการล่ารายชื่อ สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง ที่อ้างว่า ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐสภาได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ผ่านเว็บไซต์ https://www.senate.go.th ที่มีเป็นหลักแสนจะเป็นความเห็นแบบจัดตั้ง เพื่อสร้างกระแสว่าสังคมไม่เอาด้วยกับ สนช.ในการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ที่จะ ล้มกระดานผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะพบว่า คะแนนไม่เห็นด้วยจำนวนมากดังกล่าวมาจากไอพีแอดเดรสเดียวกัน เป็นลักษณะการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ปั่นคะแนน อันแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการลงคะแนน

        การโต้กลับดังกล่าว แม้อาจทำให้กระแสไม่เห็นด้วยกับ สนช.ถูกสวิงกลับ เสียรังวัดไปมิใช่น้อย แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่า ถึงตอนนี้ความพยายามจะเข็นเรื่องการแก้ไขกฎหมาย กกต.ของ สนช. เสียงไม่เห็นด้วย-แรงต้าน ดังกว่าฝ่ายสนับสนุนแน่นอน หลังผ่านไปร่วมสัปดาห์ นับแต่ สนช.เคลื่อนไหวดังกล่าว เหตุผลของ สนช.ในการเคลื่อนไหวรอบนี้ดูจะได้รับการขานรับน้อยกว่าฝ่ายไม่เห็นด้วย ทั้งจาก กกต.ชุดปัจจุบัน-กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ-นักวิชาการ-ตัวแทนพรรคการเมือง ยิ่งเมื่อมองกันว่า การขยับดังกล่าวของ สนช.อาจทำให้โรดแมปการเลือกตั้งขยับออกไปได้ไม่มากก็น้อย อันอาจทำให้สัญญาประชาคมของบิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62 อาจไม่เป็นอย่างที่บอกว่า เสียงไม่เห็นด้วย Volume ก็ฟังได้ชัดว่า ไม่ค่อยเอาด้วยกับ สนช.ค่อนข้างมาก

        หลังกลุ่ม สนช.ที่เคลื่อนไหวยังหักล้างเหตุผลของฝ่ายคัดค้านไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่กฎหมาย กกต.ฉบับที่ใช้ปัจจุบัน ก็เป็น สนช.ชุดนี้ ที่ยกร่างฯ และเห็นด้วย และประกาศใช้ยังไม่ถึง 1 ปี แต่กลับจะมาแก้ไข การมาอ้างว่า เพิ่งเห็นข้อบกพร่องของเรื่องโครงสร้าง-ที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตามระเบียบที่ กกต.ออกมา ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเท่าใดนัก เพราะเรื่องนี้ สนช.ตอนพิจารณากฎหมาย กกต.ก็ไม่รัดกุม ไปเขียนไว้แต่แรก เรื่องก็จบ การจะมาเขียนเพิ่มตอนนี้ โดยบอกว่าเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต แล้วเขียนให้มีบทเฉพาะกาล เพื่อล้มกระดานรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 รายชื่อ

        ที่ก็คือ การหักหน้า กกต.ชุดปัจจุบัน ที่เป็นองค์กรอิสระ เลยยิ่งทำให้เห็นสภาพ สภาฝักถั่ว ของ สนช.ที่ผู้คนวิจารณ์ สนช.ชุดนี้มาตลอดก็ยิ่งเห็นภาพดังกล่าวชัดขึ้น ยิ่งเมื่อหากดูขั้นตอนการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ก็มีขั้นตอนการเปิดโอกาสให้ ประชาชนในจังหวัดคัดค้าน-ส่งข้อมูลของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาให้ กกต.ส่วนกลางพิจารณาไม่รับรองรายชื่อ หากเห็นว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ไม่เป็นกลาง อีกทั้งหากดูปฏิทินกรอบเวลาการเมืองแล้ว การที่ กกต.ชุดปัจจุบันดำเนินการตามขั้นตอนจนได้รายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งออกมาก่อน 616 ชื่อ เพื่อส่งไปให้ประชาชนแต่ละจังหวัดร้องคัดค้าน ก็เพื่อรองรับกระบวนการต่างๆ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ใกล้จะประกาศใช้ในอนาคต โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่เมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้ว กระบวนการต่างๆ ต้องเดินหน้าทันที ผนวกกับ การทำหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากพบว่ามีปัญหา เช่น ไม่เป็นกลาง มีพฤติการณ์ทุจริต ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถถูกตรวจสอบเอาผิด โดยยื่นเรื่องไปให้ กกต.กลางพิจารณาได้ตลอดเวลา และหากทำผิดจริง โทษความผิดก็รุนแรงมาก

        ข้อโต้แย้งต่างๆ ข้างต้น และยังมีอีกหลายประเด็น ก็จะพบว่า ฝ่าย สนช.ที่ต้องการแก้กฎหมาย ดูจะหักล้างได้ไม่หมด

        แม้จะอ้างเรื่องของมารยาท ที่ กกต.ชุดใหม่รอวันโปรดเกล้าฯ ควรเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง การที่ กกต.ชุดปัจจุบันไปเห็นชอบก่อน เหมือนกับเป็นการทิ้งทวน แต่หากนำข้อโต้แย้งของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับ สนช.มาชั่งน้ำหนัก ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ฝ่าย สนช.ที่เคลื่อนไหว แพ้คะแนน หลุดลุ่ย แม้ต่อให้ยืนกรานว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง

        เรื่องนี้ สนช.อย่าง สมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. ที่ค่อนข้างจับกระแสสังคมการเมืองไวพอสมควร ก็ยอมรับว่า การเดินหน้าต่อไปของ สนช. ถ้าแก้ไขโดยง่ายวันหน้าก็อาจจะแก้ไข พ.ร.บ.สำคัญหลายเรื่อ งและอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น กฎหมาย ป.ป.ช.

       “สมมติว่ามีคดีความอยู่ แล้วมีนักการเมืองไม่ดีติดคดีทุจริต จะแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.อาศัยเสียงข้างมากอย่างเดียวแล้วคดีหลุดไปจะทำอย่างไร หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำลังวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ แก้ให้ศาลรัฐธรรมนูญหมดอำนาจจะทำอย่างไร หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองเป็นจำเลยหลายคดีเกี่ยวกับทุจริตไปแก้ให้หมดอำนาจจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเลียนแบบและมีบทเรียนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดสภาผัวเมีย หรือการเลือกตั้งเปลี่ยนรูปแบบไป หรือแก้ พ.ร.บ.กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เกิดวิกฤติขัดแย้ง เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ธรรมดา หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องฟังเสียงทุกส่วน” เลขานุการวิป สนช.ระบุ

        ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีกระแสข่าว สนช.เสียงแตก ไม่เป็นเอกภาพมากนักในการจะให้ สนช.เดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

        กระนั้นสุดท้าย ทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องรอเมื่อขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของ สนช.เสร็จสิ้นลง ถึงตอนนั้นต้องดูต่อว่า กลุ่ม สนช.ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้จะยุติการเคลื่อนไหวหรือจะเดินหน้าต่อ แม้จะเห็นว่าต้องเข็นกันไปอย่างยากลำบากพอสมควร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"