อยากเลื่อนถึง6เดือน ทวีศักดิ์แบไต๋/บิ๊กตู่ปัดใบสั่ง ดันจัดมหรสพชักชวนคนได้


เพิ่มเพื่อน    

ประยุทธ์ลั่น “ไม่มีใบสั่ง” ให้ขยายเวลากฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. “บิ๊กฉัตร” ยังเชื่อเดินตามโรดแมป กมธ.สนช.แจงยิบแก้ไขสาระ 22 มาตรา “ทวีศักดิ์” เผยใจจริงอยากยืดไปถึง 180 วัน ชี้ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้หากนับ 150 วันหย่อนบัตรไม่ได้เสียหาย ยิ่งกว่าถอยหลังเข้าคลองให้จัดมหรสพหาเสียง-ชักชวนคนไปลงคะแนนได้ ส่วนผู้นอนหลับทับสิทธิ์ซวยหนักเจอสารพัดเรื่อง “มาร์ค” เผยรู้ล่วงหน้ามา 2 สัปดาห์แล้วว่าจะใช้ช่องนี้ ซัดหาก คสช.จริงใจแค่ปลดล็อกก็จบ “นปช.” สบช่องอัดคู่แค้นออกอาการไบโพลาร์
    “ไม่มีใบสั่ง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) โบกมือก่อนกล่าวตอบชี้แจงสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการแก้ไขมาตรา 2 กำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วันภายหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ กล่าวเรื่องนี้เช่นกันว่า ไม่ทราบจริงๆ เห็นนายกฯ บอกเป็นเรื่องของ สนช.ไม่ใช่หรือ และไม่มีใบสั่งหรอก เป็นเรื่องของ สนช.เอง ไม่เกี่ยวกับนายกฯ ซึ่งนายกฯ พูดแล้วว่าท่านไม่เกี่ยว นายกฯ ยืนยันทุกครั้งว่าท่านทำตามโรดแมป ซึ่งเวลานี้รัฐบาลตั้งใจทำงานทุกคน  นายกฯ สั่งงานทุกวัน รัฐมนตรีทุกคนทำงานกันทุกวัน มุ่งหวังให้ประเทศไปสู่จุดที่ดีที่สุด
เมื่อถามรู้สึกหรือไม่ว่าขณะนี้กองหนุนน้อยลง พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่าไม่น้อย เรื่องนี้ไปตีความกันได้หลายอย่าง เวลา พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่พบประชาชนตามต่างจังหวัด นายกฯ มีกำลังใจดี และประชาชนตามภูมิภาคก็ตอบรับนายกฯ เป็นอย่างดี ส่วนนักการเมืองจะตอบรับหรือไม่นั้นไม่ทราบ ไม่เคยคุยกับนักการเมือง
ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แถลงภาพรวมร่างกฎหมายว่า จะนำเข้าที่ประชุม สนช.เพื่อพิจารณาวาระสองและสาม ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ โดย กมธ.แก้ไข 30 มาตราจาก 178 มาตรา รวมถึงคำปรารภ โดยเป็นการแก้ไขเนื้อหาสาระ  22 มาตรา ส่วนที่เหลือเพียงปรับถ้อยคำ 
“การปรับแก้ไขมีมาตราที่สำคัญๆ อาทิ มาตรา 35 ว่าด้วยการจำกัดสิทธิ์เลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดย กมธ.ได้เพิ่มอีก 3 ข้อ ได้แก่ 1.หากไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ์สมัครรับราชการ  พนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา 2.ถูกจำกัดสิทธิ์เป็นข้าราชการการเมือง และ 3.ถูกตัดสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น  เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนี้ การนับระยะเวลาจำกัดสิทธิ์ กมธ.กำหนดสูงสุด 2 ปี” นายทวีศักดิ์กล่าว
นายทวีศักดิ์แถลงรายละเอียดต่อว่า ระยะเวลาถ้าไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งที่ 1 จำกัด 2 ปี ถ้าไม่ไปเลือกตั้งครั้งที่ 2 จำกัดสิทธิ์อีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี แต่ กมธ.แก้ไขกำหนดให้เบ็ดเสร็จ 2 ปี อาทิ ผ่านไป 8 เดือน เหลืออีก 4 เดือน ครั้งต่อไปไม่ไปใช้อีกให้ยกเลิก 4 เดือน และนับใหม่แทน คือ 2 ปี นอกจากนี้ตามกฎหมาย ส.ส.เดิมกำหนดว่า หากผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ์ แต่หากไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งใดสิทธิ์นั้นจะกลับมา แต่ต่อไปนี้จะแยกกันคือ ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือก ส.ส. จะล้างสิทธิ์ต้องไปเลือกตั้ง ส.ส.เท่านั้น จะไปใช้เลือกตั้งอย่างอื่นไม่ได้
จัดมหรสพ-ชักชวนคนได้    
นายทวีศักดิ์กล่าวอีกว่า ยังมีการแก้ไขมาตรา 72 การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ กมธ.แก้ไขเป็นการหาเสียงด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ให้ยุติในเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง คือยุติไปพร้อมกับวิธีการเลือกตั้งอื่นๆ รวมทั้งมาตรา 75 ว่าด้วยเรื่องข้อห้ามในการหาเสียง กมธ.ตัด (5) ห้ามจัดมหรสพ งานรื่นเริงต่างๆ ออก ซึ่งหมายความว่าต่อไปนี้การหาเสียงสามารถใช้งานมหรสพได้ เนื่องจากมีการกำหนดจำนวนเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งอยู่แล้ว รวมทั้งได้ตัดวรรคท้ายของมาตรา 75 ที่ระบุว่า “การชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.มิให้ถือว่าเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง” ออกด้วย เนื่องจาก กมธ.กลัวจะไม่ส่งเสริมบรรยากาศการเลือกตั้ง
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ กมธ.ปรับแก้ไขมาตรา 2 ยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายทวีศักดิ์ชี้แจงว่า ระหว่างการพิจารณาของ กมธ. มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ออกมา ซึ่งมีเงื่อนเวลาชัดเจนให้พรรคการเมืองที่จะเกิดใหม่เริ่มต้นได้วันที่ 1 มี.ค.และพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมเริ่มต้นวันที่ 1 เม.ย. ประกอบกับยังมีคำสั่ง คสช.เดิมอีก 2 คำสั่ง คือ ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมพรรคการเมือง และห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หาก กมธ.กำหนดให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที หรือเริ่มนับ 150 วัน ขณะที่ยังไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช.จะเป็นผลเสียต่อพรรคการเมือง เช่นผ่านไป 2 เดือน คสช.ยังไม่ให้ประชุมพรรค พรรคการเมืองจะเหลือเวลา 90 วัน คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สังกัดพรรคการเมือง 90 วันก็จะมีปัญหาจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ทัน ยังไม่นับเวลาการทำไพรมารีโหวต 
“กมธ.จึงเห็นว่าต้องมีระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อดำเนินการตามข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งกำหนดว่าเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้คณะรัฐมนตรีทำความเห็นเสนอ คสช.ว่ามีกฎหมาย ประกาศ คำสั่งฉบับใดที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการพรรคการเมือง ให้ร่วมกันกำหนดแผนขั้นตอนต่างๆ เพื่อนำสู่การเลือกตั้ง โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธาน สนช.และอาจเชิญผู้แทนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย  กล่าวสรุปคือไม่อยากให้นับเวลาการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองรวมกับเวลา 150 วัน หากนับหนึ่งจะมีปัญหาทันที” นายทวีศักดิ์แจง
ถามต่อว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเวลา 90 วันตามที่ กมธ.ขยายจะเพียงพอ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ว่า คสช.จะปลดล็อกคำสั่งที่ 57/2557 ได้เมื่อไหร่ นายทวีศักดิ์ตอบว่า คาดการณ์ไม่ได้และฝากไปถาม คสช.ด้วย ส่วนคำถามที่ว่าทำไม กมธ.ไม่พยายามบอกให้ คสช.ปลดล็อกคำสั่ง แทนที่จะไปยุ่งโรดแมปการเลือกตั้งนั้น ขอให้ไปถามประธาน สนช.
เมื่อถามอีกว่าดูเหมือน กมธ.จะคิดแทนพรรคการเมืองว่าจะทำไม่ได้ตามเงื่อนไขเวลาเดิม นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ไม่เคยพูดว่าพรรคการเมืองจะทำไม่ได้ เพราะเชื่อว่าทำได้ทำทัน เนื่องจากเป็นผู้เล่นในกฎหมายดังกล่าว ถ้าตอบว่าทำไม่ได้ถือว่าพรรคการเมืองเสียรังวัด แต่ขณะนี้ประเด็นคือกติกาไม่ได้เปิดให้พรรคการเมืองทำ ถามว่าจะเสี่ยงเอา 150 วันทันทีเลยหรือไม่ หากกติกาไปเปิดหลัง 150 วันไปแล้ว พรรคการเมืองจะทำไม่ทัน ส่งผู้สมัครไม่ได้ ก็มีเวลาที่ กมธ.ขยาย 90 วันเผื่อเหลือเผื่อขาด
ถามอีกว่าการขยายระยะเวลาทำให้กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ถือเป็นการทำผิดสัญญาที่เคยประกาศจะมีเลือกตั้งเดือน พ.ย.หรือไม่ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบเรื่องสถานการณ์การเมืองได้ เพราะเกินหน้าที่ของ กมธ. นอกจากนี้ยังตอบแทนใครทั้งหมดไม่ได้ว่าได้รับไฟเขียวจาก คสช.หรือไม่ แต่เท่าที่รับรู้ตอบได้ว่าไม่มี
เมื่อถามอีกว่าก่อนหน้านี้นายกฯ ได้ประกาศต่อนานาชาติแล้วว่าจะเลือกตั้งในปีนี้ การแก้ไขกฎหมายจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศหรือไม่ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า คิดว่าความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่กับหลายฝ่าย ไม่ได้อยู่กับคนใดคนหนึ่ง ก็ไปช่วยถามท่านนายกฯ ด้วย
“กมธ.เป็นเพียงผู้กลั่นกรอง แต่คำตอบสุดท้ายอยู่ที่การประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค.นี้  ขอให้ทุกคนติดตาม” นายทวีศักดิ์ระบุ
แบไต๋อยากขยาย 180 วัน
นายทวีศักดิ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอของตัวเองที่เสนอแปรญัตติมาตรา 2 ให้ขยายเวลาเป็น 120 วัน  หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแตกต่างจาก กมธ.เสียงข้างมากที่กำหนดไว้เพียง 90 วันว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่ สนช.ออกไปและสุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ จึงต้องไปขอให้ คสช.มีคำสั่งขยายเวลา ซึ่งร่างกฎหมายนี้ก็เช่นกัน หากคิดขยายเวลาก็ควรให้พอเพียงให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมตัวได้ทัน  ซึ่งเห็นว่าเวลา 120 วันก็น่าจะพอเพียง และไม่ต้องให้ คสช.ใช้อำนาจแก้ปัญหาอีก   
“ความจริงน่าจะขยายเวลาไปถึง 6 เดือน หรือ 180 วัน แต่ยังไม่มีใครเสนอ จึงเอาเพียงแค่ 120 วัน  และในการประชุมวาระ 2 และ 3 วันที่ 25 ม.ค. ผมจะอภิปรายความจำเป็นว่าทำไมต้องขยายเวลาออกไป 120 วัน ส่วนสุดท้ายจะใช้ระยะเวลาเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.” นายทวีศักดิ์กล่าว
นายธานี อ่อนละเอียด กมธ.ที่เสนอแปรญัตติขยายเวลาเป็น 120 วัน กล่าวว่า เดิมตั้งใจจะขยายเวลาไปถึง 150 วัน แต่เห็นว่านายทวีศักดิ์เสนอ 120 วันก็เอาด้วย ส่วนเหตุผลทำไมจึงเสนอเวลาไปมากกว่า 90 วัน ขอชี้แจงผ่านการอภิปรายในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค. เนื่องจาก กมธ.ได้ตกลงกันว่าไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแถลงข่าวให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าจะเกิดความสับสน
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต.กล่าวถึงกรณี กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.มีมติแก้ไขให้จัดมหรสพในการหาเสียงเลือกตั้งได้ว่า เข้าใจว่า กมธ.เสียงข้างมากต้องการให้การเลือกตั้งเหมือนเป็นมหกรรม เป็นเทศกาลที่ทุกคนให้ความสนใจ แต่การให้จัดมหรสพสวนทางกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองที่ต้องการป้องกันธุรกิจการเมือง และทุนพรรคการเมือง ดังนั้นในการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาจึงมีประเด็นว่าทำอย่างไรที่จะลดต้นทุนในการเลือกตั้ง จนนำมาสู่การกำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดสถานที่ติดประกาศการหาเสียง ขนาดของป้าย และการจัดสรรเวลาออกอากาศ ซึ่ง กกต.ก็ได้เตรียมออกระเบียบประกาศต่างๆ รองรับไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ กมธ.เสียงข้างมากกลับจะให้ผู้สมัครสามารถจัดมหรสพหาเสียงได้ ซึ่งสวนทางกับแนวความคิดการปฏิรูปที่มีมากลายเป็นผู้สมัครที่มีเงินได้เปรียบ 
“อยากให้ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค.นี้พิจารณาทบทวนประเด็นดังกล่าวให้รอบคอบ การให้จัดมหรสพหาเสียงได้จะทำให้การปฏิรูปการเมืองมีปัญหา กลายเป็นว่าไม่มีการปฏิรูป นักการเมืองและพรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้ระบบทุน และสุดท้ายทุนก็เข้าครอบงำเหมือนที่ผ่านมา" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวและว่า หากที่ประชุม สนช.มีมติตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ก่อนตราเป็นกฎหมายต้องส่งมาขอความเห็น กกต.กับ กรธ. ซึ่งสำนักงาน กกต.กำลังพิจารณาดูว่ามีช่องทางจะมีความเห็นแย้ง ว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และจะเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาต่อไป
มาร์คปูดรู้ล่วงหน้านานแล้ว
    ส่วนความเห็นของซีกนักการเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  กล่าวถึงการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไป 90 วันว่า ทราบเรื่องนี้มาล่วงหน้า 2 สัปดาห์แล้ว เพราะมีคนมากระซิบบอกว่าเขาอยากเลื่อนเลือกตั้งโดยวิธีดังกล่าว จึงบอกคนที่มากระซิบข่าวนี้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้มีผลใน 150 วัน แต่พอมาเปิดรัฐธรรมนูญดูในภายหลังก็พบความจริงว่า มีการระบุว่าให้นับจากวันบังคับใช้ ไม่ได้นับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงเชื่อคนที่มากระซิบบอกข่าวว่าเรื่องนี้คงจริง แต่ไม่กล้าจะพูดอะไรก่อน เพียงแต่เข้าใจว่าฝ่ายที่อยากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปคงจะหาช่องทาง แล้วเขาก็พบช่องทางนี้
“ถ้ามีคนถามว่าผมรู้ล่วงหน้ามา 2 สัปดาห์แล้วทำไมไม่พูด ก็เพราะไม่มีใครมาถาม ซึ่งผมจะไปพูดก่อนก็ไม่ได้ เดี๋ยวเป็นการกล่าวหาการทำงานของเขา ทั้งที่ยังไม่มีมูล แต่ผมยืนยันว่ามีพยานที่ฟังอยู่ด้วย และก็ไม่ทราบว่า กมธ.ทราบมานานแค่ไหนว่ามีช่องทางนี้เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาหากมีการพูดถึงการเลื่อนเลือกตั้งก็จะมองว่าอาจคว่ำกฎหมายหรือไม่ ไม่เคยมีใครพูดถึงช่องทางนี้ แต่พอมีคนมากระซิบข่าวบอกผม แล้วผมมาดูรัฐธรรมนูญก็พบว่ามีช่องทางนี้อยู่จริงๆ โดยขั้นตอนนี้ไม่น่าจะเป็นขั้นตอนปกติในการพิจารณากฎหมาย ซึ่งพอมีข่าวเรื่องนี้มาก็มีคนออกมาปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็เป็นไปตามข่าวที่ออกมา จึงมีขั้นตอนที่ผิดปกติไม่เป็นธรรมชาติอยู่หลายอย่าง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลที่ กมธ.ให้มาจะเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วย ส.ส. แต่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองในเรื่องของการไม่ปลดล็อกมากกว่า ที่จะมาอ้างเรื่องการทำไพรมารีโหวตทันหรือไม่ทัน ถ้าห่วงพรรคการเมืองว่าจะทำไม่ทันจริงๆ ก็รีบปลดล็อกตั้งแต่ตอนนี้ ปัญหาขณะนี้ก็เพราะว่า คสช.ตัดสินใจยังไม่ปลดล็อก ดังนั้นทั้งหมดจึงไม่เกี่ยวกับกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ แต่มันพัวพันอยู่กับการไม่ปลดล็อก ทั้งหมดเป็นเรื่องการตัดสินใจของ คสช. ถึงแม้ว่าจะเป็นหน้าที่ของ สนช. แต่สำหรับ คสช.หากประสงค์อย่างใดก็สามารถแก้ไขและทำได้
เมื่อถามว่าการยืดเวลาออกไปอย่างน้อย 90 วันใครได้ประโยชน์ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เสียงร้องว่ามีปัญหามาจากผู้ที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ ส่วนตัว คสช.และ สนช.ก็อยู่นานขึ้น ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ  ซึ่งการอยู่นานขึ้นจะดีขึ้นหรือเลวลงนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารงาน ส่วนที่มองว่าขณะนี้มีฝ่ายที่อาจทำให้การเมืองยังไม่สงบ คสช.จึงไม่ยอมปลดล็อก แต่ คสช.ก็ไม่เคยพูดออกมาให้ชัดว่าเป็นคนกลุ่มไหนอย่างไร ซึ่งเท่าที่มองนั้นไม่เห็นว่าการยืดเวลาออกไปจะเกิดประโยชน์หรือแก้ปัญหานี้ได้เลย ในทางตรงข้ามการเลื่อนออกไปแบบไม่มีความชัดเจนกลับกลายเป็นว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ขัดแย้งวุ่นวาย 
“ถ้าการเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตัวทางการเมืองจะอันตรายมาก เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามขจัดออกไปโดยการปฏิรูป ดังนั้นถ้าไม่มีการให้ชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนว่า การเลื่อนเลือกตั้งจะมีผลประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไรบ้าง ก็จะมีคำถามจากสังคมอีกเป็นร้อยคำถาม” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนที่ กมธ.แก้ไขให้มีการใช้มหรสพหาเสียงได้นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แปลกใจว่าทำไมถึงกลับมาแนวทางนี้อีก ทั้งที่อยากให้ประชาชนทราบแนวคิดและนโยบายหาเสียงการเลือกตั้งอย่างสุจริตเที่ยงธรรม ทั้งนี้การใช้มหรสพมีการห้ามมานานแล้ว เนื่องจากมีการจูงใจอาจกลายเป็นช่องทางซื้อเสียงอีกรูปแบบหนึ่ง การทำแบบนี้จะเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ยุ่งยากในการตีมูลค่าพอสมควร ซึ่งเรื่องนี้ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าเรามีหลายแนวทางที่จะกระตุ้นให้คนสนใจในการเลือกตั้งมากกว่าการใช้มหรสพ
       นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า จะเลื่อนไปอีกกี่ปีกี่วันก็เป็นเรื่องที่ คสช.และรัฐบาลต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่เมื่อ สนช.บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้สั่งการ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนงุนงงมากยิ่งขึ้น โปรดอย่าได้คิดว่าคนไทยด้อยปัญญา เพราะยิ่งพูดก็จะทำให้ยิ่งเกิดปัญหาต่อสังคมในทุกๆ ด้าน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเห็นชัดว่า สนช.เป็นกระเดือกกับลูกคอมานานแล้ว และจากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจถูกตราหน้าในสังคมโลกอย่างหนักจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์เองในเวทีโลก และอาจกลายเป็นบุคคลไร้ความน่าเชื่อถือ 
“แม้จะเลยปี 2561ไปแค่วันเดียวก็จะเป็นปัญหา ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงที่รัฐบาลหรือ พล.อ.ประยุทธ์หรือ สนช.ไม่อาจรับผิดชอบ เครดิตของประเทศจะติดลบในทุกๆ ด้านอย่างมีนัยสำคัญ ที่จะส่งผลต่อปากท้องของประชาชนต่อไปนับจากนี้ เพราะผู้ค้าและนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มเห็นถึงธาตุแท้ของรัฐบาลนี้ ที่จะรู้สึกว่ามีแต่คำหลอกลวงสับปลับ พูดอย่างทำอย่างอาจกลายเป็นโมฆบุรุษ ทำให้เชื่อถืออะไรไม่ได้” นายจิรายุกล่าว
แขวะ ปชป.ไบโพลาร์
       นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสมาชิกพรรค พท.กล่าวว่า จุดยืนของ นปช.คือสนับสนุนการเลือกตั้งและนำพาบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ไม่เคยเชื่อและไม่เคยยอมรับว่าอำนาจเผด็จการจะทำเรื่องนี้ได้ การพูดแบบนกแก้วนกขุนทองของแม่น้ำ 5  สาย ว่ากำลังสร้างระบบและกติกาที่ทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นเรื่องห่างไกลความจริงมาก เพราะถ้าดูตามเนื้อหารัฐธรรมนูญและส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ชัดเจนว่ามีเป้าหมายให้เกิดนายกฯ คนนอก  หรือถ้าฝ่ายการเมืองตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องเจอกับดักอำนาจมากมายจนแทบง่อยเปลี้ยเสียขา ทั้งนี้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์จึงไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม เจตนาขัดหลักการประชาธิปไตย มีเป้าหมายสืบทอดอำนาจ ต่อให้ไม่ซื้อเสียงกันสักบาทก็เรียกว่าการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ได้
     “หาก สนช.มีมติยืดเวลาออกไปอีก 90 วัน นปช.ก็ไม่คิดเคลื่อนไหวเรียกร้องใดๆ เพราะขณะนี้กำลังพบเห็นคนบางกลุ่ม ทั้งพรรคการเมืองหรืออื่นๆ มีอาการไบโพลาร์ทางการเมือง คือบางทีเรียกหารัฐประหาร บางวันต้องการประชาธิปไตย บางครั้งบอยคอตเลือกตั้งและขัดขวางไม่ให้คนอื่นไปเลือก แต่บางคราวอยากเลือกตั้ง ใครดึงใครยื้อก็รับไม่ได้ จึงเป็นโอกาสดีที่กลุ่มอาการไบโพลาร์ทางการเมืองนี้จะบำบัดอาการให้หายขาด โดยสื่อสารกับตัวเองและสังคมให้ชัดว่า ยังเชื่ออยู่หรือไม่ว่าเผด็จการจะแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือปราบคอร์รัปชันได้ ระหว่างระบบเลือกตั้งที่ตัดสินใจเลือกเองและไล่เองได้ กับลากตั้งที่ไม่ได้เลือกและแตะต้องไม่ได้ จะเอายังไง” นายณัฐวุฒิกล่าว
      นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอบคุณ สนช.บางท่านที่เห็นว่าเพื่อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง เรื่องนี้พรรคการเมืองพร้อมอยู่แล้ว น่าจะเป็นประโยชน์ของพวกท่านมากกว่าหรือไม่ เพราะได้ยืดเวลาต่อไป น่าจะเป็นแท็กติกในการอยู่ในตำแหน่งของ สนช.และรัฐบาล สนช.บอกว่าทำเพื่อ กกต. เพื่อพรรคการเมือง แต่ สนช.เคยมาถาม กกต. พรรคการเมืองก่อนหรือไม่ เชื่อว่า กกต.และพรรคการเมืองไม่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวแน่นอน ไม่ต้องขยายเวลา 
“พล.อ.ประยุทธ์ให้สัญญาประชาคมไว้หลายครั้ง ล่าสุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาว่าจะยึดตามโรดแมป  มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 นี้ หากมีการเลื่อนออกไปอีกจะทำให้หลายฝ่ายไม่เชื่อมั่น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ ขอให้ สนช.ยกเลิกแนวคิดดังกล่าว ขอให้ คสช.เดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแมปที่ได้สัญญาเอาไว้ หรือหากต้องการสืบทอดอำนาจ ขอให้ตั้งพรรคการเมืองและเชิญชวน สนช.ที่มีคุณภาพมาลงเลือกตั้งด้วย ภาพจะออกมาสวยกว่าและไม่ถูกใครว่าได้และไม่อายใคร” นายก่อแก้ว
วันเดียวกันที่ศูนย์บริการประชาชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) นายศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ใช้อำนาจยับยั้งการใช้อำนาจของ สนช.และคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 ให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะจะทำให้โรดแมปเลือกตั้งต้องเลื่อนไปจากกำหนดเดิม พ.ย.61 เป็นช่วงต้นปี 2562 ดังนั้นขอให้นายกฯ ส่งสัญญาณไปยัง สนช.ให้อย่าดำเนินการเพราะจะกระทบความเชื่อมั่น
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า สมาคมฯ ยังยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบท้องถิ่น และร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จำนวน 6 ฉบับ เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขคุณสมบัติผู้สมัครสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น ที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 5 ปี สมาคมฯ เห็นว่าไม่ได้บ่งบอกถึงว่าบริหารงานเป็นหรือไม่ ปัจจัยอยู่ที่ความรู้ความสามารถ รวมถึงคุณสมบัติที่ปรับให้เทียบเท่า ส.ส.นั้น หากพิจารณาจะเห็นว่า ส.ส.กับสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นมีภารกิจอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจึงควรยืนตามร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลัก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"