หนุนพลังจิตอาสา เดินหน้าสานความดี


เพิ่มเพื่อน    

                เมื่อเอ่ยถึงพลังจิตอาสา ย่อมหมายถึงการกระทำเพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้และเป็นสังคมที่มีการให้ แบ่งปันซึ่งกันและกัน คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็ก เยาวชนได้รับการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้อนาคตของชาติเติบโตเป็นพลเมือง ที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

                “เราทำความดีด้วยหัวใจ” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างกิจกรรมดีๆ ของศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ารุ่นน้องรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสา เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 66 พรรษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 โดยร่วมกันนำความรู้ ความสามารถ และทักษะ มาใช้ปรับปรุง สร้าง อาคาร พื้นที่และภูมิทัศน์ภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชนป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และชุมชนป่าละอู โฮมสเตย์ ให้การสนับสนุน  

                นายประโยชน์ พรหมสุวรรณ ประธานกลุ่มป่าละอู โฮมสเตย์ กล่าวว่า ป่าละอูเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งเรื่องความสวยงามตามธรรมชาติ และความน่าสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมที่คนรุ่นใหม่ควรได้เรียนรู้ และช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์รักษาเอาไว้

                “สำหรับป่าละอูคือสถานที่ประวัติศาสตร์ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จฯ มาที่นี้ถึง 9 ครั้ง และเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ ซึ่งชุมชนยึดแนวการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงท่ามกลางพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเกษตรกรรมและปศุสัตว์ มีอากาศที่ดี บริสุทธิ์ และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เองอยากแบ่งปันความสุข ให้ประชาชนทั่วประเทศได้เข้ามาเยี่ยมชมสัมผัสวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติในลักษณะนี้ น้องๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรมอาสาก็ได้เรียนรู้แนวทางการดำรงชีวิต หลักคิด รวมถึงวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่ด้วยเช่นกัน  และได้ทำกิจกรรมจิตอาสาด้วยการสร้างประโยชน์ไว้ให้ประชาชนคนทั่วไปด้วยการสร้างห้องน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งนับเป็นการนำความรู้มารับใช้สังคมอย่างน่าชื่นชม” 

                ประธานกลุ่มป่าละอู โฮมสเตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น้องๆ ได้เข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในท้องถิ่น นั่นคือทุกคนทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ในการทำงานบูรณาการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสังคมและส่วนรวมผ่านกิจกรรมที่สำคัญ

                “ผมคิดว่าน้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมอาสาในครั้งนี้จะได้เรียนรู้ชีวิต วิถีวัฒนธรรมของพี่น้องชุมชนกะเหรี่ยงในชุมชนป่าละอู ซึ่งขณะนี้พวกเราทุกคนอยากจะอนุรักษ์รักษาเอาไว้ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณีต่อไป” นายประโยชน์กล่าว 

                ด้านนายโชติจุฑา อาจสอน นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย เล่าว่า กิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ” เป็นกิจกรรมพี่ชวนน้องทำความดีตามรอยพ่อ ถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต และเป็นการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านจิตอาสาของบรรดาน้องพี่ชาวอุเทนถวาย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทำกิจกรรมสร้างฝายร่วมกันที่จังหวัดเพชรบุรี การทาสีกำแพงวัดต่างๆ นี่คือความตั้งใจจริงของพวกเรา เพราะการทำงานจิตอาสาไม่เหมือนการทำงานอื่นๆ แตกต่างจากการทำงานตามหน้าที่หรือการกำหนด แต่จิตอาสาเป็นความตั้งใจจริงที่ออกมาจากหัวใจ ออกมาทำงานสร้างสังคมในรูปแบบต่างๆ

                “ผมคิดว่านี่คือการบ่มเพาะจิตใจ ความเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมให้กับน้องๆ และที่สำคัญนั่นคือการสร้างคนที่มีคุณภาพสู่สังคม เพราะเมื่อเรามีจิตอาสา มีจิตใจเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวม ก็จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้น” นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวายกล่าว

                ด้านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษามูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญพลังของจิตอาสา โดยเฉพาะจากเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจว่า พลังจิตอาสาของน้องๆ อุเทนถวายเป็นตัวอย่างของการทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวม คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน  มุ่งมั่นที่จะทำความดีเป็นปฏิบัติบูชา  

                สิ่งเหล่านี้คือการปูพื้นในการปฏิบัติที่มิได้เป็นแค่วาทกรรม แต่เป็นการลงมือทำให้เกิดรูปธรรมที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายในทิศทางการศึกษาของเยาวชนในรูปแบบใหม่ที่เรียนรู้ ปฏิบัติ ทดลอง สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเราเรียกว่า การศึกษาที่สมบูรณ์

                “วิชชาจรณสัมปันโน นั่นคือ การถึงพร้อมสมบูรณ์ด้วยความรู้ การปฏิบัติ และนำไปสร้างประโยชน์ เพราะน้องๆ นักศึกษามีความรู้และนำไปสู่การฏิบัติในพื้นที่ชุมชน ทำให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ ในขณะที่ท้องถิ่นหรือชุมชนเองก็มีความรู้ชุดหนึ่ง อาจจะมีความกระจัดกระจาย อันจะนำมาซึ่งการเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ เกิดประโยชน์ รวมถึงได้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและเป็นกำลังใจให้กันทั้งคนทำงานและชาวบ้าน ซึ่งหากเราบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจตรงนี้ได้ เรื่องความรุนแรง การทะเลาะวิวาท ก็แทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะพื้นที่ดีๆ จะเข้ามาแทนที่” ศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวปิดท้าย

                มั่นใจว่าพลังจิตอาสาจะทำให้สังคมมีการแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งทำให้บ้านเมืองเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น.

 

อบรมนักพากย์รุ่นเยาว์ ควบคู่งดเหล้าเมืองน่าน

                เมื่อเร็วๆ นี้ พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน ประธานเปิดกิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ครั้งที่ 5 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับเครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข เพื่อสืบสานวิชาพากย์เรือจากนักพากย์รุ่นใหญ่ เกิดนักพากย์เรือรุ่นเยาว์ เป็นโครงการที่สามารถทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งานแข่งเรือปราศจากการดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณจัดงาน ส่งต่อไปยังงานบุญประเพณีอื่นๆ ตลอดจนพัฒนาช่องทางและกลไกสื่อสารให้เครือข่ายเยาวชนนักพากย์เรือสร้างสุขเข้าไปมีบทบาทรณรงค์ให้งานประเพณีแข่งเรือยาวปลอดเหล้า เบียร์ และการพนัน ซึ่งการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนนักพากย์เรือทั่วประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง และครั้งที่เป็นครั้งที่ 5

                นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า ทุกปีช่วงแข่งเรือ โรงพยาบาลน่านมีการเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุมาตลอด ลูกหลานจะปลอดภัยจากมาเที่ยวงานมีการดื่มหรือไม่ ทางเทศบาลจึงตัดสินใจทำงานแข่งเรือปลอดเหล้า ทางจังหวัดก็ให้การสนับสนุน ประกอบกับมี สสส.เข้ามารณงค์ร่วมจัดงานแข่งเรือปลอดเหล้า ในฐานะเจ้าภาพสนามแข่งเรือ และในระหว่างการทำงานรณงค์งดเหล้า ได้มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 4,000 คน จาก 28 ชุมชน มาหย่อนบัตรแบบสอบถามความคิดเห็น ผลออกมาว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการแข่งเรือปลอดเหล้า 95% จากนั้นขยายผลไปสู่กิจกรรมประเพณีอื่นๆ ทำให้สถิติอุบัติเหตุลดลง และไม่มีการเสียชีวิตอีกเลย การทำงานมีการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนในพื้นที่ด้วย

                นายราเชนทร์ กาบคำ นายกสมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน กล่าวถึงการบริหารจัดการแข่งขันเรือจังหวัดน่าน ภายหลังที่มีการรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้า-เบียร์ และสนับสนุนโครงการนักพากย์เรือเยาวชน เจ้าของเรือและฝีพาย ต่างเห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อทั้งสุขภาพของคนดื่ม และยังมีผลต่อสภาพความเป็นอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ ปัญหาครอบครัว คนเรือส่วนใหญ่ต่างขานรับนโยบายที่จังหวัดน่านจัดให้การแข่งขันเรือปลอดเหล้า-เบียร์ เมื่อมีการรณรงค์ทุกปีอย่างต่อเนื่อง มีเด็กเยาวชนช่วยกันสอดส่องขอความร่วมมือไม่ให้ดื่มในบริเวณสถานที่แข่งเรือ ทำให้ทุกปีไม่มีคนนำเข้ามาดื่มในสนามแข่งเรือ อย่างไรก็ตาม การปลูกฝังงานบุญประเพณี วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่น่ายินดี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส.และเครือข่ายงดเหล้า สร้างเสน่ห์งานบุญประเพณีแข่งเรือ วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ และพร้อมที่จะรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"