คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงที่สังคมไทยต้องสนับสนุนให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งขยายผลไปสู่การบำบัด ฟื้นฟูสุขภาวะให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพไม่เป็นภาระให้ใคร
เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ โดยศูนย์แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นรูปธรรมทางนโยบายภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปี (พ.ศ.2559-2560) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2559 ทั้งยังสะท้อนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านร่วมกันของภาครัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคประชาสังคม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2554 เพราะเห็นว่าคนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ที่ต้องสนับสนุนทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการฟื้นฟูสุขภาวะให้สามารถตั้งหลักชีวิตด้วยตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 3 พื้นที่นำร่องการดำเนินงานสำคัญของ สสส.และภาคีเครือข่าย โดย สสส.หนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งในเชิงข้อมูลเชิงประชากร และโมเดลการดูแลฟื้นฟูและเสริมศักยภาพคนไร้บ้าน ทั้งทางด้านสุขภาพและอาชีพที่ต้องมีความเหมาะสมกับระยะของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไร้บ้านถาวร เนื่องจากคนไร้บ้านในแต่ละช่วงมีลักษณะทางประชากรและระดับปัญหาทางสุขภาพที่แตกต่างกัน
นางภรณีกล่าวต่อว่า จากการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่ามีคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จำนวน 75 คน แม้คนไร้บ้านเชียงใหม่จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร (1,307 คน) แต่ก็มีสภาพปัญหาทั้งในทางคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่น่ากังวลกว่าคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร เช่น คนไร้บ้านเชียงใหม่ติดสุราสูงถึงร้อยละ 64 ขณะที่คนทั่วไปมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 คนไร้บ้านเชียงใหม่สูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 62 ขณะที่คนทั่วไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18 คนไร้บ้านเชียงใหม่กว่าร้อยละ 70 เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคมะเร็งปอด เป็นต้น
นอกจากนี้ พบว่าคนไร้บ้านเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 20 ของคนไร้บ้านรวมในแต่ละปี สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดมาจากโรคปอดและการติดเชื้อทางเดินหายใจ สะท้อนให้เห็นว่าการอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ
กระบวนการหนึ่งที่ สสส.ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพคนไร้บ้านคือ การชักชวนให้คนไร้บ้านที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ มาทดลองทำแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งพบว่าทำให้คนไร้บ้านลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ได้ในที่สุด นอกจากนี้ ผลิตผลที่ปลูกได้ยังนำมาทำอาหารสำหรับตนเอง และแจกจ่ายคนไร้บ้านอื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ที่เหลือยังขายสร้างรายได้อีกด้วย”
นางนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงการทำงานประเด็นคนไร้บ้านของมูลนิธิว่า มูลนิธิเป็นองค์กรที่ทำงานกับคนจนเมืองเป็นหลัก เริ่มทำงานกับคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ด้วยเห็นว่าคนไร้บ้านเป็นคนจนเมืองที่จนที่สุด เป็นกลุ่มคนที่ประสบภาวะยากลำบากที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมือง มูลนิธิทำงานภายใต้ความคิดที่ว่า “คนทุกคนสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้” ไม่ว่าจะจนหรือจะลำบากสักเพียงใด การทำงานจะเน้นในด้านของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เน้นการเสริมศักยภาพที่ไม่ใช่การสงเคราะห์ เพื่อดึงศักยภาพของกลุ่มคนไร้บ้านออกมาจนสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ รวมถึงสามารถยกระดับในการเปลี่ยนแปลงสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอื่นๆ”
นางนพพรรณกล่าวเสริมถึงการทำงานที่เชียงใหม่ว่า “มูลนิธิได้เริ่มมาทำงานกับคนไร้บ้านที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2551 เราคิดว่าคนไร้บ้านไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯ ในหัวเมืองอย่างเชียงใหม่และหัวเมืองอื่นๆ ก็มีคนไร้บ้านเช่นเดียวกัน การทำงานกับคนไร้บ้านในเชียงใหม่มีกระบวนการและจุดเน้นเดียวกับการทำงานในกรุงเทพฯ ทั้งทำงานเพื่อการสร้างเครือข่าย และการเสริมศักยภาพ ซึ่งพิสูจน์ได้อยู่ว่า ถ้าเราทำงานเต็มที่ เขาจะเป็นมีคนมีคุณภาพได้ ศูนย์คนไร้บ้านเชียงใหม่ในวันนี้เป็นบทพิสูจน์เชิงรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นการเสนอรูปแบบการพัฒนาจากเครือข่ายคนไร้บ้านและภาคประชาชนเป็นหลัก มีหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมเป็นเพียงคนสนับสนุน เป็นนโยบายจากล่างขึ้นบนที่แท้จริง
หากสังคมให้โอกาสอย่างเท่าเทียม มีความเข้าใจการเป็นคนไร้บ้าน สร้างโอกาสการทำงานและรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการต่างๆ ก็เชื่อว่าคนไร้บ้านจะมีหนทางกลับมามีคุณภาพได้ในสังคมของเรา.
เปิดผลวิจัยแพทย์ลอนดอน บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกสูบได้
จากกรณีวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) ตีพิมพ์รายการศึกษาวิจัยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2018 ระบุรายละเอียดว่า คณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยมะเร็งและพฤติกรรมสุขภาพ มหาวิทยาลัยลอนดอน (Cancer Research UK Health Behavior Research Center University College London) ทำการติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า ในชาวอังกฤษอายุมากกว่า 16 ปี จำนวน 199,483 คน ที่มี 43,608 คนเป็นผู้เสพติดบุหรี่ การศึกษานี้ทำการติดตามระยะยาวถึงความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือการใช้ยานิโคติน (NRT) ช่วยเลิกสูบบุหรี่ กับการสูบบุหรี่ธรรมดาที่ลดลง หรือเลิกสูบชั่วคราว
ผลพบว่า ระหว่าง ค.ศ.2006-2016 อัตราการสูบบุหรี่ลดลงเล็กน้อยจาก 13.6% เหลือ 12.3% ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่เกือบไม่มีในปี ค.ศ.2006 ขึ้นมาเป็น 17.1% ในปี 2016 ผู้วิจัยสรุปผลว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือนิโคตินทดแทนรูปแบบอื่น ส่งผลให้การสูบบุหรี่ในอังกฤษลดลงน้อยมาก
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคี สสส. แสดงความคิดเห็นว่า งานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนนักวิชาการฝ่ายที่กังวลว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจไม่ได้ช่วยลดปัญหาการสูบบุหรี่ในภาพรวมตามที่ฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเชื่อหรือกล่าวอ้าง จะเห็นว่าอังกฤษซึ่งใช้นโยบายเปิดกว้างและสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ธรรมดา เพื่อลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ (Harm reduction) จนอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 17.1% ในช่วงเวลา 10 ปี แต่อัตราการสูบบุหรี่และจำนวนมวนบุหรี่ธรรมดาที่ผู้สูบบุหรี่สูบต่อวันไม่ได้ลดลง
ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศไทยมีถึงประมาณ 2.9 ล้านคน การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยการติดตามข้อมูลการวิจัยจากประเทศต่างๆ ที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ควรผลีผลามให้เยาวชนไทยเป็นด่านหน้าทดลองการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |