วันที่ 14 ส.ค. นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่า นายแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) พ.ศ.2542 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 18.05 ณ โรงพยาบาลรามคำแหง เขตบางกะปิ จ.กรุงเทพฯ เนื่องจากหัวใจวาย สิริรวมอายุ 100 ปี 3 เดือน ซึ่งทายาทได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 15 สิงหาคม เวลา 16.00 น. พร้อมสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 18.00 น. ณ ศาลาอาภรณ์-พ่วงจินดา วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กทม. และมีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม เวลา 19.00 น. ณ ศาลาอาภรณ์-พ่วงจินดา วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กทม. โดยทายาทได้เก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และจะขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
นางพิมพ์รวี กล่าวว่า นับเป็นการสูญเสียครูผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีทั้งความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของวงการภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่งของไทย ซึ่งภาพยนตร์ทุกเรื่องของนายแท้ ประกาศวุฒิสาร สร้างเรียกว่าประสบความสำเร็จทั้งด้านคุณภาพและความนิยมของประชาชน อาทิ เห่าดง ปาหนัน และสาวเครือฟ้า เป็นต้น โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมทำบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาทและดำเนินการเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพให้
สำหรับประวัติศิลปินแห่งชาติ นายแท้ ประกาศวุฒิสาร เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2461 ได้ศึกษาการถ่ายภาพยนตร์กับขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต ต่อมา ได้ริเริ่มสร้างภาพยนตร์เป็นครั้งแรกเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร ปาหนัน เห่าดง ฯลฯ และเรื่องสาวเครือฟ้า ซึ่งนายแท้ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ให้นำภาพยนตร์เรื่องสาวเครือฟ้า ฉายเพื่อทอดพระเนตรที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังสวนดุสิต ประกอบเสียงเพลงโดยนายแท้ ประกาศวุฒิสาร ก่อนที่ภาพยนตร์จะฉายนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสผ่านท่านราชเลขานุการในพระองค์ว่า ให้พากย์โดยใช้คำพูดทุกอย่างให้เหมือนกับพากย์ให้ประชาชนชมในโรงภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์ทุกเรื่องประสบความสำเร็จทั้งด้านคุณภาพและความนิยมของประชาชน
นายแท้เป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์คนสำคัญคำหนึ่งของไทย ได้ริเริ่มนำวิธีสร้างภาพยนตร์ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีคุณภาพสูงมาใช้ในเมืองไทย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เทคนิคต่างๆ ให้แก่ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ผลงานบุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ยังเป็นที่ยกย่องของการภาพยนตร์ พร้อมทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้เทคนิคต่าง ๆ ให้แก่นิสิต, นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาให้แก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ และผู้ที่ต้องการความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับภาพยนตร์) พ.ศ.2542
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |