14ส.ค.61-"หมออุดม" ลั่นยอมไม่ได้ หากร่างพรบ.อุดมศึกษาฯสะดุดเพราะปัญหาขัดแย้ง "มหาวิทยาลัย-สภาวิชาชีพ"ตกลงกันไม่ได้ เผยพร้อมตัดมาตรา 64 ออกได้ทันที ย้ำสภาวิชาชีพไม่จำเป็นต้องกำหนดรายละเอียดการเรียนการสอน ควรเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ....แล้วนั้น ในส่วนของการทำความเข้าใจกับสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพทั้ง 11 แห่ง ในเรื่องการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งตนคิดว่ามหาวิทยาลัยและสภาวิชาชีพ มีความจำเป็นที่จะต้องหารือร่วมกัน แต่ก็ยังคงยึดหลักการว่า สภาวิชาชีพไม่จำเป็นต้องเข้ามากำหนดในรายละเอียด เช่น ต้องเรียนจำนวนกี่หน่วยกิต ซึ่งในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยก็น่าจะมีอิสระในการจัดการเรียนการสอน และตนคิดว่าคงไม่ต้องรอให้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมเสร็จแล้วถึงจะหารือทำความเข้าใจกัน และหากจะหารือกัน ก็ต้องกำหนดวิธีการใหม่ โดยไม่มองแต่จุดเสีย หรือ ตำหนิกันและกัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ก็คงไม่มีใครสมบูรณ์แบบทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องช่วยเหลือกันและกัน โดยแยกบทบาทหน้าที่กันให้ชัด ทำงานแบบร่วมมือกันทำ เพราะความจริงแล้วมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักสูตร หรือกระบวนการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และต้องอยู่ในกฎเกณฑ์วิชาชีพที่กำหนดให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หากไม่ได้ก็จะเสียหาย ทั้งนี้สำหรับคนกลางที่ทำหน้าที่ประสานในการหารือนั้นคิดว่า ตนคงต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานให้มหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพมาพูดคุยกัน
"ถ้านิสิตนักศึกษาของเราจบไปไม่ได้มาตรฐานตามที่สภาวิชาชีพกำหนด ก็จะทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยเองถึงก็จำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนตามที่สภาวิชาชีพกำหนดแน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากระบวนการจะทำอย่างไร โดยที่สภาวิชาชีพไม่จำเป็นต้องเข้ามากำหนดในรายละเอียด เพราะสิ่งสุดท้ายสิ่งสำคัญคือ นิสิตนักศึกษา สามารถสอบผ่านและรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้ "รมช.ศธ.กล่าว
นพ.อุดมกล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวตนคิดว่ามหาวิทยาลัย กับสภาวิชาชีพ ควรคุยก่อน ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ... จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้ค่อนข้างเป๊ะ ซึ่งขณะนี้กรอบความคิดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ค่อยตรงกัน แต่ก็มั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ... จะไม่สะดุด แต่หากจะสะดุด ก็คงเรื่องเกี่ยวกับสภาวิชาชีพ แต่ตนยอม ให้ตัดมาตรา 64 ได้ เพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ผ่านความเห็นชอบ .