ชำแหละปฏิรูปตร.หมกเม็ด สกัดอัยการ-ไม่แก้จับแพะ


เพิ่มเพื่อน    

    วงเสวนาชำแหละร่าง พรบ.ปฏิรูปตำรวจ 2 ฉบับซ้อนกล หมกเม็ด ไร้เดียงสา ขี้หมูราขี้หมาแห้ง ชี้ไม่เปิดช่องให้อัยการเห็นสำนวน-ถ่วงดุลตั้งแต่เกิดเหตุ แต่กำหนดเงื่อนไขโทษ 10 ปี แถมต้องให้แจ้งข้อหาก่อน ยันผิดหลักสากลที่ไม่ให้ฝ่ายใดผูกขาดการสอบสวนเบ็ดเสร็จแล้วเป่าสำนวนโดยลำพัง  ไร้หลักประกันการจับแพะ ย้อนถามทำไมกลัวอัยการเห็นสำนวน หวั่นคดีจะหมดอายุความแต่ให้ฟ้องไปก่อนผลักภาระสร้างความเดือดร้อน ปชช. 
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 13 สิงหาคม เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดเสวนาหัวข้อ "ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?" โดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า สิ่งที่ยังไม่เห็นในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา คือ 1.ไม่มีหลักความอิสระของพนักงานสอบสวนทั้งในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา 2.หลักการสำคัญอัยการจะต้องรู้ข้อเท็จจริงแต่เริ่มต้น เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างว่ามีพยานเพียงพอไปสู่การฟ้องร้องคดีหรือไม่ เท่าที่ดูในร่างกฎหมายซ้อนกลพอสมควรให้เข้าไปในคดีใหญ่ และอัยการจะเข้ามาได้ต่อเมื่อตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา  
    "กระบวนการเช่นนี้ความยุติธรรมก็สูญหายไปแล้ว เพราะคดีที่ตำรวจไม่แจ้งข้อกล่าวหาก็จบไประหว่างทาง เพราะหลักสากลเขาต้องไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกุมอะไรแล้วเป่าได้เพียงลำพัง ในต่างประเทศถ้ามีการร้องเรียนมาเขาต้องสำเนาส่งให้อัยการ 1 ชุด เพื่อให้อัยการได้รู้ตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหา อัยการประสงค์จะลงมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ทำได้ ณ นาทีนั้น สะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น แต่ในมาตรา 15 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่เขียนไว้ว่าพนักงานอัยการจะลงมาก็ต่อเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ถามว่าถ้าพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการแจ้งคดี แสดงว่าอัยการไม่มีโอกาสเข้ามาถ่วงดุลตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งนี้เป็นหลักสากลที่ต้องให้งานสอบสวนกับอัยการเป็นเรื่องเดียวกัน  อัยการจะถ่วงดุลได้อย่างไรถ้าเห็นแค่ในสำนวน"
    นายบรรเจิดกล่าวต่อว่า 3.คดีอาญาเชื่อมโยงประชาชน โดยให้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการสอบสวนอย่างในต่างประเทศ เพราะหากพบว่ามีการสอบสวนที่ไม่ชอบก็สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการดังกล่าวนี้ได้ เพราะจากเดิมตำรวจมีช่องทางร้องเรียนเฉพาะเรื่องทั่วไปเท่านั้น จึงอยากเสนอให้มีช่องทางร้องเรียนเฉพาะเรื่องการสอบสวนโดยตรง ส่วน กต.ตร.เป็นเรื่องร้องเรียนทั่วไป จึงเป็นภาพที่เบลอมาก 4.สร้างหลักประกันให้ผู้เสียหาย กำหนดให้ในกรณีไม่ฟ้อง สามารถมอบสำนวนให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องเองได้ 
     5.ใน ม.22 เรื่องกรณีจะขาดอายุความ ที่ให้ฟ้องร้องไปก่อน เป็นการเอาเสรีภาพประชาชนเป็นตัวประกัน เป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่เป็นจำเลยไปว่าเอาข้างหน้า ทั้งที่ควรให้มีการแสดงความรับผิดชอบของภาครัฐในการแสวงหาความจริง ไม่ใช่โยนให้ประชาชนหรือไปที่ศาล 6.ควรเขียนเพิ่มเติมให้อัยการสามารถเข้ามาสอบสวนร่วมกับตำรวจได้ หากผู้เสียหายร้องขอเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการสอบสวน  
     7.การจัดโครงสร้างตำรวจไปรวมกับโครงสร้างราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดควรมีอำนาจสั่งการตำรวจในจังหวัดในพื้นที่ได้ เช่นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่มีอำนาจสั่งการกรณี 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไม่มีการแยกแยะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจที่จะเข้าไปบริหารความยุติธรรมให้ประชาชนแต่อย่างใด 
    "ถ้าทำตาม 7 ข้อถึงจะตอบโจทย์ประชาชนได้ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ตรวจสอบได้" นายบรรเจิดกล่าวและว่า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพยายามเขียนอ้อมไปอ้อมมา จะให้อัยการเข้ามาสอบสวน มีบทบาทร่วมสอบสวน แต่เกรงว่าเขียนจะไปซ้ำรอยดีเอสไอ เพราะสุดท้ายไม่ได้ให้อัยการเข้ามาร่วมตรวจสอบพิสูจน์ความจริง
อ้างงานเยอะแต่ไม่โอน
    ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ได้เห็นใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คือการโอนตำรวจไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบ ซึ่งถูกกำหนดไว้ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ตั้งแต่ปี 45 แล้ว และใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 47 สปช.ก็มีมติให้โอน 11 หน่วย ครม.ก็รับทราบเมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 แต่ในร่างกฎหมายดังกล่าวนี้มีการโอนแค่ผิวเผิน เช่น ยุบตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ขณะที่ตำรวจจราจร กทม. และเทศบาลนครจะโอนภายใน 5 ปี ไม่สมกับยุค 4.0 ความจริงไม่ควรเกิน 3 ปี ไม่เข้าใจว่าตำรวจชอบอ้างว่างานเยอะ แต่เหตุใดไม่ยอมโอนภารกิจ ดังนั้นหากมีการโอนตำรวจก็จะทำให้ภารกิจและงานต่างๆ  ของตำรวจลดลง 
    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังไม่มีการประกันความอิสระของตำรวจ การแยกสายงานสอบสวนก็ดีขึ้นระดับหนึ่ง ที่ไม่เขียนหลักประกันความอิสระเพราะไม่ต้องการให้พนักงานสอบสวนมีอิสระ จึงแยกท่อนให้อยู่ในระบบยศแบบเดิม มีแต่คำว่าอิสระที่เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรูเท่านั้น โครงสร้างตำรวจจังหวัดก็ไม่มี ทุกวันนี้ ผบก.จังหวัดก็ไม่เข้าประะชุมกับผู้ว่าฯ นายกรัฐมนตรีบอกว่าผู้ว่าฯ เป็นเหมือนนายกฯ ในจังหวัด แต่ผู้ว่าฯ กลับสั่งตำรวจในจังหวัดไม่ได้ ตำรวจกลายเป็นองค์กรอิสระในจังหวัด จึงไม่แปลกใจที่ผู้ว่าฯ อดหลับอดนอนไปจับสถานบันเทิงเอง บอกให้ตำรวจรู้ก็ไม่ได้ 
    "ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา สิ่งที่ขาดหายไป พนักงานสอบสวนเฉพาะทางไม่เกิดขึ้น จริงๆ เติมถ้อยคำ ประโยคเดียวจบข่าวง่ายๆ คือ กระทรวง ทบวง กรมได้ ที่เป็นเจ้าพนักงานสอบสวนให้มีอำนาจสอบสวนให้ดำเนินการได้ ซึ่งไม่ได้ตัดอำนาจสอบสวนตำรวจ แต่ตำรวจก็ขัดขวาง เช่นคดีปุ๋ยปลอมที่กระทรวงเกษตรฯ ฟ้อง แต่ส่งให้ตำรวจสอบสวนล้มหมดเลย"    
    ส่วนประเด็นเรื่องการทำงานสุจริตและยุติธรรมในมาตรา 14, 15 โดยไม่มีหลักประกันว่าการจับแพะจับแกะจะไม่เกิดขึ้น เพราะการแจ้งข้อหายังเป็นตำรวจ แต่ไปเขียนให้ดูดีนิดหน่อยที่ระบุว่า "ในการแจ้งข้อหาพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาที่ยังมิได้มีหลักฐานพอสมควรที่แสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะได้กระทำความผิดนั้นมิได้" จริงๆ ไม่ต้องเขียนเพราะ ป.วิ.อาญามีอยู่แล้ว ทำให้ดูดีแต่ไม่มีอะไร และถือว่าผิดหลักสากล เพราะเราต้องเริ่มจากหลักทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วดำเนินคดีที่ใช้หลักสิ้นกระแสความสงสัยแต่ในศาล ทำไมเราไม่เริ่มกระบวนการสอบสวนให้สิ้นความสงสัยตั้งแต่ชั้นตำรวจก่อนแจ้งข้อหา  เราก็สอบไปเรื่อยๆ คนก็ไม่เดือดร้อนเพราะยังไม่มีการแจ้งข้อหา แต่ทันทีที่แจ้งข้อหาก็จะเดือดร้อน มี พิมพ์มือ ประวัติอาชญากรรมติดไปจนตายไม่มีทางลบ แม้ศาลจะยกฟ้อง ไปขอวีซ่าตรวจสอบมาก็เจอเลย  
ฟ้องไปก่อน ปชช.เดือดร้อน
    "นั่นหมายความว่าอัยการก็ยังไม่มีบทบาทเข้ามาสอบสวนแจ้งข้อหาและตรวจสอบจริง และทำท่า เหมือนอัยการจะเข้ามา คือคดีต้องมีโทษขั้นต่ำ 10 ปี มีคดีน้อย ส่วนใหญ่เป็นคดีฆ่า ต่ำกว่านั้นเข้าไม่ได้ ส่วนคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การร้องเรียนก็เข้ามาไม่ได้ หรือเข้ามาได้ตอนแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้ คดีการฆ่าตัดตอน  2,500 ศพอัยการเข้ามาไม่ได้ เพราะไม่มีการแจ้งข้อหา เขียนแบบหมกเม็ด ซึ่งจริงๆ ทุกคดี อัยการต้องเข้ามาได้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คดีจราจร เพราะการสอบสวนและแจ้งข้อหาต้องเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ประเทศไทยทำให้เป็นคนละท่อนคนละส่วน อยากถามว่าตำรวจจะเอาสำนวนไปไหน เพราะสุดท้ายก็ต้องส่งให้อัยการเพื่อฟ้อง จะมานั่งห่วงอัยการเห็นทำไม จริงๆ แล้วโทษเกิน 5 ปี อัยการก็เข้ามาได้แล้ว เข้ามาเห็นที่เกิดเหตุที่ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะมิเช่นนั้นจะเหมือนคดีคุณพ่อโดดตึก ที่อัยการฟ้องไปโดยที่สำนวนยังไม่สมบูรณ์ ทั้งที่พยานหลักฐานผมคิดว่ามีมากกว่านั้นแต่อัยการก็ไม่รู้ จะโทษอัยการหรือศาลก็ไม่ได้"
    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวด้วยว่า ที่ร้ายคือมาตรา 22 อำนาจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นของอัยการ หากไม่ฟ้องก็ส่งให้ผู้บังคับการสอบสวนเป็นผู้ตรวจสอบ หากมีความเห็นแย้งก็แย้ง หากแย้งไม่ทันก็ให้ฟ้องไปก่อน และบางครั้งสองหน่วยงานนี้แย้งกันไปกันมา คดีไม่จบ ชาวบ้านเดือดร้อน ทุกวันนี้ก็โชว์การแย้งกันตลอดเป็นระบบที่วิปริต ทั้งที่วันนี้การฟ้องก็ผิดหลักอยู่แล้ว ไม่ใช่หลักฐานพอฟ้อง แต่ต้องพิสูจน์จนเกิดความมั่นใจ 99% ถึงฟ้องจึงจะถูกต้อง  
    "ประเทศเราศาลยกฟ้อง 40% อยากถามว่าฟ้องไปทำไม เพราะคดีที่ยกฟ้องนี่จบโดยสมบูรณ์ ผู้ต้องหาก็บริสุทธ์ นี่คือความเสียหาย จึงขอสรุปว่าร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา คือไร้เดียงสา ขี้หมูราขี้หมาแห้ง และหมกเม็ด อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวมีการปฏิรูปแค่ 30% เท่านั้น" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว 
    ด้านนายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า การทำกฎหมายหัวใจสำคัญคือตอบสนองและรับใช้ประชาชน  สร้างความเป็นธรรมให้บ้านเมืองสงบ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมก็คือต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้น การแก้กฎหมายหากไม่ตอบโจทย์ก็เปลืองงบประมาณเปล่าๆ หัวใจของกระบวนการยุติธรรมคืออยู่ที่พยานหลักฐาน อย่าให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะเขาจะสามารถลบหลักฐานได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีหลายหน่วยงานอื่นๆ ได้เห็นพยานหลักฐาน จึงต้องมีอัยการเข้ามาดู อย่างในต่างประเทศจะเห็นหลักฐานทุกอย่าง จะให้ความเป็นธรรมได้ทันที หากไม่ทำประชาชนจะไม่มีทางสู้คดีในประเทศนี้ได้ และกระบวนการยุติธรรมของไทยก็ล้มเหลว เพราะที่ผ่านมาก็วิ่งไปหาสื่อหรือทนายเพื่อร้องขอความเป็นธรรมแทน
ทำไมต้องกลัวอัยการ
     "ร่างกฎหมายนี้ต้องการให้พนักงานมีหลักฐานให้ครบถ้วน แต่ทำไมถึงกลัวการเข้ามาของอัยการ   ทั้งที่ต้องรวบรวมทุกอย่างให้อัยการดู โดยคิดว่าที่ตำรวจกลัวที่สุดที่อัยการจะเห็นพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างท้องที่หนึ่งมีสิ่งสิ่งผิดกฎหมายมาก เช่น หวยใต้ดิน ยาเสพติด อาวุธ โสเภณี มันจะต้องจ่ายเพื่อละเว้นคดี เมื่อเกิดคดีต้องลบพยานหลักฐานและบิดเบือนคดีได้ เพราะหากทำไม่ได้จะจ่ายเงินทำไม เงินก็จะหายไปจากระบบ ท้องที่นั้นก็จะไร้ราคา เมื่อไร้ราคาก็ไม่มีเงินซื้อตำแหน่ง ผลที่ตามมาก็จะได้คนดีเก่งๆ เข้ามาทำงาน เห็นไหมว่ากระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสจะแก้ปัญหาประเทศชาติได้หลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยให้พยาบาลทำทุกอย่าง โดยหมอไม่มาดูและฟังรายงาน แต่พยาบาลอยากถามว่าคนไข้จะตายครับ แต่หากทุกคนลงมาดูก็จะช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาไปพร้อมกัน" 
     นายน้ำแท้กล่าวต่อว่า ขณะที่ตำรวจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไร เพราะอาจไปรับผลประโยชน์มา แต่ผู้มีความรับผิดชอบคืออัยการ อยากถามว่าจะให้ตำรวจมีอำนาจมาแย้งอัยการทำไม เพราะหัวใจของการสอบสวนคือวันแรกๆ หากเห็นหลายๆ คนก็จะช่วยกันพิสูจน์หลักฐาน เช่น คดีฆ่าเสื้อดำ บอกว่าไม่มี DNA แต่ป่าไม้บอกมีเพราะมีหน่วยงานเก็บหลักฐาน นี่คืองานถ่วงดุล และทำให้คนหน้าหงายกลับไป
      "ให้ตำรวจมีความอิสระอย่างเดียวไม่ได้ เละเทะแน่นอน เพราะนอกจากอิสระแล้วต้องยุติธรรม และตรวจสอบได้ ในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ม.14 ผิดหลักสากล เพราะจะแจ้งอัยการเข้ามาได้ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หากต้องการช่วยใครก็ไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา ถือว่าเป็นการจะช่วยใครก็ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" นายน้ำแท้กล่าว
    ส่วนปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร ประธานคณะทำงานกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กระบวนการสอบสวนจะโปร่งใสต้องมีการบันทึกภาพวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน ว่ามีการสอบปากคำหรือให้การอย่างไรเพื่อไว้ส่งให้ศาลดูได้ และมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนด้วย การที่ผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นแพะจะเริ่มต้นตั้งแต่การจับกุม  กระบวนการสอบสวนของตำรวจจึงถือว่าสำคัญที่สุด การจะปฏิรูปต้องเริ่มต้นจากต้นน้ำ และในกรณีการสอบสวนและสอบปากคำที่ไม่สุจริตต้องมีบทลงโทษพนักงานสอบสวนด้วย สำหรับเรื่องการโอนหน่วยงานตำรวจ เช่นการโอนจราจรให้ กทม.หรือเมืองใหญ่ๆ ภายใน 1 ปีก็ควรโอนได้แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"
Thailand Web Stat