“ไก่อู” ยันรัฐบาลไม่รู้สึกอะไรที่ “ทักษิณ” ประกาศสงคราม ส่วน “มาร์ค” แฉเหตุต้องปลุกขวัญสาวก เพราะหวังกลับมาครองอำนาจเพื่อเป่าคดีและทวงเงินคืน เตือนรัฐระวังยุคมิคสัญญีหวนกลับมา “เต้น” แถเรื่องนายใหญ่ อ้างฝ่ายตรงข้ามยังก้าวข้ามไม่พ้น แสดงถึงนายเหลี่ยมยังมีพลัง “สุริยะใส” ชี้การเมืองเริ่มย่ำกับที่เอา-ไม่เอา ”แม้ว” ปฏิรูปถูกหลงลืม สามมิตรแอ่นอกทำตามกรอบกฎหมาย ปชป.แนะปลดล็อกลดเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันจันทร์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประกาศไม่ยอมแพ้พร้อมระบุสงครามประชาธิปไตยยังไม่จบว่า ขอไม่วิพากษ์วิจารณ์เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า เอาเป็นว่าเรื่องนี้สังคมคงจะพิจารณาได้ และรัฐบาลก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.และอดีตนายกฯ กล่าวในรายการต้องถาม ถึงความเคลื่อนไหวของนายทักษิณที่ประกาศทำสงครามว่า เป็นปฏิกิริยาที่ขณะนี้พรรคของนายทักษิณกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องการดูด และมีคนตั้งข้อสงสัยว่ายังสู้อยู่หรือไม่ จึงพยายามปลุกขวัญกำลังใจ แสดงตนว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะพื้นฐานพรรคเพื่อไทยยังมีความได้เปรียบอยู่ แต่หากประชาชนที่สนับสนุนเกิดความรู้สึกว่ายังสู้อยู่หรือไม่ อดีต ส.ส.แปรพักตร์เปลี่ยนไปก็อาจเกิดความไม่มั่นใจได้ และคงประเมินยากว่าคะแนนเสียงจะเป็นอย่างไร เพราะหากมีอดีต ส.ส.หรือผู้อุปถัมภ์ออกไปก็ต้องกระทบคะแนนเสียงไม่น้อย การปลุกขวัญกำลังใจจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
“เป็นไปได้ยากที่นายทักษิณจะยอม เพราะยังมีผลประโยชน์อยู่มากกับการที่ฝ่ายของตัวเองจะอยู่ในอำนาจ รวมทั้งเรื่องคดีความ การนิรโทษกรรม และเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนมา ซึ่งผมเป็นห่วง 2 ประเด็น คือ 1.ความเชื่อที่ว่าที่ทำมาทั้งหมดเป็นประชาธิปไตย แต่วิธีการที่ดำเนินการเมืองที่ผ่านมา มีความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงข้างน้อยและทุจริต 2.ที่พูดถึงเรื่องศึกสงคราม ทำคนกังวลว่าความรุนแรงจะกลับมาอีกหรือไม่ ถ้ามองในกรอบของศึกสงครามน่าเป็นห่วง ดังนั้นผู้มีอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้งต้องระวัง ที่จะไม่ทำลายการวางรากฐานของประชาธิปไตย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังระบุว่า อีกด้านของพรรคการเมือง โดยเฉพาะเพื่อไทยได้เรียนรู้หรือยังที่ประเทศมาถึงจุดนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ค.57 มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้สถานการณ์มาถึงจุดนี้ ทั้งนี้เมื่อครั้งที่เกิดเหตุชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก็พยายามทำไม่ให้เกิดความรุนแรง มีการนำกองกำลังติดอาวุธมาต่อสู้กับรัฐ เราไม่ได้ประเมินสถานการณ์ต่ำ แต่เป็นสถานการณ์ที่ประเมินยากมากเพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นสถานการณ์ขณะนี้ถ้าประชาชนลองย้อนกลับไปกว่า 10 ปี ตัดสินใจว่าไม่เอาประเทศกลับไปอยู่ในภาวะแบบนั้นอีกแล้ว เลือกตั้งครั้งหน้าก็ต้องให้ได้รัฐบาลที่มาจากวิถีทางประชาธิปไตย และ ส.ว.ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน และรัฐบาลต้องไม่เอาบ้านเมืองไปอยู่ในภาวะเหมือนก่อนปี 2549 และปี 2557 ถ้าเรียนรู้แบบนี้ก็คงดี
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ถึงกรณีให้สัมภาษณ์ประชาไทระบุไม่จำเป็นที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะต้องก้าวข้ามนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้มีคุณูปการมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ว่าสำนักข่าวอย่างไทยโพสต์เอาไปขยายความบอกว่าสารภาพ ว่าพรรคเพื่อไทยขาดทักษิณไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการสารภาพอะไรหรอก เพราะไม่ใช่คดีความ เป็นเรื่องความคิดเห็น
เต้นแถเรื่องนายใหญ่
“ผมก็พูดตรงๆ ครับว่าเรื่องอะไรจะไปก้าวข้ามทักษิณ ก็ขนาดฝ่ายตรงข้ามยังก้าวไม่ข้ามเลย ยังวนเวียนกับนายกฯ ทักษิณมาตลอด แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามก็มองว่าทักษิณยังมีพลัง นี่จึงเป็นความจำเป็นของพรรคเพื่อไทยซึ่งต้องมีทักษิณ เพียงแต่จะบริหารจัดการพลังตรงนี้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" นายณัฐวุฒิกล่าว
นายณัฐวุฒิยังกล่าวถึงกรณีนายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสต์ตั้งคำถามว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้พวกคุณขาดทักษิณไม่ได้นั้น จริงๆ ก็ไม่ได้สนใจจะไปต่อปากต่อคำ เพราะชกกับใครก็เลือกชก แต่อยากตอบว่าทักษิณมีอะไรที่ขาดไม่ได้ คือ 1.แนวคิด 2.นโยบาย และ 3.วิสัยทัศน์ระดับโลก คือมีทุกอย่างที่ ปชป.เอาชนะไม่ได้ เปลี่ยนมา 3 หัวหน้าพรรคแล้วเรียบร้อยทุกราย คนในแวดวงการเมืองมองกันออก
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองว่า นอกเหนือจากการชิงไหวชิงพริบของพรรคเก่าและใหม่ การดูด ส.ส. การจัดขั้วจัดข้างแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือการช่วงชิงการกำหนดวาระในการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นจุดชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีการตีคู่ขนานกันของ 2 กระแส โดยกระแสหนึ่งเป็นกระแสต่อเนื่องมาคือการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นกระแสใหญ่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่ รวมทั้งพรรคการเมืองเดิมหลายพรรคเริ่มส่งสัญญาณชู และพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะพรรคที่ก่อตัวขึ้นใหม่ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งคือ ความพยายามชูวาระเอาทักษิณหรือเอาทหารขึ้นมาตีคู่ขนาน ซึ่งมีหลายพรรคที่พยายามจะผลักดันให้เป็นวาระชี้ขาดในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
“ถ้าเราทบทวนและกลับไปดูการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2550 และในปี 2554 หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็จะพบว่าอยู่ในวาระเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ พูดง่ายๆ ประเด็นทักษิณกลายเป็นประเด็นชี้ขาดในการเลือกตั้ง แต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฝ่ายคิดว่าวาระนี้น่าจะหายไปจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้กลับพบว่าวาระทักษิณเริ่มกลับมาเป็นกระแสที่ต้องจับตาอีกครั้งหนึ่งหลังนายทักษิณประกาศทำสงครามประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีสภาพที่อาจไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งทั่วไป 2-3 ครั้งที่ผ่านมา นั่นคือทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเดิมพันระหว่างเอาหรือไม่เอาทักษิณอีกครั้ง”
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า ถ้าการเลือกตั้งที่จะถึงยังเป็นวาระนี้อยู่ ก็อาจทำให้การเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์การเมืองที่ล้มเหลว และไม่สามารถก้าวออกไปจากหลุมดำของความขัดแย้งแตกแยก จึงเป็นหน้าที่และโจทย์ของบรรดาพรรคการเมือง รวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้การเลือกตั้งฝ่าข้ามกระแสทักษิณไปสู่กระแสการปฏิรูปประเทศที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งก็อาจยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการกอบกู้วิกฤตการณ์บ้านเมืองอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังได้เลย
สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่เดินสายรับฟังความเห็นประชาชน และล่าสุดนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริง ว่าจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ทุกอย่างต้องว่าไปตามกฎหมาย เพราะทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าใครทำผิดก็ว่าไปตามกฎหมายได้เลย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ได้ติดตามว่ากลุ่มสามมิตรไปทำอะไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เคยย้ำเสมอว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ดังนั้นหากมีกฎกติการะบุว่าห้ามทำอะไร โดยพรรคการเมืองหรือโดยกลุ่มการเมืองก็ต้องห้ามทำ ซึ่งจะถูกหรือไม่ถูกก็ต้องไปดูหลักเกณฑ์ในข้อกฎหมาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ หาก กกต.เห็นว่าไม่เหมาะก็ต้องไปดำเนินคดี
สามมิตรลั่นไม่ผิดกฎหมาย
นายดร งามธุระ ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มสามมิตรยืนยันว่า การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มนั้นสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพราะกลุ่มสามมิตรไม่ได้มีสภาพเป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 การลงพื้นที่เป็นเพียงแต่ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน แล้วเรามาหาทางช่วย
“ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งการที่เราได้มาลงพื้นที่รับฟังปัญหาของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ได้รับข้อมูลปัญหาที่แท้จริง และจะได้สะท้อนปัญหาไปถึงรัฐบาลให้แก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ กลุ่มสามมิตรไม่เคยไปเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นเพียงการไปพบปะพี่น้องประชาชน และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ทำให้คนไทยรักกัน ไม่แบ่งฝักฝ่าย จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด” นายดรย้ำ
นายดรระบุด้วยว่า การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสามมิตรไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เพราะ พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 (กกล.รส.ทภ.2) เคยระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองในพื้นที่ต้องพบปะกันทุกฝ่ายอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็เป็นคนไทยด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน มีความรักความสามัคคี อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าไปได้ การไปพบปะพูดคุยกันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะไปกี่กลุ่มกี่คนก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะไม่ได้ไปทำผิดกฎหมาย ไปเสริมสร้างให้คนรักกันชอบกัน สนับสนุนแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ก็สามารถทำได้ ซึ่งตรงกับแนวทางการทำงานของกลุ่มสามมิตรที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ในการไปลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ได้ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไปสร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง
“หากนายศุภชัยหรือ คสช.มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอย่างใดแล้ว กลุ่มสามมิตรพร้อมไปให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสามมิตรได้ตลอดเวลา” นายดรกล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กลุ่มสามมิตรยังไม่ใช่พรรคการเมืองก็อ้างได้ การไปฝ่าฝืนละเมิดข้อห้ามพรรคการเมืองจึงใช้กับเขาไม่ได้ แต่ทำไม กกต.ออกมาพูดเรื่องนี้ ทั้งที่จริงๆ เป็นเรื่องของ คสช. ซึ่งอาจมองได้ว่าทำไม คสช.ไม่ทำอะไร จะส่งผลต่อความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง และการเคลื่อนไหวกลุ่มสามมิตรใครก็มั่นใจว่าไปจบที่พรรคการเมืองอยู่แล้ว กกต.จึงต้องออกมาเตือน คงต้องดูว่าการกระทำของกลุ่มสามมิตรจะถูกครอบงำจากคนนอกเหมือนนายทักษิณหรือไม่
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ปลดล็อกให้ความเท่าเทียมกันของการทำกิจกรรม ซึ่งเคยเสนอว่าทำไมไม่กำหนดกิจกรรมที่ทำได้ จึงเกิดปัญหาว่าพรรคการเมืองที่ยังไม่ตั้งพรรคก็ไปทำกิจกรรมได้ โดยอ้างว่ายังไม่ใช่พรรคการเมือง แต่พรรคที่เป็นพรรคการเมืองแล้วกลายเป็นทำอะไรไม่ได้เลย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเช่นกันว่า กกต.ตกเป็นหนังหน้าไฟ จะไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ โดยต้องมองข้อกฎหมายเรื่องนี้เป็น 2 อย่าง สำหรับกฎหมายพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่ยังไม่เป็นพรรคการเมืองอาจไม่ผิด แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองคงมีปัญหา แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็มีปัญหา นั่นคือขัดคำสั่ง คสช.ที่ไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เกิน 5 คน ในขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า การไปทาบทามสมาชิกนั้นถือว่าไม่เป็นไร เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและตีความยาก จึงกลายเป็นว่า กกต.เป็นหนังหน้าไฟไป ตกอยู่ในสภาวะที่อยู่ยาก ไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำก็อาจจะมีปัญหาได้แล้วยังอยู่ในช่วงท้ายที่กำลังจะหมดวาระ น่าเห็นใจ
“ถ้า กกต.ไม่ทำอะไรเลยปัญหาก็จะไหลไปที่ คสช. ผมมองว่าเป็นการปรามมากกว่า แต่ถ้ายังฝืนทำกันต่อไปจะเป็นปัญหาทั้งองค์รวมในอนาคต ไม่เป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย ดังนั้นอีกไม่กี่วันจะได้คลายล็อกกันแล้วเพื่อให้ไปต่อกันได้ ดังนั้นคิดว่าน่าจะเบาๆ ลงกันหน่อยก็ดีเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นกลายเป็นว่าอีกข้างทำได้ อีกข้างทำไม่ได้ มันจะลักลั่นกัน คงไม่ดีต่อทุกๆ คน รอให้เขาคลายล็อกแล้วทุกๆ คนดำเนินการกันไปอย่างเสมอกัน” นายนิกรกล่าว
'จตุพร' เตรียมเดินสาย
วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวว่าอยู่ระหว่างหารือแกนนำ นปช. เตรียมจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนพี่น้องคนเสื้อแดงที่ยังถูกคุมขังในคดีชุมนุมทางการเมือง ตามเรือนจำในหลายจังหวัดภาคอีสานและภาคอื่นๆ เพื่อต้องการไปให้กำลังใจ เพราะติดคุกมาเข้าใจ เหมือนไปต่อลมหายใจให้เขา เป็นห่วงสภาพจิตใจ คนที่อยู่ข้างในกับข้างนอกมันคนละเรื่องกันเลย สำหรับช่วงเวลาที่จะเดินทางไปนั้นยังไม่กำหนดแน่ชัด แต่ก่อนไปจะแจ้งให้ คสช.ทราบ ยืนยันว่าไม่ใช่การเคลื่อนไหว ไม่มีนัยทางการเมือง
ส่วนกรณีจาการ์ตาโพสต์ลงบทความวิจารณ์ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธานอาเซียนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียน ส่วนจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่นั้น ไม่มีใครยืนยันหรือปฏิเสธได้ แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ไม่มีแนวคิด ไม่มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ออกมาต่อต้านไม่ให้ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งรัฐบาลควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยแสดงวิสัยทัศน์ของไทยอย่างชัดเจนว่าบทบาทของอาเซียนในอนาคตจะเป็นอย่างไร และรัฐบาลที่มาหลังการเลือกตั้งก็ควรจะแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเช่นกัน เพราะจะต้องรับตำแหน่งประธานอาเซียนด้วย
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ถามถึงความคืบหน้าคดีการล้มประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งที่แล้วที่ จ.ชลบุรี ว่าคดีอืดยิ่งกว่าเรือเกลือ ยังพายวนอยู่กับที่ไม่ได้ไปไหนเลย ทั้งที่ผ่านมาเกือบจะครบทศวรรษแล้ว ปีหน้าหากผู้นำอาเซียนถามถึงเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์หรือผู้เป็นนายกฯ จะตอบว่าอย่างไร
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิก พท.กล่าวถึงกรณีนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นประธานอาเซียนได้โดยไร้ปัญหาว่า ระวังลูกศิษย์จะขาดความเชื่อถือและหมดศรัทธาที่ไปให้คำปรึกษาที่ผิดๆ เพราะถ้าการรัฐประหารไม่ใช่ประเด็น ทำไมโลกถึงล้อมประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่วิธีการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ระวังจะพากันลงเหว
ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิก พท.กล่าวว่า ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไปทำหน้าที่ประธานอาเซียน ควรต้องลดเงื่อนไขที่จะทำให้โดนโลกประณามเสียก่อน โดยเฉพาะประเด็นการเบี้ยวเลือกตั้งหลายครั้งหลายหน ตลอดจนพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเป็นเผด็จการ ซึ่งวิธีเคลียร์ตัวเองที่ง่ายที่สุดคือ เลิกยื้อเลือกตั้งแล้วรีบปลดล็อกทางการเมืองทันที และต้องเปิดพื้นที่ให้สังคมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |