เรียนรู้ประเพณีรับขวัญข้าวคู่วิถีชาวนาไทยที่นาล้ง
ทุ่งนาเขียวขจีท่ามกลางสถาปัตยกรรมเก่าแก่หมู่อาคารจีนโดยมีแปลงนาจากเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ระยะต้นกล้า แตกกอ ตั้งท้อง และออกรวงข้าวสวยงาม พร้อมประติมากรรมหุ่นฟางข้าวตระการตา ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของเกษตรกรไทย เช่น พระแม่โพสพ ที่ชาวนาส่วนใหญ่นับถือกราบไหว้ เชื่อว่า เป็นเทพธิดาประจำต้นข้าว ผู้คุ้มครองดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงามสมบูรณ์ ซึ่งเนรมิตขึ้นกลางล้ง 1919 มีประชาชนสนใจพากันมาเรียนรู้คุณค่าข้าวไทย ทดลองดำนาใส่งอบ สวมรองเท้าบู๊ท โดยมีพี่น้องเครือข่ายชาวนาคอยดูแลใกล้ชิด
ทดลองดำนากลางกรุงเทพ กิจกรรมห้ามพลาดที่นาล้ง
นอกจากยกแปลงนามาปลูกกลางกรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไทยอันหลากหลายมาไว้ที่นาล้ง มีตั้งแต่สินค้าประเภทอาหาร เช่น ข้าว น้ำ ขนม คุกกี้ ชาข้าวหอมกรุ่นดีต่อสุขภาพ ครีม ไปจนถึงสินค้าประเภทของใช้อย่างกระเป๋าสาน กระเป๋าผ้า เสื้อ หมวก และผ้าพันคอ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวไทยที่เกื้อกูลชาวนา แต่ละบูทข้าวมาจากหลากหลายถิ่นหลายสายพันธุ์ อย่างบูทชาวนาไทอีสาน เด่นที่ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ มีความหอมกลิ่นใบเตย ส่วนข้าวเจ้าหอมเวสวิสุทธิ์ มีความหอมนุ่มหวาน ขณะที่ข้าวเหนียวหอมวิสุทธิ์ เมล็ดเรียวยาว ทั้งนุ่ม แถมหุงขึ้นหม้อ แต่ละวันมีให้ชิมข้าว อีกสิ่งที่จะพบในนิทรรศการข้าวไทยเป็นการบรรยายความรู้เรื่องข้าวและการดำนาจากกลุ่มชาวนาไทย Yong Farmers
นับเป็นบรรยากาศใหม่ของล้ง 1919 ที่ดึงดูดให้ทุกคนมาพักผ่อนหย่อนใจ โกดังเก็บข้าวตอนนี้ยังเปลี่ยนเป็นโซนนิทรรศการนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ของท่าเรือกลไฟ ฮ่วย จุ่ง ล่ง ซึ่งพระยาพิศาลศุภผล เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี 2393 เพื่อเผยแพร่สถานที่ประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าทางการค้าไทยจีน ที่ได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางการค้าข้าว ในโกดังยังเสนอพันธุ์ข้าวหายากนับร้อยสายพันธุ์ นวัตกรรมข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา อีกทั้งจำหน่ายข้าวสารราคาประหยัดกว่าในห้าง
นิทรรศการข้าวไทย นำเสนอพันธุ์ข้าวหายาก
การเปิดนิทรรศการข้าวไทยให้คนทุกวัยเรียนรู้ภูมิปัญญาแบบไทยๆ ครั้งนี้ เพื่อฉลองการก้าวสู่ 100 ปี ‘ล้ง 1919’ สนับสนุนโดยธนาคารกสิกรไทย อีกเกร็ดความรู้ที่นำมาไว้ในนาล้ง นิทรรศการข้าวไทย เกี่ยวกับประเพณีรับขวัญข้าว ได้จำลองพิธีรับขวัญไว้ที่นาล้ง ทั่วไปชาวนาทุกพื้นที่ของไทยนิยมทำในช่วงออกพรรษา ประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี นิยมทำกันในวันศุกร์ แต่ละท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ ประเพณีทำขวัญข้าว ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ เชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองต้นข้าวให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์
และด้วยความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นผู้หญิงตกใจและเสียขวัญง่าย มักทำพิธีรับขวัญทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับต้นข้าว ทั้งช่วงตั้งท้อง เก็บเกี่ยว และนำข้าวเก็บขึ้นยุ้ง ชาวนาเชื่อว่าถ้าแม่โพสพพึงพอใจแล้ว ข้าวในนาจะอุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลงรบกวน รวมถึงเป็นขวัญกำลังใจชาวนาได้ดี ที่น่าสนใจของประกอบในพิธีตามความเชื่อ พระแม่โพสพเป็นหญิง อยากทานอาหารเหมือนคนท้อง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว มะยม มะเฟือง รวมทั้งรักสวยรักงาม จึงมีเครื่องแต่งกาย เช่น สไบ สร้อยทอง หวีกระจก แป้งจันทร์ น้ำมันหอม เชื่อว่า การรับขวัญข้าวแบบไทย คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ แวะเวียนมาชมและทำความรู้จักประเพณีคู่วิถีชาวนาไทยได้
ดูแปลงนากลางกรุง ชมประติมากรรมพระแม่โพสพ
ผู้สนใจสามารถมาสัมผัสแปลงปลูกข้าวกรุงที่นิทรรศการข้าวไทยได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 19 ส.ค.2561 ณ โครงการ ล้ง 1919 ถนนเชียงใหม่ ย่านคลองสาน เปิดทำการทุกวัน จะล่องเรือเพื่อมาล้ง โดยสารรถสาธารณะ หรือขับรถส่วนตัวก็สะดวกรวดเร็วทันใจ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |