'พุ่ม สาคร-นิโคลัย พุ่มสกี้' นายทหารเลือดไทยในกองทัพรัสเซียยุคสงครามโลกครั้่งที่1


เพิ่มเพื่อน    

เป็นเรื่องเหลือเชื่อเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เด็กคลองบางหลวง ย่านตลาดพลู นายพุ่ม สาคร ไปเป็นนายทหารกองทัพรัสเซียสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้อย่างไร? 

นายพุ่มเกิดประมาณ พ.ศ.2426 เป็นบุตรของนายซุ้ยกับนางชื่น (นางชื่นเป็นน้องสาวของจางวางสอน ภมรสมิต) ตาชื่อหลวงจำนงทวยหาญ (แย้ม) มีลูกพี่ลูกน้องชื่อ พระวารินพจนสาส์น (วาศ ภมรสมิต) และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลว่า "สาคร" นายพุ่มเกิดและโตแถวคลองบางหลวง ตลาดพลู เป็นครอบครัวที่มีฐานะดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ นางโต๊ะ (เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มีบุตรีชื่อ คุณอัญชันย์ บุนนาค, นางถนอม (เป็นภรรยาพระยาสุริยวงศ์) และนายพุ่มเป็นบุตรคนที่ 3 และนางผัน (เป็นภรรยานายกฤษณ์)

นายพุ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสายอังกฤษ (ซึ่งยังไม่ได้ใช้ชื่อว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (2454) และได้ใช้ตึกแม้นนฤมิตรของโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นสถานที่ศึกษา ซึ่งต่อมาเรียกว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร" และต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงเรียนเทพศิรินทร์ตึกแม้นนฤมิตร" จนเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์ 

ระหว่างเรียนนายพุ่มได้เคยบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดประยุรวงศาวาส นายพุ่มเป็นคนที่เรียนเก่ง และก็คงจะเป็นผู้มีบุคลิกดี ตลอดจนมีกิริยามารยาท การพูดจาปราศรัยดี กล้าหาญ จึงได้รับเลือกจากกรรมการคัดเลือกบุตรข้าราชการนักเรียนดีเด่นในสมัยนั้น

จนได้เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเลือกให้เป็นผู้ตามเสด็จสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ไปศึกษาต่อวิชาการทหารโรงเรียนเสนาธิการที่จักรวรรดิรัสเซียในปี พ.ศ.2441 ภายหลังได้รับสัญญาบัตรแล้วเข้าเป็นนายทหารม้าฮุสซาร์ของจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 จากนั้นได้ศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการ 2 ปี 

หลังจบการศึกษาแล้วนายพุ่มตัดสินใจไม่กลับประเทศ โดยได้โอนสัญชาติเป็นรัสเซียและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ (รัสเซียออร์โธด็อกซ์) โดยมีนามในศาสนาว่านิโคลัส พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นนายนิโคลัย พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) และเข้ารับราชการในกองทัพบกรัสเซียจนมียศเป็นพันเอก 

เมื่อรัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ.2460 ได้หันไปร่วมกับนายทหารรัสเซียที่นิยมการปฏิวัติอยู่พักหนึ่ง แต่ได้หลบหนีออกจากประเทศรัสเซียไปประเทศฝรั่งเศส ทำงานเป็นเสมียนธนาคาร จนกระทั่งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงชวนมาเป็นเลขานุการประจำตัวหม่อมคัทริน ถึงแก่กรรมที่บ้านเทรเดซี ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490

ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าจะนำนักเรียนไทยไปศึกษาในประเทศต่างๆ โดยคัดนักเรียนไทยตามเสด็จ 19 คน เป็นพระราชวงศ์ 5 พระองค์ อีก 13 คนเป็นลูกหลานขุนนาง โดยมี 1 คนที่คัดจากผู้เรียนดีเด่นที่คัดจาก 10 คน โดยมีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เยมส์แห่งอังกฤษ เป็นผู้คัดเลือก 

ขั้นตอนคัดเลือก ท่านทูตใช้วิธีเรียกตัวมาพิจารณาคนละ 4 วัน โดยท่านทูตพิจารณาเอง 2 วัน แล้วส่งไปให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงพิจารณาอีก 2 วัน โดยมีพันโท ซี.วี.ฮยูม และ ดร. เอ็ม.เอฟ.ยาร์ พระอภิบาลและแพทย์ประจำพระองค์ของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธถวายคำปรึกษาแด่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ด้วย หลังการพิจารณา ท่านทูตได้มีจดหมายกราบบังคมทูลไปยังพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

“นายพุ่ม เป็นคนไม่ใช่บุตรผู้มีตระกูล แต่เกิดมาเป็นช้างเผือก กิริยาวาจาเป็นที่ชอบของคนทั้งหลาย  ฉลาดในการเล่าเรียน อายุ 15 ปี ทูลกระหม่อมเล็กเลือกเป็นที่หนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็ชอบ และได้กราบทูลไว้แล้วครั้งหนึ่งที่เนเปิลว่าหลักแหลมมาก”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบท่านทูตว่า

“...นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูลแต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป ข้อสำคัญก็เพียงแต่ให้เป็นที่พึงพอใจกันกับลูกชายเล็กได้จริงๆ...”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ และนายพุ่ม เมื่อเข้าประจำโรงเรียนเสนาธิการ พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ จักรวรรดิรัสเซีย ตามคำกราบบังคมทูลของ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารของประเทศรัสเซีย และได้เสด็จมาเยี่ยมประเทศไทย ขอให้ส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศรัสเซียบ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปตามนั้น และยังได้ทรงขอร้องต่อพระเจ้าซาร์นิโคลัส ขอให้ได้ให้เกียรติ นายพุ่ม สาคร ได้รับความเป็นอยู่ ศึกษา เล่าเรียนทุกอย่างให้เหมือนกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เ พื่อให้นายพุ่มเป็นเพื่อนเรียนและมิตรแท้ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ในต่างแดน และเพื่อให้เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงมีขัตติยมานะเพียรพยายามในการเรียนมากยิ่งขึ้น

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไปส่งสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ และนายพุ่ม โดยเรือพระที่นั่งจักรี (ลำเก่า) ถึงที่ประเทศสิงคโปร์ 

นายพุ่ม สาคร เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2439 ไปถึงประเทศรัสเซียในปี  พ.ศ.2441 ซึ่งทางจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ได้จัดขบวนนายทหารและคณะมารับที่ชายแดน โดยหัวหน้าเป็นนายพลนายทหารองครักษ์ของพระเจ้าซาร์เลยทีเดียว 

จากนั้นได้นำเสด็จไปประทับยังวังฤดูหนาวของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ในสมัยนั้นจักรพรรดินิโคลัสที่ 2  มีกองทัพทหารที่เกรียงไกรมาก อยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ตั้งแต่นั้นนายพุ่มจึงเป็นเสมือนมิตรแท้และเพื่อนตายของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่มได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ซึ่งเป็นสำนักศึกษาที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสมากที่สุด ในการเรียนนี้จะต้องมีความมานะพยายามในการเล่าเรียนและ ฝึกอย่างหนัก เพราะจะต้องแข่งกับคนรัสเซียที่เป็นนักเรียนด้วยกันซึ่งเราเสียเปรียบด้านภาษาและความเคยชิน แต่เมื่อผลการเรียนออกมา ผลการสอบไล่ปี พ.ศ.2443 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นอันดับ 2 และนายพุ่มได้เป็นอันดับที่ 4 ทั้งๆ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่มมักจะต้องไปร่วมงานต่างๆ ของราชสำนักพระเจ้าซาร์นิโคลัสอยู่เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่มจะต้องไปถวายงานแด่พระราชมารดาของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซันดรา ฟอโดรอฟนา แห่งรัสเซียด้วย 

ผลการสอบครั้งสุดท้ายก่อนจะจบจากโรงเรียน สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นที่ 1 และ นายพุ่มสอบได้เป็นที่ 2 และได้รับการบรรจุเข้าเป็นนายร้อยตรีแห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์

นายร้อยตรีพุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ กลับมาที่เมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี  พ.ศ.2446 และได้เข้าประจำการกรมทหารม้ารักษาพระองค์กรุงเทพฯ ได้รับยศร้อยตรีทหารม้า

จากนั้น ร.ต.พุ่มได้ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ กลับไปศึกษาที่จักรวรรดิรัสเซียอีกครั้งเพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูง และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2448 ร.ต.พุ่ม สาคร ได้เข้าประจำการในกรมทหารม้าฮุสซาร์อีกครั้งหนึ่ง และได้รับยศพันเอก เป็นพันเอกพุ่ม สาคร แห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์ที่เป็นที่หนึ่งและโด่งดังในด้านการรบ

ในครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 พันเอกพุ่มในฐานะนายทหารรัสเซียได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารสัมพันธมิตร ร่วมกับกองทัพเยอรมนีจนได้รับชัยชนะในสงคราม

ครั้งนั้นพันเอกพุ่มได้เริ่มเหินห่างจากสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ เมื่อทรงเข้าพิธีสมรสกับ หม่อมคัทริน เคสนิกสกี้ และแยกทางกับ พ.อ.พุ่มเพื่อเสด็จกลับประเทศไทย ซึ่ง พ.อ.พุ่มจะขออยู่ต่อเพื่อศึกษาภาษาฝรั่งเศส ในการนี้กระทรวงกลาโหมของไทยไม่ยอมจึงเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง กระทั่งกระทรวงกลาโหมได้สั่งให้กักบริเวณ พ.อ.พุ่มไว้ในสถานทูตไทย ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 

การที่ พ.อ.พุ่มโดนขังในครั้งนี้ได้ก่อความเคียดแค้นให้แก่นายทหารฮุสซาร์เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการทำให้กรมทหารม้านี้เสียเกียรติ จึงได้ลักพาตัว พ.อ.พุ่มออกจากสถานทูต และทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขั้น พ.อ.พุ่มได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย และเป็นเหตุทำให้เขาไม่สามารถกลับประเทศไทยได้อีก

ประเทศรัสเซียได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2460 ซึ่งนำทางไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ นายทหารรัสเซียถูกปลดประจำการจำนวนมาก และได้ยอมให้ทหารชั้นผู้น้อยเลือกผู้บังคับบัญชาเอง พันเอกพุ่มสกี้ (โอนสัญชาติรัสเซียแล้ว) ได้รับการคัดเลือกจากนายทหารชั้นผู้น้อยให้เป็นผู้บังคับบัญชาต่อไป 

แต่เนื่องจากความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของ พ.อ.พุ่มสกี้ที่มีต่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสเป็นอันมากจึงไม่ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นี้ และถือโอกาสหนีออกจากประเทศรัสเซียไปที่ประเทศฝรั่งเศส มาเป็นนายพุ่ม สกี้ ทำงานเป็นเสมียน และต่อมาได้พำนักกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการของหม่อมคัทริน เคสนิกสกี้

นายพุ่มสกี้ได้กลับเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงเสนอเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติให้กลับมาเป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่ง การจากเมืองไทยไปถึง 33 ปี ทำให้นายพุ่มตื่นตาตื่นใจเป็นอันมากที่จะได้กลับมาเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนอีก 

การกลับมาในครั้งนั้นก็เป็นที่กล่าวขวัญของคนไทยมาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญและขอร้องนายพุ่มให้มาเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยจะมอบยศพันโททหารประจำกองทัพไทย แต่ว่าเขาตอบปฏิเสธ ต่อมาจึงได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พร้อมกับการเสด็จกลับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ไปพำนักอยู่ที่บ้านพักเทรเดซีของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ

นายพุ่มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เมื่ออายุ 70 ปี ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสด็จไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ศพของนายพุ่มยังคงฝังอยู่ ณ สุสานใกล้บ้าน ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

มีการพูดถึงบทบาทนายพุ่มไว้ว่า หากครั้งนั้นนายพุ่มกลับมารับราชการในกองทัพไทยจริงๆ จะถูกจับตามองเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นทหารสายรัสเซีย 

บทความที่เขียนโดยพลเรือโททวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ ระบุเอาไว้ว่า

"หากนายพุ่มรับราชการอยู่กองทัพบกไทย เชื่อได้แน่ว่าความเป็นผู้นำ ความเฉลียวฉลาด และควา มกล้าหาญ ซึ่งขนาดที่ทหารรัสเซียยอมรับ ก็จะต้องมีส่วนพัฒนากองทัพบกและประเทศไทยให้เจริญรุดหน้าและเข้มแข็งอย่างแน่นอน 

และไม่แน่ว่าเหตุการณ์ พ.ศ.2475 ที่มีคณะราษฎร์ นำโดยนายทหารบกสายที่จบจากประเทศ เยอรมนีเป็นผู้นำ เช่น พันเอก พระยาทรงสุรเดช, พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และพันโท พระประศาสน์ พิทยายุทธ อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เนื่องจากมีนายทหารบกสายรัสเซียปกป้องและวางรากฐานอยู่". 

Cr:พลเรือโท ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์,วิกิเพียเดีย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"