แท็กติกขยายเวลาพ.ร.ป.ส.ส. "คสช.ชนะ"ถึงมีเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

    ถือว่าเป็นแท็กติกทางกฎหมายที่ล้ำเลิศ สำหรับการขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเษกษา
    แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ออกมารับงานในฐานะหนังหน้าไฟของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอ้างว่าไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากผู้มีอำนาจ และสาเหตุที่อ้างว่าต้องการขยายเวลาออกไป 90 วัน ให้สอดคล้องกับคำสั่งของ คสช.53/ 2560 ภายใต้คำปรารถนาดีให้พรรคการเมืองเตรียมตัวได้ทันภายหลังกฎหมาย 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ และต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ไม่ต้องถูกเบียดบังเวลา โดยเฉพาะขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง
    แต่หากไปถามคอการเมืองต่างๆ กลับมองว่าไม่ใช่ความหวังดี แต่เป็นประโยชน์ทางการเมืองที่แอบแฝงให้แก่ คสช.และองค์กรในแม่น้ำหลายสาย ที่จะได้อยู่ยาวต่อไปอย่างน้อย 90 วัน ส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งก็จะเลื่อนออกไปอย่างน้อย 3 เดือน จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ประกาศต่อคนไทยและนานาชาติ จะกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.2561 โดยมีการเลือกตั้งเดือน พ.ย.2561
    โดยประโยชน์ประการแรก ที่มองว่าผู้มีอำนาจได้รับคือ มีเวลา "กลบกระแสขาลง" ของรัฐบาล และเคลียร์ปัญหารุมเร้าไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งเชื่อว่าภายในต้นปี 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมด้วยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 และโยกย้ายข้าราชการช่วงปลายปี 2561 เสร็จเรียบร้อย รวมทั้งผลงานการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ สามารถจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน
    รวมทั้งแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในยุคทหารหลายอย่าง โดยเฉพาะปม "นาฬิกาฉาว" 25 เรือน มูลค่ารวม 40 ล้านบาท ของ “เสี่ยป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ยังไม่ทราบจะลาออกเพื่อเสียสละให้ คสช.อยู่ต่อไปหรือไม่   
    ขณะเดียวกันยังเป็นการทอดเวลาให้ "พรรคทหาร" เตรียมความพร้อมก่อนพรรคการเมืองเก่า โดยใช้กลไกการเมือง และไล่บี้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาสมยอม โดยขณะนี้มีหลายกลุ่มก๊วนออกมาแบะท่าอย่างชัดเจนคือ กลุ่มสุพรรณบุรี กลุ่มชลบุรี กลุ่มสุโขทัย กลุ่มนครปฐม กลุ่มบุรีรัมย์ กลุ่ม ปปส. และล่าสุดคือกลุ่มพระนครศรีอยุธยา ในสายของ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ถูก คสช.ตีแตกแล้ว    
    ส่วนขั้นตอนการทำไพรมารีโหวต ที่อ้างว่าเป็นความหวังดีของ คสช. แต่ข้อเท็จจริงกลับสร้างภาระความยุ่งยากให้พรรคการเมือง และทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของทหาร อาจถูกองค์กรอิสระ เช่น กกต. ตามเช็กบิลภายหลัง   
    ส่วน สนช.ก็จะได้ประโยชน์จากการเลื่อนเลือกตั้ง อาทิ เงินเดือน สนช.และผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญอีกเดือนละ 2-3 แสน พร้อมสิทธิประโยชน์ รับประทานอาหารฟรี กาแฟฟรี โดยสารเครื่องบินทุกสายการบินฟรี รถไฟชั้น 1 ฟรีก็ยืดเวลาออกไป และหากผลงานเข้าตา ผู้มีอำนาจก็อาจได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.สรรหาในอนาคตอีก 5 ปี เช่นเดียวกับ กรธ.ก็ได้อยู่ยาวขึ้น ตามคำสั่ง คสช.53/2560 ข้อ 8 อาทิ เบี้ยประชุม โดยประธาน กรธ.ได้ครั้งละ 9,000 บาท ขณะที่คณะกรรมการ กรธ.ได้ครั้งละ 6,000 บาท และการทำงานที่ผ่านมาก็รับเงินกันไปแล้วหลายล้านบาท สามารถออกรถเบนซ์ได้
    มีเพียงพรรคการเมือง เรียกได้ว่าถูกเอาเปรียบแบบสุดๆ เพราะนอกจากจะสุ่มเสี่ยงการถูกเซตซีโรสมาชิกพรรค ตามคำสั่ง คสช.53/2560 ที่กำหนดตั้งภายใน 30 วัน นับแต่ 1 เมษายน หากสมาชิกพรรคการเมืองมิได้ส่งหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกภายใน 30 วัน ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกนั้น ท่ามกลางการวิเคราะห์เปิดช่องให้ทหารเข้าไปดูด ส.ส. และ ส.ส.ผู้นั้นยังลดข้อครหาว่าเนรคุณจากพรรคเดิมได้ โดยเฉพาะกระแสกำนันคนดังภาคใต้ที่กำลังจะสร้างพรรคการเมืองขึ้นมา  
    อีกทั้งพรรคการเมืองเก่ายังไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ ได้ โดยต้องรอให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจนานุเบกษา เป็นไปตามข้อ 8 ของคำสั่งดังกล่าวที่ระบุว่า “เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ ครม. คสช. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ คสช. หรือคําสั่งหัวหน้า คสช. อันเป็นอุปสรรคต่อการดําเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมืองเพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับ กกต. กรธ. สนช. และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้” ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาเท่าใด และจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ถึงจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้เสียที  
    นี่เป็นเพียง "แท็กติก" ทางกฎหมายที่ยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และองคาพยพของ คสช.ก็แฮปปี้กันถ้วนหน้า แต่หากสุดท้ายสถานการณ์ของรัฐบาลทหารยังไม่ดีขึ้น ก็อาจใช้อภินิหารทางกฎหมาย และกลไกอื่นๆ ยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป อาทิ ให้ สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือคว่ำกฎหมายดังกล่าว หรือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ สนช.กำลังพิจารณา โดยรอจนกว่าผู้มีอำนาจจะพร้อมหรือมั่นใจว่าชนะเท่านั้น ถึงจะมีการเลือกตั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"