"ศูนย์เฉพาะกิจฯ" สรุปสถานการณ์น้ำ ระบุเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรพร่องน้ำได้ผล ตัวเมืองเพชรบุรีไม่มีน้ำท่วม แถมระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีแนวโน้มลดลง ส่วนพื้นที่ปลายน้ำสูงเพียง 10-40 ซม. ระทึก! 13-14 ส.ค. "ดีเปรสชัน" เข้าเวียดนาม ส่งผลภาคเหนือ-อีสานฝนตกหนักถึงหนักมาก "ปภ." ประสาน จว.เสี่ยงเร่งระบายน้ำ โพลชี้ ปชช.ส่วนใหญ่เชื่อมั่นเขื่อนเมืองไทยแข็งแรง แนะรัฐบริหารจัดการระบายน้ำทุกเขื่อนสม่ำเสมอ
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2561 ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 12-17 ส.ค.นี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และในช่วงวันที่ 13-14 ส.ค.61 พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
สำหรับสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังคงมีระดับสูง ส่วนแม่น้ำสายสำคัญ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคกลางและใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก แม่น้ำระหว่างประเทศแม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง
ส่วนสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 728 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 12.77 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออกวันละ 15.20 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ จำนวน 15 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 41 ซม. (เมื่อวาน 49 ซม.) แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อน บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.03 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 156.15 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 162.80 ลบ.ม./วินาที) ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว การบริหารจัดการน้ำ มีการตัดยอดน้ำก่อนผ่านเขื่อนเพชรโดยเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน และคลอง D9 ทำให้ระดับน้ำที่ อ.เมืองเพชรบุรี มีระดับลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 0.52 ม. (เมื่อวาน 0.50 ม.) แต่ยังต้องเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 3/2561 (10 ส.ค.61) เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี
เอาอยู่เพชรบุรีไม่ท่วม
เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 4.40 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.26 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง การบริหารจัดการน้ำ ติดตั้งกาลักน้ำ 22 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบาย การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงครามไหลผ่าน
เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,555 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 50.66 ล้าน ลบ.ม. (แนวโน้มลดลง) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 42.77 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ จากการติดตามสภาพน้ำด้านท้ายน้ำไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำ แผนการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 43 ล้าน ลบ.ม. ตลอดเดือน ส.ค.และ ก.ย. 2561 การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 80% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 5.35 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 9.92 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆ สูงขึ้น ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการน้ำ มีการเพิ่มการระบายน้ำขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ริมน้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี พื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม 8 แห่ง และอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100% ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ จัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงอุทกภัย" ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติระบุ
ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 22 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด รวม 37 อำเภอ 190 ตำบล 1,326 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,977 ครัวเรือน 64,799 คน ได้แก่ นครพนม อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และชุมพร
"ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว" อธิบดี ปภ.กล่าว
ที่ จ.เพชรบุรี หลังจากที่ทางกรมชลประทานคาดการณ์ในวันที่ 12 ส.ค.นี้ น้ำที่ระบายจากเขื่อนเพชรจะทำให้หลายพื้นที่ รวมถึงตัวเมืองเพชรบุรีเกิดน้ำท่วม แต่ปรากฏว่าตลอดทั้งวันไม่มีน้ำท่วมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยล่าสุดเขื่อนเพชรได้ลดการระบายน้ำเหลือ 101 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 105 ลบ.ม.ต่อวินาที
อย่างไรด็ตาม บริเวณพื้นที่ปลายน้ำเพชรบุรี ที่บ้านบางลำพู ต.บางครก อ.บ้านแหลม ซึ่งน้ำจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ชายคลอง โดยขณะนี้อยู่ในสภาวะปกติที่น้ำทะเลยังไม่ได้หนุนขึ้นมา ในพื้นที่มีระดับน้ำล้นตลิ่งอยู่ที่ประมาณ 10-40 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นช่วงเย็นน้ำทะเลหนุนสูง ก็จะดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำสูงขึ้นอีก
ปชช.เชื่อเขื่อนแข็งแรง
ด้านนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัด จึงสั่งให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันเครือข่าย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาสถานประกอบกิจการโรงงาน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
"เบื้องต้นได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมการป้องกันผลกระทบจากอุทกภัย และยังได้ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่เฝ้าระวัง พร้อมแจกจ่ายคู่มือการป้องกันเครื่องจักร อุปกรณ์ที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมออกมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย" นายพสุกล่าว
วันเดียวกัน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,260 ตัวอย่าง เรื่อง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของไทย ระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.14 ระบุไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2561 มีเพียงร้อยละ 12.86 ระบุได้รับผลกระทบ โดยผู้ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบ ร้อยละ 23.46 ระบุว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด, ร้อยละ 25.31 ระบุได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก, ร้อยละ 38.27 ระบุได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย และร้อยละ 12.96 ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมของประเทศไทยในทุกๆปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.63 ระบุว่ามีปริมาณน้ำฝนมากเนื่องจากฝนตกหนัก รองลงมาร้อยละ 43.17 ระบุการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่า, ร้อยละ 37.30 ระบุการขยายตัวของเขตชุมชน และการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ, ร้อยละ 28.10 ระบุการบริหารจัดการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 12.94 ระบุ ภูมิประเทศของประเทศไทยเป็นที่ลุ่มน้ำ ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำหลายสาย, ร้อยละ 0.79 ระบุอื่นๆ ได้แก่ เขื่อนไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้หมด ขณะที่บางส่วนระบุว่าเป็นภัยธรรมชาติ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
สำหรับความเชื่อมั่นต่อโครงสร้าง ความมั่นคง ความแข็งแรงของเขื่อนในประเทศไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.73 ระบุมีความเชื่อมั่น เพราะวิศวกรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้าง ออกแบบมาอย่างดี มีความแข็งแรง คงทน และจากสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้น รองลงมา ร้อยละ 17.30 ระบุไม่มีความเชื่อมั่น เพราะสร้างมาเป็นเวลานาน โครงสร้างต่างๆ ก็เสื่อมลงตามกาลเวลา ไม่ค่อยได้ลงไปตรวจสอบคุณภาพความแข็งแรงของเขื่อนเท่าที่ควร ขณะที่บางส่วนระบุว่าภัยธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถควบคุมได้
ถามถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำท่วมของหน่วยงานรัฐ พบว่า ประชาชนร้อยละ 14.28 ระบุว่ามีประสิทธิภาพมาก, ร้อยละ 49.36 ระบุว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก, ร้อยละ 29.05 ระบุว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 4.29 ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย โดยผู้ที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก-มาก ได้ให้เหตุผลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่ และหาแนวทางการป้องกันอย่างจริงจัง ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ-ไม่มีประสิทธิภาพเลย ให้เหตุผลว่าไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ช่วงหน้าฝน หรือการผันน้ำที่ดี อุปกรณ์ไม่เพียงพอ การทำงานล่าช้า และแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมของประเทศไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.37 ระบุให้มีการบริหารจัดการเรื่องการระบายน้ำกับทุกเขื่อนในประเทศไทยสม่ำเสมอ รองลงมา ร้อยละ 35.40 ระบุหน่วยงานรัฐมีการบริหารจัดการน้ำที่มีระบบและมีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 30.87 ระบุว่าติดตั้งสัญญาณเตือนภัยน้ำท่วมทุกจังหวัดที่ประสบภัยทุกปี, ร้อยละ 28.41 ระบุตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทุกเขื่อนสม่ำเสมอ, ร้อยละ 21.67 ระบุจัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือด้านน้ำท่วมโดยเฉพาะ, ร้อยละ 14.84 ระบุจัดเวรยามเฝ้าระวังน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง, ร้อยละ 3.41 ระบุอื่นๆ ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นไม้ทดแทน ลดการตัดไม้ทำลายป่า มีมาตรการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม ขณะที่บางส่วนระบุว่าการบริหารจัดการตอนนี้ดีอยู่แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |