ในปัจจุบันนี้เรามีสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ใช้ในลักษณะที่เป็นสื่อเปิดที่ใครอยากจะพูดอะไร เขียนอะไร ส่งรูปอะไร ส่งวิดีโออะไรก็ทำได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเวลาหรือซื้อพื้นที่แต่อย่างใด ไม่มีบรรณาธิการมาทำหน้าที่คัดเลือกข่าว ต่างจากสื่อสารมวลชนที่เป็นสื่อปิด ทั้งนี้เพราะสื่อมวลชนนั้นไม่ใช่ว่าใครจะพูดจะเขียนอะไรได้ตามใจชอบ เพราะเขาขายพื้นที่ เขาขายเวลา ใครอยากพูดอยากเขียนอะไร ก็ต้องจ่ายเงินซื้อพื้นที่ ซื้อเวลา ซึ่งราคาก็ไม่ได้ถูกเลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้นแล้ว แม้มีเงินซื้อพื้นที่ ซื้อเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถพูดหรือเขียนอะไรได้ตามที่ต้องการ เพราะเขาจะมีบรรณาธิการทำหน้าที่เลือกข่าวที่จะปรากฏในสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ ดังนั้นสำหรับสื่อสารมวลชนแล้ว คนทั่วไปก็จะเป็นเพียงผู้บริโภค (consumers) ข่าวสารมากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิต (producers) ข่าวสาร แต่สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อเปิดนั้น ผู้คนในสังคมเป็นทั้งผู้ผลิต (producers) และผู้บริโภค (consumers) จึงมีคำเรียกพฤติกรรมการใช้สื่อของคนยุคนี้ว่าเป็น prosumers คือเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีความน่าเป็นห่วงทั้งสองสถานะ
ในสถานะของผู้ผลิตนั้น ต้องยอมรับว่าพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการสร้างข้อความในการสื่อสารที่ให้เสรีภาพแก่ผู้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน เหล่าบรรดาผู้คนที่มีอาชีพอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนนั้น ไม่ได้มีเสรีภาพในการเขียน การพูด หรือการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารต่างๆ มากเท่ากับผู้คนที่นำเสนอเรื่องราวบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เพราะพวกเขายังถูกกำกับโดยนโยบายของเจ้าของกิจการ บรรณาธิการที่เลือกข่าวและกำหนดแนวทางในการนำเสนอข่าว อีกทั้งยังมีทั้งกฎหมาย ระเบียบของภาครัฐที่จำกัดเสรีภาพของการนำเสนอ และยังมีจรรยาบรรณของการเป็นสื่อทั้งที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยสมาคมวิชาชีพ และสำนึกของความเป็นสื่อสารมวลชนที่จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองนำเสนอว่าจะไม่ทำร้ายสังคม ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่สื่อสารมวลชน แต่มีโอกาสในการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารต่างๆ บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์นั้น ไม่มีนโยบายของบริษัท ไม่มีบรรณาธิการ ไม่มีจรรยาบรรณของสมาคมชมรมใดๆ มีแต่พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่ของคอมพิวเตอร์ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยจะมีใครกลัวเท่าไหร่นัก จึงนำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่ไม่เหมาะสมกันมากมายอย่างอิสรเสรี มีทั้งเรื่องราวที่โกหก บิดเบือน หลอกลวง มีทั้งภาพลามก คำพูดลามก หยาบคาย มีทั้งภาพสยองรุนแรง มีทั้งการละเมิดผู้อื่นด้วยคำพูดและภาพ มีทั้งการตัดต่อดัดแปลงภาพที่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น มีทั้งการยุยงส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่รุนแรง เป็นภัยต่อความมั่นคง มีทั้งการกล่าวหาว่าร้ายคนด้วยข้อความที่เป็นเท็จ มีทั้งการนำเสนอวิดีโอคลิปที่เป็นเรื่องของความรุนแรง หรือเป็นเรื่องที่สร้างความอับอายให้คนอื่น เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันที่จริงการกระทำดังกล่าวนี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่คอมพิวเตอร์ทั้งนั้น แต่เราก็ยังเห็นข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นความผิดอยู่เนืองๆ บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ แสดงว่าในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้ผลิตเรื่องราวข่าวสารนั้น พวกเขาใช้เสรีภาพกันอย่างเต็มที่ เป็นเสรีภาพที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นเสรีภาพที่อาจจะทำลายความมั่นคงของประเทศ ทำลายศีลธรรมอันดีงามของสังคม สร้างค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่เหมาะสม ทำลายวัฒนธรรมของประเทศ
การใช้เสรีภาพดังกล่าวนั้นยังมาพร้อมกับค่านิยมที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ความต้องการให้มีคนเข้ามาดู (viewers) จำนวนมากๆ มีคนติดตาม (followers) จำนวนมากๆ มีคนกด likes และกด shares จำนวนมากๆ และเมื่อนำเสนอเรื่องราวที่ดีๆ มีคนเข้ามาดู มาติดตาม มากด likes กด shares ไม่มากตามที่ต้องการ ก็จะหันมาใช้ภาพที่ไม่เหมาะสม และคำพูดที่ไม่เหมาะสม และเรื่องที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นก็คือ การกระทำที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นสามารถสร้างจำนวนคนที่เข้ามาดู มาติดตาม มากด likes มากด shares ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่ให้เรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์มีพฤติกรรมที่จะนำเสนอภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพกันอย่างเต็มที่ กฎหมายก็ตามไม่ทัน ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนที่ขอบใช้เสรีภาพเหล่านี้เขาไม่กลัวกฎหมาย เขากลัวการไม่มีคนติดตามเขาบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์มากกว่า ถ้าหากจะใช้กฎหมายจัดการกับเรื่องนี้ เห็นทีจะทำได้ยาก อาจจะลองรณรงค์สร้างจิตสำนึก สร้างทัศนคติที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่พฤติกรรมของการเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม มีจริยธรรม และไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม ถ้าหากใช้การรณรงค์และการบังคับใช้กฎหมายกำกับพฤติกรรมของผู้คนในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ไม่เป็นผล ก็ต้องรณรงค์ให้ผู้คนทั้งหลายในฐานะเป็นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ให้รู้จักเลือกที่จะบริโภคเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ต้องมีวิจารณญาณในการที่จะเชื่อ จะติดตาม การเข้าไปดู การกด likes การกด shares โดยไม่สนับสนุนคนที่นำเสนอภาพ คำพูด ข้อเขียนที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ภาพ คำพูด และข้อเขียนเหล่านั้นไม่ได้รับความนิยมแล้วมีจำนวนลดลง จนกระทั่งหายไปเกือบหมดบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในยุคที่ผู้คนใช้เสรีภาพกันอย่างเต็มที่ ผู้บริโภคข่าวสารจะขาดวิจารณญาณไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ก่อนจะ “เชื่อ” ต้องเรียนรู้ที่จะ “เช็ก” เพื่อให้ “ชัวร์” ว่าข่าวสารที่ได้รับนั้นเป็นข่าวจริงแท้แน่นอนหรือไม่ แล้วจึงค่อย “แชร์” ให้คนอื่นรู้ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้เราอาจจะเป็น “แนวร่วม” ของกลุ่มคนที่นำเสนอ “ข่าวลวง (fakenews)” “ข่าวผิด (misinformation)” หรือ “ข่าวบิดเบือน (disinformation)” ด้วยเหตุนี้การรู้เท่าทันสื่อก่อนใช้เสรีภาพในการแสดงออกของเรา จึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นคนสื่อสารด้วยสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ อย่าใช้เสรีภาพโดยปราศจากการรู้จริงและการมีสำนึกแห่งความรับผิดชอบ และการรู้เท่าทันสื่อที่ขณะนี้มีทั้งข่าวสารจากองค์กรสื่อและจากประชาชนทั่วไปที่ต่างก็เป็นนักข่าวได้ทุกคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |