ฟุ้งเอาอยู่‘แก่งกระจาน’ 31จว.เสี่ยงท่วมฉับพลัน


เพิ่มเพื่อน    

 

"บิ๊กตู่" ชี้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งพร้อมกัน ระบุสถานการณ์น้ำเหนือ-อีสาน-กลางไร้ปัญหา กังวลเขื่อนแก่งกระจาน-วชิราลงกรณ ระดับน้ำยังสูง สั่งเร่งระบายน้ำลงทะเล "สทนช." ฟุ้งการพร่องน้ำแก่งกระจานสอบผ่าน ยกเป็นต้นแบบใช้ทั่วประเทศ "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" ออกประกาศ 2 ฉบับ ห่วงฝนตกต่อเนื่อง ส่งผล 31 จว.เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม กำชับพื้นที่ตรวจความมั่นคงอาคารและแจ้งเตือน ปชช. 

    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้เน้นการบูรณาการ ทั้งในเรื่องแผนงาน โครงการ งบประมาณ เครื่องมือ ระบบต่างๆ เพื่อความเป็นเอกภาพ สำหรับเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เราต้องพิจารณาไปด้วยกัน 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราไม่อาจพร่องน้ำหรือผลักดันมวลน้ำลงทะเลจนหมดหรือมากเกินไป โดยไม่คิดถึงวันข้างหน้า หากฝนขาดช่วง ฝนตกนอกเขื่อน เราก็อาจจะเกิดปัญหาภัยแล้งแทนอุทกภัย เราต้องคำนวณการเก็บกักน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทุกมิติ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ และน้ำกินน้ำใช้น้ำบริโภคในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ประกอบกับการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศเราต้องติดตามตลอด เพื่อจะบริหารจัดการได้เหมาะสม
    "ปัจจุบันสถานการณ์น้ำภาคเหนือและภาคกลางที่เชื่อมโยงกันไม่มีปัญหา ด้วยหลากหลายมาตรการ เช่น การกำหนดให้พื้นที่ 12 ทุ่ง พื้นที่ภาคกลาง สำหรับรองรับน้ำเป็นแก้มลิงที่สามารถส่งเสริมให้ทำประมงเป็นอาชีพเสริมทดแทนการทำนาได้ในช่วงที่มีอุทกภัยหรือน้ำมาก สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เริ่มคลี่คลาย
ด้วยระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง แต่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ก็ยังมีวิกฤติอยู่ ต้องเร่งระบายออกในปริมาณที่เหมาะสม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า ภาคตะวันตกการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำเขื่อนแก่งกระจาน-เขื่อนวชิราลงกรณ ปัจจุบันยังคงอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ระดับน้ำสูง เราคงต้องเฝ้าติดตามแล้วก็เตรียมปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ ซึ่งมีประชาชนเกี่ยวข้องในทางปฏิบัติด้วย เราต้องมีการเร่งระบายน้ำลงทะเลให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนด้วย และใช้ข้อมูลทางสถิติที่ผ่านๆ มาเป็นพื้นฐานในการพร่องน้ำ
    "ในช่วงที่ผ่านมาระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานสูงขึ้น เราก็ได้พร่องน้ำล่วงหน้าแล้วถึง 42% โดยที่ไม่มีใครเดือดร้อน แต่เมื่อปริมาณฝนตกมาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ฝนตกมาถึงกว่า 100 มิลลิเมตร ลงมาวันเดียวเพิ่มปริมาณน้ำจนน้ำเต็มเขื่อน นั่นแหละครับคือสถานการณ์ของธรรมชาติของเรา ซึ่งเราหยุดธรรมชาติไม่ได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม อาจจะต้องมีการท่วมบ้าง เพราะการระบายน้ำก็ต้องมากขึ้น ถ้าปริมาณน้ำเติมเข้ามาอีก อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจในข้อเท็จจริง ไม่อย่างนั้น ถ้าทุกคนบอกเดือดร้อนหมด แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ยังไงก็มีปัญหา เราทำอย่างไรจะลดความเดือดร้อนให้มากที่สุด" นายกฯ กล่าว
แก่งกระจานต้นแบบพร่องน้ำ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติในเรื่องน้ำ เพื่อบูรณาการข้อมูล การคาดการณ์สถานการณ์น้ำ สำหรับจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการตามช่วงเวลา เพื่อจะรองรับทุกระดับของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้ชัดเจน 
    "ในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่ผมได้ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ก็ทราบว่ามีการรายงานข่าว อาจจะเกินความเป็นจริง อาจจะโดยความตั้งใจ ไม่ตั้งใจ เข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจ เช่น การระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ จนเกิดความตื่นตระหนก จนเกิดมโนภาพที่น่ากลัวจนหลายคณะทัวร์ยกเลิกที่พัก และการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ชายหาดชะอำ-หัวหิน จนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้น" นายกฯ กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) พร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน, นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา, นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แก้วิกฤติน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561 
    นายสมเกียรติกล่าวว่า สทนช.มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ มีตัวแทนจาก 9 หน่วยงานร่วมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดพื้นที่วิกฤติ 2 พื้นที่คือ ภาคอีสานและภาคตะวันตกที่เขื่อนแก่งกระจาน และโดยเฝ้าระวังเขื่อน 4 แห่ง คือ 1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี และ 4.เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยกำหนดหน่วยงานทั้งจากส่วนกลางหน่วยงานที่ไปดำเนินการในพื้นที่ และจังหวัด โดยมี ปภ.ดูแล ซึ่งเราต้องบูรณาการปรับแผนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการระบายน้ำของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 
    นายสมเกียรติกล่าวว่า ในช่วงต้นฤดูฝนที่จะมีน้ำมากกว่า 80% และถึง 100% แม้จะมีการพร่องน้ำมาตลอด แต่ในช่วงฤดูฝนนี้ยังต้องระบายน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ ประมาณ 100 แห่งในภาคอีสาน ใต้ เหนือ และตะวันตก ทุกอ่างเก็บน้ำจะเฝ้าระวังใกล้ชิดติดตามสถานการณ์ทุกชั่วโมง
    "ในเรื่องของการพร่องน้ำโดยใช้การบริหารจัดการเขื่อนแก่งกระจานเป็นต้นแบบ ดังนั้นอาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบ้าง ขณะที่พื้นที่ที่ผลกระทบจากน้ำโดยภาพถ่ายดาวเทียมของจิสดา แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 887 ไร่ หรือกว่า 200 ครัวเรือน และจากนี้ในเดือน ก.ย. ต้องเฝ้าระวังภาคกลาง ภาคใต้" เลขาฯ สนทช.กล่าว
    นายทองเปลวเสริมว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ถือว่าขณะนี้สอบผ่าน โดยการระบายน้ำเป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยระบายผ่าน 3 ช่องทาง ทั้งทางระบายน้ำล้น กาลักน้ำ และผ่านประตูระบายน้ำ เพื่อออกสู่เขื่อนเพชรที่จะรับน้ำต่อเพื่อไปลงแม่น้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำเข้า 737 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ล้นทางระบายน้ำล้น 60 ซม. เหลือปริมาณน้ำออก 195 ลบ.ม.ต่อวัน จากนั้นต้องดูว่าน้ำที่เข้าเขื่อนเพชร มาทำหน้าที่ควบคุมน้ำและบายน้ำได้ตามที่คาดการณ์ประมาณ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้น้ำที่กระทบเข้าอำเภอบ้านลาดและอำเภอเมืองฯ ต่ำกว่าระดับ 50 เซนติเมตร 
    "ยืนยันท้ายเขื่อนเพชรที่เข้าสู่อำเภอเมืองฯ อยู่ในการควบคุม จึงไม่น่ากังวลใจ ขณะที่เขื่อนน้ำอูนยังสามารถระบายได้ต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำสงครามยังสูงกว่าแม่น้ำโขง จึงต้องทำการเฝ้าระวังต่อไป ขณะที่เขื่อนปราณบุรีปริมาณน้ำเข้าและการระบายออกยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน" อธิบดีกรมชลฯ กล่าว
เตือน 31 จว.เสี่ยงดินถล่ม
    วันเดียวกัน ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ออกประกาศฉบับที่ 3/2561 เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี ระบุตอนหนึ่งว่า การประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณฝนบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือน ส.ค.และยังคงมีปริมาณน้ำจากต้นน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานในปริมาณที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำลดลง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังคงมีระดับสูง
    "หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเพชร ให้มีการระบายน้ำลงท้ายน้ำ เข้าสู่อำเภอเมืองเพชรบุรี ในระดับที่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง" ประกาศฉบับที่ 3 ระบุ
    จากนั้น ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ แจ้งประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 23 (369/2561) ว่า ตั้งแต่วันที่ 10-15 ส.ค.2561 การกระจายของฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ด้านลุ่มน้ำเพชรบุรี ยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเริ่มทรงตัวและลดลงตามลำดับ หากไม่มีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนในช่วงนี้น้ำจากเขื่อนยังคงไหลผ่านทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณ อ.ท่ายาง อ.บ้านแหลม
    "ในช่วงวันที่ 10 ส.ค. มีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มในพื้นที่เฝ้าระวัง 31 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์, ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จังหวัดระนองและพังงา" 
    ต่อมา ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่องสถานการณ์น้ำตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 23 (369/2561) ระบุว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งนั้น การประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คาดการณ์ว่าฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. และต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม
    "ให้หน่วยงานที่มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก  ที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 80% ของความจุ เร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำ และให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคาร รวมถึงประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้รับทราบต่อไป" ประกาศฉบับที่ 4 ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"