"บูม" ดารา-นายแบบยืนกรานปฏิเสธร่วมกับพี่ตุ๋นค้าบิตคอยน์เกือบ 800 ล้าน ลิ้มรสห้องขังกองปราบฯ ก่อนถูกส่งฝากขัง ศาลให้ประกันด้วยหลักทรัพย์ 2 ล้าน ห้ามออกนอกประเทศ เผยคำร้องฝากขังระบุผู้กระทำผิดนอกจาก 3 พี่น้องแล้วยังมีเจ้าพ่อวงการหุ้นกับเพื่อนนักธุรกิจลวงชาวฟินแลนด์ร่วมลงทุน "ไมตรี" แย้มเตรียมออกหมายจับเพิ่มอีก 5-6 คน
นายจิรัชพิสิษฐ์ หรือบูม จารวิจิต ดาราและนายแบบ ซึ่งถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีรายงานว่า ถูกพนักงานสอบสวนสอบปากคำอย่างหนัก แต่ดาราหนุ่มยังยืนยันว่ามิได้กระทำผิดดังที่มีผู้เสียหายชาวต่างชาติเข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกตนเองและครอบครัวหลอกลงทุนสกุลเงินดิจิทัล ทำให้เสียหาย 797 ล้านบาท โดยศาลออกหมายจับนายจิรัชพิสิทธิ์ พร้อมนายปริญญา จารวิจิต และนางสาวสุพิชย์ฌา จารวิจิต พี่ชายและพี่สาว ในข้อหาเดียวกัน
หลังการสอบปากคำ ตำรวจได้คุมขังนายจิรัชพิสิษฐ์ไว้ที่กองปราบฯ กระทั่งเช้าจึงมีเพื่อนสนิทกลุ่มหนึ่งพากันไปเยี่ยม และรีบเดินทางกลับเมื่อบรรดาสื่อมวลชนไปติดตามข่าว
พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. เปิดเผยว่า นางสาวสุพิชย์ฌาได้ประสานผ่านคนกลางมาเพื่อขอเข้ามอบตัว แต่ไม่ระบุวัน เวลา สถานที่มอบตัว และยังไม่พบการเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้ เตรียมออกหมายจับเพิ่มอีกประมาณ 5-6 คน ที่รับเงินจากการฉ้อโกงเข้าหมุนเวียนในบัญชี
ขณะที่ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รอง ผบก.ป. ยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมหรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่เป็นลักษณะแอบอ้างว่าบริษัทตัวเองอยู่ในเครือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ บุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดหลักทรัพย์ ที่เข้ามาพบตน ชี้แจงอ้างว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้เช่นเดียวกัน แต่จากการสืบสวนรวบรวมหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจพบข้อมูลที่เชื่อได้ว่านายประสิทธิ์อาจจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และจากการตรวจสอบ 3 บริษัท ที่มีการเปิดทั้งในประเทศไทยและเกาะฮ่องกง ยังพบว่านายปริญญา พี่ชายนายจิรัชพิสิษฐ์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว โดยทะเบียนการค้าทั้ง 3 บริษัท พบว่ามีคนในตระกูลจารวิจิตเข้าร่วมด้วยและบางบริษัทมีการแอบอ้างกับผู้เสียหายโดยไม่มีตัวตนจริง นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดังกล่าวอีกหลายบริษัท ซึ่งตำรวจกองปราบฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน ทั้งนี้ นายปริญญาเคยมีประวัติถูกออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ในพื้นที่ สน.วัดพระยาไกร
สำหรับนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เป็นชาวหาดใหญ่ จ.สงขลา ถือเป็นคนดังในวงการหุ้นและเป็นเจ้าของฉายาซีอีโอหมื่นล้าน เคยติด 1 ใน 5 ของซีอีโอที่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุดในประเทศไทยจากการจัดอันดับในปี พ.ศ. 2551
ต่อมาเวลา 10.45 น. พนักงานสอบสวนกองปราบฯได้ควบคุมตัวนายจิรัชพิสิษฐ์ หรือบูม เดินทางไปยังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-21 ส.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานบุคคลเกี่ยวข้องการทำธุรกรรมอีก 10 ปาก และรอเอกสารทางการเงินของพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับรอผลตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือจาก สตช. ทั้งนี้ หากผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนก็ขอคัดค้านการให้ประกันตัวด้วย เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา นายอาร์นี ออตตาวา ซาอ์ริมาอ์ (Mr. aarni Otava Saarimaa) ชาวฟินแลนด์ ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ผู้เสียหาย ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายปริญญา จารวิจิต พี่ชายของผู้ต้องหา กับพวก กรณีที่ได้ร่วมกันหลอกลวงเอาเงินของนายอาร์นีไปโดยทุจริต จำนวน 797,408,454.33 บาท สืบเนื่องจากต้นเดือน มิ.ย.2560 นายอาร์นี และ น.ส.ชนนิกานต์ แก้วสาสี นักธุรกิจ ซึ่งรู้จักกับนายปริญญา, นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และนายปัณณ์ฉัตร ชยุตธนา ทั้ง 3 คนเป็นนักธุรกิจ ได้ชักชวนให้นายอาร์นีและ น.ส.ชนนิกานต์ ร่วมลงทุน โดยติดต่อผ่านนายปริญญา พี่ชายผู้ต้องหา ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ กระทั่งมีการนัดหมายพูดคุยเจรจาธุรกิจกัน โดยกลุ่มของนายปริญญาได้นำเสนอธุรกิจหลากหลายรูปแบบให้นายอาร์นี ผู้เสียหาย พิจารณา และพวกของนายปริญญาอีก 3 คน ก็ยังพูดชักจูงใจให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนในบริษัทที่กลุ่มเพื่อนของนายปริญญาเป็นกรรมการ จนผู้เสียหายหลงเชื่อ ร่วมลงทุนเป็นเงิน 92,692,200 บาท
ต่อมาต้นเดือน ส.ค.2560 นายปริญญากับพวกยังได้ชักชวนผู้เสียหายลงทุนซื้อสกุลเงินดิจิทัล (dragon coin หรือ DRG) อีกเป็นเงิน 400 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง มีผู้ถือหุ้น 4 คน คือ นายปริญญา พี่ชายผู้ต้องหา, นายประสิทธิ์, นายชาคริส อาห์มัด และนายอาร์นี ผู้เสียหาย ซึ่งแต่ละคนจะต้องลงเงินคนละ 100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อโอนไปที่บริษัทในเขตปกครองพิเศษมาเก๊า โดยนายปริญญา พี่ชายผู้ต้องหาอ้างว่าเงินลงทุนในส่วนของผู้เสียหายสามารถโอนเป็นเหรียญบิตคอยน์ ผ่านกระเป๋าเงิน E-Wallet ได้ ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายเหรียญโทเคน ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2560 ระหว่างผู้เสียหายกับนายชาคริส หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงเริ่มโอนเงินบิตคอยน์เข้ากระเป๋าเงิน E- Wallet ของนายปริญญากับพวก ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.-5 ก.ย.2560 รวม 2,958.75948993 เหรียญบิต คิดเป็นมูลค่าเสียหาย 440,007,281.33 บาท
หลังจากนั้น นายชาคริสยังได้ชักชวนผู้เสียหายไปซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยอีกด้วย โดยเสนอแผนธุรกิจว่าผู้เสียหายสามารถซื้อหุ้นได้สูงสุด 500 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินจำนวน 250 ล้านบาท โดยเสนอให้ผู้เสียหายชำระเป็นเงินบิตคอยน์ได้ แล้วต่อมาวันที่ 14 ก.ย.-30 ธ.ค.2560 ผู้เสียหายก็ได้โอนเงินเหรียญบิต จำนวน 1,355.55701963 เหรียญบิต คิดเป็นมูลค่า 264,780,973 บาท แต่หลังจากนั้น นายปริญญาพี่ชายผู้ต้องหากับพวกได้นำเหรียญบิตคอยน์ที่ได้รับโอนมาจากผู้เสียหาย ทยอยขายออกไปแล้วถอนเงินออกจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มพี่ชายผู้ต้องหารวม 7 ราย ประกอบด้วย นายชาคริส อาห์มัด 2 บัญชี จำนวน 162,994,510 บาท, นายปริญญา จารวิจิต พี่ชายของผู้ต้องหา 1 บัญชี จำนวน 111,938,265 บาท, นายจิรัชพิสิษฐ์ ผู้ต้องหา 1 บัญชี เป็นเงิน 21,687,603 บาท กับพี่น้องตระกูลจารวิจิต อีก 2 คน จำนวน 146,309,884 บาท (3 บัญชี) และจำนวน 140,184,665 บาท (1 บัญชี), นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ โอนเข้า 2 บัญชี เป็นเงิน 66,542,948 บาท และนายชัชวาล ฉัตราติชาต จำนวน 2 บัญชี เป็นเงิน 96,125,883 บาท สรุปยอดเงินรวมทุกบัญชีทั้งสิ้น 745,783,761 บาท
และหลังจากโอนเงินบิตคอยน์ให้กลุ่มนายปริญญาแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายก็ไม่ได้รับหุ้น รวมทั้งไม่เคยได้รับเชิญการประชุมผู้ถือหุ้นหรือเงินปันผลจากบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจสร้างสกุลเงินดิจิทัลในชื่อ dragon coin หรือ DRG ก็ไม่มีการลงทุนทางธุรกิจจริง ผู้เสียหายจึงมอบอำนาจให้ น.ส.ชนนิกานต์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายปริญญากับพวกตามกฎหมาย จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
พนักงานสอบสวนจึงได้มีหนังสือรายงานความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไปยังเลขาธิการสำนักงาน ปปง. ขอให้ตรวจสอบพิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน กระทั่ง ปปง.สรุปรายงานแจ้งว่านายปริญญา พี่ชายของผู้ต้องหา, นายจิรัชพิสิษฐ์ ผู้ต้องหา และกลุ่มผู้ต้องหาได้รับเงินจากการกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาได้โอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไปมาระหว่างกันหลายครั้ง แล้วนำเงินไปเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มา หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นฯ ในการทำผิด ซึ่งนายปริญญา พี่ชายของผู้ต้องหา และผู้ต้องหา ได้นำเงินนั้นไปจดทะเบียนซื้อฝาก-ขายที่ดินรวม 14 แปลง มูลค่ากว่า 176,220,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กทม., แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน, แขวงจอมพล เขตจตุจักร, แขวง-เขตห้วยขวาง กทม., จ.นนทบุรี, จ.ชลบุรี
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามติดตามจับกุมนายจิรัชพิสิษฐ์ ผู้ต้องหานี้ ได้เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา และแจ้งข้อกล่าวหาทราบแล้ว ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ภายหลังศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้
ขณะที่ญาติของนายจิรัชพิสิษฐ์ ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 2 ล้านบาท พร้อมคำร้องประกอบการพิจารณาของศาลระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาทำงานเป็นนักแสดง มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รวมทั้งไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ซึ่งขณะถูกจับกุมก็กำลังทำงานถ่ายแบบ จึงขอความเมตตาจากศาลให้ปล่อยชั่วคราวด้วย
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งข้อหาและการกระทำของผู้ต้องหาตามคำร้องชั้นฝากขังแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาไม่มีส่วนร่วมเจรจากับผู้เสียหายให้มาลงทุน อีกทั้งยังจับกุมผู้ต้องหาในที่สาธารณะ โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ตีราคาประกัน 2 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล กรรมการบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล dragon coin นั้น บริษัทขอชี้แจงว่าทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล รวมทั้งการฟอกเงินหรือการฉ้อโกงใดๆ อย่างใดทั้งสิ้น
ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หากประชาชนถูกชักชวนให้ลงทุนในไอซีโอ หรือซื้อโทเคนดิจิทัลในช่วงนี้ ขอให้ทราบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ออกไอซีโอรายใดได้รับการอนุญาต รวมทั้งยังไม่มีผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ( ICO portal) ที่ได้รับการยอมรับจาก ก.ล.ต. ซึ่งในอนาคตเมื่อมีผู้ออกไอซีโอ หรือ ICO portal ที่เป็นไปตามเกณฑ์แล้ว ก.ล.ต. จะเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ต่อไป ส่วนกรณีที่ถูกชักชวนให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีผู้แสดงตนเป็นตัวกลาง ไม่ว่าจะในฐานะศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก.ล.ต.ขอให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ติดต่อชักชวนบนเว็บไซต์ ก.ล.ต.ก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |