ยํ้าเลือกตั้งตามโรดแมป ‘พท.’ปูดแผนสืบอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

 

สนช.-กรธ.ประสานเสียง การเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมป ปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน พ.ค.  ยันไม่มีการยื้อออกไป ไม่มีเจตนาแอบแฝงอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกต เสนอแก้ พ.ร.ป.กกต.เพื่อความโปร่งใส ไม่เอาผู้เล่นมาเป็นกรรมการ ขณะที่ห้องประชุมอนุสรณสถาน 14เพื่อไทยปูดเป็นแผนวางคนตัวเองไว้ใน กกต.เพื่อสืบทอดอำนาจ

    นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อ สนช. 36 คน เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ระบุการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กกต. มีเจตนา เพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไปว่า ยืนยันไม่เกี่ยวกันโดยสิ้นเชิง ก่อนจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงทุกแง่มุมอย่างรอบคอบแล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อไทม์ไลน์เลือกตั้งแน่นอน จึงเสนอแก้ไขกฎหมายลูกฉบับนี้ 
    "ยืนยันไม่มีเจตนาแอบแฝงทางการเมือง การเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมป การที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนไปเป็นปลายปี 2562 ก็แล้วแต่พรรคประชาธิปัตย์จะคิด"
    เขากล่าวว่า ระยะเวลาแก้ไข พ.ร.บ.กกต.นั้น ยังไม่สามารถตอบเงื่อนเวลาที่ชัดเจนได้ เพราะเกี่ยวกับหลายฝ่าย ส่วนการขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายลูก กกต. เร็วเกินไปที่จะพูด เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตนคนเดียว ยังมีขั้นตอนอีกมาก เช่น การผ่านความเห็นชอบจากวิป สนช. และที่ประชุม สนช. รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นของ สนช.คนอื่นๆ ที่เข้าชื่อแก้ไขกฎหมายด้วย แต่การใช้สิทธิเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นสิทธิโดยชอบที่ สนช.ทำได้ และดำเนินการโดยชอบ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องอนาคต
    นายมหรรณพกล่าวว่า เจตนาการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กกต. เพราะเห็นว่าการที่ กกต.ชุดปัจจุบันไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น ตนรับไม่ได้กับองค์ประกอบคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามระเบียบที่ กกต.กำหนดขึ้น แม้จะอ้างการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่มิได้หมายความว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกรณี โดยเฉพาะกรณีการให้ได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งที่จะมาอำนวยความสุจริตการเลือกตั้ง ต้องคัดเลือกคนที่สุจริต เที่ยงธรรม แต่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยคัดจากตัวแทนสภาประชาชน สภาตำบล จึงน่าเป็นห่วง อาจมีกลไกการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง 
    "เหมือนเอาผู้เล่นมาเป็นกรรมการ จะมีความเป็นกลางเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อกำลังจะมี กกต.ชุดใหม่ ก็ไม่อยากให้ กกต.ชุดเก่าเร่งคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรให้ กกต.ชุดใหม่ดำเนินการ ไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจ กกต.ชุดเก่า แต่ทำเพื่อให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม" นายมหรรณพกล่าว
อย่างช้าต้น พ.ค.เลือกตั้ง
    นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การนับโรดแมปเลือกตั้ง ต้องยึดตาม พ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะครบกำหนดประกาศในราชกิจานุเบกษา กลางเดือน ก.ย.นี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 90 วัน ก็จะไปตกกลางเดือน ธ.ค. แล้วกรอบ 150 วัน เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งก็จะเริ่มนับ ซึ่งที่ผ่านมา คสช.เคยระบุว่า วันเลือกตั้งจะอยู่ระหว่างปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน พ.ค. ดังนั้นการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. จะไม่ส่งผลให้วันเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากกรอบเวลาดังกล่าวแน่นอน 
    เขากล่าวว่า เมื่อกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ของ สนช.ยังไม่เริ่ม ก็ต้องยอมรับว่า ตัวเลือกกำหนดวันเลือกตั้งแรกในปลายเดือนก.พ.62 ก็อาจไม่ทัน แต่เลื่อนไปไม่เกินกรอบ 150 วัน อย่างช้าก็คือต้นเดือน พ.ค.62 ตามที่เคยประกาศไว้ ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ สนช.เอง หากต้องการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เพื่อยกเลิก 616 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง แล้วให้มีการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่โดยกกต.ชุดใหม่ ก็ต้องเร่งแก้ไข พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว เพราะหากแก้ไม่ทัน 616 ผู้ตรวจการเลือกตั้งเดิมที่ กกต.ชุดนี้คัดเลือก ก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในระหว่างการเลือกตั้ง ส.ว.แบบแบ่งกลุ่ม ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จำนวน 50 คน ที่มีกำหนดต้องแล้วเสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างน้อย 15 วัน  
    ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.ป.กกต.ยังไม่ได้สู่กระบวนการเตรียมบรรจุระเบียบวาระการประชุมของ สนช. เพราะอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 77 เพราะการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดและขั้นตอนพอสมควร ซึ่งต่างจากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปกติ โดยการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ทำให้อาจไม่ทันกับวาระของ สนช.ที่กำลังจะหมดลงตามโรดแมป ดังนั้นยืนยันได้ว่าการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้มีผลกระทบต่อกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด เนื่องจากการพิจารณากฎหมายใด สนช.ก็ย่อมต้องคำนึงถึงโรดแมปด้วย
        เขากล่าวว่า รับทราบจาก กกต.ว่ากระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งกำลังรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับ 616 คน ว่าจะมีประชาชนร้องเรียนหรือไม่อย่างไร และการลงนามรับรองอาจจะให้กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในส่วนของวิป สนช.จะนำมาข้อมูลเหล่านี้พิจารณาต่อไป
ยันต้องทำตามระเบียบ
    นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงข้อเสนอที่ต้องการให้ กกต.ขยายกรอบเวลาการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อรอให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาคัดเลือกว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องทำตามกฎหมายและระเบียบที่วางไว้ หากไม่ทำก็อาจถูกผู้ที่ได้รับการคัดเลือกฟ้องร้องได้ แล้วใครจะมาช่วยเรา 
    เขากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง อยู่ในขั้นตอนรับฟังข้อมูลจากจังหวัดต่าง ๆ ว่าบุคคลที่คัดเลือก 8 คน มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมีความประพฤติอย่างไร มีความเป็นกลางหรือไม่ กว่าจะแต่งตั้งก็ปลายเดือน ก.ย. คาดว่า กกต.ชุดนี้คงพ้นหน้าที่ไปแล้ว โดย กกต.ชุดใหม่น่าจะเป็นผู้ลงนามประกาศรับรอง และถ้าปรากฏว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งประพฤติมิชอบ  ไม่เป็นกลาง ขาดคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 29 วรรค 7 กกต.มีมติปลดได้ทันที แม้จะแต่งตั้งไปแล้วก็ตาม
    ส่วนที่ สนช.จะแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำได้ หากเห็นว่ามีปัญหาหรือข้อบกพร่อง แต่ถ้าไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเลือกตั้งได้ เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดว่า หากมีการเลือก ส.ส.หรือมีการคัดเลือก ส.ว. ต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากมีการล้มกระดานผู้ตรวจการเลือกตั้งก็จะต้องคัดเลือกใหม่เพื่อทำหน้าที่ ส่วนจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่ ก็ต้องดูกรอบเวลาการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งตนไม่คิดในประเด็นนี้ เนื่องจากจะไปแล้ว  แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย กกต.ก็จะเดินหน้าไปตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่กำหนดไว้ เมื่อ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ก็สามารถปฏิบัติงานได้เลย  
    “ไม่มีการวางยา เนื่องจากเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติทั้งนั้น และไม่มีความจำเป็นที่จะตั้งคนของตัวเองเอาไว้ ทั้งนี้ หาก กกต.ชุดใหม่เห็นว่ามีระเบียบใดไม่เหมาะสม ก็สามารถออกมติแก้ไขได้”นายศุภชัยกล่าว
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปได้ต้องใช้มาตรา 44 แก้บทเฉพาะกาล ให้การบังคับใช้กฎหมายเลื่อนออกไป เช่น ใช้บังคับใน 90 วัน ก็อาจจะเป็นว่าใช้บังคับ 150 วันหรือ 180 วัน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ ความอดทนของคนจะถึงที่สุด จึงไม่ควรใช้วิธีการเลื่อนเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว
ปูดแผนสืบทอดอำนาจ
    เมื่อถามว่า กกต.ชุดปัจจุบันทำถูกต้องหรือไม่ นายนิพิฏฐ์ตอบว่า กกต.ปัจจุบันทำตามกฎหมายที่ สนช.เป็นคนออก ถ้าไม่ทำก็ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  แต่อาจจะไม่ถูกใจบางคนเท่านั้นเอง ซึ่งสิ่งที่ กกต.ปัจจุบันทำตนว่าทำได้ และเหมาะสม เพราะไม่ได้ลงนามเอง ให้ กกต.ชุดใหม่เป็นคนลงนาม ซึ่งเขาก็ทำแล้ว ตนว่าเรื่องอย่างนี้ สนช.คิดเองไม่ได้หรอก ต้องมีคนไปสะกิดให้ทำ ต้องมีคนคิดให้ทั้งนั้น อาจมีคนไปเข้าฝัน สนช.ให้ทำ ดังนั้นการเลือกตั้งจะเลยไปถึงเดือน พ.ค.62 ก็เป็นไปได้ เพราะถ้าผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่มี ก็เลือกตั้งไม่ได้ ก็ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
    ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากเลื่อนเลือกตั้งอีกครั้ง ความเชื่อมั่นประเทศจะเป็นศูนย์ ศักดิ์ศรีประเทศจะไม่เหลือ เพราะเลื่อนมาหลายครั้ง จะยิ่งตอกย้ำความเหมาะสมกับการเป็นประธานอาเซียนที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากอยู่ในขณะนี้ 
    "สนช.อาจจะถูกกล่าวหาว่าวางคนของตนเองในการให้คุณให้โทษกับการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจหรือไม่ "
    เวลา 13.20 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณสถาน 14 ตุลาคม แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานเสวนา #เวทีประชาชน เลือกตั้งอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน
    นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองจนถึงปัจจุบัน ประชาชนใช้ประชาธิปไตยแค่ได้เลือกตั้งเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในการพัฒนาประเทศ หรือแก้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเทศในปัจจุบันด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ยังเป็นเรื่องชนชั้นสูง นายทุน ทหาร และคนชั้นล่างยังคงเป็นผู้ที่สูญเสียโอกาส ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2562 อย่างน้อยประชาชนก็ยังได้ใช้สิทธิ ใช้เสียงของตนเอง ซึ่งดีกว่าให้ประชาชนอยู่ในระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ 
    นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ  กล่าวว่า เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนการกระจายอำนาจ และการเปิดเผยข้อมูล ขณะที่แผนงานและการใช้งบประมาณต้องเปิดเผยได้ ซึ่งการจัดทำแผนงานของรัฐต้องให้ประชาชนระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย โดยไม่ใช่ความเห็นของคนไม่มีคนในสภา และอยากให้เปลี่ยนสภาพขององค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-net) เป็นองค์กรที่ให้คะแนนผู้สมัครพรรคต่างๆ การอภิปรายในสภา และการเลือกตั้ง โดยมีกฎหมายคุ้มครอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"