"โอเปอเรเตอร์" ถอย เงื่อนไขประมูลคลื่น 900 MHz เหตุมีความเสี่ยงหากระบบรางเสียต้องร่วมรับผิดด้วย "ดีแทค" ชง 3 เงื่อนไขให้รัฐบาลพิจารณา จี้โยกคลื่นระบบรางไปใช้คลื่น 450 MHz แทนคลื่น 900 MHz ที่เป็นคลื่นโทรคมนาคม อ้างจีนใช้คลื่นนี้แล้วดีกว่าเดิม แถมคลื่นว่าง พร้อมอ้อน กสทช.เยียวยาลูกค้ากว่า 4 แสนเบอร์ที่ยังใช้งานบนคลื่นเดิม
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เปิดเผยถึงกรณีการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และไม่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายใดที่เข้าร่วมคลื่นดังกล่าวว่า เป็นเพราะกังวลกับเรื่องเงื่อนไขการประมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุเพิ่มให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว
"สำหรับเงื่อนไขของ กสทช.ดังกล่าว ทางโอเปอเรเตอร์มองว่าเงื่อนไขนี้มีความเสี่ยงกับผู้ประมูลอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องการเพิ่มต้นทุนของผู้ประมูลเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีปัญหาในแนวทางปฏิบัติที่ยากมาก เพราะผู้ชนะจะต้องเข้าไปติดตั้งตัวกรองสัญญาณบนอุปกรณ์ของคู่แข่ง หรือบนโครงข่ายรถไฟฟ้า ซึ่งมันมีความยุ่งยากในการทำงาน และเรื่องสุดท้ายที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็คือกรณีระบบเดินรถเกิดขัดข้อง หรือมีอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ว่าจะมีเตรียมการดีแค่ไหน มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ ในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงเกินไป และหาก กสทช.ไม่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขดังกล่าว ก็เชื่อว่าจะไม่มีโอเปอเรเตอร์กล้าเข้าร่วมประมูล"
รองฯ ซีอีโอดีแทคกล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ทางดีแทคมีข้อเสนอแนะที่อยากจะให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กสทช. และสมาคมโทรคมนาคม มาร่วมหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาใช้งานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
โดยข้อเสนอแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ 1.เสนอให้เปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณระบบราง ย้ายการใช้คลื่นความถี่จาก 900 MHz ไปอยู่ในย่านคลื่นความถี่ 450 MHz บนเทคโนโลยี LTE-R ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ขณะนี้ทางจีนได้นำมาใช้บริหารการเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ดีกว่าใช้เทคโนโลยี GSM-R ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 450-470 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ครอบครองคลื่นความถี่ดังกล่าวอยู่ ได้คืนกลับมาที่ กสทช.แล้ว ทำให้คลื่นตัวนี้ว่าง และพร้อมใช้งานได้เลย
2.ให้รถไฟใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เหมือนเดิม แต่กระจายความรับผิดชอบของผู้ให้บริการแต่ละราย ที่จะต้องติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่เอง โดยเงินที่จะสร้างการต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ฟิลเตอร์ อาจจะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) หรือเงินที่ได้จากการประมูลแทน และ 3.หากต้องการใช้คลื่นย่าน 900 MHz ควรจะย้ายคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปอยู่ปลายสุดของช่วงคลื่นความถี่ โดยไม่ให้ช่วงคลื่นความถี่ติดกับผู้ให้บริการรายใดมากที่สุด
"หากมีการปรับแก้ไขเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ดีแทคมีความสนใจที่จะประมูลคลื่น 900 MHz ถ้าไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากดีแทคสนใจคลื่นความถี่ต่ำอยู่แล้ว " นายราจีฟกล่าว
นายราจีฟกล่าวอีกว่า ส่วนการเยียวยาคลื่น 850 MHz ดีแทคหวังว่า กสทช.จะให้ใช้เยียวยาในคลื่นดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยปัจจุบันดีแทคมีลูกค้าที่ใช้บริการคลื่น 850 MHz ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสัญญาในวันที่ 15 ก.ย.61 นี้ จำนวน 4 แสนเลขหมาย และมีจำนวนสถานีฐานจำนวน 13,000 แห่ง โดยในสัปดาห์หน้า ดีแทคจะส่งหนังสือให้ กสทช.ขอให้มีการทบทวนมติการเยียวยาที่บอร์ดเคยมีมติว่าจะเยียวยาเฉพาะผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลเท่านั้น โดยทางดีแทคยังยืนยันที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น ดังนั้นอยากให้ กสทช.เห็นใจและทบทวนมติดังกล่าว
"หาก กสทช.ยังยืนยันที่จะไม่ทบทวนมติ และจะไม่ออกมาตรการเยียวยามาให้ ทางดีแทคก็จะพยายามหาทางดูแลลูกค้าให้สามารถใช้งานได้ตามปกติต่อไป โดยเรามีแผน 2 แผน 3 ไว้รองรับอยู่แล้ว หาก กสทช.ไม่อนุมัติเยียวยา เราก็มองเรื่องการโรมมิงซิมไปใช้บริการของโอเปอเรเตอร์รายอื่นแทน" นายราจีฟทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |