เตือนพายุจ่อถล่มไทย14-17สค.


เพิ่มเพื่อน    

    สทนช.เตือนพายุลูก 2 จ่อถล่มไทย 14-17 ส.ค. เฝ้าระวังเขื่อนแก่งกระจานน้ำล้นสปิลเวย์ 60 ซม. กรมชลฯ เตรียมแผนพร่องน้ำ ลดภาวะล้นตลิ่ง "บิ๊กตู่"   ย้ำอย่าตื่นตระหนก โทษสื่อเสนอข่าวเกินจริง 
    เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลุ่มน้ำเพชรบุรี ยังคงมีปริมาณน้ำหลากไหลต่อเนื่องลงเขื่อนแก่งกระจานและน้ำล้นสปิลเวย์ (Spillway) ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณ อ.ท่ายาง ส่วนแม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ 4 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำไหลเข้า 20.83 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน ระบายออก 18.20 ล้านลบ.ม.วัน น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 60 เซนติเมตร และสภาพท้ายน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
    โดยระดับน้ำท้ายเขื่อนที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำ 3.66 เมตร ระดับตลิ่งอยู่ที่ 4.40 เมตร ถือว่ายังต่ำกว่าตลิ่ง 0.76 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 183.70 ลบ.ม.วินาที ซึ่งปริมาณน้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองฯ และอำเภอบ้านแหลม แล้วจะไหลลงทะเลต่อไป
    ทั้งนี้ ยังคงเร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเมืองเพชรบุรี มีระดับขึ้นช้าลงและต่ำกว่าตลิ่ง 55 เซนติเมตร ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ด้านเขื่อนน้ำอูน มีน้ำไหลเข้า 4.84 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเพิ่มการระบายน้ำออกเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สภาพท้ายน้ำยังปกติ คาดว่า จะไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีน้ำล้นตลิ่ง โดยควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเพิ่มการระบายน้ำด้วยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.60 ลบ.ม.ต่อวัน
    ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีน้ำไหลเข้า 68.80 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ระบายออก 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สภาพท้ายน้ำปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย และสุดท้าย เขื่อนปราณบุรี มีน้ำไหลเข้า 14.95 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ระบายออก 100 ลบ.ม.ต่อวินาที สภาพท้ายน้ำระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีค่อยๆสูงขึ้น ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้นด้วย
    สทนช.คาดการณ์ด้วยว่า จะมีพายุดีเปรสชันเคลื่อนจากเกาะไหหลำในวันที่ 14 ส.ค. ผ่านตอนเหนือของเวียดนาม ผ่านประเทศลาวในวันที่ 15 ส.ค. และอาจพาดผ่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 16 ส.ค. และเข้าประเทศเมียนมา ในวันที่ 17 ส.ค. ซึ่งจะทำให้มรสุมกำลังแรงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตกของไทย ติดกับประเทศเมียนมา ตั้งแต่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน,  อ.แม่สอด อ.พบพระ จ.ตาก, จ.กาญจนบุรี, จ.ราชบุรี, จ.เพชรบุรี, จ.ประจวบคีรีขันธ์, จ.ระนอง จะมีความชื้น-ฝนมาก จากทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องไปถึง 17 ส.ค. 
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ได้ไปตรวจเยี่ยมน้ำท่วมที่เพชรบุรี ไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนก แต่อยากให้มีการเตรียมตัว รัฐบาลไม่สามารถบอกได้ว่าจะไม่ท่วมร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ การจะดำเนินโครงการอะไร จะต้องทำประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น คลอง D9 รัฐบาลให้งบไปกว่า 300 ล้าน เพื่อการระบายน้ำอีกเส้นทาง ซึ่งยังมีแผนดำเนินการอีก 2 เส้น แต่ต้องการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน จึงต้องสร้างความเข้าใจกันให้ได้ 
    "วันนี้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีมาตรการดูแล แต่ไม่มีการพูดถึง พูดกันแต่ว่าน้ำล้นอยู่นั่นแหละ สื่อบางสื่อไปยืนถ่ายภาพอยู่ในน้ำ ทั้งนี้น้ำมันไม่ท่วมก็ไปยืนที่น้ำท่วม แล้วก็ถ่ายกันออกมา ผมไม่เข้าใจว่าสื่อแบบนี้มันคืออะไร เขียนอะไรที่มันเกินไป ผมไม่ได้หมายความว่ามันไม่ท่วม แต่อย่าบิดเบือนได้ไหม มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ผมเข้าใจว่าเมื่อสื่อเริ่มมา อีกสื่อก็ต้องเขียนให้มากกว่าเดิม ก็จะกลายเป็นข่าวมากไปเรื่อยๆ เกิดการตื่นตระหนก วุ่นวาย สับสน การทำงานยากลำบากมากขึ้น" นายกฯ ระบุ
    นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการใช้แบบจำลองทางวิศวกรรม คาดว่าปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 10 ส.ค. และจะระบายออกในอัตรา 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้เวลา 15 ชั่วโมงถึงเขื่อนเพชร ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนปฏิบัติการทั้งการพร่องน้ำ วางแผนตัดยอดน้ำสู่คลองในระบบชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวา รวมทั้งผันเข้าคลอง D9 ซึ่งจะไม่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งใน อ.บ้านลาดและท่ายาง แต่ในตัวเมืองเพชรบุรี แม่น้ำเพชรบุรีแคบ รับน้ำได้ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อน้ำไหลไปถึงในวันที่ 12 ส.ค. จะล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำสูง 30-50 เซนติเมตร แต่จะต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จากนั้นเมื่อไหลไปที่อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำกว่า ระดับน้ำจะท่วมสูง 50-80 เซนติเมตร แล้วจะไหลออกทะเล
    นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำแถบประเทศฟิลิปปินส์ กำลังก่อตัวเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งจะเคลื่อนตัวช้ากว่าพายุโซนร้อน โดยแนวพายุลูกใหม่นี้จะไปเกาะไหหลำ ส่งผลต่อไทยวันที่ 14-15 ส.ค.นี้ อีกทั้งมีอิทธิมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทางฝั่งอันดามัน มาเพิ่มกำลังแรงขึ้นด้วย จะทำให้ฝนมากตลอดทั้งเดือน ส.ค.ในแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ดังนั้นภายใน 1 สัปดาห์ ต้องเร่งพร่องน้ำเขื่อนใหญ่ และเขื่อนขนาดกลาง ที่เต็มความจุเขื่อน โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีเขื่อนขนาดกลางจำนวนมาก รวมทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เขื่อนแก่งกระจาน, เขื่อนน้ำอูน, เขื่อนวชิราลงกรณ, เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีน้ำเกินความจุ
    "เดือนนี้ฝนมากทั้งเดือน ยังมีลมมรสุมกำลังแรงมาเสริม พอเกิดพายุฝั่งตะวันออกแปซิฟิก เพิ่มให้แรงขึ้น แนวร่องฝนยังอยู่ภาคเหนือ อีสาน ตะวันตก ตะวันออก พอปลายเดือน ส.ค.ต่อต้นเดือน ก.ย.ร่องฝนลงมาตรงภาคกลาง ช่วงนั้นมีแนวโน้มเข้าสู่ปีแล้งปลายปี เพราะมีฝนมากเดือน ส.ค.ตั้งแต่เดือน ก.ย.ถึงปลายปีฝนมีแนวโน้มฝนจะลดลง ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยที่จะน้ำท่วมใหญ่แบบปี 54 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพายุที่จะเข้ามาตรงๆ หรือไม่ด้วย" นายเสรีกล่าว
    วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ "คลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย" ฉบับที่ 21 ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ ดังนี้
    ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี, ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ 
    ที่ จ.จันทบุรี ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจเขื่อนคิรีธาร ต.บ่อเวฬุ อ.ขลุง หลังจากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนคิรีธาร ที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ใน 2 จังหวัด คือ ตราด และจันทบุรี พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีความจุ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำอยู่ในเขื่อนกว่า 59 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเพียงอีก 50 เซนติเมตร จะล้นสปิลเวย์ออกมา ในเบื้องต้น นายสุเทพ มีกระโดน กำนันตำบลบ่อเวฬุ ประสานองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และกระทรวงพลังงาน ขอรับการสนับสนุนท่อยางมาติดตั้งกับเครื่องสูบน้ำเพื่อทำเป็นกาลักน้ำเร่งสูบน้ำระบายน้ำออกจากเขื่อนคิรีธาร เพื่อไม่ให้ไหลเข้าท่วมสวนผลไม้ และบ้านเรือนของชาวบ้านใน 2 จังหวัด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"