ไม่เกินคาด “ดีแทค-เอไอเอส” ยื่นเจตจำนงร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ส่วน 900 MHz ต่างโบกมือบ๊ายบาย ชี้เหตุต้องมารับภาระป้องกันอาณัติสัญญาณระบบรางเลยเผ่น “ฐากร” ยังเข็นประมูลต่อ เตรียมชง “กสทช.” ปรับเกณฑ์ นักวิชาการเชื่อเคาะไม่ดุ
เมื่อวันพุธ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้เอกชนยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยในเวลา 09.54 น. ผู้แทนจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้เดินทางมายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า ได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลอย่างถี่ถ้วน และมีผลสรุปจะที่ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อนำมาให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้า 2G ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งนำคลื่นดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G ด้วย
“จะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้คณะผู้บริหารได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลในเงื่อนไขที่ระบุเพิ่มให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว”
ต่อมาในช่วงบ่าย นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ก็เดินทางมายื่นเอกสารขอร่วมประมูลเช่นกัน พร้อมกล่าวว่า บริษัทได้พิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการประมูล และได้ตัดสินใจให้ บจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz แต่จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ส่งเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ในวันที่ 18-19 ส.ค.นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังว่า สำนักงาน กสทช.เตรียมเสนอคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ภายหลังวันที่ 19 ส.ค.นี้ เนื่องจากในการเปิดประมูลรอบนี้ไม่มีผู้ประสงค์เข้าร่วม โดยมีเพียงขอประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เท่านั้น โดยทั้ง 2 บริษัทได้วางหลักประกันการประมูลไว้ 2,500 ล้านบาทแล้ว ซึ่งผู้ประมูลจะสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต
“ในวันที่ 9-13 ส.ค.61 จะพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล และในวันที่ 15 ส.ค. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และวันที่ 16-17 ส.ค.จะชี้แจงกระบวนการประมูล และ Mock Auction เป็นไปตามกรอบเวลาการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยวันประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.” นายฐากรกล่าว
นายฐากรกล่าวถึงการเปิดประมูลคลื่น 5G ว่า ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยการประมูลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องมีคลื่นความถี่ในการใช้งานรองรับที่เพียงพอ หรือมีคลื่นใช้งานไม่น้อยกว่า 100 MHz แต่ในปัจจุบันยังไม่มีเอกชนรายใดถือครองคลื่นได้ตามกำหนด ซึ่งโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองคลื่นสูงสุดอยู่ที่ 55 MHz รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมต้องรองรับการใช้งาน 5G อย่างเพียงพอ และใช้งานจะต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและอุตสาหกรรมต่างๆ
ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การที่ไม่มีผู้เข้าประมูลคลื่น 900 MHz แสดงว่าเอกชนมองว่าราคาและเงื่อนไขของการประมูลคลื่น 900 MHz ไม่เอื้อหรือดึงดูดให้สนใจเข้ามาลงทุน โดยราคาตั้งต้นที่สูงและมีคลื่นขนาดแถบความถี่เพียง 5 MHz และอีกเหตุผลที่สำคัญคือ เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจัดทำการป้องกันการรบกวนกับความถี่ข้างเคียงที่อาจจะใช้กับอาณัติสัญญาณของระบบราง ที่แม้จะมีการให้เป็นส่วนลดเพื่อหักจากค่าประมูล แต่จะเห็นว่าอาจมีความยุ่งยากต่อไปได้ในอนาคต รวมถึงเพดานของต้นทุนของระบบป้องกันการรบกวนดังกล่าวอาจสูงกว่าที่ประเมิน ทั้งหมดเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เอกชนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและไม่สนใจคลื่น 900 MHz
“อนาคตของคลื่น 900 MHz ต้องรอความชัดเจนในเรื่องการนำไปใช้กับระบบรางตามที่กระทรวงคมนาคมร้องขอ ซึ่งยังไม่ชัดเจนทั้งในแง่การนำไปใช้ และระบบที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการระบบราง เพราะในอนาคตจะมีหลายราย และหลายระบบ ทั้งรถไฟเดิม รถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-ญี่ปุ่น รถไฟ EEC เชื่อมสามสนามบิน ที่แต่ละรายอาจมีเทคโนโลยีสำหรับระบบอาณัติสัญญาณและใช้คลื่นที่ต่างกัน ดังนั้นแม้คลื่น 900 MHz จะยังไม่ได้ถูกประมูลไปในครั้งนี้ หรือหากระบบรางไม่ได้มีการนำไปใช้หรือมีความชัดเจน หลังปี 2565 กสทช.อาจทบทวนและดึงกลับมาจัดสรรกับกิจการที่เหมาะสมใหม่” นายสืบศักดิ์กล่าว
สำหรับการประมูลวันที่ 19 ส.ค. เชื่อว่าการเคาะราคาไม่น่าดุเดือด โดยน่าจะเคาะคนละครั้ง สำหรับเอไอเอส หากเข้าประมูลและได้คลื่น 5 MHz ไปรวมกับของเดิม จะมีคลื่นผืนใหญ่ 20 MHz โดยเอไอเอสน่าจะเป็นผู้เลือกสล็อตก่อน โดยจะได้สิทธิการเลือก lot1 ที่ติดกับคลื่นเดิมแบบไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ การจัดประมูลที่ผ่านมาของ กสทช. ถือว่าได้ใช้ความพยายามจัดการประมูลทำเต็มที่แล้ว โดยทั้งมีการปรับเกณฑ์และเงื่อนไขเท่าที่ทำได้ แม้ว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปรับจะไม่แตะเรื่องราคาตั้งต้นเลยก็ตาม ซึ่งหากการประมูลครั้งนี้จบลง จะเป็นที่ชัดเจนว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปควรเป็นหน้าที่ของกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ที่กระบวนการสรรหายังค้างคาอยู่
“คาดหวังว่ากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่จะสรรหาเข้ามาต้องมีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมต่อกระบวนการวางแผนและจัดสรรคลื่นให้รองรับกิจการโทรคมนาคมที่กำลังจะพลิกโฉมและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเรียนรู้ข้อจำกัดและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดในกระบวนการประมูลคลื่นที่ผ่านๆ มา เพื่อให้การนำคลื่นออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งการพัฒนา 5G และโทรคมนาคมอื่นๆ ในอนาคต” นายสืบศักดิ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |