8 ส.ค.61 - นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ว่า
.....ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องหมอนิ่ม
.....นี่คือการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนทั้งสถานีโทรทัศน์บางสถานีและหนังสือพิมพ์บางฉบับ
.....คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายจิรศักดิ์ กลิ่นคล้าย ที่เป็นมือปืน ที่ 1 นางสุรางค์ ดวงจินดา มารดานางสาวนิธิวดีหรือหมอนิ่มที่ 2 นางสาวนิธิวดีหรือหมอนิ่ม ภู่เจริญยศ ที่ 3 นายสันติ ทองเสม ที่ 4 และนายธวัชชัย เพชรโชติ ที่ 5 จำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฯลฯ
.....ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดมีนบุรีมีนบุรี พิพากษาให้ประหารชีวิตนางสาวนิธิวดีหรือหมอนิ่ม จำเลยที่ 3 และนายสันติ ทองเสม จำเลยที่ 4 สำหรับนายจิรศักดิ์ กลิ่นคล้าย จำเลยที่ 1 และนายธวัชชัย เพชรโชติ จำเลย ที่ 5 ให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนนางสุรางค์จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
.....ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษประหารชีวิตนางสุรางค์ จำเลยที่ 2 แต่คำการให้เป็นประโยชน์แก่การพิจาณาจึงลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกตลอดชีวิต ให้ยกฟ้องนางสาวนิธิวดีหรือหมอนิ่ม จำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
.....คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ใช่เป็นการพิพากษากลับ ถ้าพิพากษากลับต้องพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมดคือ จำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษาลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ที่ศาลชั้นพิพากษาลงโทษ ศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษายกฟ้อง
.....การพาดหัวข่าวสั้นๆ ว่า "ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องหมอนิ่ม" จึงเป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และเป็นการทำงานที่ไม่รับผิดชอบของสื่อมวลชนและทำให้ประชนเข้าใจผิด
.....เมื่อสื่อมวลชนพาดหัวข่าวเช่นนี้ นักกฎหมายคีย์บอร์ดทั้งหลายที่ไม่เคยศึกษากฎหมายและฟังข่าวหรืออ่านข่าวเฉพาะพาดหัวช่าว ก็ถือโอกาสด่าศาลกันสนุกดังที่เคยกระทำอยู่บ่อยๆ
.....กรณีที่เกิดขึ้นเช่นนี้เพราะมีสาเหตุมาจากช่วงเกิดเหตุคดีนี้การนำเสนอข่าวของเสนอมวลชนทุกประเภทไม่ได้ทำหน้าเพียงเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่ข่าวที่นำเสนอมีลักษณะเป็นการชี้นำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อหรือเข้าใจว่าหมอนิ่มเป็นผู้จ้างมือปืนฆ่าผู้ตาย
.....เมื่อมารดาหมอนิ่มให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่า เป็นผู้ดำเนินการหามือปืนมาฆ่าผู้ตายเพราะสงสารหมอนิ่มที่ถูกผู้ตายทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บหลายครั้งหลายหน สื่อมวลชนก็เสนอข่าวไปในทำนองว่า มารดาหมอนิ่มยอมรับสารภาพเพื่อช่วยเหลือหมอนิ่ม น่าจะไม่เป็นความจริงดังที่ให้การรับสารภาพ
.....ทั้งๆ ที่คนที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร มีอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น คือมารดาหมอนิ่ม หมอนิ่ม และ นายสันติ จำเลยที่ 4 ที่เป็นคนติดต่อหามือปืนว่า มารดาหมอนิ่มหรือหมอนิ่มเป็นผู้ติดต่อกับจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 คงปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาศาลจึงไม่อาจรู้เรื่องนี้จากจำเลยที่ 4 ได้ นอกจากสามคนนี้น่าจะเชื่อว่าไม่มีใครรู้โดยเฉพาะสื่อมวลชนทั้งหลายที่เสนอข่าวให้ประชาชนเชื่อว่าหมอนิ่มเป็นผู้หามือปืนก็เชื่อว่าไม่รู้ความจริงในเรื่องนี้
.....ปัจจุบันเมื่อมีคดีอาญาที่ร้ายแรงมีโทษสูงเกิดขึ้นและเป็นที่สนใจของประชาชน สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและตุลาการ พิพากษาคดีเรียบร้อยก่อนที่พนักงานสอบสวนจริงๆ จะทำสำนวนสอบสวนเสร็จและมีความเห็นส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการอีก
.....ดังนั้นถ้าคดีใดพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องตามที่สื่อมวลชนตัดสินไว้ก่อนแล้ว ก็จะถูกสื่อมวลชนด่าเป็นเบื้องต้น และที่ถูกรางวัลมากกว่าผู้อื่นคือถูกด่าเป็นประจำคือศาลยุติธรรม
.....ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๒ บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความหรือการโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ ให้ถือว่าได้กระทําผิดฐานละเมิดอํานาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ฯลฯ
(2) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการ พิจารณาแห่งคดีไปจนมีคําพิพากษาเป็นท่ีสุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดีซึ่งพอเห็นได้ว่า จะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น
ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ ฯลฯ
.....กฎหมายมาตรานี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ 2477 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 84 ปีแล้ว ในขณะนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ และไม่โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเช่นปัจจุบัน สำนักงานศาลยุติธรรมจึงควรเสนอแก้ไขกฎหมายหมายตรานี้ หรือสนช. ดำเนินการแก้ไขก็ได้ โดยให้มีผลครอบคลุมถึงสถานีโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ทุกชนิด และชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย ทั้งห้ามเสนอข่าวที่บิดเบือนให้ผิดไปจากข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงในคดีหรือเป็นการชี้นำให้ประชาชนเข้าผิดในข้อเท็จจริงแห่งคดีในทันทีที่มีคดีเกิดขึ้น ไม่ต้องรอให้คดีมาถึงศาลอย่างที่บัญญัติไว้ในปัจจุบัน
.....รวมทั้งแก้ไขโทษฐานละเมิดอำนาจศาลให้มีอัตราสูงกว่าในปัจจุบันทีมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500 บาท โดยควรแก้ไขทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ เช่น โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเป็นต้น
.....ถ้ายังไม่ตัดไฟแต่ต้นลมปล่อยให้สื่อมวลชนทั้งหลายเสนอข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงแห่งคดี รวมทั้งปล่อยชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลายแสดงความคิดเห็นกันอย่างไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ นานๆ ไปประชาชนก็อาจจะขาดเชื่อมั่นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เมื่อถึงวันนั้นสังคมไทยก็ต้องเกิดกลียุค
....ในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ใคร่ขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกของสำนักงานศาลยุติธรรม อย่างเร็วที่สุด โดยให้ผู้พิพากษาที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีสูงและมีอาวุโสในระดับผู้พิพากษาหัวหน้าคณะหรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มาทำหน้าที่คืออาวุโสไม่ต่ำกว่าโฆษกท่านก่อนไม่ใช่ให้ผู้พิพากษาที่อาวุโสน้อยทำงานมาไม่กี่ปียังไม่ได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเลยมาเป็นโฆษกซึ่งขาดประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่จะชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และการแถลงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนนั้นต้องกระทำโดยทันทีที่มีการอ่านคำพิพากคดีดังซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้มีเสนอข่าวกันจนประชาชนเข้าผิดไปแล้ว จึงค่อยออกมาแถลงข่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |