วันที่ 8 ส.ค. สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) “รายงานสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษ ปี 61 และเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้แทนโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งมีตัวแทนโรงเรียนที่มีสัดส่วนเด็กยากจนจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนเข้าร่วม 11 โรง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมตัวแทนโรงเรียนฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเด็กยากจนมีปัญหาหลากหลาย เช่น การเดินทางมาโรงเรียน เด็กบางคนต้องเดินมาโรงเรียน กลุ่มโรงเรียนที่อยู่ชายขอบบนภูเขาไม่สามารถใช้รถรับส่งได้ ผู้ปกครองเด็กไม่มีรายได้เสริม และปัญหาครอบครัวต้องทำงานไม่มีเวลาดูแลเด็ก บางครอบครัวหย่าร้าง เด็กอยู่กับตา ยาย เป็นต้น
นายไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สำหรับรายงานสถานการณ์ผลสำรวจสถานะนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ปี 2561 ที่สำรวจโดยใช้เกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม หรือ PMT พบว่า มีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองแบบ PMT จำนวน 1,696,433 คน ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน จำนวน 1,352 ล้านบาท โดยนักเรียนประถมศึกษา 500 บาท/คน/ภาคเรียน ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษา 1,500 บาท/คน/ภาคเรียน เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่า มีกลุ่มนักเรียนยากจน จำนวน 1,075,476 คน และนักเรียนยากจนพิเศษ คือ นักเรียนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน 1,281 บาทต่อเดือน หรือ 42.7 บาทต่อวัน จำนวน 620,937 คน ถือเป็นเด็กยากจนจริงๆ แบ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา 438,683 คน และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 182,254 คน
นายไกรยส กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ กสศ.มีแนวคิดจะเพิ่มเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานให้ อีก 1,000 บาท/คน/ภาคเรียน เท่ากับว่านักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ชั้นประถมศึกษาจะได้ 1,500 บาท/คน/ภาคเรียน ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษา 2,500 บาท/คน/ภาคเรียน สำหรับจังหวัดที่มีเด็กยากจนพิเศษมากที่สุด ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน 2.ตาก 3.นราธิวาส 4.ยะลา 5.น่าน 6.สตูล 7.เชียงใหม่ 8.ปัตตานี 9.นครราชสีมา และ 10.มหาสารคาม
“ เราเชื่อว่าเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย กสศ.จะต้องเรียนรู้จากครูและผู้บริหารที่อยู่ในพื้นที่เพื่อที่จะทำงานได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเด็กและโรงเรียน นอกจากนี้ ในงานวิจัยของ OECD ที่วิเคราะห์จากผลสอบ PISA พบว่า กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษของไทยสามารถทำคะแนนในการทดสอบระดับนานาชาติได้สูงอยู่ประมาณร้อยละ 3.3 ผมเชื่อว่าหากสนับสนุนปัจจัยทางเศรษฐกิจให้กับนักเรียนกลุ่มนี้อย่างเต็มที่จะสามารถเพิ่มจำนวนของนักเรียนได้มากขึ้น อีกทั้ง กสศ.จะให้น้ำหนักกับการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาและการพัฒนาครู ช่วยเด็กแบบรายบุคคลตามข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เน้นสร้างสรรค์งานวิจัย ร่วมมือกับนานาชาติและทดลองปฏิบัติจริงเพื่อจัดทำข้อเสนอระดับนโยบายให้กับรัฐบาล ”ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.กล่าว
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ครูที่ทำงานกับเด็กยากจนถือเป็นกัลยาณมิตรที่สำคัญอย่างมาก เพราะความยากจนไม่ใช่ปัญหา อาจเป็นพรทำให้เด็กเกิดการต่อสู้ดิ้นรน เราสามารถใช้การศึกษาเปลี่ยนฐานะทางสังคมได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนถึง 23 เท่า วิกฤตปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นเป็นความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างวัย สังคมไทยเกิดความเรรวน ชุมชนขาดหลักคิด อ่อนแอ ถ้าโรงเรียนไม่ได้รับการดูแลจะทำให้โรงเรียนตายหรือโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบควบรวม ขณะที่หน่วยย่อยอย่างครอบครัวอ่อนแอลง ทำให้เกิดปัญหายาเสพติด ดังนั้น สิ่งที่ กสศ. ชี้เป้าและมีนโยบายชัดเจนเป็นสิ่งที่ดี แต่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด ควรจะจัดสรรงบอุดหนุนแก่เด็กยากจนให้ง่าย รวดเร็ว และจะต้องลดระเบียบ ปลดล็อค เปิดโอกาสให้โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพ ช่วยเหลือเด็กให้ได้อย่างแท้จริง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |